xs
xsm
sm
md
lg

ปั้น “พระโพธิสัตว์” ส่งเสด็จ ในหลวง ร.๙ สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ก่อเกียรติ” เผย เครื่องยอดพระเมรุมาศประดับประติมากรรม “พระโพธิสัตว์” สื่อ ในหลวง ร.๙ สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต ยึดต้นแบบตราประจำพระราชวังสวนดุสิต ส่วนอาคารในท้องสนามหลวงใช้หน้าจั่ว - ซุ้มคูหาทรงภควัม คล้ายเรือนแก้วพระพุทธชินราชงดงาม

นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ กล่าวว่า การออกแบบพระเมรุมาศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ยึดหลักแนวคิดไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนาและคติความเชื่อพระมหากษัตริย์เหมือนสมมติเทพ นอกจากเทียบพระมหากษัตริย์กับพระนารายณ์และพระอินทร์แล้ว พระมหากษัตริย์ทรงเปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์ โดยตามคติไตรภูมิหลังเสด็จสวรรคตพระมหากษัตริย์ด้วยสถานะแห่งพระโพธิสัตว์ พระองค์จึงสถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต สวรรค์ชั้นนี้อยู่สูงขึ้นไปจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนเครื่องยอดพระเมรุมาศครั้งนี้ได้ออกแบบให้มีประติมากรรมพระโพธิสัตว์ประดับเหมชั้นที่ 1 เพื่อร่วมส่งเสด็จในหลวง ร.๙ สู่สวรรค์ โดยนำต้นแบบมาจากรูปพระโพธิสัตว์ ตราประจำพระราชวังสวนดุสิต ลักษณะประทับนั่งบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวา พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม มีพระธยานิพุทธตรงเศียร ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายแบบเท่าจริง 1 : 1 เพื่อส่งให้กลุ่มงานประติมากรรมดำเนินการออกแบบปั้นต่อไป

นายก่อเกียรติ กล่าวว่า การสื่อถึงพระโพธิสัตว์ยังมีในงานสถาปัตยกรรมกลุ่มอาคารในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ประกอบด้วย พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน ทับเกษตร ทิม ยกเว้นพลับพลาหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พลับพลายกหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท โดยตนออกแบบหน้าจั่วทรงภควัม ลักษณะคล้ายรูปแบบเรือนแก้วพระพุทธชินราชที่งดงาม แต่ตัดทอนรายละเอียดและองค์ประกอบให้มีลักษณะที่เรียบเกลี้ยงขึ้น มีเศียร ไหล่ เข่า เหมือนพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ เช่นเดียวกับซุ้มคูหาของกลุ่มอาคารต่างๆ จะใช้รูปทรงเรือนแก้วพระพุทธชินราช เพื่อลดความแข็งของวัสดุ

“พระโพธิสัตว์ประดับพระเมรุมาศ และออกแบบหน้าจั่วทรงภควัมเปรียบได้ดั่งในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงสถิตย์อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต ทั้งยังมีซุ้มคูหาทรงเรือนแก้วพระพุทธชินราช การออกแบบครั้งนี้รังสรรค์เพื่อให้งานสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ มีความกลมกลืนเข้ากันและตรงตามคติโบราณที่สืบทอดกันมา ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังเพื่อประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สื่อพระองค์ไปสถิตสวรรค์ชั้นดุสิต พระเมรุมาศครั้งนี้ก็เช่นกัน” นายก่อเกียรติ กล่าว

ด้าน นายมนตรี ชื่นช่วย นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน กลุ่มประณีตศิลป์ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดสร้างพระโกศทรงพระบรมอัฐิ ว่า ตนได้รับมอบหมายให้ขึ้นหุ่นปูนพระโกศพระบรมอัฐิทั้ง 6 องค์ ซึ่งแล้วเสร็จ 5 องค์ ขณะนี้เตรียมขึ้นหุ่นพระโกศทรงพระบรมอัฐิ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งลักษณะโดยรวมเป็นพระโกศทรงแปดเหลี่ยม ยอดทรงมงกุฎ จัดสร้างด้วยทองคำลงยาสี ตนได้รับแบบแสดงลายเส้นสำหรับทำแม่แบบใสปูนขึ้นหุ่นของพระโกศทององค์นี้แล้ว โดยมีการปรับแก้แบบส่วนยอดพระโกศและส่วนฐานให้เหมาะสม ซึ่งออกแบบโดยนายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโสโดยตนเริ่มทำแม่แบบใสปูนองค์ประกอบของพระโกศ จำนวน 19 ชิ้น และกลึง 1 ชิ้น รวมทั้งสิ้น 20 ชิ้น โดยตนจะใสปูนตามแบบทุกชั้น จากนั้นนำเส้นปูนปลาสเตอร์ที่ใสแล้วมาตัดตามแบบและเข้ามุมแปดเหลี่ยม ก่อนจะนำมาซ้อนกันประกอบชิ้นงานจนสำเร็จ โดยจะปฏิบัติงานที่โรงจัดสร้างพระโกศจันทน์ ท้องสนามหลวง อย่างไรก็ตาม คาดว่า ต้นแบบจะแล้วเสร็จกลางเดือนมิถุนายนนี้ ต่อจากนั้น จะส่งหุ่นต้นแบบให้สถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา ดำเนินการขึ้นรูปทองคำ
กำลังโหลดความคิดเห็น