xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปินกับศิลปะ : เสียงสวดจากบางบำหรุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คงไม่ใช่แค่ผลงานศิลปะชิ้นที่ได้รับรางวัลอันดับ 1 ประเภทจิตรกรรมแนวประเพณี ของการประกวด “จิตรกรรมบัวหลวง”ครั้งที่ 31 โดยมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ เท่านั้น ที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความเป็นลูกชาวสวนย่านบางบำหรุ เขตบางพลัด ที่มีความผูกพันกับพุทธศาสนาของ “ชัยรัตน์ มงคลนัฎ” ศิลปินหนุ่มวัย 25 ปี จากภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพ พิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เพราะงานศิลปะที่เขาสร้างขึ้น ส่วนใหญ่ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิต และบรรยากาศรอบๆบ้านสวนที่ซึมซับมาตั้งแต่วัยเด็ก จนกระทั่งปัจจุบัน ขณะที่เพื่อนคนอื่นๆเลือกที่จะขลุกตัวสร้างงานศิลปะอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัย ทว่าเขากลับมีความสุขกับการได้สร้างงานศิลปะอยู่ที่บ้านเรือนไทยหลังเก่า ที่มีคนหลายรุ่นอาศัยรวมกันอยู่
และวัสดุส่วนหนึ่งที่เขาเลือกนำมาใช้สร้างงานศิลปะ ก็เป็นวัสดุจากธรรมชาติที่พอจะหยิบฉวยเอาได้จากใกล้ๆตัว ตัวอย่างเช่นผลงานชื่อ “เสียงสวดจากบางบำหรุ” ที่มีรางวัลการันตี เขาใช้ต้นมะพร้าว เลื่อยเป็นกระดานเพื่อทำเป็นข้างฝา รองรับงานศิลปะปูนปั้นชิ้นใหญ่น้อย ที่มีความงามเรียบง่ายแบบงานฝีมือของช่างพื้นบ้านธรรมดา ใช้ใบลานทำเป็นตาลปัตร และใช้สีฝุ่นเติมสีสันและสร้างเรื่องราวปลีกย่อยลงไปในชิ้นงานปูนปั้น และรายละเอียดอื่นๆ ราวกับต้องการซ่อนปริศนาธรรมอะไรไว้ในนั้น
ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ ได้เคยแสดงความเห็นต่องานศิลปะชิ้นนี้ไว้ว่า เป็นงานศิลปะที่มีรูปแบบและการให้สีแบบตามบุญตามกรรม ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบัญชาของจิตใต้สำนึกของชัยรัตน์ ที่ไม่พิถีพิถันต่อความงามตามค่านิยมของคนเมืองหรือรสนิยมชั้นสูง แต่ภาพรวมของงานศิลปะชิ้นนี้ กลับสามารถกระจายพลังออกมาปะทะกับใจของผู้ชมอย่างรุนแรง
“แม้ชัยรัตน์จะได้รับการฝึกฝนจากสถาบันการศึกษาศิลปะร่วมสมัย แต่การศึกษาก็ไม่สามารถดึงเขาออกจากธาตุแท้และสิ่งแวดล้อมพื้นบ้าน ที่สร้างและกล่อมเกลาเขามาตลอดชั่วอายุได้”
ภาพรวมของงานศิลปะชิ้นนี้ ความโดดเด่นอาจจะอยู่ที่รูปปั้นพระสงฆ์สามรูปในอิริยาบถนั่งสวดพระอภิธรรม ที่ชัยรัตน์จดจำมาจากบรรยากาศภายในวัด โดยเฉพาะวัดใกล้บ้าน ในยามที่ต้องไปร่วมกิจกรรมและงานบุญต่างๆ แต่ในรายละเอียดเล็กๆน้อยในภาพ เช่น แก๊งค์มอเตอร์ไซค์, นักร้องชื่อดัง, ชีวิตชาวสวน ตลอดจนสัญลักษณ์ที่หยิบมาจากเรื่องราวในไตรภูมิกถาที่พบได้ในงานจิตรกรรม แบบโบราณ ก็ทำให้ผู้ชมสนุกกับการไล่สายตามองให้ครบทุกส่วนเช่นกัน และมันคือสิ่งที่บอกว่าชีวิตของคนบางบำหรุเช่นชัยรัตน์ในยามนี้ก็เป็นเป็นเช่นนั้น ที่ไม่อาจปฏิเสธสิ่งใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังคงพึ่งพาคติความเชื่อเก่าๆเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ
“เสียงสวดจากบางบำหรุ ก็คือเสียงสวดที่ดังมาจากบ้านของผมเลย และอยากให้คนอื่นได้ยินบ้าง อาจเป็นเสียงสวดของพระที่ต้องการจะสวดให้วิกฤติบางอย่างผ่านพ้นไปก็ได้”
ชัยรัตน์ยังคงสนุกกับการใช้วัสดุธรรมชาติรอบๆตัว สร้างงานศิลปะ
ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ กิ่ง ไม้ ก้อนหิน และดิน ซึ่งผลงานส่วนใหญ่เขาเก็บรักษาไว้ที่บ้าน
ผลงานหลายชิ้นสร้างเป็นพระพุทธรูป ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้วัสดุที่มีราคา แต่มุ่งถ่ายทอดอารมณ์ และความรู้สึกให้ออกมาเป็นชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ตัว
“พระพุทธรูปที่ผมทำขึ้น มันมีแนวคิดอยู่เหมือนกันว่า สิ่งที่นำมาสร้าง จะเป็นอะไรไม่สำคัญ เป็นก้อนหินหรือสิ่งที่พบในชีวิตประจำวันก็ได้ ถ้าเราคิดว่าสิ่งนั้นมันสามารถใช้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเราได้”
เวลานี้ชีวิตของเขาก็ไม่ต่างกับวัยรุ่นทั่วๆไปที่ต้องออก ไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงบ้างตามโอกาส แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องแบ่งเวลาเพื่อไปวัดเดือนละหลายๆหน สวดมนต์ทุกครั้งก่อนนอน เพราะเชื่อว่าธรรมะสามารถช่วยให้คนที่อยู่ในวัยคะนองเช่นเขามีสติและสงบลงได้มาก
“ไปทั้งวัดแถวบ้านและที่ไกลๆบ้าน ผมคิดว่าธรรมะช่วยได้ในแง่จิตใจ ทำให้เรานิ่งขึ้น รู้จักไตร่ตรองให้ดีก่อนทำอะไรลงไป”
ซึ่งธรรมะที่เขายึดถือและเชื่อว่าเป็นจริงที่สุดสำหรับชีวิตก็คือ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
“นี่ไงครับ...ทำดีได้ดีจริงๆ”
เขาชี้ไปที่ผลงานศิลปะที่ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจสุดความสามารถที่มีอยู่สร้างมันขึ้นมา จนสามารถคว้ารางวัลในเวทีประกวดศิลปะระดับประเทศมาได้ และเขาเชื่อว่ามันคือผลจากการทำดี
“คุ้มค่ากับความยากลำบาก ได้ดีมากแค่ไหนไม่รู้ แต่อย่างน้อยผมก็รู้ว่าผมได้รับสิ่งดีๆตอบกลับมาในระดับหนึ่งแล้ว”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 106 กันยายน 2552 โดยฮักก้า)


[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
กำลังโหลดความคิดเห็น