สพท.ประกาศกำหนดมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 3 มาตรฐานรวด หวังยกระดับคุณภาพการพัฒนามาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวของเกาะ – แก่ง และถ้ำ
ดร.เสกสรร นาควงศ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว ประกาศกำหนดมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติประเภทเกาะ ประเภทแก่งและประเภทถ้ำ เพิ่มขึ้นจากมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่กำหนดไว้
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะจะต้องเป็นสถานที่ที่เปิดใช้เพื่อการท่องเที่ยว โดยมีเกาะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวมาเยือน โดยพิจารณาเฉพาะเกาะที่อยู่ในทะเลเท่านั้น ซึ่งมาตรฐานกำหนดไว้ 3 องค์ประกอบคือ คุณค่าด้านการท่องเที่ยวและความเสี่ยงต่อการถูกทำลาย ศักยภาพในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การบริหารจัดการ โดยคำนึงถึงความสำคัญของแหล่งธรรมชาติที่มีต่อระบบนิเวศ ความสำคัญต่อมนุษย์จากการเข้าไปใช้ประโยชน์จากแหล่งธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นสภาพของเกาะ ขนาดของเกาะ สภาพป่าธรรมชาติ ภูเขาที่อยู่บนเกาะ น้ำจืด ความงามของถ้ำ ความงามของน้ำตก ความงามของชายหาด แนวปะการัง หญ้าทะเลหรือสาหร่ายทะเล ความขุ่นใสของน้ำทะเลโดยปกติ สัตว์จำพวกนก สัตว์ประจำถิ่นหรือสัตว์หายาก สัตว์น้ำ ตำนานหรือเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้อง สถานที่ที่เป็นที่เคารพ เช่นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นบนเกาะ แหล่งโบราณสถานและ/หรือโบราณวัตถุที่สำคัญ ไม่เพียงแต่เท่านั้นยังคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการถูกทำลายเช่นการกัดเซาะของชายฝั่งโดยคลื่น กิจกรรมที่ก่อให้เกิดการทำลายสภาพธรรมชาติบริเวณชายฝั่ง สภาพการถูกรบกวนจากโรงแรม/รีสอร์ท/บังกะโล สภาพการถูกรบกวนจากการสร้างที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ ภัยธรรมชาติที่ก่อให้เกิดการทำลายสภาพของเกาะ
ดร.เสกสรร ยังกล่าวต่อไปอีกว่า สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวได้ประกาศกำหนดมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติประเภทแก่ง อันเป็นสถานที่ที่เปิดใช้เพื่อการท่องเที่ยว มีแก่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวมาเยือน เพื่อความเพลิดเพลิน มีกิจกรรมท่องเที่ยวหลักเช่น การล่องแก่ง การพายเรือ การพักแรม การเดินป่า อาจเสริมกิจกรรมเพื่อการศึกษาธรรมชาติเช่น การดูนก การสำรวจธรรมชาติ การศึกษาพันธ์พืชต่างๆ ภายใต้องค์ประกอบกิจกรรมของความท้าทายหรือเสี่ยงภัย การใช้พละกำลัง การได้รับความสนุกเพลิดเพลินและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนเข้ามาเกี่ยวข้อง
ดร.เสกสรร กล่าวในตอนท้ายว่า ไม่เพียงแต่เท่านั้น สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว ยังได้ประกาศกำหนดมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติประเภทถ้ำ โดยคำนึงถึงสถานที่เปิดใช้เพื่อการท่องเที่ยว มีถ้ำเป็นที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว เพื่อความเพลิดเพลิน ชมบรรยากาศและหินงอกหินย้อยภายในถ้ำ การศึกษาโบราณคดีของมนุษย์ยุคต่างๆ ที่เคยอาศัยในถ้ำ การนมัสการพระพุทธรูป การให้อาหารสัตว์ การรับประทานอาหาร โดยคำนึงถึงขนาดของถ้ำ ลักษณะภายในถ้ำ การรุกล้ำเข้าไปในถ้ำ ความงามของถ้ำ น้ำภายในถ้ำ สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในถ้ำ โบราณวัตถุหรือซากดึกดำบรรพ์ที่มีอยู่ในถ้ำ การเดินทางมาของบุคคลสำคัญ ความเชื่อพื้นบ้านหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์กับศาสนา ซึ่งจากนี้ไปสำนักพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจะดำเนินการจัดอบรม สัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้