xs
xsm
sm
md
lg

ดูปะการัง-เงี่ยหูฟังปะการังคุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


     ะการังน้อยใหญ่ใต้ท้องทะเล ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่แต่งแต้มให้ท้องทะเลอันกว้างใหญ่
    
     ให้สวยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากครั้งนี้เราจะพาไปดำน้ำทำความรู้จักความสวยงามของปะการังอย่างพวกเขาใต้ท้องทะเลไทยแล้ว เรายังชวนคุณๆ ไปฟังเงี่ยหูฟังปะการังคุยอีกด้วย

     ปะการังเป็นพืชหรือสัตว์
   
     สงสัยเหมือนกับคำถามข้างต้น บ้างหรือเปล่า, คำตอบที่ได้ก็คือ จริงๆ แล้ว “ปะการัง” ถือว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์ (ซึ่งมีอายุเป็นพันๆ ปี เกิดก่อนหน้าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์อีก) เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งจัดอยู่ในประเภทสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง อาศัยอยู่ในโครงสร้างหินปูนมีลักษณะการดำรงชีพ 2 แบบ กล่าวคือ อยู่แบบตัวเดียว หรืออยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยปะการังพวกที่เจริญเติบโตในน้ำลึกจะมีลักษณะเป็นก้อนขนาดไม่ใหญ่มาก
  
     ส่วนปะการังที่เจริญได้ดีจะอยู่ในเขตน้ำตื้นจนถึงน้ำลึก 50 เมตร มีการเจริญเติบโตแบบรวมเป็นกลุ่มจะเกิดเป็นแนวปะการังขนาดใหญ่ ปะการังแต่ละตัวที่มารวมกันจะสร้างโครงสร้างในรูปของหินปูนเป็นรูปร่างต่างๆ กัน แล้วแต่ชนิดของปะการังนั้นๆ การเจริญเติบโตของปะการังค่อนข้างช้ามาก การเติบโตของมันจะขึ้นกับปัจจัยสภาพแวดล้อมที่สำคัญ อันได้แก่ อุณหภูมิของน้ำ และแสงสว่าง โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีน้ำสะอาด สภาพท้องทะเลค่อนข้างแข็งหรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยความเค็มของน้ำค่อนข้างสูง มีแสงสว่างมากพอควร อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 20-29 องศาเซลเซียส

     ดังนั้นประเทศในเขตหนาวจัดๆ จึงหมดสิทธิได้เชยชมกับความงดงาม-อลังการของปะการังอย่างกับประเทศไทย จึงไม่แปลกที่ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมากมายจะมาเยือนเมืองไทยเพื่อมาดำน้ำดูปะการังสวยๆ ทั้งดำน้ำดูสิ่งมีชีวิตมากมายในแนวปะการัง

ปะการังกว่าครึ่งโลกอยู่ในไทย...!
    
     ไม่ต้องขยี้หูหรอก หูคุณไม่ได้ฟาด, จากการประมาณการณ์คาดกันว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีปะการังอดความสวยงามประดับโลกใต้น้ำมากกว่า 700 ชนิดที่เดียว แต่ทว่าปะการังกว่า 700 ชนิดที่ว่ากลับมีอยู่ใต้ท้องทะเลในบ้านเรามีปะการังเฉิดฉายอยู่ใต้น้ำมากกว่า 350 ชนิดเลยทีเดียวเชียวแหละ

      ไม่ว่าจะเป็น ปะการังปลายเข็ม, ปะการังเกล็ดคว่ำ ปะการังดอกกะหล่ำ, ปะการังกิ่งไม้เล็ก, ปะการังผิวเกล็ดน้ำแข็ง, ปะการังโขด หรือปะการังนิ้วมือ ปะการังผิวยู่ยี่, ปะการังดอกไม้ทะเล, ปะการังลายกลีบดอกไม้, ปะการังลายดอกไม้, ปะการังช่องหินอ่อน, ปะการังรังผึ้ง ปะการังลายลูกฟูก, ปะการังดอกเห็ด, ปะการัง บูมเมอแรง, ปะการังกาแล็กซี่, ปะการังแผ่นเปลวไฟ หรือ ปะการังดอกจอก, ปะการังเคลือบหนาม, ปะการังถ้วยหนาม ปะการังถ้วยสมอง หรือ กรวยสมอง ปะการังดาวเล็ก, ปะการังดาวใหญ่, ปะการังหนวดถั่ว หรือ หนวดสมอ, ปะการังถ้วยสีส้ม, ปะการังดำ ปะการังอ่อน ซึ่งมีมากกว่า 18 ชนิด โดยเฉพาะปะการังเขากวางที่มีลักษณะพิเศษสวยงาม ซึ่งสามารพบปะการังเขากว่าชนิดนี้ได้อีกกว่า 40 ชนิด เลยทีเดียว

     “ปะการังมันเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลครับ” ปอ วิกรม ภูมิพล ผู้จัดการ มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเล และการอนุรักษ์ คนหนุ่มนักอนุรักษ์ แววตามุ่งมั่น อธิบายให้ฟัง
  
     หลายคนไม่รู้ว่าการมีปะการังมีประโยชน์อย่างไร ปะการังถือเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญบริเวณชายฝั่งทะเล เป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์จำนวนมาก
      อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารเพื่อการเจริญเติบโต เป็นแหล่งเพาะพันธุ์วางไข่และหลบภัย ปะการังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล การประมง และมีส่วนช่วยรักษาสภาพสมดุลธรรมชาติของชายฝั่ง ช่วยลดความรุนแรงของคลื่นที่กระทบต่อชายฝั่งความสวยงามของแนวปะการัง

     ทว่าหากเป็นในระดับเศรษฐกิจ นอกจากการมีอยู่ของปะการังมันจะช่วยในด้านพักผ่อนหย่อนใจและเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างดี สามารถนำรายได้มาสู่ท้องถิ่นแล้ว ในปัจจุบัน ได้มีการค้นคว้าเพื่อสกัดสารเคมีต่างๆ จากปะการัง สัตว์ และพืชที่อยู่ในแนวปะการัง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

     “ปะการังเป็นจุดเริ่มต้นที่สังคมใช้ประโยชน์กันทั้งนั้น อย่างปลาตัวหนึ่งเขาก็มีคุณค่าของเขา

     คนบนบกส่วนใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ คิดว่าการมีอยู่ของปะการังนั้นไม่สำคัญ ซึ่งจริงๆ แล้วมันสำคัญมากๆ โดยเฉพาะกับสิ่งแวดล้อมที่มันเกี่ยวโยงกันหมด เพราะแนวปะการรังเป็นผู้ผลิตขั้นต้นที่ผลิตอาหารและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ออกมาถ้ามีมีจุดเริ่มต้นของการดำรงชีพให้กับมนุษย์และสัตว์อื่นๆ” นี่คือประโยชน์นอกจากความสวยงาม แบบที่หลายคนไม่เคยรู้

สบายดีไหม…? ปะการังไทย

     สำหรับสถานการณ์ปะการังปัจจุบัน ปอ-หนุ่มนักอนุรักษ์คนเดิม ให้ข้อมูลว่า ถ้าหากจะให้คะแนนการสูญเสียของปะการัง 10 ระดับ ตอนนี้เรากำลังสูญเสียปะการังประมาณระดับ 7 เนื่องเพราะไม่เพียงคนทั่วไป คนในพื้นที่ที่อยู่กับทรัพยากรยังไม่ค่อยมีความรู้

      ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระเบิดหาปลา การลากอวนหาปลา และภาวะโลกร้อน หรือแม้กระทั่งธุรกิจการดำน้ำ ทั้งนี้จะโดยรู้หรือไม่รู้ ทั้งหมดถือว่าเป็นการทำลายปะการัง

      “โดยเฉพาะปรากฏการณ์ฟอกขาวในไทยที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2541 ส่งผลให้ปะการังเสียหายมากมาย” จากวิกฤตการณ์แห่งการสูญเสียแห่งการสูญเสียปะการัง เขาบอกว่า ส่งผลให้เมื่อประมาณ 2536 อ.ประสาน แสงไพบูลย์ ประธาน มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเล และการอนุรักษ์ ได้ทำการวิจัยการใช้แนวความคิดขยายปะการัง โดยเริ่มจากปะการังเขากวางนำมาปลูกในท่อพีวีซีได้แห่งแรกๆ ของโลกอีกด้วย

     “ทำไมต้องเป็นปะการังเขากวาง เพราะว่ามันโตเร็วกว่าปะการังชนิดอื่นๆ และเป็นเหมือนไม้นำร่องในการปลูกอย่างดีครับ”

     สำหรับวิธีเพาะปะการังจากท่อพีวีซี อันดับแรกต้องเอากิ่งที่มันล้มหรือหัก-ตายตามธรรมชาติ หลังจากนั้นนำท่อพีวีซีมาต่อกันเป็นแปลงอนุบาลเอาปะการังใส่และขัดน็อต หลังจากนั้นก็ต้องใช้ระยะเวลาเพาะเลี้ยงนาน 2 ถึง 3 ปี แล้วจึงนำปะการังที่งอกแตกกิ่งก้านสาขามอบคืนมอบสู่ท้องทะเลไทย

    “ซึ่งแน่นอนว่า เราจะไม่เอาปะการังที่เพาะได้ไปปลูกในที่ที่ไม่มีปะการังครับ เพราะจะเป็นการทำโดยสูญเปล่า โดยปะการังที่เรานำมาเพาะในท่อพีวีซีนำไปปลูกทดแทนในพื้นที่ที่มีปะการังเสียหาย”

    ไม่น่าเชื่อ ปัจจุบันโครงการนี้นำปะการังที่เพาะได้ในท่อพีวีซีคืนความอุดมสู่ท้องทะเลไทยได้ 80,000 กิ่ง

     นอกจากปะการังเขากวางแล้ว จริงๆ แล้วเราสามารถปลูกปะการังอื่นได้ไหม…? เราสงสัย

    “ปลูกได้ครับ” หนุ่มนักอนุรักษ์ ยกตัวอย่างเช่น ปะการังโต๊ะ ซึ่งเราก็ทำวิจัยอยู่ผลที่ได้มาก็ทำมาแล้ว 3 ปีครับ หรือยอย่างปะการังแผงตั้งก็สามารถเพาะทำได้ อนาคตก็เตรียมนำพวกเขากลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างรวดเร็ว”

เงี่ยหูฟังเสียงปะการังคุย


     บบที่กล่าวไปข้างต้นศัตรูอันดับหนึ่งของธรรมชาติก็คงไหนไม่พ้น “มนุษย์” สำหรับวิธีแก้ก็ง่ายๆ วิกรม ภูมิพล หนุ่มนักอนุรักษ์ บอกว่า นอกจากก็ต้องแก้ที่มนุษย์แล้ว เราต้องฟังเสียงปะการังพูดให้มากๆ

     “ปัจจุบันมูลนิธิฯ เรา ได้ทำงานกับเยาวชนมากว่า 20 ปีแล้ว โดยได้มีการปลูกจิตสำนึกกับการอนุรักษ์ การปลูกปะการังต้องทำอย่างไร แล้วการดำน้ำที่ถูกวิธีต้องทำอย่างไร ซึ่งเด็กนักเรียน ซึ่งมาที่นี่ต้องดำน้ำได้ด้วย"

     “ซึ่งเราจะมีการสอนให้เขาได้เรียนแล้วก็ไปบอกต่อว่าการดำน้ำที่ถูกวิธีทำอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเหนื่อยเราต้องทำอย่างไร”

     “คือไม่เหยียบย่ำปะการัง ซึ่งเมื่อเราเหนื่อยเราก็พลิกตัวนอนหงายแล้วก็คายท่อ “สน็อกเกิ้ล” ออก พักหน้ากากเอาไว้ แล้วจึงนอนหงายแค่นี้ปะการังก็ปลอดภัย แต่บางคนเมื่อเหนื่อยแล้วยืนเลยแต่เราจะมีการสอน มีการฝึกให้เขาก่อน พวกเขาก็จะสามารถไปบอกต่อได้ บางครั้งเราเห็นแนวปะการังแล้วอย่างไปจับ ดูแต่ตา เพราถ้าจับแล้วตัวเขาสามารถ ถูกทำลายได้ เพราะเขาบอบบางมากๆ ส่วนอีกวิธีหนึ่ง เราก็พยายามไม่เก็บอะไรขึ้นมา พูดง่ายๆ ก็คือความงดงามใต้ท้องทะเลจงดูแต่ตาเท่านั้นธรรชาติจะปลอดภัยครับ”

     นักอนุรักษ์หนุ่มย้ำทิ้งท้ายว่า การทำลายหรือไม่ใส่ใจเพียงวินาทีเดียวเท่านั้น แต่การฟื้นฟูธรรมชาติให้สวยงามดังเดิมมันใช้เวลาหลายสิบปี

     พูดง่ายๆ เมื่อเราดูปะการังแล้ว สุดท้ายเราก็ก็ต้องเงี่ยหูฟังเขาพูดด้วยว่าเขารู้สึกเช่นกัน...! เพราะไม่ว่าเขา (ธรรมชาติ) ไม่ว่าเรา (มนุษย์) ก็ล้วนต้องพึ่งพาอาศัย ซึ่งกันละกันตลอดไป...!
                                                            ขอบคุณบริษัท วินิไทย จำกัด


***********************
ศรินญา เรืองปัญญาวุฒิ นักธุรกิจ-สาวสวยที่ชอบกีฬาดำน้ำ
     ปัจจุบัน “ฮุ้ง” ดำน้ำมากหลายปีแล้ว ซึ่งทุกๆ ครั้งที่ลงไปใต้น้ำเชื่อหรือเปล่าว่าทุกๆ ครั้ง สิ่งต่างๆ ในท้องทะเลที่เราเคยเห็น มันจะค่อยๆ เปลี่ยนไปที่ละเล็กทีละน้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะ สภาพแวดล้อม น้ำที่ขุ่นขึ้น หรือแม้กระทั่งตัวปะการัง และสัตว์น้ำหลายๆ ชนิดที่เคยมีเคยเห็นอยู่มากมายระยะหลังๆ พอเราไปดำน้ำที่นั่นอีกทีจากที่มันว่ายมาทักทายเรา กลับได้หายหน้าหายตาไปหลายชนิด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย”

     ในฐานะนักดำน้ำก็อยากจะฝากให้นักท่องเที่ยว นักดำน้ำ ช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างง่ายๆ ที่สุดก็คือไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปในน้ำ ที่สำคัญเมื่อมีโอกาสลงไปในโลกใต้น้ำแล้วก็จงดูแต่ตา อย่าหยิบจับอะไรติดมือกลับไปเลย
     “เก็บเอาไปแต่ความประทับใจ ทิ้งไว้แค่รอยเท้าเถอะค่ะ เพื่อยังคงให้ความสวยงามของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ให้มันยังคงอยู่ให้รุ่นลูกรุ่นหลานและคนรุ่นต่อไปได้ชื่นชม” นักดำน้ำสาวสรุป





กำลังโหลดความคิดเห็น