โขน” มหรสพหลวงที่ใช้แสดงในงานพิธีสำคัญต่างๆ และเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีไว้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองมาแต่โบราณ
เพื่อไม่ให้โขนจางหายไปจากความนิยมของคนไทย เมื่อ พ.ศ.2546 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการศึกษาค้นคว้า และจัดสร้างพัสตราภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์ ศิราภรณ์ การแต่งหน้าโขน รวมถึงอุปกรณ์ประกอบการแสดงขึ้นมาใหม่ให้มีความถูกต้องและสวยงาม
กระทั่ง มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดให้มีการแสดง “โขน ชุด พรหมาศ” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552
หลังการแสดงโขนครั้งประวัติศาสตร์ผ่านพ้นไป ต่อมาในวาระเปิดหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณสี่แยกปทุมวัน อย่างเป็นทางการ “นิทรรศการโขน ชุด พรหมาศ” โดยการสนับสนุนจากสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ถูกจัดขึ้นเต็มพื้นที่ ชั้น 8 ของหอศิลป์ฯ เพื่อให้ตลอดระยะเวลา 2 เดือนเต็ม (ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม - 11 ตุลาคม พ.ศ.2552) เป็นช่วงเวลาทองที่ประชาชนจะได้สัมผัสใกล้ชิดกับทุกรายละเอียดของงานศิลป์ทรงคุณค่า อันเนื่องมาจากงานฟื้นฟูโขนตามพระราชเสาวนีย์
ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดหอศิลป์ฯ และทอดพระเนตรนิทรรศการฯ ดังกล่าว วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2552 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม พ.ศ.2552 ทรงมีพระราชดำรัส เกี่ยวกับการแสดง “โขน ชุด พรหมาศ” ณ ศูนย์วัฒนธรรมฯ ความบางตอนว่า
“...การแสดงโขนครั้งนี้ ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จเพียงแค่ได้เผยแพร่ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยเราเท่านั้น แต่ยังเกิดสิ่งที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้นมาอีก คือพวกเราได้สร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่เอี่ยมขึ้นมา ที่เข้าใจถ่องแท้ถึงศิลปะการสร้างเครื่องแต่งกายโขน และได้เห็นความผูก พันอย่างใกล้ชิดแบบสังคมไทยสมัยโบราณ ลูกหลานจูงพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คนแก่ในบ้านไปดูโขน ได้เห็นการแสดงความรัก ความเอื้ออาทรต่อกันในครอบครัว เป็นภาพที่สร้างความสุขใจแก่ผู้พบเห็นทุกคน...”
จากพระราชดำรัสดังกล่าว ส่งผลให้กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เร่งรุดก่อตั้ง “สถาบันโขน” เพื่อต่อลมหายใจโขนให้ยาวนานออกไป ขณะที่พสกนิกรจำนวนมากต่างทยอยเข้าชมนิทรศการดังกล่าว ที่เปิดให้เข้าชมฟรี อย่างต่อเนื่อง
• มีอะไรในนิทรรศการ “โขน ชุด พรหมมาศ”
ทันทีที่ก้าวเข้าสู่นิทรรศการ “โขน ชุด พรหมาศ” จุดแรกของนิทรรศการ ได้นำผู้ชมย้อนสู่อดีตรับรู้ถึงที่มาของ การแสดงที่เรียกว่า “โขน” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในสมัยอยุธยา เพื่อสรรเสริญพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นเทวราชจุติมาสู่โลก และพัฒนามาจากการแสดง 3 อย่าง ได้แก่ ชักนาคดึกดำบรรพ์ หนังใหญ่ และกระบี่กระบอง
ด้วยเป็นมหรสพหลวงที่จัดแสดงในราชสำนัก จึงถูกเรียกว่า “โขนหลวง” กรมมหรสพหรือในปัจจุบันคือ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่ในการแสดงจัดแสดง ขณะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มีหน้าที่ในการสืบทอดให้การศึกษา และฝึกหัด
นอกจากนี้ นิทรรศการฯ ยังประกอบไปด้วย เรื่องราว ของดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ฉากจำลองท้องพระโรง ฉากโรงพิธี พัสตราภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์ ศิราภรณ์ มุมสาธิตการทำหัวโขน มุมแต่งหน้าโขน โรงปั้นช้างจำลองของ อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้รับหน้าที่ปั้นช้างเอราวัณ เพื่อใช้ประกอบการแสดงโขน มุมฉายวีดิทัศน์ สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสชมการแสดงโขน ณ ศูนย์วัฒนธรรม นิทรรศการภาพถ่ายการแสดงและเบื้องหลังการแสดงโขน โดยฝีมือ 5 ช่างภาพ (อมาตย์ นิมิตภาค,ปีเตอร์ ทรีไซส์, วุฒพิชัย อัศวเลิศวิสุทธิ์, วิชัย จิตลลิต, สุพจน์ ยอดยิ่งยง) และร้านขายของที่ระลึก
ไฮไลท์สำคัญที่ต้องนำมากล่าวถึง เพราะคณะทำงานในแต่ละส่วนได้ใช้เวลาศึกษาอย่างลงลึกก็คือ มุมแสดงพัสตราภรณ์ มุมแสดงถนิมพิมพาภรณ์ มุมแสดงศิราภรณ์ และมุมแต่งหน้าโขน
• “พัสตราภรณ์” เครื่องแต่งกายเลียนแบบสภาวะสมมุติเทพ
พัสตราภรณ์ หรือเครื่องแต่งกายโขน เป็นงานประณีต ศิลป์ที่ถูกปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ขึ้นอยู่กับสภาพสังคม เศรษฐกิจ ความเชื่อ และค่านิยมในแต่ละยุค โดยสร้างเลียนแบบเครื่องแต่งกายของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ชั้นสูง ที่ทรงแต่งพระองค์ในโอกาสพิเศษเพื่อแสดงสภาวะสมมุติเทพ เพียงแต่เครื่องแต่งกายโขน ได้มีการปรับให้เหมาะสมกับการแสดง มักประดับและตกแต่งด้วยวัสดุมีค่า ประเภท ดิ้นเงิน ดิ้นทอง เลื่อมเงิน เลื่อมทอง ไหมสี ไหมทอง ทองแล่ง เงินแล่ง
แต่ด้วยเหตุที่เป็นของใช้ชั่วคราว มีระยะเวลาการใช้จำกัด เมื่อเกิดสภาพเก่าชำรุดไปตามกาลเวลา และคนรุ่นใหม่ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญ จึงได้มีการทิ้งทำลายและสูญหายไปมากต่อมาก
ดังนั้นการออกแบบเครื่องแต่งกายโขน สำหรับการแสดง “โขน ชุด พรหมมาศ” จึงต้องศึกษาจากภาพถ่ายเก่าเป็นหลัก และศึกษาจากศิลปวัตถุเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย ที่มีในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และที่เป็นสมบัติของเอกชน ขณะที่ลวดลายของเครื่องแต่งกาย ได้มีการศึกษาและเทียบเคียงกับงานศิลปกรรมอื่นๆ เช่น งานปักตาลปัตร งานจิตรกรรม และงานประติมากรรม เป็นต้น
• “ถนิมพิมพาภรณ์” ความงดงามประดับเครื่องแต่งกายโขน
จากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ ถนิมพิมพาภรณ์ หรือเครื่องประดับเครื่องแต่งกายโขน ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พบว่าเป็นของส่วนใหญ่เป็นงานช่างฝีมือโลหะ งานฝังอัญมณี และงานกะไหล่ทอง ที่สร้างจากวัสดุโลหะหลายชนิด เช่น ตะกั่ว ทองแดง ทองเหลือง เงิน และทองคำ อีกทั้งมีขนาดที่ต่างกัน โดยทั้งหมดรับโอนมาจากกรมมหรสพ ในสมัยรัชกาลที่ 6 และก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ละครหลวงใช้และสืบทอดมาหลายราชสำนักหลายรัชกาล บางชิ้นเชื่อว่าน่าจะเป็นสมบัติของละครหลวงยุครัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ที่ตกทอดกันมา
คณะทำงานในส่วนเครื่องประดับเครื่องแต่งกาย “โขน ชุด พรหมมาศ” จึงนำ “ของหลวง” ที่ตกทอดกันมาและคงอยู่จนวันนี้ มาเป็นแบบอย่างและแนวทางสำหรับการสร้างขึ้นใหม่ กลายเป็นชิ้นงานที่งดงาม อาทิ ตาบทิศทองคำ ทับทรวงทองคำ ทองกร ผ้าปิดก้นปักหักทองขวาง และแหวนรอบข้อมือหรือแหวนตะแคง
• “ศิราภรณ์” ความลงตัวของงานประติมากรรมบวกงานจิตรกรรม
ศิราภรณ์ หรือหัวโขน เชื่อกันว่ามีขึ้นมาครั้งแรกพร้อมกับการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ สมัยต้นกรุงศรี อยุธยา ด้วยว่าการแสดงจะต้องมีผู้แสดงเป็นเทวา อสูร วานร จึงต้องสร้างหัวโขน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอมนุษย์ ต่างๆเหล่านั้น
ต่อมาเมื่อเกิดการแสดงโขนขึ้น จึงได้นำหัวโขนเหล่านั้นมาใช้ประกอบการแสดงโขน ก็มีทั้งบทเทวดา อสูร วานร เช่นเดียวกัน หรือเมื่อมีการแสดงละครในที่มีตัวละครรับบทเป็นอสูรก็มีการนำหัวโขนบางหัวไปใช้ เช่น หัวโขนทศกัณฐ์ ที่ถูกนำไปใช้กับตัวพาณาสูร ในละครเรื่องอุณรุท เป็นต้น
หัวโขน ถือเป็นงานศิลปะที่รวมเอางานประติมากรรมและจิตรกรรมเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นความงามจึงขึ้นอยู่กับการออกแบบ การปั้นหน้าโขนให้ถูกสัดส่วน การให้สี การเขียนลวดลายที่ถูกต้องตามสี และพงศ์ของตัวแสดงในเรื่องรามเกียรติ์กำหนดไว้
นับแต่อดีตมาแล้วนั้นได้ถูกสร้างขึ้นอย่างวิจิตรบรรจง เลียนแบบมาจากพระมหามงกุฎ พระชฎา และพระศิราภรณ์อื่นๆของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ แต่ก็ได้หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจถูกมองว่าเป็นการ “เทียมเจ้า” ด้วยการใช้วัสดุที่มีค่าน้อย น้ำหนักเบา เช่น ใช้กระดาษเป็นโครงประดับลายด้วยการกระแหนะรักแล้วปิดทองประดับกระจก มิได้ประดิษฐ์ด้วยวัสดุมีค่า เช่น ทอง หรือเพชรพลอย เหมือนเครื่องต้น
การสร้างหัวโขนเพื่อการแสดงโขนชุดนี้ คณะทำงานที่ ถูกมอบหมายได้ศึกษามาจากงานศิลปกรรม หัวโขน ชฎา และมงกุฎโบราณ ที่ปรากฎอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อันมีงานหัวโขนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงยุคกรมมหรสพ สมัยรัชกาลที่ 6 เช่น หัวโขนสกุลวังหน้าที่สร้างขึ้นจากฝีพระหัตถ์ของกรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร หัวโขนของคณะละครเจ้าพระยามหินทร-ศักดิ์ธำรง หัวโขนช่างสิบหมู่ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 รวมถึงงานศิลปกรรมอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะการแสดง ได้แก่ หุ่นหลวง และหุ่นวังหน้า
จากการศึกษา จึงนำเอาลักษณะของโครงสร้าง ลวดลายจากหัวโขนโบราณเหล่านั้น มาเป็นแนวทางในการสร้างขึ้นใหม่ให้มีความงดงามและถูกต้องตามแบบงานศิลปะไทยทุกประการ
• ใบหน้าแห่งโขน
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริและพระราชวิจารณ์ เรื่องการแต่งหน้าโขนที่แสดง ถวายเฉพาะพระพักตร์ ในวาระโอกาสสำคัญต่างๆเสมอมา ก่อให้เกิดความตื่นตัวแก่วงการนาฎศิลป์ไทย รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินที่จะสืบค้นความถูกต้อง และสร้างมาตรฐานในการแต่งหน้าโขน
เทคนิคการแต่งหน้าโขนที่จะต้อง “แต่งให้สวยและมีดูเป็นไทย” ความยากอยู่ที่การเขียนเส้นให้สมดุลทั้งซ้ายและขวา แต่ถ้าใช้เวลาและความอดทดฝึกซ้ำบ่อยๆ จนเกิดความเข้าใจ ก็จะสามารถแต่งให้ประณีตและสวยงามได้ โดยใช้เวลาไม่นาน
หลังแก้ไขรูปหน้าตามหลักการแต่งหน้าสมัยใหม่ จากนั้นจะมีการลงพื้นอย่างประณีต เพื่อปรับสีผิวให้มีความขาวและสว่าง เพื่อที่เมื่อลงเส้นและสีจะได้มีความสวยงาม คมชัด และโดดเด่น
ทั้งนี้นอกจากเรื่องสีของเครื่องสำอาง ต้องคำนึงถึงสีของแสงไฟ ขนาดของเวที ลักษณะของเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับด้วย
.........
และทั้งหมดนี้คือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับความงดงามแห่งงานประณีตศิลป์ในอดีต ที่กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ท่ามกลางลมหายใจของคนในยุคปัจจุบัน
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 107 ตุลาคม 2552 โดยฮักก้า)