xs
xsm
sm
md
lg

เศียรพระพุทธรูปในรากต้นโพธิ์ Unseen Thailand ดังไกลไปทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงจะเป็นวัดร้างมานานราว 250 ปีแล้ว แต่ “วัดมหาธาตุ” อยุธยา ซึ่งเป็น 1 ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อ พ.ศ. 2534 ยังคงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก มาเยี่ยมชมอยู่มิขาดสาย โดยเฉพาะ “เศียรพระพุทธรูปในรากต้นโพธิ์” ซึ่งเป็นจุดไฮไลท์ ที่ต้องดูเป็นอันดับแรกเมื่อมาเยือนวัดแห่งนี้

เศียรพระพุทธรูปในรากต้นโพธิ์ เป็นเศียรพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งสันนิษฐานกันว่า เศียรพระคงหล่นลงมาบริเวณโคนต้นโพธิ์ ที่อยู่ข้างวิหารราย ในช่วงบูรณะครั้งอดีตราว 50 ปีมาแล้ว ส่วนองค์พระนั้นหายไป เมื่อกาลเวลาผ่านไป รากโพธิ์ก็ค่อยๆงอกออกมาห่อหุ้มเศียรพระไว้แน่น จนดูคล้ายกับเศียรพระผุดออกมาจากต้นโพธิ์ เป็นที่น่าอัศจรรย์

แม้ว่าเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของพระอารามสำคัญแห่งนี้ แต่เศียรพระพุทธรูปในรากต้นโพธิ์ ก็เป็น Unseen Thailand ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก เทียบเท่ากับมรดกโลกของประเทศอื่นๆ โดยเมื่อ พ.ศ. 2554 ในช่วงการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ณ สำนักงานใหญ่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประเทศฝรั่งเศส ได้คัดเลือกภาพแหล่งมรดกโลกทั้งด้านทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม ประมาณ 40-50 ภาพ ขนาด 1x1.5 เมตร จากแหล่งมรดกโลกทั้งหมด 936 แหล่ง มาติดไว้บริเวณรั้วของสำนักงานใหญ่ทั้ง 4 ด้าน พร้อมเขียนบรรยายที่มาของภาพแหล่งมรดกโลกต่างๆไว้ด้วย โดย 1 ในนั้นคือภาพ “เศียรพระพุทธรูปในรากต้นโพธิ์” นั่นเอง

สำหรับวัดมหาธาตุนั้นเคยเป็นพระอารามหลวงที่รุ่งเรืองมากในอดีต สร้างขึ้นในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น รัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) เมื่อ พ.ศ. 1917 แต่ยังไม่แล้วเสร็จดีก็สวรรคตก่อน ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร ทรงสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จบริบูรณ์ โดยโปรดให้สร้างพระมหาธาตุสูง 17 วา ยอดสูง 3 วา ณ บริเวณที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุแสดงปาฏิหาริย์ แล้วโปรดให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัด พระราชทานชื่อว่า “วัดพระมหาธาตุ”

พระปรางค์ประธานถือเป็นพระปรางค์ยุคแรกสมัยอยุธยา ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจากปรางค์ของขอม เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ เคยพังทลายลงจนถึงเรือนธาตุในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153-2171) ต่อมารัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172-2199) ได้โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยเสริมให้สูงกว่าเดิมเป็น 25 วา และมีระเบียงคดล้อมรอบทั้งสี่ด้าน แต่เมื่อหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ได้ถูกทิ้งร้าง จนกระทั่วถึง พ.ศ. 2454 สมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระปรางค์ได้พังทลายลงทั้งองค์ เหลือเพียงส่วนฐานของเรือนธาตุ

ต่อมา พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์ประธาน ที่ใต้ห้องเรือนธาตุ พบเครื่องทอง และผอบทองคำบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

ด้วยเหตุที่ในอดีตนั้น วัดมหาธาตุเป็นพระอารามที่ตั้งอยู่ใจกลางพระนครศรีอยุธยา และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสี จึงมักเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ ของกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้สร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ จึงย้ายไปประกอบพระราชพิธีที่พระอารามแห่งนั้นแทน

อีกหนึ่งปูชนียวัตถุที่สำคัญและถือเป็น Unseen ของวัดมหาธาตุ คือ เจดีย์แปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์รูปทรงแปดเหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ ชั้นบนเป็นเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม ลดหลั่นกันขึ้นไป 4 ชั้น มีซุ้มโดยรอบทั้ง 8 ด้าน ผนังประดับด้วยปูนปั้นรูปเทวดา ชั้นบนสุดเป็นปรางค์ขนาดเล็ก นับเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมที่พบเพียงองค์เดียวในอยุธยา

อดีตอันเคยรุ่งเรืองของวัดมหาธาตุได้จบสิ้นลง เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 วัดมหาธาตุถูกไฟไหม้เสียหายหนัก และกลายเป็นวัดร้างนับแต่นั้นมาจนปัจจุบัน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 198 มิถุนายน 2560 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น