xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์สั่งสกัดโจรขโมยต้นไม้กลายเป็นหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กาฬสินธุ์ - ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ สั่งคุมเข้มแนวเขตเทือกเขาภูพานตรงบริเวณ ภูปอ ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ตำบลนาบอน อำเภอคำม่วง ซึ่งเป็นจุดค้นพบต้นไม้กลายเป็นหินอายุกว่า 150 ล้านปี ในยุคจูราสซิค ที่กำลังถูกลักขโมยไปขายต่อให้นายทุน

วันนี้ (1พ.ย.) นายเดชา ตันติยวรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ สุบงกฎ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายเลิศบุตร กองทอง นายอำเภอคำม่วง จนท.อส.กว่า 50 นาย ได้เข้าไปตรวจสอบแนวเขตเทือกเขาภูพาน ตรงบริเวณ ภูปอ ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของตำบลนาบอน อำเภอคำม่วง ซึ่งเป็นจุดค้นพบต้นไม้กลายเป็นหินอายุกว่า 150 ล้านปี ในยุคจูราสซิค จำนวนมาก แต่กลับพบว่ามีความพยายามของกลุ่มนายทุนเข้าไปทุบเพื่อขโมยไปขาย

การสำรวจร่วมกันระหว่างกลุ่มชาวบ้านในตำบลนาบอนและเจ้าหน้าที่จากทางจังหวัดพบว่า ในบริเวณดังกล่าว มีต้นไม้กลายเป็นหินมากกว่า 200 ต้น ที่มีทั้งยืนต้น เป็นตอไม้และที่ยังนอนเรียงรายอยู่ตามเทือกเขาภูพาน จับกลุ่มกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ แต่กลับพบว่ามีร่องรอยการเคลื่อนย้ายและรอยกะเทาะหายไปเป็นจำนวนมาก

นายเดชา ตันติยวรงค์ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ผลสำรวจแหล่งค้นพบต้นไม้กลายเป็นหินของอำเภอคำม่วง ก่อนหน้านี้ กรมทรัพยากรธรณี ได้เคยทำบันทึกการค้นพบเอาไว้ตั้งแต่ปี 2537 ที่ได้แจ้งว่า ต้นไม้กลายเป็นหินแห่งนี้จัดอยู่ในยุคจูราสซิค อายุกว่า 150 ล้านปี และทางจังหวัดก็มีความพยายามในการดูแลรักษามาโดยตลอด

กระทั่งได้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ ตรงบ้านโคกสนาม ในเขตตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวที่ผ่านมา แต่กลับพบว่า ต้นไม้กลายเป็นหิน กลับถูกชาวบ้านที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ขึ้นไปตัดกะเทาะเอาไปขายให้กับนายทุน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีต้นไม้กลายเป็นหินจำนวนไม้น้อยที่ถูกเคลื่อนย้ายออกไป โดยทิ้งร่องเป็นเศษหิน

“เป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากประชาชนไม่ร่วมกันรักษา เพราะในจุดที่ค้นพบนับได้ว่า สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว อุทยานต้นไม้กลายเป็นหินแหล่งซากดึกดำบรรพ์อายุ 150 ล้านปีได้อย่างสบาย จึงต้องการให้พี่น้องประชาชนได้ร่วมกันป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนย้าย ซากดึกดำบรรพ์ออกจากพื้นที่”ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าว และว่า

เนื่องจากศักยภาพในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น อ.สหัสขันธ์ อ.คำม่วง อ.กุฉินารายณ์ ที่เป็นกลุ่มการค้นพบด้านบรรพชีวิน การดำเนินการคุมเข้มเพื่อคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์

ขณะนี้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 ได้มอบหมายให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแล และจำเป็นที่จะต้องแจ้งเพื่อกำหนดแนวเขตการค้นพบหากมีความสงสัยว่าในพื้นที่ใดเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ กับอีกด้านก็คือการใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 เอาผิดกับบุคคลที่ไม่หวังดีต่อซากดึกดำบรรพ์
กำลังโหลดความคิดเห็น