ถ้าจำไม่ผิด พักชันวูค ออกมาประกาศผ่านสื่อเป็นครั้งแรกว่าเขามีโครงการจะทำหนังแวมไพร์ ตั้งแต่เมื่อคราวทำ Old Boy (2003) เสร็จหมาดๆ
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นก็อย่างที่ทราบกัน พักชันวูคงานชุกจัด เขาหันไปทำตอนหนึ่งใน Three (2004) หนังสยองคูณสามที่รวมผู้กำกับ 3 คนจาก 3 ชาติเอาไว้ด้วยกัน (อีก 2 คนคือ ฟรุต ชาน จากสิงคโปร์ และ ทาคาชิ มิอิเกะ จากญี่ปุ่น) ตามด้วย Sympathy for Lady Vengeance (2005) หนังส่งท้าย “ไตรภาคแห่งความแค้น” และตบท้ายด้วย I’m a Cyborg, But It’s OK (2006) หนังรักหลุดๆ ที่มี เรน รับบทนำ
กว่าที่ Thirst หนังแวมไพร์เรื่องที่ว่าจะเสร็จสมบูรณ์ เวลาจึงล่วงเลยมาจนถึงกลางปีที่ผ่านมานี้นี่เอง
Thirst ยังคงมีอะไรต่อมิอะไรที่ผู้ชมหนังแวมไพร์ปรารถนาจะได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นฉากโหดเลือดพุ่ง บรรยากาศมืดหม่น ตัวละครหลักผู้โดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา (อันเนื่องมาจากสถานภาพอมนุษย์ของตนเอง) รวมถึงฉากเซ็กซี่จั๊กจี้หัวใจระหว่างแวมไพร์บุรุษกับมนุษย์ผู้หญิง (เลิฟซีนในหนังมีไม่มาก ทว่าฉากหนึ่งๆ ค่อนข้างยืดยาวและโจ่งแจ้งเอาเรื่อง)
กระนั้นก็ตาม ในภาพรวม มันก็ยังมีความแตกต่างและพิเศษกว่าหนังในกลุ่มเดียวกันทั่วไป หนึ่งเพราะเส้นสายลายเซ็นเอกลักษณ์ประจำกายที่พักชันวูคยังคงขนมาประเคนให้ผู้ชมอย่างพร้อมพรั่ง ทั้งอารมณ์ขันผสมโหดที่ทำให้ผู้ชมขำไปเสียวไส้ไป (ยกตัวอย่างฉากทำนองนี้ที่ปรากฏใน Old Boy คือ ตอนที่พี่หัวฟูผู้เป็นพระเอก บุกเดี่ยวควงค้อนเข้าไปโรมรันคู่ต่อสู้ที่อยู่กันเป็นกองทัพ) และองค์ประกอบด้านภาพและเสียง (ซึ่งในที่นี้จำเพาะเจาะจงว่าคือ ดนตรีประกอบ) ที่ยังคงวิจิตรเจริญหูเจริญตาไม่แปรเปลี่ยน
ประการถัดมา เนื้อหาของ Thirst ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการที่แวมไพร์ตัวเอกต้องตามล่าตามล้างเพื่อให้ได้มาซึ่งเลือด หรือเพื่อสืบทอดดำรงเผ่าพันธุ์ หรือกระทั่งการหลบหนีการตามล่าของกลุ่มมนุษย์เป็นสำคัญ ทว่าพักชันวูคพาหนังไปไกลกว่านั้น ด้วยการใช้สถานภาพความเป็นอมนุษย์ของตัวละคร มาสะท้อนสาระเรื่องความดี-ชั่ว ศีลธรรม และความเป็นมนุษย์ ได้อย่างน่าสนใจ
นอกจากนั้น เค้าโครงเรื่องของหนังก็ยังกระตุ้นความสนใจของผู้ชมได้ไม่น้อย เพราะมนุษย์ผู้ซึ่งจะชะตาชีวิตจะต้องพลิกผันกลายมาเป็นแวมไพร์ผู้นี้ ไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในสถานภาพสามัญธรรมดา แต่เขาคือพระ คือคนกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า คือผู้ที่โดยบทบาทและหน้าที่แล้วจะต้องเป็น “ผู้ให้” ...แตกต่าง ขัดแย้ง และเป็นขั้วตรงข้ามชนิดคนละขอบโลกกับแวมไพร์ ซึ่งถูกแปะป้ายหมายหัวว่าเป็น “ผู้ทำลาย”
พระผู้เป็นตัวเอกของ Thirst คือ หลวงพ่อฮยุน นักบวชหนุ่มประจำโบสถ์โรมันคาทอลิกแห่งหนึ่งในประเทศเกาหลี
หน้าที่หลักของหลวงพ่อฮยุนคือการเยียวยาทางด้านจิตใจแก่คนไข้ป่วยหนักที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อทำหน้าที่นี้นานวันเข้า ได้พบเห็นผู้คนล้มตายต่อหน้าต่อตามากๆ เข้า -ทั้งที่เขาก็พร่ำสวดมนต์ด้วยศรัทธาสูงส่งเต็มกำลังความสามารถ- ก็ทำให้ความเชื่อมั่นในภาระหน้าที่ของตัวเองเริ่มจะคลอนแคลน หลวงพ่อฮยุนเริ่มตั้งคำถามต่อสิ่งที่ตัวเองทำ เขารู้สึกว่าการเอาแต่สวดมนต์วิงวอนนั้น ที่สุดแล้วช่างไร้ความหมาย มันไม่ได้ช่วยให้ใครมีชีวิตยืนยาวขึ้น อีกทั้งความบอบช้ำทางด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลยสักนิด
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ หลวงพ่อฮยุนจึงคิดหาหนทางใหม่ที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการสวดมนต์ เขาเดินทางไปยังทวีปแอฟริกา และอาสาสมัครเป็นหนูทดลองงานวิจัยทางการแพทย์โครงการหนึ่ง
โครงการวิจัยดังกล่าว คือ การค้นหายาต้านไวรัสร้ายแรงชนิดหนึ่ง จากปากคำของแพทย์ผู้ทำการทดลอง ผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีฝีหนองพุพองขึ้นตามตัว จากนั้นก็ลุกลามไปยังอวัยวะภายใน และท้ายที่สุด หากร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ ฝีหนองเหล่านั้นก็จะแตก เลือดจากอวัยวะต่างๆ จะหลั่งไหลพุ่งกระจาย และทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตในที่สุด
ในการทดลอง หมอจะฉีดเชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกายของอาสาสมัครเพื่อติดตามผลและตรวจสอบว่า ร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เมื่อรับเชื้อเข้าไปในปริมาณเท่าใด จากสถิติที่ผ่านๆ มา อาสาสมัครราว 500 คนที่เสนอตัวรับการทดลองดังกล่าว...ตายเรียบ
หลวงพ่อฮยุนเอง รู้ดีถึงความสุ่มเสี่ยงสูงลิบดังกล่าว กระนั้นก็ตาม ความมุ่งมั่นและศรัทธาที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างเต็มกำลัง ก็ทำให้เขาตั้งความหวังลางเลือนเล็กๆ ไว้กับตัวเองว่า เขาอาจจะไม่ลงเอยอีหรอบเดียวกับเพื่อนร่วมโครงการหลายร้อยชีวิตนั้นก็เป็นได้
ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องปิดบังแต่อย่างใด – ลงท้าย หลวงพ่อฮยุนก็ไม่รอด ฝีหนองภายในร่างกายของเขาแตกกระจาย เลือดจากอวัยวะภายในพุ่งกระฉูดหลั่งไหลสู่ภายนอก หมอพยายามช่วยชีวิตของเขา –ด้วยการให้เลือด- อย่างเต็มกำลัง แต่ก็ไม่สำเร็จ หัวใจของหลวงพ่อฮยุนหยุดทำงาน ชีพจรหยุดเต้น เสียชีวิตไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม เพียงชั่วอึดใจภายหลังหมอขานเวลาตายของหลวงพ่อฮยุนเสร็จ จู่ๆ หลวงพ่อก็ฟื้นขึ้นมาหน้าตาเฉย หนำซ้ำ ในเวลาต่อมายังสามารถเดินปร๋อออกจากศูนย์วิจัย และตุ่มพุพองฝีหนองอันเป็นสัญลักษณ์ของโรคร้ายก็ค่อยๆ เลือนหาย หลวงพ่อฮยุนกลายเป็นปาฏิหาริย์ เขาเป็นมนุษย์คนแรกที่รอดตายจากไวรัสวายร้ายชนิดนี้
เรื่องราวถัดจากนี้ไม่ได้ยากเกินคาดเดา – ที่เห็นหลวงพ่อฮยุนฟื้นนั้น ที่สุดแล้วก็ฟื้นไม่จริง ผลข้างเคียงของไวรัสดังกล่าวยังไม่หายไปไหน แต่มันจะกำเริบขึ้นเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายของหลวงพ่อขาดการบริโภค “เลือด” ของมนุษย์ ซ้ำร้าย อิทธิพลของเชื้อไวรัสยังทำให้ร่างกายของหลวงพ่อไม่ทานทนต่อแสงแดด เผลอไปสัมผัสมันเมื่อใดเนื้อหนังเป็นต้องร้อนฉี่เกรียมไหม้ นอกจากนั้น หลวงพ่อฮยุนยังพบว่าตนเองคล้ายกับจะมีวิชาตัวเบา สามารถกระโดดลอยตัวจากที่สูงเกินมนุษย์ปรกติทั่วไปจะทำได้
สรุปให้ง่ายเข้าก็คือ หลวงพ่อฮยุนแปรสภาพกลายเป็นแวมไพร์ไปแล้วนั่นเอง
อย่างที่ได้กล่าวไว้ พักชันวูคทำ Thirst ครั้งนี้ เป้าหมายหลักไม่ได้อยู่ที่การทำหนังแวมไพร์ไล่ล่ามันๆ หรือกระตุ้นเร้าความรู้สึกสยดสยองระทึกขวัญเป็นสำคัญ (และว่ากันตามจริง หนังก็มีฉากโลดโผนโจนทะยานน้อยมาก ฉากหวือหวาตะลึงตะลานของหนัง โดยมากกระเดียดไปทางฉากโหดๆ เสียมากกว่า) ทว่าทั้งหลายทั้งปวง ที่สุดแล้วก็เพื่อที่จะนำไปสู่จุดใหญ่ใจความของหนัง อันว่าด้วยเรื่องของศีลธรรมและความดี-ความชั่วด้วยกันทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้ ทันทีที่จัดการเปลี่ยนสภาพหลวงพ่อฮยุนจาก “มนุษย์” ไปเป็น “อมนุษย์” หนังจึงจับเขาโยนใส่สถานการณ์ก้ำกึ่งซึ่งความดีและความชั่ว –ตามเกณฑ์มาตรฐานที่คนทั่วไปยึดถือ- มีเส้นแบ่งอยู่เพียงบางๆ โดยไม่รอช้า
จากบทบาทของนักบวชซึ่งครั้งหนึ่งคิดจะสละกระทั่งชีวิตของตนเองเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ มาบัดนี้ การดำรงอยู่ของตน กลับต้องพึ่งพาอาศัยเลือดสดๆ ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หลวงพ่อฮยุนจะทำอย่างไร?
ท้าทายยิ่งกว่านั้นก็คือ การที่หลวงพ่อเกิดไปมีใจให้ภรรยาของเพื่อนเก่าคนหนึ่งอย่างลึกซึ้ง ซึ่งไม่ว่าจะวัดกันด้วยมาตรฐานของผู้เป็นนักบวชหรือฆราวาสก็ล้วนเป็นเรื่องที่ผิด กระนั้นก็ตาม การที่เขาได้เห็นตำตาว่าหญิงสาวได้รับการปฏิบัติจากสามีและแม่สามีอย่างไม่ให้เกียรติ อีกทั้งยังตกอยู่ในสภาพแล้งไร้ความสุขในชีวิตอย่างเห็นได้ชัด... เช่นนี้แล้ว หากเขาปล่อยตัวปล่อยใจมีสัมพันธ์กับเธอ ด้วยมุ่งหวังจะฉุดดึงเธอขึ้นจากขุมนรก ยังจะถือว่ามีความผิด –หรืออย่างน้อยก็ผิดน้อยลง- หรือไม่?
น่าสนใจที่ว่า แทนที่จะตรวจสอบคาดคั้นอย่างเข้มข้นว่าความดี-ความชั่วคืออะไร? เส้นแบ่งของมันอยู่ตรงไหน? หรือที่สุดแล้วเราตัดสินมันได้หรือไม่? หนังกลับหันเหไปให้ข้อสรุปอีกทางหนึ่ง กล่าวคือ ถึงที่สุดแล้ว ระดับของศีลธรรม ไม่อาจวัดกันได้ด้วย “สถานภาพ” ของบุคคล
ฮยุนภายหลังกลายสภาพเป็นแวมไพร์ ไม่ได้มีจิตสำนึกด้านศีลธรรมหยาบช้าไปกว่าฮยุนเมื่อคราวที่ยังเป็นนักบวช เช่นกัน ตัวละครสำคัญคนหนึ่งในเรื่อง ที่แม้ร่างกายจะยังคงมีสภาพความเป็นมนุษย์สมบูรณ์พร้อม ทว่าหัวจิตหัวใจกลับหลงเหลือสำนึกดี-ชั่วน้อยเสียยิ่งกว่าแวมไพร์ฮยุน
เพื่อเน้นย้ำประเด็นดังกล่าว ในตอนหนึ่งหนังถึงกับให้แวมไพร์ฮยุนถามหญิงสาวผู้เป็นภรรยาของเพื่อน –ที่จากเดิมเคยมีใจรักใคร่ชอบพอ แต่ครั้นเมื่อรู้สถานภาพที่แท้จริงของเขาแล้วก็กลับเกิดอาการหวาดกลัวรังเกียจ- อย่างตรงไปตรงมาว่า “ตอนนี้ พอรู้ว่าผมเป็นแวมไพร์ คุณก็ไม่รักผมแล้ว ตกลงว่า ที่ก่อนหน้านี้คุณรักผม คุณรักผมเพราะว่าผมเป็นพระหรือไง?”
พูดอีกแบบก็คือ จะมนุษย์ผู้หญิง มนุษย์ผู้ชาย แวมไพร์ หรือนักบวช ในมุมมองของหนัง ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ “เปลือก” และทุกคนล้วนมีศักยภาพที่จะดีได้และชั่วได้ไม่ต่างกัน
ที่ควรจะต้องชี้แจงไว้ ณ ที่นี้ ก็คือ โดยรวมแล้ว Thirst ไม่ใช่หนังที่ดีเลิศสมบูรณ์ไปเสียทุกส่วนกระทั่งหาข้อตำหนิไม่เจอ ว่ากันอย่างตรงไปตรงมา โดยส่วนตัวดิฉันยังชอบมันน้อยกว่างานเก่าๆ ของพักชันวูคอย่าง Sympathy for Mr. Vengeance (2002) หรือ Old Boy เสียอีก
ข้อตำหนิ 2 จุดใหญ่ๆ ของหนังที่ดิฉันดูแล้วรู้สึกขัดใจเป็นการส่วนตัว หนึ่งคือ หนังมีบางช่วงตอนที่เยิ่นเย้อและยืดเยื้อจนเกือบๆ จะถึงกับน่าเบื่อ (หนังมีความยาวถึง 133 นาที) และอีกประการคือ หนังให้ผู้ชมรู้จักตัวละครสำคัญของเรื่องอย่างหลวงพ่อฮยุนน้อยเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานที่เขาต้องต่อสู้กับความขัดแย้งภายในจิตใจของตนเอง และมันก็ส่งผลให้ผู้ชมมีความเข้าใจและความรู้สึกร่วมไปกับชะตากรรมของตัวละครตัวนี้ไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น
ประการหลัง ดิฉันยังเผื่อใจไว้ส่วนหนึ่งว่า พักชันวูคอาจไม่ได้พลาด ทว่าแท้จริงแล้วเขาเองอาจตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้สึกว่าตัวเองพลาดที่ทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมกับตัวละครใน Sympathy for Mr. Vengeance และ Old Boy มากเกินไป ส่งผลให้ทุกคนมัวแต่สะเทือนใจกับชะตากรรมของตัวละครเหล่านั้น กระทั่งไม่อาจมองเรื่องราวทั้งหมดอย่างเป็นกลาง และมองข้ามสาระสำคัญที่เขาต้องการจะนำเสนอ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม โดยสรุป Thirst ก็ยังเป็นหนังที่มีข้อดีมากกว่าข้อด้อยอยู่มาก
และกล่าวได้ว่า 2 ชั่วโมงกับอีกเกือบ 15 นาทีที่สละให้กับหนังเรื่องนี้ไป ก็ไม่ได้ชวนให้รู้สึกว่า “เสียเวลาในชีวิต” เลยสักนิด