xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานแห่งความเสื่อม "จับคนมาทำเชื้อโรค"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“จับคนมาทำเชื้อโรค” เป็นชื่อภาพยนตร์ที่ยากจะลืมเลือนลง ถ้าใครได้ผ่านตาหนังเรื่องนี้มาแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึง หนังเลยจุดของความโหด ความเหี้ยม ไปเยอะ ภาพคนถูกทำร้าย ให้ทนทุกข์ทรมานด้วยนานาวิธีสุดแต่จะสรรค์หามาได้ สร้างคำถามอย่างมากมาย จนกลายเป็นหนังที่กลายเป็นตำนานบทหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์หนังเอเชีย

เมื่อประมาณ 20 ที่แล้ว มีหนังเชื่อน่าสะพรึงกลัวที่ชื่อว่า ‘จับคนมาทำเชื้อโรค’ เข้ามาฉายในเมืองไทย เป็นหนังประเภทท้าทายความกล้าของคนดู ประเภทเดียวกันหนังอีกเรื่องที่ชื่อว่า ‘แอบดูเป็นแอบดูตาย’ ใครๆโดยเฉพาะเหล่าเด็กนักเรียนมัธยม ที่ได้ไปผ่านประสบการณ์สุดสยองขวัญในโรงภาพยนตร์มาแล้ว ก็อาจกลายเป็นวีรบุรุษในหมู่เพื่อน ที่สามารถอวดอ้างถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่อย่างภาคภูมิใจ ไม่ใช่เพียงคนดูเท่านั้น การจะสร้างหนังประเภทนี้ขึ้นมาได้ ผู้สร้างก็ต้องอาศัยความกล้าหาญแบบแสนสาหัสเช่นเดียวกัน

ชื่อ โหมวตุนเฟย นั้นผูกขาดอยู่กับ การเป็นคนทำหนังสุดขั้วมาตลอดชีวิต เขาถูกตราหน้าหากินอยู่กับการขายความโหดเหี้ยมทารุณ หรือไม่ก็ฉากโป๊เปลือย อันหวุดหวิดจะเป็นความอุจาดตาลามกอนาจาร มาตลอดชีวิตการทำหนัง อย่างไรก็ตามเขาก็สมควรได้รับการพูดถึงเช่นกัน ในฐานะคนทำหนังที่พูดเรื่องการเมืองแบบเต็มเสียง

จับคนมาทำเชื้อโรค อาจเป็นจุดสูงสุดในการทำงานของนักทำหนังท่านนี้ แต่ถ้าเจาะไปให้ละเอียดในเส้นทางการทำงานจะพบว่า ผู้กำกับท่านนี้ทำแบบนี้มาทั้งชีวิต ไม่เคยประนีประนอมกับใคร จับคนมาทำเชื้อโรค ไม่ได้ให้ความชอบธรรมแก่ใคร มันฉายภาพความตกต่ำของมนุษย์ ทั้งฝ่ายกระทำที่เลวเยี่ยงสัตว์ และฝ่ายถูกกระทำ ไม่ว่าใครจะมองผลงานของผลงานชิ้นนี้อย่างต้อยต่ำ และดูถูกดูแคลนแค่ไหน เขายังมั่นใจในงานของตัวเอง ที่ถ้ามองให้ทะลุภาพอันรุนแรง เนื้อเรื่องอันบีบคั้นแล้ว งานทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่พูดถึงการเมือง และประวัติศาสตร์ ที่ให้มุมมองที่ไม่ใช่เรื่องสูงส่ง แต่เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด

โหมวตุนเฟย จากแผ่นดินใหญ่ สู่ไต้หวัน ถึงฮ่องกง

เขาเล่าถึงเรื่องราวพื้นแพของตัวเองว่า “ผมเกิดที่ชานตง เกิดมาไม่นานเท่าไหร่ ปี 1949 ครอบครัวก็ย้ายไปอยู่ที่ไต้หวัน” ไม่ต้องสงสัยว่าพื้นเพของผู้กำกับท่านนี้มีอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นไร ปีที่ครอบครัวของเขาอพยพออกจากเมืองจีน ก็คือปีที่ กองทัพแดงของคอมมิวนิสต์สามารถยึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จในประเทศได้นั้นเอง

โหมวตุนเฟย ได้เรียนหนังสืออยู่ที่ไต้หวัน ในโรงเรียนสอนทำหนัง และเริ่มต้นทำงานตั้งแต่ตอนยังเรียนไม่จบ กับตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับในหนังโฆษณาชวนเชื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยมีจุดประสงค์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ “ผมไม่ได้ค่อยได้ไปเรียนเท่าไหร่ เพราะไปทำงานผู้ช่วยในหนังเรื่อง Give Back My Country พวกครูไม่รู้เรื่องหรอก พวกเข้าไม่ค่อยรู้อะไรเท่าไหร่ ทำหนังยังไงยังไม่ค่อยรู้กันเลย”

อาชีพคนทำหนังของ โหมวตุนเฟย จึงได้เริ่มต้นขึ้นด้วยตัวของเขาเอง ศึกษาหนังของคนอื่น ไต้เต้าจนกลายเป็นผู้กำกับที่ไต้หวัน และได้เซ็นสัญญากับชอว์บราเดอร์ ทำหนังทั้งอาชญากรรม, หนังวับๆ แวมๆ จนกระทั่งได้ทำหนังที่อยากทำจริงๆ Lost Souls กลายเป็นงานที่น่าจดจำที่สุด ในช่วงเริ่มต้นของการเป็นนักทำหนังจอมอื้อฉาวของเขา

Lost Souls เล่าเรื่องของพี่น้องชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ที่หลบหนีเข้ามาในฮ่องกง แต่กลับถูกดักจับเอาไว้โดย พวกค้ามนุษย์ ทั้งหมดถูกจับเปลื้องเสื้อผ้า เหลือเพียงฟางหญ้า และเศษกระดาษหนังสือพิมพ์ ใช้ห่อหุ้มร่างกาย ขังรวมกันกับกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวจีนอีกจำนวนมาก ที่หวังเดินทางมาหาความเจริญยังฮ่องกง แต่ถูกจับขังหมดสิ้นอิสรภาพอยู่ที่นี่ ผู้หญิงถูกจับไปข่มขืน ขณะผู้ชายก็ถูกทุบตีอย่างกับไม่ใช่มนุษย์ ตามความสำราญของชายชราหัวหน้าแก๊ง และเหล่าสมุนหนุ่มกลัดมัน รอวันถูกขาย หรือถ้าโชคดีอาจได้รับการไถ่ตัว ด้วยเงินจำนวนมหาศาลที่ต้องจ่าย

ผลงานชิ้นนี้เผยให้เห็นถึงอิทธิพลต่างๆ จากหนังอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังฉาวระดับตำนานเรื่อง Salo ของผู้กำกับ ปิแอร์ เปาโล ปาโซลินี่ โหมวตุนเฟย แสดงความเกรี้ยวกราดต่อ อารยะธรรมอันเสื่อมทราม หนังพูดถึงเรื่องราวยุคสมัยแห่งความตกต่ำของมนุษยชาติ ผู้คนได้สูญเสียความเป็นมนุษย์กันไปจนหมดสิ้น ทั้งทางศีลธรรม และเนื้อหนัง คนกลุ่มหนึ่งปล่อยให้ความต้องการด้านต่ำเข้าครอบงำจนมิด ขณะที่อีกกลุ่มก็ไร้ความหวังแทบไม่ต่างอะไรจากสัตว์ ความรุนแรงถูกถาโถมใส่คนดูแบบไม่บันยะบันยัง ผู้กำกับเล่าเรื่องโดยไม่ได้ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับพล็อต การดำเนินเรื่อง หรือรายละเอียดอันลึกซึ้งของตัวละคร แต่ทุ่มเทให้กับ การสรรค์หากลวิธีในการกลั่นแกล้งตัวละคร ให้พบกับชะตากรรมอันเลวร้าย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

งานชิ้นนี้สร้างในปี 1982 มีฉากหลังอยู่ในยุคสมัยที่คนจีนอพยพหลั่งไหลมายังฮ่องกง เป็นช่วงเวลาแห่งความหวาดระแวง เพื่อนร่วมสายเลือดจากอีกฟากของเส้นแบ่งดินแดน แต่ผู้กำกับท่านนี้กำลังจะบอกเพื่อนๆ ชาวฮ่องกงของเขาว่า ดินแดนของเราก็เต็มไปด้วยความระยำตำบอน ไม่ได้แตกต่างอะไรกับความกลัวต่อแผ่นดินใหญ่เลย

จับคนมาทำเชื้อโรค – ตำนานแห่งความเสื่อม

ไม่น่าแปลกใจนัก ที่หลังปล่อยงานประเภทสุดโต่งอย่าง Lost Souls ออกมา ผู้กำกับหนุ่มหัวรุนแรงผู้นี้ ต้องกลับไปทำหนังตลาดสมัยนิยมอีกครั้ง ตลอดการทำงานหลายปีในช่วงนี้ ขณะที่ทำหนังตลอดหาเลี้ยงชีพ มีเพียงเรื่องเดียวที่อยู่ในใจของเขาคือ ‘หน่วย 731’ ที่ต่อมาได้กลายเป็นหนังเรื่อง Man Behind the Sun งานที่โด่งดังสุดขีดในทางอื้อฉาว ได้ฉายทั่วโลกทั้งแบบใต้ดินบนดิน รวมถึงในเมืองไทยในชื่อว่า ‘จับคนมาทำเชื้อโรค'

“ผมศึกษาเรื่องนี้มาตลอดเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 1982 แล้ว” เรื่องราวของหน่วยพิเศษของกองทัพลูกพระอาทิตย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ใช้มนุษย์มาเป็นหนูทดลองในการสร้างอาวุธเคมีและชีวภาพ มันจะต้องเป็นงานที่เต็มไปความรุนแรง เนื้อหาหนักอึ้ง และสร้างความร้าวฉานระหว่างประเทศ จนหลายคนยังสงสัยอยู่ถึงตอนนี้ว่า ผู้ลงทุนรายไหนนะที่มาร่วมหัวจมท้ายกับหนังแบบนี้ได้

"ผมไม่ต้องโน้มน้าวใคร" ผู้กำกับสุดโต่งบอก "ผมสร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่มีใครอยากลงทุนในหนังเรื่องนี้ แทบจะไม่นึกถึงใครเลยในตอนนั้น ผมติดต่อไปที่ทีมงานในเมืองจีนแผ่นดินใหญ่เป็นที่แรก พวกเขาเคยลงทุนในหนังของผมเมื่อปี 1982 บอกกับเขาว่า อยากจะไปถ่ายทำหนังเรื่องหนึ่งที่นั้น บอกเขาว่ามันเป็นหนังที่สำคัญกับผมมาก ถ้าจะเจ๊งก็ไม่เป็นไร" หลังจากเตรียมตัวอุปกรณ์ และความพร้อมต่างๆ เรียบร้อยและกำลังจะเดินทางไปถ่ายทำ โชคดีก็มาถึงผู้กำกับผู้นี้บ้าง "อยู่ๆพวกคนจีนก็โทรมาหาผมตอนกำลังจะเดินทาง บอกว่าพวกเขาอยากจะช่วยลงทุนในหนังเรื่องนี้ ผมพยายามอธิบายว่าเงินอาจจะสูญทั้งหมดนะ เขาก็ยังยืนยันจะช่วย"

หนังถ่ายทำแบบหนังจีนยุค 80 แท้ๆ ใช้เทคนิคที่เก่ามากๆ ตอนนั้นเมืองจีนยังไม่มีเทคนิคการถ่ายทำอะไรที่หวือหวา “นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับผมในการทำ Man Behind the Sun ตอนถ่ายฉากห้องทดลองที่ใช้เวลา 3 วัน เราทุกคนลองเทคนิคพิเศษกันแทบจะทุกวิธี จนกว่าจะสำเร็จ” Man Behind the Sun ใช้เวลาถ่ายทำทั้งหมด 6 เดือน ด้วยนักแสดงมือสมัครเล่นเกือบทั้งหมด มีแค่ 5 หรือ 6 คนเท่านั้นที่เป็นนักแสดงอาชีพ ที่รับบทเป็นนายทหารญี่ปุ่น ที่เหลือเป็นมือสมัครเล่น นักแสดงเด็กก็เป็นมือสมัครเล่น “ผมเลือกคนที่อยู่แถบภาคเหนือของจีน เป็นคนเชื้อสายเกาหลี เพราะรูปร่างหน้าตาอาจจะใกล้เคียงคนญี่ปุ่นกว่าคนจีนทั่วๆ ไป ต้องสอนภาษาญี่ปุ่นกันตรงนั้นเลย"

เรื่องราวติดตามชีวิตของกลุ่มเด็กชาวญี่ปุ่น ที่ถูกเกณฑ์เข้าเป็นกองทหารเยาชน และถูกเรียกให้ไปประจำการยังกองทัพที่กวางตุ้ง ซึ่งในที่สุดแล้ว ได้ประจำอยู่ หน่วย 731 หน่วยงานที่มีนายพล ชิโร่ อิชิอิ เป็นผู้ดูแล ในหน่วยงานของทหารญี่ปุ่นที่มีหน้าที่ในการทดลองทางเคมีและชีวะ เพื่อค้นคว้าและผลิตเชื้อโรคเป็นอาวุธชีวภาพ เพื่อกำราบประชาชนชาวจีน โดยใช้นักโทษสงครามชาวจีน และชาวรัสเซียอีกจำนวนหนึ่ง เป็นหนูทดลอง

ตั้งแต่คนสัตว์, ผู้หญิง, คนแก่ หรือแม้กระทั่งเด็ก กลายเป็นเหยื่อของทหารญี่ปุ่น และคนทำหนังสุดโต่งคนนี้อย่างถ้วนหน้า ฉากอันรุนแรงอื้อฉาวมหาโหดนั้นมีปรากฏอยู่ตลอดเรื่อง เป็นสิ่งที่ทุกคนพูดนับแต่ก้าวขาออกจากโรง และล่วงเลยมาถึงทุกวันนี้ การผ่าศพเด็กทารกเพื่อชันสูตรบนโต๊ะผ่าตัดที่อ้างกันว่าเป็นใช้ศพจริงๆ ในการถ่ายทำ, แมวสองตัวถูกปล่อยในห้องที่เต็มไปด้วยฝูงหนูที่ติดเชื้อ จนถูกรุมกินทั้งเป็น, เด็กถูกรมแก๊สพิษ จนของเหลวไหลออกมาจากทวาร ทั้งหมดนี้ ล้วนสร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่ผู้ชม ที่ยังติดตาหลายคนมาจนถึงทุกวันนี้

Man Behind the Sun ให้ภาพที่สมจริงราวกับสารคดี เหมือนเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ นักแสดงดูเย็นชา ผู้กำกับสร้างความจริงครั้งนี้ด้วยการทำทุกอย่างให้คลุมเครือ แม้เทคนิคบางฉากบางตอนอาจพร่องความสมจริง มันถูกกลบด้วย ‘ของจริง’ ที่ถูกแทรกมาตลอดทั้งเรื่อง ภาพฟุตเตจหนังข่าว หรือการถ่ายทำในหลายส่วนของหนังที่สมจริงจนชวนฉงนว่าอะไรจริงอะไรเป็นการแสดงกันแน่

ในฉากที่โด่งดังและกลายเป็น ลายเซ็นของหนังมาถึงทุกวันนี้ ผู้กำกับสุดขั้วท่านนี้ได้เปิดเผยว่า ศพเด็กในหนังนั้นไม่ได้ผ่านเทคนิคพิเศษใดๆ ทิ้งสิ้น แต่เป็นของจริง ผ่าจริง "ผมขอไปที่สถานีตำรวจ รอจนนึกว่าจะหมดหวังไปแล้ว จนวันหนังตำรวจโทรมาแล้วบอกว่า 'ได้ศพมาแล้ว' เราหยุดทุกอย่าง รีบส่งคนไปที่นั่น เปลี่ยนเสื้อผ้าให้หมอ ใช่เราใช้หมอจริงๆ ในการแสดง” เขาเล่าถึงฉากที่สมจริงที่สุดฉากหนึ่งในหนัง ภาพการผ่าตัดศพที่ใช้ของจริงถ่ายทำกันจริงๆ โดยได้รับคำอนุญาตจากพ่อแม่ของเด็กผู้เคราะห์ร้ายผู้นั้นแล้ว

ขณะที่ฉากชันสูตรศพเขายอมรับอย่างเต็มอกว่าเป็น 'ของจริง' ฉาก 'ฆ่าแมว' ที่โด่งดังพอๆ กันกลับเป็นสิ่งที่ โหมวตุนเฟย ไม่อยากจะพูดถึงนัก "ผมรู้ว่าชาวต่างชาติรักสัตว์ ผมก็รักสัตว์ แต่ในฐานะผู้กำกับ ฉากนั้นมันมีความหมายกับเรื่อง อยู่ที่คุณจะหาความหมายนั้นเจอรึเปล่า ถ้าเป็นไปได้พูดถึงเรื่องอื่นเถอะ"

หนังของเขามีพื้นฐานเป็นหนังสงคราม เล่าเรื่องช่วงเวลาแห่งการฆ่าฟัน ขณะที่คนทำหนังรุ่นหลังพยายามแก้ตัวให้การต่อสู้ในสงคราม พยายามค้นหาเหตุผลและความเป็นมนุษย์ในตัวละคร โหมวตุนเฟย กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม สงครามของเขาดูเย็นชา ก็เหมือนกับชื่อไทยที่ว่า ‘จับคนมาทำเชื้อโรค’ ในมุมมองของผู้กำกับท่านนี้ ช่วงสงครามได้เปลี่ยนมนุษย์ส่วนหนึ่งให้โหดเหี้ยมเกินคน ขณะส่วนที่เหลือกลายเป็นเหยื่ออยู่อย่างไร้เกียรติไม่ต่างจากเชื้อโรค

ความอื้อฉาวคืองานถนัด

แม้จะยืนยันว่าหนังเรื่องนี้ผ่านการทำวิจัย และทำข้อมูลอย่างละเอียด ก่อนจะมีการถ่ายทำ แต่นักวิจารณ์จำนวนไม่น้อยยังคลางแคลงใจในสิ่งที่ถูกนำเสนอ และเรียก Man Behind the Sun ว่าเป็น ความจริงที่ถูกบิดเบือน โหมวตุนเฟย ยังยืนยันว่าความจริงเป็นเป้าหมายหลักในการสร้างหนังเรื่องนี้ "ตอนเริ่มต้น ผมศึกษาเอกสารทุกอย่างเท่าที่จะหาได้จากญี่ปุ่น ตอนแรกอยากจะทำเป็นสารคดีด้วยซ้ำไป แต่วัตถุดิบ และหลักฐานถูกกองทัพญี่ปุ่นทำลายไปเกือบหมดแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างเป็นสารคดีออกมา"

หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกกระทำ หรือเหยื่อ ต่างหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึงเหตุการณ์เลวร้ายครั้งนี้ แต่แล้วมันได้ถูกจุดไฟแห่งความขัดแย้งขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ Man Behind the Sun ได้เข้าฉาย

หลังที่หนังออกฉายแม้จะมีจำนวนผู้ชมจำนวนมากที่ได้ดู ส่วนหนึ่งเบือนหน้าหนีด้วยความสะอิดสะเอียน ขณะที่จำนวนที่เหลือชื่นชม และสดุดีความกล้าหาญของผู้กำกับ ถึงกระนั้น Man Behind the Sun ก็ยังถูกข้อกล่าวหาว่าสร้างออกมาเพื่อรับใช้ความรุนแรง สนองตัณหาผู้ชมบางกลุ่มที่พิสมัยความโหดร้ายเกินมนุษย์ ความโด่งดังของหนังก็มาจากเหตุผลข้อเดียวก็คือ 'ความโหด' ที่ใส่เข้ามาแบบไร้สติ โดยไม่ได้ให้ข้อมูล หรือเนื้อหาที่มีสาระใดๆ ทั้งสิ้น

โหมวตุนเฟย ปฏิเสธ ข้อหาดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง อธิบายว่าแม้หนังจะเป็นที่ชื่นชอบ และโด่งดังในทางไหนก็ตาม แต่จุดประสงค์ของเขานั้นไม่ได้ทำออกมาเพื่อขายความรุนแรงเกิดขีดจำกันอย่างที่มีคนพูดอย่างแน่นอน "ใครจะคิดยังไงก็คิดไป Man Behind the Sun ไม่ใช่หนังที่ขายความโหด ถ้าต้องการแบบนั้น ผมมีอะไรจะช็อกคนดูได้มากกว่านี้อีกเยอะ" ผู้กำกับชื่อดังตอบคำถามนี้ด้วยเสียหัวเราะ และอธิบายต่อไปว่า "มันยากเหมือนกัน ที่จะตัดสินใจว่า ความรุนแรงโหดเหี้ยมทารุณในหนังควรจะอยู่ตรงไหน ผมต้องการให้โลกรับรู้ว่า แค้มป์ของทหารญี่ปุ่นน่ะมันเลวร้ายแค่ไหน"

แน่นอนจำเลยในหนังอย่างประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่หนังถูกต่อต้านมากที่สุด "สำหรับผมเคยเอาหนังไปฉายที่มหาวิทยาลัยโตเกียว พอฉายหนังเสร็จไม่มีใครพูดอะไร ผมช็อกมากทุกคนเงียบกันไปหมด 5 นาทีต่อมามีคนบอกผมว่าเรื่องทั้งหมดไม่เป็นความจริง อีกคนบอกว่าประเทศญี่ปุ่นของเขาไม่เคยทำการทดลองกับมนุษย์แบบนี้แน่ๆ พอฉายหนังครั้งที่สอง ผมเชิญทหารที่เคยอยู่หน่วย 731 มาด้วย หลังจากหนังจบ อดีตทหารคนหนึ่งยอมรับกับผมว่ามันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ บางอย่างแย่กว่านั้นอีก"

มีความพยายามนำหนังเรื่อง Man Behind the Sun ไปฉายเชิงพาณิชย์ยังประเทศญี่ปุ่นด้วย โหมวตุนเฟย อ้างว่า ไม่เพียงความพยายามครั้งนั้นไม่สำเร็จ แต่ทั้งเขา และผู้จัดจำหน่าย ยังถูกขู่ทำร้ายถึงเอาชีวิต "เราฉายไปได้ 1 รอบ คนที่ซื้อหนังไปได้รับโทรศัพท์จากพวกขวาจัดว่า ให้เลิกฉายซะถ้าไม่อยากให้โรงหนังถูกเผา ตอนผมอยู่ญี่ปุ่นก็มีคน บอกให้ไปจากที่นี่ซะ ไม่งั้นก็เอาลูกกระสุนไปกิน"

ไม่เฉพาะที่ญี่ป่นเท่านั้น ผลงานเรื่องนี้ของ โหมวตุนเฟย ต้องพบปัญหาในการเข้าฉายในหลายๆ ประเทศ "ผมไม่ค่อยรู้เรื่องนี้เหมือนกัน แต่ได้ยินข่าวลือว่า หนังโดนตัดในหลายประเทศ ในยุโรปฉากที่มีการทารุณสัตว์ โดนตัด ส่วนในอเมริกาหนังของเราไม่ได้ฉายโรง แต่มีขายตามร้านวีดีโอในย่านไชน่าทาวน์ ที่อังกฤษมีออกเป็นม้วนวีดีโอเถื่อน แต่ที่ ออสเตรเลียกับสเปนหนังได้ฉาย"

ที่ผู้กำกับท่านนี้ไม่ทราบก็คือ หนังของเขาถูกห้ามฉายในออสเตรเลียไปแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนที่คณะกรรมการจะมีการพิจารณาอีกครั้ง และตัดสินออกมาก็คือหนังฉายได้ ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกก็คือ สิ่งที่ถูกนำเสนอนั้น 'มากเกินไป' หรือไม่

"คณะกรรมการส่วนใหญ่สรุปว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีจุดประสงค์อย่างชัดเจน ที่ต้องการนำเสนอ และยกตัวอย่างถึง การกระทำที่โหดร้าย และหมดสิ้นความเป็นมนุษย์ ถึงแม้บางส่วนบางตอนของหนังอาจถูกมองว่าเต็มไปด้วยความรุนแรง แต่นั่นเป็นความจำเป็นต่อจุดประสงค์ของผู้ผลิตภาพยนตร์ คณะกรรมการเสียงข้างมาก ได้บันทึกว่า หนังเรื่องนี้มีสาระสำคัญในการต่อต้านสงคราม ห่างไกลจากข้อกล่าวหาที่ว่าสร้างฉากน่าสะพรึงกลัวออกมาเพื่อความเพลิดเพลิน ตรงกันข้าม หนังได้สร้างยั่วยุอารมณ์ และวาดภาพอันทรงพลัง สร้างความรู้สึกอันขยะแขยง"

ไตรภาคที่ไม่มีวันเสร็จ

Man behind the Sun มีภาคต่ออออกมาอีก 2 ภาค คือ Man Behind the Sun 2: Laboratory of the Devil และ Man Behind the Sun 3: Escape from Hell ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ โหมวตุนเฟย เลย “หนังพวกนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผม มันเป็นหนังที่ได้เงินมาจากเกาหลี ลงทุนให้ผู้กำกับฮ่องกงคนหนึ่งทำ ถ่ายทำกันที่แมนจูเรีย มีฝรั่งคนหนึ่งโทรมาจาก ฮอลแลนด์บอกว่าได้ดูหนังภาคสองของผม ผมตอบไปตอนนั้นว่า ‘คุณพูดบ้าอะไรนะ’ นั่นแหละเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกตอนได้ยินถึงหนังเรื่องนั้น”

แต่ในที่สุดเขาก็สามารถ ยึดหนังของตัวเองกลับมาได้อีกครั้ง เมื่อได้มีโอกาสสร้างหนังเรื่อง Black Sun: The Nangking Massacre ในปี 1994 ที่เป็นเสมือนภาค 4 ในชุด หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องคือ ภาค 2 ที่แท้จริงของ Man Behind the Sun

Black Sun บอกเล่าเรื่องราวที่ทุกคนไม่มีวันลืมในปี 1937 เหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิงอันโด่งดัง และสร้างชื่อเสียงในทางหายนะ เมื่อทหารญี่ปุ่นเดินทัพมายึดครองเมืองหลวงของจีนในขณะนั้น จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ถูกกล่าวถึงครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้กำกับนำเสนอเรื่องราว จากมุมมองของทหารหนุ่มชาวญี่ปุ่น ที่ถูกเกณฑ์ไปประจำสถานีรบยังประเทศจีน เป็นตัวละครที่เผยให้เห็นถึงด้านบวก และอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝั่งแห่งการฆ่าฟัน

เช่นเดียวกับในหนังภาคแรก หนังไม่ได้มีเส้นเรื่องที่ชัดเจน แต่จับเอาเหตุการณ์หลากหลาย ของตัวละครที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน นอกจากมีจุดร่วมในฐานะเหยื่อแห่งสงครามครั้งนี้เช่นเดียวกันทั้งหมด เปิดเรื่องด้วยการกรีฑาทัพเข้าสู่นานกิงของทหารญี่ปุ่น บ้านเมืองถูกเผาทำลาย, ประชาชนชาวจีนถูกสังหาร พระสงฆ์องค์เจ้ายังตกเป็นเหยื่อ และผู้หญิงถูกทหารชาวญี่ปุ่นลากไปข่มขืนไม่เว้นกระทั่งหญิงชราแก่คราวแม่ บางคนติงว่าหนังหย่อนความหฤโหดจากหนังภาคแรกไปหน่อย แต่ภาพรวมหนังยังถูกยอมรับ และแน่นอนว่าเหนือกว่าหนังภาค 2 - 3 ลูกนอกคอกในหนังชุด นี้อย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้

แต่ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นความบาดหมางระหว่างสองชาติของเขายังไม่หมดลง ... “ผมอยากจะทำหนังว่าด้วยเรื่อง จีน/ญี่ปุ่น สัก 3 เรื่อง Man behind the Sun คือเรื่องแรก Black Sun: The Nangking Massacre คือเรื่องที่สอง เรื่องที่สามยังไม่ได้ทำตอนนี้ มันมีชื่อว่า No More War”

หนังเรื่องที่สามในชุด ที่ยังไม่ได้ถูกสร้าง No More War ที่อาจจะแปลได้ว่า สงครามสิ้นสุดแล้ว แต่ดูเหมือนเนื้อจะยังคงรุนแรงเช่นเดิม "มันจะเป็นหนังที่ยากกว่าเดิม คงต้องใช้เวลานานมาก ผมต้องการเวลาทั้งทำข้อมูล และหาเงินทุน มันจะเป็นหนังที่เน้นภาพ อาจจะไม่เท่ากับ Man Behind the Sun ไม่รู้สิ ถ้าถ่ายทำจริงๆ ผมอาจทำให้มันโหดขึ้นมา ใครจะไปรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเวลาผมอยู่หลังกล้อง No More War จะเป็นเรื่องง่ายๆ เกี่ยวกับกลุ่มเด็กๆ ที่ถูกจับไปตอนญี่ปุ่นถอยทัพจากแมนจูเรีย ชาวบ้านพยายามแก้แค้นทหารญี่ปุ่น เริ่มต้นฆ่าพวกนั้นทีละคน

แม้จะทำเงินในหลายๆ ประเทศ Man Behind the Sun มีปัญหาในการฉายหลายๆ ประเทศ โหมวตุนเฟย ใช้เวลาถึง 8 ปี ในการสร้างหนังตอนที่สองในไตรภาค และในตอนนี้ยังไม่มีวี่แววของการสร้างหนังตอนที่สามเพื่อปิดตำนาน ชุด จีน-ญี่ปุ่น ของเขาทิ้งให้ Black Sun เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายมานาน 10 กว่าปีแล้ว

ตลอดการทำงานกว่า 30 ปีของ เขามีผลงานหนังของตัวแค่ 11 เรื่องเท่านั้น แต่เพียงเท่านี้ โหมวตุนเฟย ก็สามารถฝากชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ได้แล้ว
โหมวตุนเฟย บางครั้งใช้ชื่อในการทำงานว่า T.F. Mou, T.F. Mous หรือ เหอจื่อเจียง
หนังกำลังภายในเรื่องเดียวในชีวิต เป็นการหยิบนิยายเรื่อง กระบี่ใจพิสุทธิ์ ที่ว่าด้วยการจองจำ และทรมาน มาสร้างเป็นหนัง
Lost Souls

จับคนมาทำเชื้อโรค Man Behind The Sun (ใช้ชื่อ Men Behind the Sun ในการฉายนอกฮ่องกง)





Black Sun: The Nanking Massacre

กำลังโหลดความคิดเห็น