xs
xsm
sm
md
lg

จาก “เทียนอันเหมิน” ถึง “ถนนฉางอัน” กับการ “สร้างชาติจีน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง “ภารกิจสร้างชาติอันยิ่งใหญ่” ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์รับ “แซยิดใหญ่” 60 ปี วันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน -ภาพเอเจนซี
“同胞们!中华人民共和国, 中央人民政府, 今天成立了!” (พี่น้องร่วมชาติทั้งหลาย สาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลกลางแห่งประชาชนจีน วันนี้ก่อตั้งขึ้นแล้ว)

เสียงประกาศก้องด้วยสำเนียงหูหนันของประธานเหมา เจ๋อตง เหนือประตูเทียนอันเหมิน ดังขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านภาพยนตร์ ละคร และสารคดี ที่วงการสื่อมวลชนจีนทุกแขนงต่างอุทิศผลงานเพื่อร่วมฉลอง “แซยิดใหญ่” จีนใหม่ ประวัติศาสตร์การสร้างชาติ และเรื่องราวตลอด 60 ปี นับตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ถูกปลุกให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

                                                ****

2 กันยายน 1949 เถียน เจิ้นอิง หัวหน้าหน่วยศิลปะการแสดง คณะละครต่อต้านสงครามญี่ปุ่น ถูกเรียกตัวเข้าเขตทหารที่ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เพื่อรับภารกิจสำคัญเร่งด่วนในการจัดเตรียมและตกแต่งแท่นพิธีเหนือประตู “เทียนอันเหมิน” ซึ่งจะใช้ประกอบพิธีสถาปนาชาติในวันที่ 1 ตุลาคม 1949

นั่นหมายความว่า เถียน เจิ้นอิง พร้อมสหายสี่ชีวิต จะมีเวลาเพียง 28 วัน ในการกำกับดูแลคณะทำงานทั้งหมด เพื่อคิด ออกแบบ และพลิกฟื้นบริเวณทิศใต้ของพระราชวังต้องห้ามที่ร้างทรุดโทรม รายล้อมด้วยหญ้ารก เนรมิตให้กลายเป็นเวทีใหญ่สำหรับรัฐพิธีประกาศวันถือกำเนิดชาติ "จีนใหม่" ครั้งประวัติศาสตร์
ฉากหนึ่งใน ภารกิจสร้างชาติอันยิ่งใหญ่ ภาพผู้นำเหมา เจ๋อตง รับบทโดยนักแสดงจีนใหญ่ ถัง กั๋วเฉียง ประชุมเหล่าสมาชิกพรรคมิวนิสต์-ภาพเอเจนซี
ณ ห้วงเวลาสั้นๆ เพียง 28 วันในการตอบแทนเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของสหายร่วมชาติที่อุทิศตนตลอด 28 ปีแห่งภารกิจยิ่งใหญ่ในการล้มล้างระบบศักดินา ฝ่าสงครามกลางเมือง กระทั่งลงหลักปักฐานระบอบสังคมนิยมภายใต้การนำของประธานเหมา เจ๋อตง ซึ่งกำลังเป็นความหวังใหม่ของชาวจีนทั้งผอง

นี่คือเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง “เทียนอันเหมิน 《天安门》” ผลงานกำกับของ เยี่ย อิง (叶缨) หนังได้สะท้อนประวัติศาสตร์ชาติที่ยิ่งใหญ่ ผนึกกำลังทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อชาติอย่างไม่แบ่งฝักฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นจีนใหม่หรือจีนเก่า

การเตรียมพิธีสถาปนาชาติ แท้จริงก็คือการจำลองฉากหลังแห่งการสถาปนาชาตินั่นเอง แม้กลุ่มผู้เตรียมงานมีสัดส่วนเพียงเศษเสี้ยวเทียบกับชาวจีนทั้งประเทศ ก็ยังมีความคิดเห็นขัดแย้งในการตระเตรียมพธี กระทั่งลงไม้ลงมือซกตีกัน นับประสาอะไรกับความขัดแย้งภายในประเทศที่ซับซ้อนจากปัจจัยหลายด้าน

ที่สำคัญใช่ว่าความคิดของชนชั้นปกครองจะต้องถูกเสมอ เพราะการเป็นรัฐใดๆ ย่อมต้องได้รับการยอมรับจากชนในชาติ และรัฐไม่ควรมองข้ามการใส่ใจกับความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านธรรมดาสามัญ

ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดเป็นหนังสร้างชาติจีนที่ดูง่ายๆ สบายๆ โดยได้สอดแทรกสัญลักษณ์ต่างๆ ไว้ตลอดเรื่อง สาระสำคัญหนึ่งของภาพยนตร์ยังต้องการฉายชัดว่า ความขัดแย้งใดๆ ในชาติย่อมจะมลายไปสิ้น ถ้าทุกฝ่ายมุ่งยึดประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง

                                                *****
การระดมซูเปอร์สตาร์จากฮ่องกงอย่าง จาง จื่ออี๋, หลี่ เหลียนเจี๋ย หรือเจ็ท ลี, หลิว เต๋อ หัว ฯลฯ ร่วมแสดงในภาพยนตร์สร้างชาติที่ยิ่งใหญ่สำหรับวาระครบรอบ 60 ปี ก่อตั้ง “จีนใหม่”ปีนี้ ว่ากันว่าเป็นการปรับปรุงการส่งสาสน์ของหน่วยประชาสัมพันธ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน (Communist Partys Propaganda Department) เพื่อดึงดูดความสนใจประชาชนโดยเฉพาะหนุ่มสาวจำนวนมากที่เมินสื่อของรัฐ ในภาพ: จาง จื่ออี๋ (คนที่ 3 จากซ้าย) รับบทตัวแทนกลุ่มหญิงจีน-ภาพโดยเอเจนซี
เบื้องหน้าของประตูเทียนอันเหมิน คือ “ฉางอันเจีย (长安街)” ถนนสายหลักสายแรกของกรุงปักกิ่ง ศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมของประเทศจีน เรื่องราวอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ได้ “แล่นผ่าน” 3.8 กิโลเมตรของถนนสายนี้มาตลอด 60 ปี และได้ถูกบันทึกเป็นภาพยนตร์สารคดีในชื่อเดียวกัน

ภารกิจลำดับแรกๆ หลังเป่ยผิง (ชื่อเก่าของเมืองเป่ยจิง หรือปักกิ่ง) ได้รับการปลดแอกจากกองทัพญี่ปุ่น คือ การซ่อมสร้างบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินและถนนฉางอัน ประตูเมืองสองแห่งฝั่งตะวันตกและตะวันออกถูกสร้างขึ้นใหม่ พร้อมตั้งชื่อให้คล้องความหมายว่า “ฝู่ซิงเหมิน-复兴门” และ “เจี้ยนกั๋วเหมิน-建国门” ทดแทน “ฉางอันเหมิน-长安门” และ “ฉี่หมิงเหมิน-启明门” ที่ถูกญี่ปุ่นทำลาย

ราว 400 วัน ก่อนฉลองวันชาติครบ 10 ปี รัฐบาลจีนมีดำริให้เนรมิตสิ่งปลูกสร้างสำคัญ 10 แห่ง ที่เรียงรายบนถนนฉางอัน อันได้แก่ มหาศาลาประชาคมจีน พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน พิพิธภัณฑ์การทหารและการปฏิวัติแห่งประชาชนจีน หอวัฒนธรรมแห่งชนชาติ โรงแรมหมินจู๋หรือโรงแรมแห่งประชาชาติ เรือนรับรองอาคันตุกะเตี้ยวยวี่ไถ่ อาคารหัวเฉียว สถานีรถไฟปักกิ่ง หอนิทรรศการอุตสหกรรมเกษตรแห่งชาติ และสนามกีฬาแรงงานปักกิ่ง **

25 กันยายน 1959 เด็กๆ ที่มีอายุครบ 10 ขวบในวันที่ 1 ตุลาคมของปีนั้น ถูกเชิญมาร่วมฉลองวันประกาศสถาปนาชาติ และในปีนี้เอง จีนได้เปิดใช้มหาศาลาประชาคมจีนอย่างเป็นทางการ นับจากนั้น สถานที่แห่งนี้ก็ได้ใช้เป็นสถานที่จัดประชุมพรรคคอมมิวนิสต์และคณะมุขมนตรีจีน ตลอดจนงานรับรองระดับประเทศ และเป็นสถานที่ประกาศนโยบายสำคัญของชาติ

เพื่อเป็นการระลึกถึง “วีรบุรุษประชาชน” ทั้งหลายที่ได้พลีชีพเพื่อการสร้างชาติจีนใหม่ ทางการจึงได้สร้างอนุสรณ์สถานวีรบุรุษประชาชนไว้ใกล้ๆ เทียนอันเหมินและถนนฉางอัน

อนุสรณ์ดังกล่าว มีภาพสลักหิน 8 ภาพ ที่ จารึกตัวแทนแห่งจิตวิญญาณของชาวบ้าน ทหาร ชาวนา นักศึกษา ฯลฯ จำนวน 172 คน เพื่อสดุดีว่า มวลชนทั้งหลายคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ หาใช่รัฐบาล

หน้าตารวมทั้งจุดที่ตั้งสำคัญๆของฉางอันเจียในปัจจุบัน เกิดจากการระดมสมองของเหล่าสถาปิก 76 คนที่ถูกเชิญให้มาออกแบบถนนสายนี้เมื่อปี 1964 ซึ่งในตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดว่า ต้องใช้เวลาก่อสร้างต่อมาอีกถึง 10 ปี
หลี่ เหลียนเจี๋ย(ขวา) สวมบท เฉิน เส้าควน
พิธีศพของรัฐบุรุษสำคัญแห่งชาติถึงสามคน ได้แก่ นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล จู เต๋อ และประธานเหมาเจ๋อตง) ในปี 1976 ทำให้ฉางอันเจียจมอยู่ท่ามกลางหยาดน้ำตาของประชาชนจีน แต่ไม่นาน รอยยิ้มแห่งการเฉลิมฉลองการล่มสลายของแก๊งสี่คนก็เบ่งบาน ณ ถนนสายเดียวกันนี้

ช่วงที่นานาชาติกำลังฮิตกับการตั้งเขตศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) รัฐบาลจีนก็ได้ตัดสินใจกำหนดเขตดังกล่าวไว้ ณ บริเวณด้านตะวันตกของฉางอันเจียในปี 1993 ทั้งๆ ที่ตอนนั้นชาวจีนยังไม่เข้าใจความหมายของคำๆ นี้ด้วยซ้ำ ทว่า ปัจจุบันพื้นที่นี้ได้กลายเป็นถนนสายการเงินเทียบชั้นวอลล์สตรีทของสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของถนนสายนี้ บอกกับเราว่า แท้จริงแล้ว ประชาชนและถนนฉางอันคือเจ้าบ้านที่แท้จริงของประเทศจีน ใช่หรือไม่

                                                  *****

หมายเหตุ **(人民大会堂、中国国家博物馆、中国人民革命军事博物馆、民族文化宫、民族饭店、钓鱼台国宾馆、华侨大厦、北京火车站、全国农业展览馆 和北京工人体育场)
นักแสดงจีนระดับแม่เหล็กเกือบสองร้อยคนต่างตบเท้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดภาพประวัติศาสตร์ชาติจีนใหญ่โดยไม่รับค่าตัว ทั้งจาง จื่ออี๋, จ้าว เหวย, เจ็ท ลี, เฉิง หลง, หลิว เต๋อหัว, หลี่ หมิง, หรือผู้กำกับแถวหน้าชื่อดังอย่าง เฉิน ข่ายเกอ หรือเฝิง เสี่ยวกัง เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม นักแสดงที่ได้สวมบทเด่นที่สุดก็ตกในมือนักแสดงแผ่นดินใหญ่ อาทิ ถัง กั๋วเฉียงได้สวมบท เหมาเจ๋อตง, จาง กั๋วลี่ ได้สวมบท เจียง ไคเช็ค (เจี่ยง เจี่ยสือ) -ภาพเอเจนซี
ในบรรดาภาพยนตร์ฉลองวันชาติจีนนั้น เรื่องที่ได้รับการกล่าวขานถึงมากที่สุดคือ “เจี้ยนกั๋วต้าเยี่ย 《建国大业》” หรือ The Founding of a Republic ที่อาจแปลเป็นพากษ์ไทยได้ว่า "ภารกิจสร้างชาติอันยิ่งใหญ่" นับเป็นหนังฟอร์มยักษ์ที่เป็นแหล่งประชันบทบาทของเหล่าดารานักแสดงจีนคับคั่งถึง 172 ชีวิต ทุ่มทุนสร้างถึง 30 ล้านหยวน (ราว 150 ล้านบาท) ภายใต้การกำกับของราชาแห่งวงการภาพยนตร์จีน หัน ซันผิง (韩三平) ร่วมด้วย หวง เจี้ยนซิน(黄建新)

ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่หลังสงครามต่อต้านญี่ปุ่นสิ้นสุดลงในปี 1945 พรรคก๊กหมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เปิดการเจรจากันขึ้น เพื่อหวังคลี่คลายความบาดหมางที่มีขึ้นก่อนหน้าสงครามต้านญี่ปุ่น เรื่อยมาจนถึงการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนแห่งชาติจีน เมื่อ 21 กันยายน 1949 เพื่อกำหนดสัญลักษณ์ เพลงชาติ และธงชาติจีน การเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจาก “เป่ยผิง- 北平” เป็น “เป่ยจิง-北京 ” รวมทั้งการกำหนดวันสถาปนาชาติ

นักแสดงจีนระดับแม่เหล็กเกือบสองร้อยคนต่างตบเท้าโดยไม่รับค่าตัว เพื่อขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดภาพประวัติศาสตร์ชาติ จากสภาพที่แตกแยกไม่มีชิ้นดี จนลุกขึ้นยืนอย่างเกรียงไกรได้ในที่สุด รวมทั้งการเล่าถึงสองขั้วอำนาจที่ขัดแย้งกันในประเทศ จากที่มีอำนาจสูสีกัน จนถึงการครองอำนาจอย่างเบ็ตเสร็จของพรรคคอมมิวนิสต์
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง “เทียนอันเหมิน” (ซ้าย)  ที่ลงโรงในกรุงปักกิ่งก่อนวันฉลองปีที่ 60 วันชาติจีน-เอเอฟพี
แม้ในเวทีภาพยนตร์สากล ชื่อของจาง จื่ออี๋, จ้าว เหวย, เจ็ท ลี, เฉิง หลง, หลิว เต๋อหัว, หลี่ หมิง, หรือผู้กำกับแถวหน้าชื่อดังอย่าง เฉิน ข่ายเกอ หรือเฝิง เสี่ยวกัง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม นักแสดงดังของจีนแผ่นดินใหญ่ กลับได้สวมบทบาทเด่นในภาพยนตร์เหล่านี้ คือ ถัง กั๋วเฉียง (唐国强) จาง กั๋วลี่ (张国立) และเฉิน คุน(陈坤) ซึ่งสวมบทของ เหมา เจ๋อตง เจียง ไคเช็ค(เจี่ยง เจี่ยสือ) และเจี่ยง จิงกั๋ว (ลูกชายของเจียง ไคเช็ค)

ว่ากันว่า จาง กั๋วลี่ และเฉิน คุน ถ่ายทอดความระทมทุกข์ในใจของสองพ่อลูกคู่นี้ได้ดี รวมทั้งได้เห็นถึงสาเหตุที่เจียงไคเช็คเปลี่ยนใจไม่ไฟเขียวให้ทหารอากาศของตนขนอาวุธถล่มเหนือจัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อทำลายพิธีสถาปนาประเทศของประธานเหมา
สาวจีนเดินผ่านโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง “ภารกิจสร้างชาติอันยิ่งใหญ่”  -เอเอฟพี
ความเห็นหลังจากได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ มีทั้งที่ชื่นชมยกย่อง บ้างก็ว่าเป็นหนังแนวโฆษณาชวนเชื่อที่มีศิลปะการนำเสนอน่าดึงดูดใจที่สุดเรื่องหนึ่ง ขณะที่มีอีกหลายเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์ในทางไม่สบอารมณ์นัก เพราะเห็นว่ายังสะท้อนเรื่องราวไม่ดี และเป็นเพียงภาพยนตร์ที่ให้คนดูคอยลุ้นฉากที่ดาราที่ตนชื่นชอบจะโผล่หน้ามา

ฉากประทับใจของคนดูแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน แต่สาระหลักอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้ที่ยากจะปฏิเสธคือ “ผู้ใดได้ใจประชาชน ผู้นั่นย่อมได้ครองใต้หล้า”

                                                 *****

เหนือสิ่งอื่นใด การสร้างชาติหาใช่เพียงการเนรมิตสิ่งปลูกสร้างที่ยิ่งใหญ่ เฉกเช่นเดียวกับเทียนอันเหมิน หรือถนนฉางอันเจียไม่ หากแต่เป็นการสร้างจิตวิญญาณเพื่อชาติเพื่อประชาชน!



กำลังโหลดความคิดเห็น