xs
xsm
sm
md
lg

เมืองกว๊านเล็งฟื้นชีพเหมืองเชียงม่วน ปั้นแหล่งประวัติศาสตร์ดึกดำบรรพ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พะเยา - จังหวัดพะเยา เตรียมพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์เชียงม่วน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สัตว์ดึกดำบรรพ์ ของภาคเหนือ หลังบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) หมดสัญญาสัมปทาน และเตรียมฟื้นฟูสภาพเหมือง ก่อนส่งคืนให้จังหวัดพะเยา ในปี 2553

รายงานข่าวจากจังหวัดพะเยา แจ้งว่า นางสาวเรืองวรรณ บัวนุช ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้เป็นประธานการประชุม การพัฒนาเหมืองเชียงม่วนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่ห้องประชุม เหมืองเชียงม่วน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา โดยมีนายธงชัย มาเกิด ผู้อำนวยการสายธุรกิจถ่านหินประเทศไทย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ,นายวรวุฒิ ตันติวนิช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี , หัวหน้าส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมประชุม

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเหมืองเชียงม่วน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวิติศาสตร์สัตว์ดึกดำบรรพ์ของภาคเหนือ หลังจากที่บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) คืนพื้นที่เหมือง กว่า 2,570 ไร่ ให้กับจังหวัดพะเยาในปี 2553 เนื่องจากหมดสัญญาสัมปทาน

ขณะนี้บริษัทฯ หยุดการผลิตแล้ว และอยู่ระหว่างการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ก่อนส่งคืนให้จังหวัดพะเยาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ฯ ต่อไป

นายวรวุฒิ ตันติวนิช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ระหว่างการทำเหมือถ่านหินลิกไนต์ ได้พบซากฟอสซิลในเหมืองเป็นจำนวนมาก เช่น กระดูและฟันของช้างไตรโลโฟดอน กอมโฟแทร์ ซึ่งเป็นช้างโบราณมี 4 งา ,จระเข้ ปลา อีเก้ง หมู ลิงอุรังอุตัง และเมล็ดพืชโบราณ มีอายุอยู่ในช่วงยุคไมโอซี ตอนกลาง หรือราว 13-15 ล้านปีก่อน

นอกจากนี้ยังพบกระดูกส่วนหาง และสะโพกของไดโนเสาร์กลุ่มโซโลพอด เป็นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ มีอายุอยู่ในยุคครีเตเชียสตอนต้น หรือราว 130 ล้านปีก่อน ซึ่งถือเป็นการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ ตัวแรกในภาคเหนือของประเทศไทย ในอนาคตกรมทรัพยากรธรณีจะร่วมมือกับจังหวัดพะเยาพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์สัตว์ดึกดำบรรพ์ของภาคเหนือต่อไป

นางสาวเรืองวรรณ บัวนุช ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า จังหวัดจะร่วมมือกับกรมทรัพยากรธรณี พัฒนาเหมืองเชียงม่วนเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ดึกดำบรรพ์ โดยการเชื่อมโยงกับวนอุทยานไดโนเสาร์แก่งหลวง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ดึกดำบรรพ์แห่งเดียวในภาคเหนือ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพะเยา ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สัตว์ดึกดำบรรพ์ต่อไป




เหมืองเชียงม่วน ที่บริษัทบ้านปูฯ มีกำหนดฟื้นฟูและคืนให้กับจังหวัดพะเยาในปี 2553
กระดูกส่วนหาง และสะโพกของไดโนเสาร์กลุ่มโซโลพอด เป็นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ มีอายุอยู่ในยุคครีเตเชียสตอนต้น หรือราว 130 ล้านปีก่อน
ซากฟอสซิล ที่พบในเหมืองเชียงม่วน บางส่วนมีอายุอยู่ในช่วงยุคไมโอซี ตอนกลาง หรือราว 13-15 ล้านปีก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น