xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : อาหารของนิวรณ์ (ตอน 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แต่ในทีนี้จักกล่าวด้วยอาหารของนิวรณ์ อาหารของนิวรณ์ตัวประจำนั้นมีอย่างเดียว เหมือนกับอาหารหลักของคนไทยมีอย่างเดียวก็คือข้าว จะมีอย่างไรก็ตามที แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือข้าวที่หุงหรือต้ม ฉันใด อาหารหลักของนิวรณ์ที่เป็นตัวใหญ่ที่เป็นตัวสำคัญที่ขาดไม่ได้ ก็มีอย่างเดียวคือ อโยนิโสมนสิการ “อะ” แปลว่าไม่ “โยนิโส” แปลว่าแยบคาย “มนสิ” แปลว่าในใจ “การะ” แปลว่าการกระทำ เมื่อรวมเป็นศัพท์ว่า “อโยนิโสมนสิการ” แปลว่า การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย นี้เป็นอาหารหลักของนิวรณ์ อโยนิโสมนสิการ การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายตัวเดียวนี้แหละ เป็นอาหารหลักอาหารใหญ่ของนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ

คราวนี้พึงเข้าใจอโยนิโสมนสิการก่อน “อโยนิโสมนสิการ” การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายนั้นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ไม่สวย ไม่งาม โสโครก น่าเกลียด ปฏิกูล หรือพระพุทธศาสนาสอนว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่สวย ไม่งาม โสโครก น่าเกลียด ปฏิกูล ถ้าเราเห็นตรงๆอย่างนี้ตามพระพุทธศาสนาสอน ท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ ไม่มี “อะ” ปฏิเสธ แปลว่า การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย

คราวนี้เมื่อเราได้ยินคำสอนอย่างนี้ ลังเล ไม่แน่ใจ พระพุทธเจ้าท่านว่าไม่สวยไม่งามอย่างไรได้ สวยงามอยู่เสมอ สวยงามมีเยอะ จนบางคนถึงได้เข้าประกวดเป็นนางสาวนั้นนางสาวนี้ จนถึงประกวดเป็นนางงามโลก ก็คือประกวดความงาม ออกจะสงสัย พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่งามนั้น ไม่งามตรงไหน เมื่อความสงสัยเกิดขึ้นอย่างนี้ ความผิดเพี้ยนเกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่า อโยนิโสมนสิการ คือ คิดไม่แยบคาย

พระพุทธเจ้าสอนว่า สังขารไม่เที่ยง เรามานึกเสียว่าเห็นจะไม่ถูกทั้งหมด เที่ยงบ้าง ไม่เที่ยงบ้าง ที่มันเที่ยงก็มี ที่ไม่เที่ยงก็มี ที่ไม่เที่ยงก็ไม่เที่ยงไปเถอะ แต่บัดนี้มันเที่ยง เพราะสังขารยังเป็นของเรา พอมีความคิดเกิดขึ้นอย่างนี้ เรียกว่า อโยนิโสมนสิการ คือ คิดไม่แยบคาย ไม่เป็นอุบายที่ชอบ ไม่ถูก ไม่เหมาะ ไม่ดี ไม่ตรงตามหลักพระพุทธศาสนา นี้ตัวอโยนิโสมนสิการ ในที่อื่นๆก็พึงนำไปเทียบ พึงนำไปเทียบได้ทั้งนั้น ว่าอย่างไรเป็นอโยนิโสมนสิการ อย่างไรเป็นโยนิโสมนสิการ

คราวนี้ อโยนิโสมนสิการ ตัวเดียวตัวนี้ อุปมาเหมือนเรารับประทานข้าวเปล่าไม่ได้ ต้องมีกับ กินข้าวเปล่าๆ ก็ได้ไม่กี่คำ ฝืดคอรับประทานไม่ลง อย่างน้อยๆก็ต้องมีเกลือมีน้ำ ฉันใด นิวรณ์ก็เหมือนกัน ต้องมีกับ นิวรณ์ ๕ ประการนี้ ชอบกับไม่เหมือนกัน เหมือนคนบางท่านชอบอาหารฝรั่ง บางท่านชอบอาหารจีน บางท่านชอบอาหารไทย บางท่านชอบน้ำพริกผักจิ้มอะไรเหล่านี้เป็นต้นเหมือนกัน นิวรณ์ ๕ ประการนี้ชอบกับแกล้มไม่เหมือนกัน

“กามฉันท์” ชอบสุภะ คือ สิ่งว่างามหรือความงาม เมื่ออโยนิโสมนสิการ มาเกลือกกลั้วกับสุภารมณ์ อารมณ์ว่างาม อโยนิโสมนสิการก็ส่งเสริมให้เห็นว่างาม ที่พระพุทธเจ้าว่าไม่งามนั้น เห็นจะไม่ทั่วไป ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าไม่งามนั้น ท่านสอนคนเฒ่าคนแก่ต่างหาก ไม่ได้สอนคนอย่างเราๆที่ยังหนุ่มยังสาว

อีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าสอนว่าไม่สวยไม่งามนั้น ท่านสอนพระต่างหาก เพราะพระนั้นท่านอยู่วัดไม่ได้อยู่บ้าน พวกเรายังอยู่บ้าน ท่านก็คงสอนให้ดูสวยดูงามนั้นแหละ พอสงสัยอย่างนี้อารมณ์งามก็เจริญขึ้น กามฉันท์ก็นั่งยิ้ม คือว่ากามฉันท์ได้อาหารโอชารส ถูกปาก นี้แสดงว่ามันเกิดขึ้น คราวนี้กามฉันท์เกิดขึ้นแล้ว แสดงอาการให้จิตใจพอใจในกาม ใคร่ในกาม ติดอกติดใจอาลัยพัวพันในกาม ไปไหนก็ไม่ได้ ห่วงกามติดกาม

คำว่า “กาม” นี้อย่าพึงเข้าใจว่าเป็นเรื่องของชายหนุ่มหญิงสาว นั่นมันหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น บ้านเรือนก็เป็นกาม ผ้านุ่งผ้าห่มก็เป็นกาม เงินทองก็เป็นกาม เรือกสวนไร่นาก็เป็นกาม เป็นกามทั้งนั้น ต่างแต่ว่าบางอย่างถ้าเป็นวัตถุ เรียกวัตถุกาม เป็นกิเลสเรียกว่า กิเลสกาม แต่กามเหมือนกันหมด กามฉันท์ พอในใจกามก็เจริญขึ้น ใครนึกอย่างนั้น กามฉันท์ก็เกิดขึ้นเพราะได้อาหารโอชารส

“พยาบาท” เขาชอบปฏิฆะ เรียกว่า ปฏิฆนิมิต หรือ ปฏิฆารมณ์ อารมณ์กระทบกระทั่งหงุดหงิด ทำให้หงุดหงิดใจ ปฏิฆะแปลว่าหงุดหงิดใจ กระทบกระทั่ง สังเกตอย่างบางวันเราตื่นแต่เช้า พอออกมาจากห้องนอน มองเห็นใครทำอะไรไว้ในบ้าน โน่นก็ไม่ชอบ อันนี้ก็ไม่ชอบ กระโถนตั้งไว้ก็ไม่ดี ล้างกระโถนก็ไม่สะอาด เช็ดพื้นก็ไม่ดี ฝุ่นก็ไม่หมดไม่ชอบ ตัวไม่ชอบกระทบกระทั่งทั้งนั้น จนถึงหนักเข้าคนนั้นเราก็ไม่ชอบ คนนี้เราก็ไม่ชอบ

บางคราวกระทบกระทั่งเอาจนถึงพระเทศน์ บางท่านบางคนคิดว่า นั่นท่านเจ้าคุณเทศน์ว่าเราเข้าให้แล้ว นี่ปฏิฆะ ปฏิฆารมย์ ไม่ชอบ เจ้าคุณเทศน์แล้วก็ไม่ชอบ มาวัดนี้เผลอๆท่านเจ้าคุณเทศน์ว่าเสมอ อันที่จริงท่านเจ้าคุณเทศน์ธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่ว่าคล้ายๆกับว่า เราบริโภคหรือทายาแก้ค้นหรือยาใส่แผล พอใส่ลงไปที่แผล มันแสบ มันเจ็บฉันใด ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น เมื่อรู้สึกว่าถูกกับจิตกับอัธยาศัยของใคร ผู้นั้นก็รู้สึกว่าได้รับรสธรรมะฉันนั้น...

ต่อไป “ถีนมิทธะ” ถีนมิทธะนี้กินอาหารหลายอย่าง กินอาหารสามสี่อย่าง โลภมาก เห็นแก่อาหาร อาหารของถีนมิทธะนั้นคือ

๑. อรติ ความไม่ยินดีด้วย อย่างโน้นก็ไม่ชอบ อย่างนี้ก็ไม่ชอบ อย่างนั้นก็ไม่ชอบ นี้เรียกว่า อรติ
๒. ตนฺทิ ความคร้าน รู้สึกว่าคร้านหรือระอา
๓. วิชฺชมฺภิตา ตามศัพท์แปลว่า ปิดกาย แต่แปลในทางปฏิบัติว่า เกียจคร้าน หรือบิดขี้เกียจ
๔. ภตฺตสมฺมโท เมาอาหาร
๕. เจตโส ลีนตฺตํ ความที่จิตใจท้อแท้

เหล่านี้เป็นอาหารของถีนมิทธะ คือ ๑.ไม่ยินดี ๒. คร้าน ๓. บิดกายเกียจคร้าน ๔. เมาอาหาร ๕. จิตใจย่อหย่อน กินอาหารถึง ๕ อย่าง ถีนมิทธะรับประทานอาหารมากกว่าเพื่อน

ผู้ใดมานึกว่า นั่นฉันไม่ชอบ นี่ก็ไม่ชอบ แล้วรู้สึกว่าท้อแท้ รู้สึกว่าบิดไปบิดมา ไม่ค่อยจะหนักแน่น แข็งแรง บิดกายคือเกียจคร้าน รู้สึกว่าเมาอาหาร และรู้สึกว่าจิตใจนี้ย่อหย่อน ไม่แข็งแรง เมื่อนั้นถีนมิทธะเกิด เพราะเขาได้อาหารโอชารส

“อุทธัจจกุกกุจจะ” ชอบอาหารคือ เจตโส อวูปสมะ การที่จิตใจไม่เข้าไปสงบ นี้เป็นอาหารของอุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญอย่างเดียว รวมเป็นสองกับอโยนิโสมนสิการ คือรู้สึกว่าจิตใจไม่สงบ ทำจิตใจให้สงบไม่ได้

เพราะฉะนั้น นิวรณ์ตัวนี้ถ้าเกิดขึ้นแล้ว โบราณท่านว่านอนไม่ค่อยหลับ เพราะอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ ตรงกันข้ามกับถีนมิทธะครอบงำ ถีนมิทธะครอบงำนั้นหลับง่าย

“วิจิกิจฉา” สงสัย ชอบอาหาร คือ อาการที่ขบคิดไม่แตกหักลงไป เรียกว่า สงสัยในทางที่เป็นก้อนเป็นตัว เช่นพระพุทธศาสนาสอนว่า อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ มํสํ มีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น นี้เรียกว่าแยกออก แยกออกอย่างนี้ วิจิกิจฉาไม่ชอบ

วิจิกิจฉาชอบให้เป็นก้อนเป็นกลุ่มรวมกัน เมื่อใดเรานึกเป็นก้อนเป็นตัวรวมๆกัน นึกว่า เอตํ มม นั่นของเรา เอโสหมสฺมิ เราเป็นนั่น เอโส เม อตฺตา นั่นเป็นตัวเป็นตนของเรา เมื่อนั้นวิจิกิจฉาชอบ วิจิกิจฉาก็เกิดขึ้น นี้ว่าด้วยอาหาร

ต่อไปจะต้องว่าถึงวิธีตัดอาหาร คือ ให้นิวรณ์ไม่มีเพราะอดอาหารเสียด้วย นิวรณ์นี้ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นแล้ว เราไม่สามารถจะเขยิบชั้นแห่งการปฏิบัติให้สูงขึ้นไปได้ แม้แต่เพียง เอกัคคตาจิต คือจิตที่มีอารมณ์เดียว ก็มีขึ้นแก่ผู้นั้นไม่ได้

เพราะฉะนั้น วิธีปฏิบัติก็ตัดอาหารเสีย วิธีตัดอาหารนั้น อย่าให้มันกินได้ อุปมาเหมือนอาหารของคนเหมือนกัน ปล่อยให้บูดให้เน่าเสียแล้ว คนก็ไม่บริโภค เพราะฉะนั้น ทำอาหารของนิวรณ์ให้เน่าให้บูดเสีย

สุภารมณ์ ก็ทำให้เป็นอสุภารมณ์ คือ ไม่งาม ภาวนาว่า ไม่งามๆ อยู่เสมอ เราเชื่อพระพุทธเจ้าว่าไม่งามๆ อยู่เสมอ เราเชื่อพระพุทธเจ้าว่าไม่งามๆ

พยาบาท ก็ทำลายปฏิฆะเสีย เอาเมตตาเข้ามาแทน เจริญเมตตาว่า สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ หรือว่าสั้นๆว่า สพฺเพ สตฺตา สุขี โหนฺตุ ขอสัตว์ทั้งปวงทั้งหลายจงเป็นสุขๆเถิด เจริญเมตตาเรื่อยๆไป พยาบาทก็ระงับ

ถีนมิทธะก็เหมือนกัน ให้นึกตรงกันข้าม คือให้มีรติ ความยินดี ให้เป็น ธมฺมรติ ยินดีในธรรมเสีย ให้เป็น อตนฺทิ ไม่อ่อนแอ ทำให้ใจเข้มแข็ง อวิชฺชมฺภิตา ไม่บิดกาย จะทำอะไรทำทันที ภตฺตอสมฺมโท ไม่เมาอาหาร คือระวังอย่าบริโภคอาหารจนถึงกับอึดอัด เจตโส อลีนตฺตํ ประคองจิต อย่าให้มันย่อหย่อน ถีนมิทธะก็ดับ

อุทธัจจกุกกุจจะ เราก็ทำอาหารของมันให้บูดให้เสีย คือ ทำจิตให้สงบ ให้เป็น เจตโส วูปสม จิตใจเข้าไปสงบ ให้สงบอยู่ในอารมณ์อย่างเดียว เมื่อจิตมีอารมณ์เดียวแล้ว นิวรณ์ยอมแพ้หมด เหมือนเอาศิลาทับหญ้า หญ้างอกขึ้นไม่ได้ ขณะใดเป็นเอกัคคตาได้สมาธิ ขณะนั้น นิวรณ์แพ้ราบไปหมด นี้เป็นการตัดอาหารของมัน

วิจิกิจฉา ก็ทำลายอาหารของมันเสีย คือว่าพิจารณาให้เห็น อย่าให้รวมกลุ่ม อย่าให้รวมก้อนได้ ให้เห็นว่า อิมสฺมึ กาเย เกสา โลมา นขา ทนฺตาตโจ มํสํ ในร่างกายนี้มันแยกได้เป็นส่วนๆ ที่มันมารวมกันเข้านี้ เรารวมมันต่างหาก รถ เรือ บ้านช่อง ที่เราเรียกอย่างนั้น เพราะนายช่างเอามารวมกันเข้าให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน เมื่อแยกออกแล้วก็เป็นเหล็กเป็นไม้เป็นอิฐเป็นปูนฉันใด ร่างกายก็ฉันนั้น เมื่อแยกอย่างนี้อาหารก็ดับ วิจิกิจฉาก็สงบ

นี้ว่าย่อๆ แต่เชื่อว่าท่านผู้ปฏิบัติจะสามารถเพื่อกำหนดพิจารณา แล้วปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ต่อไป

พึงทราบว่า นิวรณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ มีอาหารมันจึงเกิด ไม่มีอาหารมันไม่เกิด มีอาหารมันจึงตั้งอยู่ ไม่มีอาหารตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่มีอาหารมันก็ดับไป

เมื่อนึกได้อย่างนี้แล้ว กำหนดพิจารณาในทางปฏิบัติและดำเนินการปฏิบัติ ก็จะเป็นไปเพื่อสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลในทางธรรมปฏิบัติแก่ตนๆทุกประการ โดยเทศนาบรรหารดังบรรยายมาด้วยประการฉะนี้

(ส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 193 มกราคม 2560 โดย พระพรหมมุนี (วิน ธมฺมสารเถร ป.ธ.๙) วัดราชผาติการาม กทม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น