นโม ตสฺส ภควโต อรหโตสมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นครํ ยถา ปจฺจนฺตํคุตฺตํ สนฺตรพาหิรํ
เอวํ โคเปถ อตฺตานํชโณ โว มา อุปจฺจคาติ
ขุ.ธ. ๒๕/๕๖
บัดนี้ จักได้แสดงศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา อันเรียกว่าพระพุทธศาสนา เพื่ออบรมสติปัญญา ส่งเสริมการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ของท่านพุทธศาสนิกชนผู้สนใจในธรรม ตามสมควรแก่เวลา...
ในวันนี้ จักแสดงทางที่จะให้บรรลุถึงความหมดกิเลสโดยนัยหนึ่ง ซึ่งทรงแสดงให้ผู้ปฏิบัติดำเนินการเยี่ยงเดียวกับรัฐบาลปกครองรักษาพระนคร อันอยู่ชายเขตแดน ให้พ้นจากภัยข้าศึกทั้งภายนอกภายใน โดยอาศัยเนื้อความในพระพุทธภาษิต ซึ่งได้นิกขิตไว้ ณ เบื้องต้นนั้นว่า
นครํ ยถา ปจฺจนฺตํคุตฺตํ สนฺตรพาหิรํ
เอวํ โคเปถ อตฺตานํขโณ โว มา อุปจฺจคา
แปลว่า ท่านทั้งหลาย จงคุ้มครองรักษาตนให้ปลอดกิเลส เหมือนพระนครชายแดน ที่ได้จัดการคุ้มครองรักษาดีแล้วทั้งภายในภายนอก ฉะนั้น ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย ดังนี้
ในพระพุทธภาษิตนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนวิธีคุ้มครองรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัย เปรียบด้วยบ้านเมืองที่ตั้งอยู่ชายเขตแดน ที่ทางการบ้านเมืองจัดการคุ้มครองรักษาให้มั่นคง ปลอดภัยทั้งภายในและภายนอก
โดยอธิบายว่า บ้านเมืองที่ตั้งอยู่ชายเขตแดน อันล่อแหลมต่อข้าศึกศัตรูที่จะจู่โจมเข้ามารังควาน ล้างผลาญผู้คนพลเมือง ให้ผู้คนขุ่นเคืองระส่ำระสาย ไม่สงบสุข บ้านเมืองที่ตั้งอยู่ในลักษณะเช่นนี้ ผู้ปกครองบริหารต้องจัดการป้องกันให้มั่นคงทนทาน ด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการ อันเปรียบเหมือนกำแพง ๗ ชั้น โดยนับชั้นนอกเข้าไปหาชั้นใน คือ
ชั้นที่ ๑ ให้ฝังเสาระเนียดทั้งสูงทั้งใหญ่ทั้งลึกให้แน่นหนา เพื่อต่อต้านข้าศึกศัตรู
ชั้นที่ ๒ ให้ขุดคูทั้งกว้างทั้งลึก
ชั้นที่ ๓ ให้พูนคันคู หรือเชิงเทินให้กว้างให้สูง ยากแก่การจู่โจมของข้าศึกที่จะมารุกราน
ชั้นที่ ๔ ให้พยายามตระเตรียมอาวุธเครื่องประหาร
ชั้นที่ ๕ ให้ผนึกกำลังรี้พลให้พรั่งพร้อม
ชั้นที่ ๖ ต้องมีผู้คอยรักษาประตูผู้ชาญฉลาด สามารถตรวจรู้คนดีคนชั่วที่จะล่วงล้ำเข้าไปภายใน
ชั้นที่ ๗ ให้ก่อกำแพงเป็นเครื่องป้องปก ทั้งสูงทั้งหนาทั้งใหญ่
เมื่อได้จัดการรักษาพระนครสำเร็จ ด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการ ก็จะสำเร็จเป็นเครื่องบริหารคุ้มครองรักษาส่วนภายใน ทั้งเป็นเครื่องขจัดข้าศึกหมู่ใหญ่จากภายนอก ไม่ให้เข้ามารุกราน เพราะติดเครื่องป้องกัน ๗ ประการ อันได้จัดการไว้แล้วนั้นฉันใด นักปฏิบัติธรรมผู้ต่อสู้ข้าศึกศัตรูภายใน คือจำพวกกิเลส ก็ควรปฏิบัติฉันนั้น
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมประดุจกำแพงสำหรับกางกั้นข้าศึกคือกิเลสไว้ทั้ง ๗ ประการ เทียบด้วยเครื่องป้องกันบ้านเมือง ๗ ประการ เช่นเดียวกัน คือ
๑. เสาระเนียดเปรียบด้วย ศรัทธา
๒. คูเปรียบด้วย หิริ
๓. คันคูหรือเชิงเทินเปรียบด้วย โอตตัปปะ
๔. อาวุธเปรียบด้วย พาหุสัจจะ
๕. กำลังพลเปรียบด้วย วิริยารัมภะ
๖. นายประตูเปรียบด้วย สติ
๗. กำแพงเปรียบด้วย ปัญญา
เมื่อได้สั่งสมอบรมธรรมะ ประดุจกำแพง ๗ ชั้นไว้อย่างแน่นหนา ก็จะสำเร็จเป็นเครื่องบริหารรักษาใจ ให้สะอาดปราศจากเครื่องเศร้าหมอง ทั้งเป็นเครื่องปกป้องกำจัดกิเลสที่จะเกิด ไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป
ผู้ประกอบด้วยธรรมะ ๗ ประการนี้ ย่อมสามารถละความชั่ว เจริญความดี ละการที่มีโทษ ประกอบการที่ปราศจากโทษ รักษาตนให้สะอาดปราศจากทุกข์ภัย มีอธิบายเป็นลำดับไป
ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ ได้แก่ เชื่อว่าคนทำอะไรลงไปเป็นกรรม ไม่สูญหายไปไหน ผู้ทำย่อมได้รับผล ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำชั่วได้ดีทำดีได้ชั่วไม่มี เชื่อว่าสัตว์เป็นอยู่ด้วยกรรม มีกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัย และเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า เช่น เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง คำสอนของพระองค์เป็นคำสอนที่ดีจริง ตรัสอย่างไรเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ชื่อว่าศรัทธา
แต่ถ้าเชื่อตามๆเขาไป ไม่ได้พิจารณาถึงเหตุผล เช่น เขาบอกว่าบ่อน้ำโน้นศักดิ์สิทธิ์ แก้โรคได้สารพัด ก็แห่กันไปอาบไปดื่ม เขาบอกว่าหลวงพ่อวัดโน้นท่านขลัง น้ำมนต์ของท่านศักดิ์สิทธิ์ ก็ไปหา รบกวนให้ท่านประพรม อย่างนี้เป็นศรัทธาเทียม ไม่แท้ไม่จริง
เหมือนเอาของเทียมมาประดับกาย ไม่งดงามเหมือนของจริง เป็นศรัทธาเขาว่า ต่อเมื่อพิจารณาก่อนแล้วจึงเชื่อ เห็นจริงแจ่มแจ้งแก่ใจแล้วจึงเชื่อ จึงจะเป็นศรัทธาแท้ ถูกต้องตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา
ศรัทธามีลักษณะทำใจให้สะอาด เหมือนเครื่องกรองน้ำ ทำน้ำให้สะอาดฉะนั้น
คนมีศรัทธาแม้มีโอกาสจะทำความชั่วได้ แต่ใจเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าทำชั่วเป็นบาป ก็งดเว้นได้ไม่ทำ ความโลภมาชวนใจให้ฉ้อโกงเบียดบัง แต่พลังของศรัทธามาเตือนใจว่า ฉ้อโกงเบียดบังเป็นบาปแล้ว ก็งดเว้นไม่ทำตามอำนาจของความโลภ เป็นต้น ได้ชื่อว่าชนะข้าศึกได้ด้วยศรัทธา เหมือนข้าศึกภายนอกมาปะทะเสาระเนียด ตีฝ่าเข้าไปไม่ได้ ต้องถอยกลับฉะนั้น
หากว่าศรัทธาต้านไม่อยู่ ก็จะได้อาศัยเครื่องต่อสู้ คือ หิริ เป็นประการที่ ๒
หิริ แปลว่า ความละอายแก่ใจ ไม่กล้าทำความชั่วทุจริต ละอายต่อสิ่งภายนอก เช่น ไม่กล้าทำชั่วเพราะละอายว่าคนอื่นจะเห็น หรือคนไม่เห็น เทวดาฟ้าดินก็ทราบ ดังนี้แล้วไม่ทำชั่ว เป็นหิริโดยอ้อม ละอายใจตัวเอง แม้จะสามารถทำความชั่วได้ในที่ๆไม่มีใครรู้ใครเห็น แต่นึกละอายใจว่า ถึงไม่มีใครรู้ใครเห็น ตัวเราเองมี ๒ ตา ๒ หู ย่อมเห็นย่อมรู้ได้ถนัด ดังนี้แล้ว ไม่ทำความชั่ว จัดเป็นหิริโดยตรง หรือความละอายแท้
ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนคนรักความสะอาด อาบน้ำชำระกายเรียบร้อยแล้ว ขยะแขยงสะอิดสะเอียนต่อสิ่งโสโครก ไม่กล้าเข้าใกล้หรือจับต้องฉะนั้น
คนมีหิริย่อมสะอิดสะเอียนต่อความชั่ว กิเลสจะมาชวนใจให้ประกอบกรรมชั่วไม่ได้ หากเกิดขึ้นในระหว่างๆ แต่ก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ในใจของผู้มีความละอายใจ เหมือนข้าศึกทำลายเสาระเนียดเข้าไปได้ ก็ไม่สามารถจะข้ามคูอันกว้างและลึกไปได้ฉะนั้น
หากเหลือกำลังของหิริความละอายใจ ก็ยังมีโอตตัปปะ เป็นเครื่องต้านทาน เป็นประการที่ ๓
โอตตัปปะ ได้แก่ ความสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่วทุจริต เป็นคู่กับหิริ หิริกลัวเหตุ โอตตัปปะกลัวผล หิริมีลักษณะรักความสะอาดกาย วาจา ใจ โอตตัปปะกลัวการที่จะต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง
ท่านให้อุปมาไว้ว่า เหมือนมีท่อนเหล็กอยู่ท่อนหนึ่ง ปลายข้างหนึ่งเปื้อนด้วยสิ่งโสโครก ปลายข้างหนึ่งเผาร้อนระอุด้วยแรงไฟ คนไม่กล้าจับท่อนเหล็กข้างที่เปื้อนสิ่งโสโครก เป็นลักษณะของหิริ คนไม่กล้าจับท่อนเหล็กข้างที่เผาร้อนระอุด้วยแรงไฟ เป็นลักษณะของโอตตัปปะ
คนที่มีโอตตัปปะประจำใจ แม้กิเลสจะมาชวนใจให้กระทำความชั่ว ก็เกรงกลัวว่าจะได้รับผลเป็นทุกข์เดือดร้อนในภายหลัง แล้วไม่กระทำ เช่น ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความอิจฉาริษยา มาชวนใจให้ประพฤติชั่วตามอำนาจของมัน แต่โอตตัปปะก็จะเตือนใจของบุคคลผู้นั้น ให้เกรงกลัวต่อผลที่ตนกระทำตามอำนาจกิเลส
โอตตัปปะจึงเป็นตัวเหตุสกัดกั้นสรรพกิเลสให้สงบระงับไป เหมือนข้าศึกศัตรูทำลายเสาระเนียด และข้ามคูมาได้ ก็ไม่สามารถข้ามเชิงเทินได้ฉะนั้น
หากว่าเหลือกำลังของโอตตัปปะที่จะต้านทานอยู่ ก็ยังมีเครื่องต่อสู้ คือ พาหุสัจจะ เป็นประการที่ ๔
พาหุสัจจะ แปลว่า ความเป็นผู้ได้สดับศึกษามาก คือ ความเป็นผู้คงแก่เรียน ความเป็นผู้คงแก่เรียนในทางโลกจะยกไว้ จะบรรยายเฉพาะในทางธรรม
คำว่าได้สดับศึกษามาก ก็คือได้ศึกษารู้คำสอนในพระพุทธศาสนามาก จำได้มาก เรื่องที่จะต้องท่องบ่นก็คล่องปาก เพ่งพิจารณามากด้วยใจ ขบคิดวินิจฉัยแตกฉานด้วยปัญญา คนได้สดับศึกษามาก พระบรมศาสดาตรัสยกย่องว่าเป็นพหูสูต คือผู้เรียนมากจำได้มาก มีพระอานนทเถระเป็นตัวอย่าง
แต่พาหุสัจจะนี้ ต้องมีความประพฤติดีงามเป็นเครื่องกำกับ จึงนับว่าเป็นผู้คงแก่เรียนแท้ ถ้ามีแต่ความรู้ เสียทางจรรยามารยาท ก็ขาดความสมบูรณ์สง่างาม เหมือนหลังคาโบสถ์วิหาร ที่ขาดช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์เป็นเครื่องประดับ แม้จะกันแดดกันฝนได้ก็ไม่สง่างาม หรือเหมือนดอกไม้ที่มีสีสวย แต่ไร้กลิ่นหอมฉะนั้น
บุคคลผู้มีความรู้เป็นพหูสูต ทั้งประกอบด้วยความประพฤติดี มีศีลาจารวัตรงดงาม ความรู้และความประพฤติดีของเขา ย่อมเป็นประหนึ่งอาวุธสำหรับประหารความชั่วร้ายเสียหาย กิเลสย่อมครอบงำผู้ที่ยังไม่รู้ เมื่อรู้จักหน้าตาของกิเลสแล้ว กิเลสก็สงบระงับไป ชื่อว่าชนะกิเลสได้ด้วยอาวุธ คือพาหุสัจจะ
หากเหลือกำลังของพาหุสัจจะ ก็ต้องอาศัยกำลัง คือ วิริยารัมภะ อันเป็นประการที่ ๕
วิริยารัมภะ แปลว่า ปรารภความเพียร หรือเรียกว่า “วิริยะ” ความเพียรโดยตรงก็ได้ ความเพียรนี้มีลักษณะทำใจให้กล้า ให้บากบั่น ไม่ท้อถอย ให้มุ่งไปข้างหน้าในการละชั่ว ประพฤติดี เมื่อจะบำเพ็ญความเพียรให้เกิดมี ต้องเจริญธรรม ๓ ประการ คือ
๑. อารภธาตุ ธาตุเริ่ม คือพอนึกว่าจะทำความดีอะไรแล้ว ต้องลงมือทำทันที โดยไม่ผัดเพี้ยนท้อถอย เจริญรอยตามพระพุทธภาษิตว่า กยิรา เจ กยิราเถนํ ถ้าจะทำให้ทำการนั้นจริงๆ
๒. ปรักกมธาตุ ธาตุก้าวหน้า คือให้ขยับชั้นแห่งการปฏิบัติสูงขึ้นไปโดยลำดับ ไม่ให้ถอยหลัง เหมือนขึ้นที่สูง โดยขึ้นตามบันไดทีละขั้นตามลำดับฉะนั้น
๓. นิกกมธาตุ ธาตุออก คือ อกจากความเกียจคร้าน ออกจากความท้อใจ ออกจากความอ่อนแอ จนถึงออกจากความชั่วร้ายเสียหาย ทุกข์กายทุกข์ใจ
คนมีวิริยารัมภะ จึงเป็นผู้แกล้วกล้า อาจหาญในการละความชั่ว ประพฤติความดี ทำให้เป็นผู้มีชัยชนะต่อกิเลสมาร เหมือนข้าศึกศัตรู แม้ทำลายเสาระเนียด ข้ามคูขึ้นเชิงเทิน ฝ่ากำลังอาวุธเข้าไปได้ แต่ก็ต้องพ่ายเพราะกำลังพลฉะนั้น
หากเหลือบ่ากว่าแรงของวิริยารัมภะที่จะต้านอยู่ ก็ยังมีนายประตู คือสติ คอยป้องกันไว้อีกชั้นหนึ่ง เป็นประการที่ ๖
สติ แปลว่า ความระลึกได้ ถ้าระลึกได้ถึงกรรมที่ทำ คำที่พูด เรื่องที่คิดแม้ล่วงมาแล้วนานได้ เรียกว่า “สติเนปักกะ” แปลว่า สติพอรักษาตัวรอดปลอดภัย
ถ้าระลึกได้ประจำอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเวลาได้เห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น คอยควบคุมไม่ให้ยินดียินร้ายไปตาม เรียกว่า “สติสังวร” แปลว่า สำรวมระวังด้วยสติ
ถ้าระลึกได้ในกายของตน ในความรู้สึกสุขทุกข์ เป็นต้นที่ตน ในจิตที่เศร้าหมอง หรือผ่องใสของตน ในธรรมารมณ์ดีชั่ว หรือกลางๆอันเกิดที่ใจของตน เรียกว่า “สติปัฏฐาน” หรือ “สัมมาสติ” แปลว่า ความระลึกชอบ
ถ้ามีสติเต็มที่จนจิตสงัดจากกาม หายจากความกำหนัดยินดี ดับความร้อนใจได้ จิตแน่วแน่ เรียกว่า “สติสัมโพชฌงค์” อันเป็นองค์แห่งความตรัสรู้มรรคผล
“สติ” ท่านเปรียบด้วยนายประตู เพราะคอยตรวจดูไม่ให้ความชั่วความหมองหม่นตกต้องท่วมทับใจ ต้องด้วยเทศนานัยพุทธภาษิตว่า สติ เตสํ นิวารณํ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสแห่งกิเลสทั้งหลายเหล่านั้น ดังนี้ เพียงเท่านี้
ถ้ายังไว้ใจไม่ได้ว่าจะปลอดภัยจากข้าศึกโดยเด็ดขาด สมเด็จพระบรมโลกนาถยังได้ตรัสให้กั้นด้วยกำแพงอีกชั้นหนึ่ง เป็นประการอวสาน ได้แก่ ให้มีปัญญา
ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ หรือความรู้ทั่ว ทุกคนมีปัญญาติดตัวมาแล้วตั้งแต่เกิด แต่ถ้าไม่ตกแต่งก็ไม่แหลมคม เหมือนเหล็กที่ช่างเหล็กตีเป็นมีดเป็นขวาน ถ้ายังไม่ได้ลับก็ไม่คมฉะนั้น
การศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาก็ดี การค้นคิดพิจารณาในข้อที่ได้ศึกษาแล้ว ให้แตกฉานก็ดี การทำบ่อยๆ อบรมสม่ำเสมอเป็นไปติดต่อก็ดี เป็นวิธีการลับปัญญาทั้งนั้น
การที่ทางราชการจัดตั้งโรงเรียนสอนกุลบุตรธิดาก็ดี ทางพระศาสนาตั้งโรงเรียนสอนวิชาทางพระศาสนาก็ดี ผู้มีศรัทธาสร้างวัดเป็นที่พำนักศึกษาของภิกษุ สามเณรก็ดี นี้คือสถานที่เป็นที่ลับปัญญา
ปัญญานี้ถ้าไม่ลับไม่คม ลับน้อยคมน้อย ลับมากคมมาก ลับไม่หยุดก็คมเรื่อยไป ไม่ใช่เพียงแต่คมอย่างเดียว มีทั้งแหลมทั้งคม คนมีปัญญาย่อมหายมืดหายหลง เกิดความรู้ความฉลาด คนไม่มีปัญญา แม้มีทรัพย์สมบัติก็จัดการรักษาไว้ไม่ได้ ได้ในคำว่า “ไร้ทรัพย์เพราะอับปัญญา” คนมีปัญญา แม้จะไม่มีทรัพย์มรดกมาแต่เดิม แต่ก็หาเพิ่มเติมได้ด้วยปัญญา ดังคำว่า “บุญมาวาสนาช่วย”
คนมีบุญวาสนาก็คือคนมีปัญญา บุญวาสนาอยู่กับคนมีปัญญา เหมือนเพชรอยู่ในเรือนแหวนทองคำฉะนั้น คนมีปัญญาถึงคราวอับก็ไม่อับ ถึงคราวจนก็ไม่จน เหมือนมีดวงประทีปอยู่ในมือ สำหรับส่องดูในที่มืดให้เกิดความสว่างขึ้นฉะนั้น
ปัญญาจึงทำคนโง่ให้เป็นคนฉลาด ทำคนชั่วให้เป็นคนดี ทำคนจนให้เป็นคนมั่งมี ทำคนมืดให้เป็นคนสว่าง ทำคนมีกิเลสมากให้มีกิเลสน้อย ทำคนมีกิเลสน้อยให้หมดกิเลส ทำปุถุชนให้เป็นอริยชน คนมีปัญญาจึงเป็นเหมือนแก้วสารพัดนึก นึกต้องการอะไรได้ตามปรารถนา
สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ปญฺญา นรานํ รตนํ ปัญญาเป็นดวงแก้วของนรชน ดังนี้ จึงทรงเปรียบปัญญาเหมือนกำแพงพระนครทั้งสูงทั้งหนา สามารถต่อต้านข้าศึก คือกิเลสให้ปราชัย
ธรรม ๗ ประการ เทียบด้วยเครื่องป้องกันพระนคร ๗ ชั้น คือ ศรัทธาเทียบด้วยเสาระเนียด หิริเปรียบด้วยคู โอตตัปปะเปรียบด้วยเชิงเทิน พาหุสัจจะเปรียบด้วยอาวุธ วิริยารัมภะเปรียบด้วยกำลังพล สติเปรียบด้วยนายประตู ปัญญาเปรียบด้วยกำแพง แต่ละประการสามารถนำผู้ปฏิบัติให้ข้ามพ้นทุกข์ภัย
ศรัทธา ก็ตรัสสรรเสริญว่า สทฺธาย ตรติ โอฆํ คนข้ามห้วงน้ำคือกิเลสได้ด้วยศรัทธา
หิริและโอตตัปปะ ก็มีคำสรรเสริญว่า เต สนฺโต ขีณปุนพฺภวา ชนผู้มีหิริโอตตัปปะเหล่านั้น เป็นผู้สงบระงับ มีภพใหม่สิ้นแล้ว ดังนี้
พาหุสัจจะ ก็มีคำสรรเสริญว่า เป็นเครื่องมือสู้รบมารคือกิเลสให้ปราชัย ตามเทศนานัยภาษิตว่า โยเธถ มารํ ปญฺญาวุเธน พึงรบมารด้วยอาวุธคือปัญญา
สติ ก็มีคำสรรเสริญว่า สติมา สุขเมธติ ผู้มีสติย่อมประสบสุข
ปัญญา ก็มีคำสรรเสริญว่า ปญฺญาย ติตฺติตํ ปุริสํ ตณฺหา น กุรุเต วสํ ตัณหาย่อมทำคนผู้อิ่มด้วยปัญญา ไว้ในอำนาจไม่ได้ ดังนี้
ท่านสาธุชนได้อุบัติมาพบพระพุทธศาสนา ได้ร่างกายจิตใจพร้อมด้วยสติปัญญา มีชีวิตเจริญมาโดยสวัสดี ไม่ควรมัวเมาประมาทในวัย ในความไม่มีโรคและในชีวิต ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป
ควรตั้งใจเจริญธรรม ๗ ประการ มีศรัทธา เป็นต้น อันอุปมาด้วยกำแพง ๗ ชั้น เพื่อเป็นเครื่องป้องกันกิเลสไม่ให้เกิดขึ้นครอบงำใจ จักได้บรรลุถึงความสุขสงบแจ่มใส สมควรแก่การปฏิบัติ จักเป็นไปเพื่อวุฒิสิริสวัสดิ์ เจริญในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกทิพาราตรี มีอรรถาธิบายดังบรรยายมาด้วยประการฉะนี้
(ส่วนหนึ่งจากการแสดงธรรมวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 198 มิถุนายน 2560 โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) วัดราชผาติการาม กทม.)
นครํ ยถา ปจฺจนฺตํคุตฺตํ สนฺตรพาหิรํ
เอวํ โคเปถ อตฺตานํชโณ โว มา อุปจฺจคาติ
ขุ.ธ. ๒๕/๕๖
บัดนี้ จักได้แสดงศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา อันเรียกว่าพระพุทธศาสนา เพื่ออบรมสติปัญญา ส่งเสริมการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ของท่านพุทธศาสนิกชนผู้สนใจในธรรม ตามสมควรแก่เวลา...
ในวันนี้ จักแสดงทางที่จะให้บรรลุถึงความหมดกิเลสโดยนัยหนึ่ง ซึ่งทรงแสดงให้ผู้ปฏิบัติดำเนินการเยี่ยงเดียวกับรัฐบาลปกครองรักษาพระนคร อันอยู่ชายเขตแดน ให้พ้นจากภัยข้าศึกทั้งภายนอกภายใน โดยอาศัยเนื้อความในพระพุทธภาษิต ซึ่งได้นิกขิตไว้ ณ เบื้องต้นนั้นว่า
นครํ ยถา ปจฺจนฺตํคุตฺตํ สนฺตรพาหิรํ
เอวํ โคเปถ อตฺตานํขโณ โว มา อุปจฺจคา
แปลว่า ท่านทั้งหลาย จงคุ้มครองรักษาตนให้ปลอดกิเลส เหมือนพระนครชายแดน ที่ได้จัดการคุ้มครองรักษาดีแล้วทั้งภายในภายนอก ฉะนั้น ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย ดังนี้
ในพระพุทธภาษิตนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนวิธีคุ้มครองรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัย เปรียบด้วยบ้านเมืองที่ตั้งอยู่ชายเขตแดน ที่ทางการบ้านเมืองจัดการคุ้มครองรักษาให้มั่นคง ปลอดภัยทั้งภายในและภายนอก
โดยอธิบายว่า บ้านเมืองที่ตั้งอยู่ชายเขตแดน อันล่อแหลมต่อข้าศึกศัตรูที่จะจู่โจมเข้ามารังควาน ล้างผลาญผู้คนพลเมือง ให้ผู้คนขุ่นเคืองระส่ำระสาย ไม่สงบสุข บ้านเมืองที่ตั้งอยู่ในลักษณะเช่นนี้ ผู้ปกครองบริหารต้องจัดการป้องกันให้มั่นคงทนทาน ด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการ อันเปรียบเหมือนกำแพง ๗ ชั้น โดยนับชั้นนอกเข้าไปหาชั้นใน คือ
ชั้นที่ ๑ ให้ฝังเสาระเนียดทั้งสูงทั้งใหญ่ทั้งลึกให้แน่นหนา เพื่อต่อต้านข้าศึกศัตรู
ชั้นที่ ๒ ให้ขุดคูทั้งกว้างทั้งลึก
ชั้นที่ ๓ ให้พูนคันคู หรือเชิงเทินให้กว้างให้สูง ยากแก่การจู่โจมของข้าศึกที่จะมารุกราน
ชั้นที่ ๔ ให้พยายามตระเตรียมอาวุธเครื่องประหาร
ชั้นที่ ๕ ให้ผนึกกำลังรี้พลให้พรั่งพร้อม
ชั้นที่ ๖ ต้องมีผู้คอยรักษาประตูผู้ชาญฉลาด สามารถตรวจรู้คนดีคนชั่วที่จะล่วงล้ำเข้าไปภายใน
ชั้นที่ ๗ ให้ก่อกำแพงเป็นเครื่องป้องปก ทั้งสูงทั้งหนาทั้งใหญ่
เมื่อได้จัดการรักษาพระนครสำเร็จ ด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการ ก็จะสำเร็จเป็นเครื่องบริหารคุ้มครองรักษาส่วนภายใน ทั้งเป็นเครื่องขจัดข้าศึกหมู่ใหญ่จากภายนอก ไม่ให้เข้ามารุกราน เพราะติดเครื่องป้องกัน ๗ ประการ อันได้จัดการไว้แล้วนั้นฉันใด นักปฏิบัติธรรมผู้ต่อสู้ข้าศึกศัตรูภายใน คือจำพวกกิเลส ก็ควรปฏิบัติฉันนั้น
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมประดุจกำแพงสำหรับกางกั้นข้าศึกคือกิเลสไว้ทั้ง ๗ ประการ เทียบด้วยเครื่องป้องกันบ้านเมือง ๗ ประการ เช่นเดียวกัน คือ
๑. เสาระเนียดเปรียบด้วย ศรัทธา
๒. คูเปรียบด้วย หิริ
๓. คันคูหรือเชิงเทินเปรียบด้วย โอตตัปปะ
๔. อาวุธเปรียบด้วย พาหุสัจจะ
๕. กำลังพลเปรียบด้วย วิริยารัมภะ
๖. นายประตูเปรียบด้วย สติ
๗. กำแพงเปรียบด้วย ปัญญา
เมื่อได้สั่งสมอบรมธรรมะ ประดุจกำแพง ๗ ชั้นไว้อย่างแน่นหนา ก็จะสำเร็จเป็นเครื่องบริหารรักษาใจ ให้สะอาดปราศจากเครื่องเศร้าหมอง ทั้งเป็นเครื่องปกป้องกำจัดกิเลสที่จะเกิด ไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป
ผู้ประกอบด้วยธรรมะ ๗ ประการนี้ ย่อมสามารถละความชั่ว เจริญความดี ละการที่มีโทษ ประกอบการที่ปราศจากโทษ รักษาตนให้สะอาดปราศจากทุกข์ภัย มีอธิบายเป็นลำดับไป
ศรัทธา แปลว่า ความเชื่อ ได้แก่ เชื่อว่าคนทำอะไรลงไปเป็นกรรม ไม่สูญหายไปไหน ผู้ทำย่อมได้รับผล ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำชั่วได้ดีทำดีได้ชั่วไม่มี เชื่อว่าสัตว์เป็นอยู่ด้วยกรรม มีกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัย และเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า เช่น เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง คำสอนของพระองค์เป็นคำสอนที่ดีจริง ตรัสอย่างไรเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ชื่อว่าศรัทธา
แต่ถ้าเชื่อตามๆเขาไป ไม่ได้พิจารณาถึงเหตุผล เช่น เขาบอกว่าบ่อน้ำโน้นศักดิ์สิทธิ์ แก้โรคได้สารพัด ก็แห่กันไปอาบไปดื่ม เขาบอกว่าหลวงพ่อวัดโน้นท่านขลัง น้ำมนต์ของท่านศักดิ์สิทธิ์ ก็ไปหา รบกวนให้ท่านประพรม อย่างนี้เป็นศรัทธาเทียม ไม่แท้ไม่จริง
เหมือนเอาของเทียมมาประดับกาย ไม่งดงามเหมือนของจริง เป็นศรัทธาเขาว่า ต่อเมื่อพิจารณาก่อนแล้วจึงเชื่อ เห็นจริงแจ่มแจ้งแก่ใจแล้วจึงเชื่อ จึงจะเป็นศรัทธาแท้ ถูกต้องตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา
ศรัทธามีลักษณะทำใจให้สะอาด เหมือนเครื่องกรองน้ำ ทำน้ำให้สะอาดฉะนั้น
คนมีศรัทธาแม้มีโอกาสจะทำความชั่วได้ แต่ใจเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าทำชั่วเป็นบาป ก็งดเว้นได้ไม่ทำ ความโลภมาชวนใจให้ฉ้อโกงเบียดบัง แต่พลังของศรัทธามาเตือนใจว่า ฉ้อโกงเบียดบังเป็นบาปแล้ว ก็งดเว้นไม่ทำตามอำนาจของความโลภ เป็นต้น ได้ชื่อว่าชนะข้าศึกได้ด้วยศรัทธา เหมือนข้าศึกภายนอกมาปะทะเสาระเนียด ตีฝ่าเข้าไปไม่ได้ ต้องถอยกลับฉะนั้น
หากว่าศรัทธาต้านไม่อยู่ ก็จะได้อาศัยเครื่องต่อสู้ คือ หิริ เป็นประการที่ ๒
หิริ แปลว่า ความละอายแก่ใจ ไม่กล้าทำความชั่วทุจริต ละอายต่อสิ่งภายนอก เช่น ไม่กล้าทำชั่วเพราะละอายว่าคนอื่นจะเห็น หรือคนไม่เห็น เทวดาฟ้าดินก็ทราบ ดังนี้แล้วไม่ทำชั่ว เป็นหิริโดยอ้อม ละอายใจตัวเอง แม้จะสามารถทำความชั่วได้ในที่ๆไม่มีใครรู้ใครเห็น แต่นึกละอายใจว่า ถึงไม่มีใครรู้ใครเห็น ตัวเราเองมี ๒ ตา ๒ หู ย่อมเห็นย่อมรู้ได้ถนัด ดังนี้แล้ว ไม่ทำความชั่ว จัดเป็นหิริโดยตรง หรือความละอายแท้
ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนคนรักความสะอาด อาบน้ำชำระกายเรียบร้อยแล้ว ขยะแขยงสะอิดสะเอียนต่อสิ่งโสโครก ไม่กล้าเข้าใกล้หรือจับต้องฉะนั้น
คนมีหิริย่อมสะอิดสะเอียนต่อความชั่ว กิเลสจะมาชวนใจให้ประกอบกรรมชั่วไม่ได้ หากเกิดขึ้นในระหว่างๆ แต่ก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ในใจของผู้มีความละอายใจ เหมือนข้าศึกทำลายเสาระเนียดเข้าไปได้ ก็ไม่สามารถจะข้ามคูอันกว้างและลึกไปได้ฉะนั้น
หากเหลือกำลังของหิริความละอายใจ ก็ยังมีโอตตัปปะ เป็นเครื่องต้านทาน เป็นประการที่ ๓
โอตตัปปะ ได้แก่ ความสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่วทุจริต เป็นคู่กับหิริ หิริกลัวเหตุ โอตตัปปะกลัวผล หิริมีลักษณะรักความสะอาดกาย วาจา ใจ โอตตัปปะกลัวการที่จะต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง
ท่านให้อุปมาไว้ว่า เหมือนมีท่อนเหล็กอยู่ท่อนหนึ่ง ปลายข้างหนึ่งเปื้อนด้วยสิ่งโสโครก ปลายข้างหนึ่งเผาร้อนระอุด้วยแรงไฟ คนไม่กล้าจับท่อนเหล็กข้างที่เปื้อนสิ่งโสโครก เป็นลักษณะของหิริ คนไม่กล้าจับท่อนเหล็กข้างที่เผาร้อนระอุด้วยแรงไฟ เป็นลักษณะของโอตตัปปะ
คนที่มีโอตตัปปะประจำใจ แม้กิเลสจะมาชวนใจให้กระทำความชั่ว ก็เกรงกลัวว่าจะได้รับผลเป็นทุกข์เดือดร้อนในภายหลัง แล้วไม่กระทำ เช่น ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความอิจฉาริษยา มาชวนใจให้ประพฤติชั่วตามอำนาจของมัน แต่โอตตัปปะก็จะเตือนใจของบุคคลผู้นั้น ให้เกรงกลัวต่อผลที่ตนกระทำตามอำนาจกิเลส
โอตตัปปะจึงเป็นตัวเหตุสกัดกั้นสรรพกิเลสให้สงบระงับไป เหมือนข้าศึกศัตรูทำลายเสาระเนียด และข้ามคูมาได้ ก็ไม่สามารถข้ามเชิงเทินได้ฉะนั้น
หากว่าเหลือกำลังของโอตตัปปะที่จะต้านทานอยู่ ก็ยังมีเครื่องต่อสู้ คือ พาหุสัจจะ เป็นประการที่ ๔
พาหุสัจจะ แปลว่า ความเป็นผู้ได้สดับศึกษามาก คือ ความเป็นผู้คงแก่เรียน ความเป็นผู้คงแก่เรียนในทางโลกจะยกไว้ จะบรรยายเฉพาะในทางธรรม
คำว่าได้สดับศึกษามาก ก็คือได้ศึกษารู้คำสอนในพระพุทธศาสนามาก จำได้มาก เรื่องที่จะต้องท่องบ่นก็คล่องปาก เพ่งพิจารณามากด้วยใจ ขบคิดวินิจฉัยแตกฉานด้วยปัญญา คนได้สดับศึกษามาก พระบรมศาสดาตรัสยกย่องว่าเป็นพหูสูต คือผู้เรียนมากจำได้มาก มีพระอานนทเถระเป็นตัวอย่าง
แต่พาหุสัจจะนี้ ต้องมีความประพฤติดีงามเป็นเครื่องกำกับ จึงนับว่าเป็นผู้คงแก่เรียนแท้ ถ้ามีแต่ความรู้ เสียทางจรรยามารยาท ก็ขาดความสมบูรณ์สง่างาม เหมือนหลังคาโบสถ์วิหาร ที่ขาดช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์เป็นเครื่องประดับ แม้จะกันแดดกันฝนได้ก็ไม่สง่างาม หรือเหมือนดอกไม้ที่มีสีสวย แต่ไร้กลิ่นหอมฉะนั้น
บุคคลผู้มีความรู้เป็นพหูสูต ทั้งประกอบด้วยความประพฤติดี มีศีลาจารวัตรงดงาม ความรู้และความประพฤติดีของเขา ย่อมเป็นประหนึ่งอาวุธสำหรับประหารความชั่วร้ายเสียหาย กิเลสย่อมครอบงำผู้ที่ยังไม่รู้ เมื่อรู้จักหน้าตาของกิเลสแล้ว กิเลสก็สงบระงับไป ชื่อว่าชนะกิเลสได้ด้วยอาวุธ คือพาหุสัจจะ
หากเหลือกำลังของพาหุสัจจะ ก็ต้องอาศัยกำลัง คือ วิริยารัมภะ อันเป็นประการที่ ๕
วิริยารัมภะ แปลว่า ปรารภความเพียร หรือเรียกว่า “วิริยะ” ความเพียรโดยตรงก็ได้ ความเพียรนี้มีลักษณะทำใจให้กล้า ให้บากบั่น ไม่ท้อถอย ให้มุ่งไปข้างหน้าในการละชั่ว ประพฤติดี เมื่อจะบำเพ็ญความเพียรให้เกิดมี ต้องเจริญธรรม ๓ ประการ คือ
๑. อารภธาตุ ธาตุเริ่ม คือพอนึกว่าจะทำความดีอะไรแล้ว ต้องลงมือทำทันที โดยไม่ผัดเพี้ยนท้อถอย เจริญรอยตามพระพุทธภาษิตว่า กยิรา เจ กยิราเถนํ ถ้าจะทำให้ทำการนั้นจริงๆ
๒. ปรักกมธาตุ ธาตุก้าวหน้า คือให้ขยับชั้นแห่งการปฏิบัติสูงขึ้นไปโดยลำดับ ไม่ให้ถอยหลัง เหมือนขึ้นที่สูง โดยขึ้นตามบันไดทีละขั้นตามลำดับฉะนั้น
๓. นิกกมธาตุ ธาตุออก คือ อกจากความเกียจคร้าน ออกจากความท้อใจ ออกจากความอ่อนแอ จนถึงออกจากความชั่วร้ายเสียหาย ทุกข์กายทุกข์ใจ
คนมีวิริยารัมภะ จึงเป็นผู้แกล้วกล้า อาจหาญในการละความชั่ว ประพฤติความดี ทำให้เป็นผู้มีชัยชนะต่อกิเลสมาร เหมือนข้าศึกศัตรู แม้ทำลายเสาระเนียด ข้ามคูขึ้นเชิงเทิน ฝ่ากำลังอาวุธเข้าไปได้ แต่ก็ต้องพ่ายเพราะกำลังพลฉะนั้น
หากเหลือบ่ากว่าแรงของวิริยารัมภะที่จะต้านอยู่ ก็ยังมีนายประตู คือสติ คอยป้องกันไว้อีกชั้นหนึ่ง เป็นประการที่ ๖
สติ แปลว่า ความระลึกได้ ถ้าระลึกได้ถึงกรรมที่ทำ คำที่พูด เรื่องที่คิดแม้ล่วงมาแล้วนานได้ เรียกว่า “สติเนปักกะ” แปลว่า สติพอรักษาตัวรอดปลอดภัย
ถ้าระลึกได้ประจำอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเวลาได้เห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น คอยควบคุมไม่ให้ยินดียินร้ายไปตาม เรียกว่า “สติสังวร” แปลว่า สำรวมระวังด้วยสติ
ถ้าระลึกได้ในกายของตน ในความรู้สึกสุขทุกข์ เป็นต้นที่ตน ในจิตที่เศร้าหมอง หรือผ่องใสของตน ในธรรมารมณ์ดีชั่ว หรือกลางๆอันเกิดที่ใจของตน เรียกว่า “สติปัฏฐาน” หรือ “สัมมาสติ” แปลว่า ความระลึกชอบ
ถ้ามีสติเต็มที่จนจิตสงัดจากกาม หายจากความกำหนัดยินดี ดับความร้อนใจได้ จิตแน่วแน่ เรียกว่า “สติสัมโพชฌงค์” อันเป็นองค์แห่งความตรัสรู้มรรคผล
“สติ” ท่านเปรียบด้วยนายประตู เพราะคอยตรวจดูไม่ให้ความชั่วความหมองหม่นตกต้องท่วมทับใจ ต้องด้วยเทศนานัยพุทธภาษิตว่า สติ เตสํ นิวารณํ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสแห่งกิเลสทั้งหลายเหล่านั้น ดังนี้ เพียงเท่านี้
ถ้ายังไว้ใจไม่ได้ว่าจะปลอดภัยจากข้าศึกโดยเด็ดขาด สมเด็จพระบรมโลกนาถยังได้ตรัสให้กั้นด้วยกำแพงอีกชั้นหนึ่ง เป็นประการอวสาน ได้แก่ ให้มีปัญญา
ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ หรือความรู้ทั่ว ทุกคนมีปัญญาติดตัวมาแล้วตั้งแต่เกิด แต่ถ้าไม่ตกแต่งก็ไม่แหลมคม เหมือนเหล็กที่ช่างเหล็กตีเป็นมีดเป็นขวาน ถ้ายังไม่ได้ลับก็ไม่คมฉะนั้น
การศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาก็ดี การค้นคิดพิจารณาในข้อที่ได้ศึกษาแล้ว ให้แตกฉานก็ดี การทำบ่อยๆ อบรมสม่ำเสมอเป็นไปติดต่อก็ดี เป็นวิธีการลับปัญญาทั้งนั้น
การที่ทางราชการจัดตั้งโรงเรียนสอนกุลบุตรธิดาก็ดี ทางพระศาสนาตั้งโรงเรียนสอนวิชาทางพระศาสนาก็ดี ผู้มีศรัทธาสร้างวัดเป็นที่พำนักศึกษาของภิกษุ สามเณรก็ดี นี้คือสถานที่เป็นที่ลับปัญญา
ปัญญานี้ถ้าไม่ลับไม่คม ลับน้อยคมน้อย ลับมากคมมาก ลับไม่หยุดก็คมเรื่อยไป ไม่ใช่เพียงแต่คมอย่างเดียว มีทั้งแหลมทั้งคม คนมีปัญญาย่อมหายมืดหายหลง เกิดความรู้ความฉลาด คนไม่มีปัญญา แม้มีทรัพย์สมบัติก็จัดการรักษาไว้ไม่ได้ ได้ในคำว่า “ไร้ทรัพย์เพราะอับปัญญา” คนมีปัญญา แม้จะไม่มีทรัพย์มรดกมาแต่เดิม แต่ก็หาเพิ่มเติมได้ด้วยปัญญา ดังคำว่า “บุญมาวาสนาช่วย”
คนมีบุญวาสนาก็คือคนมีปัญญา บุญวาสนาอยู่กับคนมีปัญญา เหมือนเพชรอยู่ในเรือนแหวนทองคำฉะนั้น คนมีปัญญาถึงคราวอับก็ไม่อับ ถึงคราวจนก็ไม่จน เหมือนมีดวงประทีปอยู่ในมือ สำหรับส่องดูในที่มืดให้เกิดความสว่างขึ้นฉะนั้น
ปัญญาจึงทำคนโง่ให้เป็นคนฉลาด ทำคนชั่วให้เป็นคนดี ทำคนจนให้เป็นคนมั่งมี ทำคนมืดให้เป็นคนสว่าง ทำคนมีกิเลสมากให้มีกิเลสน้อย ทำคนมีกิเลสน้อยให้หมดกิเลส ทำปุถุชนให้เป็นอริยชน คนมีปัญญาจึงเป็นเหมือนแก้วสารพัดนึก นึกต้องการอะไรได้ตามปรารถนา
สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ปญฺญา นรานํ รตนํ ปัญญาเป็นดวงแก้วของนรชน ดังนี้ จึงทรงเปรียบปัญญาเหมือนกำแพงพระนครทั้งสูงทั้งหนา สามารถต่อต้านข้าศึก คือกิเลสให้ปราชัย
ธรรม ๗ ประการ เทียบด้วยเครื่องป้องกันพระนคร ๗ ชั้น คือ ศรัทธาเทียบด้วยเสาระเนียด หิริเปรียบด้วยคู โอตตัปปะเปรียบด้วยเชิงเทิน พาหุสัจจะเปรียบด้วยอาวุธ วิริยารัมภะเปรียบด้วยกำลังพล สติเปรียบด้วยนายประตู ปัญญาเปรียบด้วยกำแพง แต่ละประการสามารถนำผู้ปฏิบัติให้ข้ามพ้นทุกข์ภัย
ศรัทธา ก็ตรัสสรรเสริญว่า สทฺธาย ตรติ โอฆํ คนข้ามห้วงน้ำคือกิเลสได้ด้วยศรัทธา
หิริและโอตตัปปะ ก็มีคำสรรเสริญว่า เต สนฺโต ขีณปุนพฺภวา ชนผู้มีหิริโอตตัปปะเหล่านั้น เป็นผู้สงบระงับ มีภพใหม่สิ้นแล้ว ดังนี้
พาหุสัจจะ ก็มีคำสรรเสริญว่า เป็นเครื่องมือสู้รบมารคือกิเลสให้ปราชัย ตามเทศนานัยภาษิตว่า โยเธถ มารํ ปญฺญาวุเธน พึงรบมารด้วยอาวุธคือปัญญา
สติ ก็มีคำสรรเสริญว่า สติมา สุขเมธติ ผู้มีสติย่อมประสบสุข
ปัญญา ก็มีคำสรรเสริญว่า ปญฺญาย ติตฺติตํ ปุริสํ ตณฺหา น กุรุเต วสํ ตัณหาย่อมทำคนผู้อิ่มด้วยปัญญา ไว้ในอำนาจไม่ได้ ดังนี้
ท่านสาธุชนได้อุบัติมาพบพระพุทธศาสนา ได้ร่างกายจิตใจพร้อมด้วยสติปัญญา มีชีวิตเจริญมาโดยสวัสดี ไม่ควรมัวเมาประมาทในวัย ในความไม่มีโรคและในชีวิต ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป
ควรตั้งใจเจริญธรรม ๗ ประการ มีศรัทธา เป็นต้น อันอุปมาด้วยกำแพง ๗ ชั้น เพื่อเป็นเครื่องป้องกันกิเลสไม่ให้เกิดขึ้นครอบงำใจ จักได้บรรลุถึงความสุขสงบแจ่มใส สมควรแก่การปฏิบัติ จักเป็นไปเพื่อวุฒิสิริสวัสดิ์ เจริญในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกทิพาราตรี มีอรรถาธิบายดังบรรยายมาด้วยประการฉะนี้
(ส่วนหนึ่งจากการแสดงธรรมวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 198 มิถุนายน 2560 โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสารเถร) วัดราชผาติการาม กทม.)