xs
xsm
sm
md
lg

"แมงกะพรุนน้ำจืด"สัตว์โบราณในลำน้ำเข็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มงกะพรุนน้ำจืดแหวกว่ายในน้ำ
ตัวอะไรเอ่ย?... ลำตัวใสคล้ายเจลใส่ผม เหมือนร่มเล็กๆ 2 คันซ้อนกัน ขนาดเท่าเหรียญบาทจนถึงเหรียญห้าบาท มีก้านร่ม 4 อันเป็นรัศมีแต่ละก้านมีถุงขาวๆยื่นออกมาตรงหนวดใสๆอยู่รายรอบ คล้ายหนวดของตัวพารามีเซียม มีขนาดสั้นบ้างยาวบ้าง

ติ๊กต๊อก ๆ คิดกันออกไหม...หากคิดไม่ออกจะเฉลยบอกความเดี๋ยวนี้

คุณสมบัติเหล่านี้คือคุณลักษณะของ “แมงกะพรุนน้ำจืด” (Freshwater Jellyfish) อย่างไรเล่า...

สำหรับใครที่ยังสงสัยว่า แมงกะพรุนน้ำจืดมีดีอย่างไรนั้น จะขอพาไปทำความรู้จักเดี๋ยวนี้ แมงกะพรุนน้ำจืดนั้นมีความแตกต่างจากแมงกะพรุนทะเล หรือ แมงกะพรุนน้ำเค็มอยู่พอสมควรทีเดียว

เพราะรายงานการค้นพบแมงกะพรุนน้ำจืดในโลกนี้มีน้อยมาก จากรายงานการค้นพบแมงกะพรุนน้ำจืดระบุว่า มีการค้นพบแมงกะพรุนน้ำจืดครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2423 และหลังจากนั้นมาก็มีการค้นพบในประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น

สำหรับประเทศไทยมีรายงานการค้นพบแมงกะพรุนน้ำจืดเป็นประเทศที่ 5 ของโลก ในปี พ.ศ.2504 ที่หมู่บ้านโคกไผ่ ริมลำน้ำโขง ห่างจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ประมาณ 38 กิโลเมตร ในช่วงที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลง (มีนาคม-พฤษภาคม) โดยพบว่ามีการกระจายตั้งแต่ปากแม่น้ำเหือง บ้านโคกงิ้ว อ.เชียงคาน จ.เลย ถึงบ้านหนอง อ.สังคม จ.หนองคาย
จุดขึ้นเรือที่แก่งบางระจันเพื่อไปชมแมงกะพรุนน้ำจืด
สิ่งมีชีวิตตัวน้อย

และต่อเนื่องความสำเร็จ เมื่อได้มีการค้นพบแมงกะพรุนน้ำจืดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กขึ้นอีกครั้ง ที่บริเวณแก่งบางระจัน ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ นับว่าเป็นการค้นพบครั้งที่ 6ของโลกก็ว่าได้

สำหรับการค้นพบนี้ เกรียงไกร สมนรินทร์ ประธานกลุ่มคนรักษ์ป่าหนองแม่นา-ทานตะวัน ได้เล่าย้อนให้ฟังว่า เริ่มจากการที่มีชาวบ้านเล่าว่า มีการค้นพบแมงกะพรุนน้ำจืดในลำน้ำเข็กบริเวณแก่งสอง แก่งบางระจัน และแก่งวังน้ำเย็น ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ มาเป็นเวลานานแต่ไม่ได้เผยแพร่

“ผมเริ่มพบเมื่อปี พ.ศ.2544 และได้ร่วมกับชาวบ้านพร้อมด้วยหน่วยงานและนักวิชาการเข้าไปศึกษาอย่างจริงจังในปี2545 คนพื้นที่ที่สนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษก็คือ อ.ชัยวัฒน์ สัตยาธนวัฒน์ อาจารย์โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เริ่มศึกษาแมงกะพรุนน้ำจืดกับระบบนิเวศอย่างจริงจัง”ประธานกลุ่มคนรักษ์ป่าหนองแม่นาฯกล่าว
เหล่าผีเสื้อหลากสี อีกหนึ่งความงดงามแห่งพงไพร
ซึ่งทางด้าน อ. ชัยวัฒน์ สัตยาธนวัฒน์ เองก็ได้กล่าวถึงเรื่องของแมงกะพรุนน้ำจืดในแก่งบางระจันให้ฟังว่า สำหรับแมงกะพรุนน้ำจืดที่พบในประเทศไทยนั้น ชื่อสายพันธุ์ คือ Crasapedacusta Sowerbyi

แมงกะพรุนน้ำจืดชนิดนี้ว่ายน้ำได้โดยการกระพือขอบร่มเป็นจังหวะ กินแพลงตอน สัตว์ และไข่อ่อนของยุงเป็นอาหาร เคลื่อนย้ายจากแหล่งน้ำที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้นอกเหนือจากล่องลอยไปตามน้ำแล้ว ยังสามารถอาศัยเกาะติดไปกับนกน้ำ (Waterbirds) ได้ด้วย

โดยลักษณะของแมงกะพรุนน้ำจืดที่พบนี้ เป็นช่วงระยะของวงจรชีวิตที่ตัวเจริญเต็มวัย (Medusa) หลังจากนั้นก็มีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติแล้ว จะเปลี่ยนวงจรเข้าสู่ระยะเตรียมฟักตัวในรุ่นต่อไป การฟักตัวจะอยู่ใต้น้ำและมีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็น แล้วเมื่อโตเต็มไวก็จะปรากฏให้เห็นอีกครั้ง โดยวงจรนี้จะมีระยะเวลาประมาณ 1 ปี
อ.ชัยวัฒน์ สัตยานุวัฒน์ ผู้ทำการศึกษาแมงกะพรุนน้ำจืด
ซึ่งปรากฏว่าแมงกะพรุนน้ำจืดได้ขึ้นมาบนผิวน้ำและสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ใน1ปีจึงจะสามารถพบแมงกะพรุนน้ำจืดได้เพียงช่วง 2 - 3 เดือนเท่านั้น

“แมงกะพรุนน้ำจืด ที่พบในบ้านหนองแม่นา เป็นสายพันธุ์สายน้ำไหลบนภูเขา ซึ่งเป็นสายพันธ์ดึกดำบรรพ์ โดยมีเพียงไม่กี่แห่งในโลก เป็นแมงกะพรุนที่อาศัยอยู่บนเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,250เมตร แมงกะพรุนชนิดนี้ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม เปราะบางมาก มีขนาดเล็ก ไม่สำเร็จในการเพาะเลี้ยง อ่อนไหว ตายง่าย หากเอาไปเลี้ยงในตู้ก็อยู่ได้ไม่เกิน 2 อาทิตย์ “อ.ชัยวัฒน์อธิบาย

ดังนั้น แมงกะพรุนน้ำจืดชนิดนี้ จึงเปรียบเสมือนดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ ของระบบนิเวศน์ในน้ำและระบบนิเวศชายฝั่งได้เป็นอย่างดี อ.ชัยวัฒน์ได้เล่าเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ชาวบ้านปล่อยปละละเลยปล่อยให้ลำน้ำไม่สะอาด แมงกะพรุนน้ำจืดก็จะไม่ปรากฏตัวให้เห็นเลย
ลำน้ำที่นี่ใสสะอาดสามารถดื่มน้ำได้
ดังนั้นแมงกะพรุนน้ำจืดจึงเป็นตัวบ่งชี้ระบบนิเวศน์ของน้ำได้เป็นอย่างดี ยามที่พายเรือตามหาแมงกะพรุนนั้น หากระหายน้ำก็ลองลิ้มชิมรสน้ำในลำน้ำได้เลยแล้วจะรู้ว่ามันสะอาดเป็นะรรมชาติแค่ไหน

“ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูแมงกะพรุนน้ำจืด คือ ช่วงเวลาที่มีแสงแดดส่องกระทบกับผิวน้ำจะพบแมงกะพรุนน้ำจืดได้มาก เพราะว่าแมงกะพรุนน้ำจืดจะว่ายขึ้นมารับไอแดด ส่วนวันไหนแดดไม่ออกหรือมีฝนตกวันนั้นจะพบแมงกะพรุนน้ำพรุนน้ำจืดได้น้อย”อ.ชัยวัฒน์กล่าวแนะนำวิธีดูแมงกะพรุน

“แก่งบางระจัน” ที่นี่มีมากกว่าธรรมชาติ

ใช่ว่าที่ แก่งบางระจัน แห่งนี้จะมีแต่แมงกะพรุนน้ำจืดเท่านั้น แต่ที่นี่ยังมีคุณค่าทั้งในแง่ของการเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์และมากค่าด้านธรรมชาติอีกด้วย

เกรียงไกร สมนรินทร์ เล่าให้ฟังว่า “แก่งบางระจัน” เป็นชื่อที่ชาวบ้านในชุมชนหนองแม่นา กล่าวขานถึงกลุ่มแก่งหินขนาดใหญ่ที่ทอดยาวขวางกั้นลำน้ำเข็ก บริเวณบ้านหนองแม่นา หมู่ที่6 ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ พื้นที่ติดต่อกับทุ่งหญ้าและป่าสนของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง

“ที่นี่ในอดีตเคยเป็นพื้นที่สีแดงมาก่อนเพราะเป็นจุดสู้รบปะทะระหว่างทหารไทยกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)กว่าจะตีแตกต้องใช้เวลานานจึงขนานนามว่า “แก่งบางระจัน”และเรียกติดปากมาจนทุกวันนี้”เกรียงไกรกล่าว

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้มาเยือนที่นี่มักจะตื่นตาตื่นใจ พอๆกับการได้มาพบแมงกะพรุนน้ำจืด คือ การได้มาชมผีเสื้อนานาพันธุ์ รวมทั้งพันธุ์สวยงามหายากกว่า 50 ชนิด อาทิ ไกเซอร์ดำ จันทรา เหลืองหนามแฟ้นฉาน เป็นต้น และชมหอยก้นตัด (ภาษาท้องถิ่น) ที่เป็นเอกลักษณ์ที่พบได้แห่งเดียวในลำน้ำเข็กแห่งนี้
นั่งเรืออีโปงชมแมงกะพรุนน้ำจืด
“ด้วยความสมบูรณ์ของที่นี่เราจะใช้ชาวบ้านเป็นผู้จัดการนำเที่ยวในชุมชน เวลาลงเรือตามหาแมงกะพรุนเราก็จะใช้เรืออีโปงของชาวบ้านค่อยๆพายหา ซึ่งชาวบ้านที่พายเรือทุกคนล้วนเป็นมัคคุเทศก์ที่ได้รับการอบรมจากททท.มาแล้วทั้งสิ้น ดังนั้นจึงวางใจเรื่องข้อมูลได้และในหมู่บ้านเรายังมีที่พักโฮมสเตย์ ไว้รองรับสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวหนองแม่นาอีกด้วย”เกรียงไกรกล่าวทิ้งท้าย

หากอยากเห็นแมงกะพรุนน้ำจืดสายพันธุ์ดึกดำบรรพ์ตัวเป็นๆและชมเหล่าผีเสื้อหลากสี สัมผัสกับน้ำใจและวิถีชุมชนของชาวหนองแม่นาอย่างใกล้ชิด ก็แวะเวียนมาเยี่ยมได้ เพราะช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่เหมาะสมที่จะได้เห็นทุกอย่างด้วยตาคุณเอง.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ผู้สนใจชม “แมงกะพรุนน้ำจืด” สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ชมรมคนรักษ์ป่าหนองแม่นา-ทานตะวัน โทร.08-1046-2166,08-6214-6510 หรือที่ ททท.สำนักงานภาคเหนือเขต 3 โทร.0-5525-2742-3
กำลังโหลดความคิดเห็น