xs
xsm
sm
md
lg

"สิฮิน้องบ่" โดนใจสายย่อ แต่มันคืออะไร? ฟังความหมายจากสาวลำซิ่ง 50 ล้านวิว "กุ้ง-สุภาพร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากซิงเกิลที่ฟังกำกวม เล่นล้อกับความคิด ‘สิฮิน้องบ่’ เพลงลูกทุ่งหมอลำจังหวะโจ๊ะๆ โดนใจสายย่อ ที่เป็นปรากฏการณ์ให้คนฟังทางอีสานบ้านเฮาได้ม่วนซื่นโฮแซว และได้ส่งให้ชื่อของหญิงสาวเจ้าของเสียงร้องเพลงดังกล่าว ‘กุ้ง-สุภาพร สายรักษ์’ เกิดเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

พูดได้ว่า เป็นอีกหนึ่งเพลงยอดฮิตในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา สำหรับผลงานของ "กุ้ง-สุภาพร สายรักษ์" นักร้องสาวลูกทุ่งหมอลำจากเมืองอำนาจเจริญ ในจังหวะที่เน้นฟังเพลินสนุกสนาน ด้วยยอดวิวมากกว่า 50 ล้านวิวเป็นเครื่องการันตี แต่หลายคนได้ยินชื่อเพลงนี้แล้ว อาจจะยกมือเกาหัวว่ามันยังไงกันนิ "สิฮิน้องบ่" มันคืออีหยังกันหนอ? กระนั้นแล้ว อย่าได้รีรอ เชิญชวนสายย่อมาฟังความหมายในบทเพลงนี้ไปพร้อมๆ กัน จากสาวสวยแห่งคณะลำซิ่งกุ้ง สุภาพร



• ถ้าถามแบบคนที่ไม่รู้ความหมายจริงๆ ชื่อเพลงนี้มีความหมายว่ายังไง

มันเป็นภาษาอีสานน่ะค่ะ คำว่า สิ แปลว่าจะปฏิเสธ ส่วนคำว่า ฮิ แปลว่า จะปฏิเสธมั้ย หรือ จะรังเกียจ คือมันแปลได้หลายอย่างค่ะ อย่างในตัวเพลงจะประมาณได้ว่า เราเคยมีครอบครัวมาแล้วนะ คือหนูก็พูดๆ แบบในมิวสิกวิดีโอนี่แหละค่ะ ว่าเป็นคนอย่างงี้นะ พี่จะปฏิเสธหนูมั้ย จะเอาเราเป็นแฟนมั้ย

โดยเฉพาะคำว่า “ฮิ” มันเป็นภาษาอีสานที่มีมาแต่โบราณแล้วค่ะ คือบางคนที่เป็นคนสมัยใหม่ก็จะไม่ค่อยได้ยินค่ะ ซึ่งคำว่า "สิ" กับ "ฮิ" มันคำเดียวกันแล้วเอามารวมกัน บางคนก็เคยได้ยิน บางคนก็ไม่เคยได้ยิน ซึ่งคำนี้มันก็เป็นภาษาอีสานปกตินะคะ เป็นคำแถวอุบลฯ อำนาจฯ และยโสฯ ต้องไปถามคนรุ่นเก่า ซึ่งคำคำนี้ต้องคนที่อยู่ชนบทมากๆ ที่เขาพูดกัน มันก็เหมือนคำว่า "คะลำ" ที่หมายถึงข้อห้ามไม่ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่กินนั่น ไม่กินนี่ คนเฒ่าคนแก่ที่อยู่บ้านนอกจริงๆ เขาจะรู้จักคำนี้ แต่คนรุ่นใหม่หรือคนที่อยู่ในเมืองมาหน่อย อาจจะไม่รู้จัก

• ก่อนที่จะมาเป็นนักร้อง คุณเคยทำอะไรยังไงมาก่อนบ้าง
 
ก็เป็นหมอลำซิ่งน่ะค่ะ แล้วพ่อกับแม่ก็เคยเป็นหมอลำกลอนมาก่อน ส่วนเราชอบเสียงเพลง เสียงดนตรี สมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนอำนาจเจริญ ก็เป็นนักร้องของโรงเรียน ร้องได้ทุกแนว บางทีก็มีเดินสายประกวดบ้าง แล้วอีกอย่างทางพ่อก็อยากให้เป็นหมอลำ เพราะทางฝ่ายพ่อก็มาทางนี้อยู่แล้ว ก็อยากให้ลูกสืบทอดต่อ เราก็เลยลองหัดดู เพราะว่าชอบอยู่แล้ว

จากนั้นก็เริ่มเข้าวงการ เพราะว่าตอนนั้น หมอลำซิ่งยังไม่ค่อยมี อย่างที่เป็นรุ่นราวคราวเดียวกันก็เป็น พี่เด่นชัย วงศ์สามารถ พี่ศรีจันทร์ วีสี พี่บัวผัน ทังโส แต่หนูจะเด็กกว่าพี่ๆ เขา แต่ขึ้นมาพร้อมๆ กัน ก็เลยมีชื่อเสียงในละแวกแถวอีสานใต้ เขาจะรู้จักหมด จากนั้นก็ได้ร่วมงานหลายอย่างค่ะ ร่วมงานกับคนนั้นคนนี้ คือลำซิ่งก็เหมือนเป็นการโชว์วาไรตี้น่ะค่ะ แต่ก็ต้องลำเป็นด้วย เพราะมันเป็นวัฒนธรรมทางอีสานค่ะ ลำซิ่ง ลำกลอน ลำเพลิน ลำล่อง แล้วมาผสมกับเพลงสมัยนิยม เพลงที่ฮิตในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เราต้องร้องได้ แต่เราก็มีสไตล์ของตัวเอง คือเราจะร้องแบบวัยรุ่นนิดๆ โจ๊ะๆ หน่อย เสียงห้าวๆ หน่อย

• อยู่ดีๆ มามีผลงานอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ครับ

หลังออกจากค่ายเก่า ทำ 1 อัลบัม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ออกมาทำหมอลำซิ่งด้วยตัวเอง โดยมีพวกพี่ๆ ทีมงานจาก "มีแฮงเดย์" นี่แหละ เขาบอกว่าอยากได้นักร้องแบบสไตล์เราค่ะ เขาเลยมาทำซิงเกิลแรก SAT-TUR-DAY (อยากตาย) เป็นเพลงช้าๆ ออกสตริงหน่อย หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ ทำเพลงลำกลอนอีกเพลงหนึ่ง ไผน้อ สิบ่อยากลืม และ คนที่สี่ คือคนสุดท้าย

นอกจากนั้น เราสนใจในเรื่องการตลาด เราก็เสนออาจารย์ผู้แต่งเพลงว่า ขอเป็นเพลงเร็วได้มั้ย ให้คนได้สนุกๆ หน่อย เพราะว่าเราเป็นหมอลำซิ่งอยู่แล้ว สามารถเอาไปเผยแพร่ได้ทุกเวที ก็เลยอยากได้เพลงแนวนี้ค่ะ อาจารย์ก็เลยแต่งให้ แต่เราก็แล้วแต่นักแต่งเพลงค่ะ ว่าเราอยากได้เพลงเร็วนะ จนเป็นเพลงนี้แหละ ที่เป็นซิงเกิลล่าสุด ซึ่งเราก็ไม่คิดเช่นกันว่ามันจะขนาดนี้ค่ะ ตอนที่อัดเสร็จใหม่ๆ เราก็ยังมีข้อสงสัยในเพลงนี้อยู่ แต่อาจารย์ก็มาอธิบายว่า คำว่าฮิมันเป็นภาษาอีสานที่เราไม่ค่อยได้ใช้ไง ก็เลยกลายเป็นที่เห็น จนได้ร้องทุกเวทีที่เล่น ก็เลยเป็นเพลงนี้ออกมา


• ในฐานะที่เป็นนักแสดงหมอลำซิ่ง อยากให้อธิบายหน่อยครับว่ามันคืออะไร

คิดว่ามันเป็นคอนเสิร์ตของภาคอีสานค่ะ เป็นมรดกที่ประยุกต์มา ซึ่งแต่ก่อนจะมีแต่ลำกลอน แล้วเรามาผสมผสานกับเครื่องดนตรีต่างๆ เมื่อก่อนมีแค่แคนวงเดียวแล้วหมอลำก็ลำใส่แคนไป แต่ตอนนี้ มีการผสมผสานกันกับเพลงลูกทุ่ง เพลงสตริง ทุกอย่างรวมตัวอยู่ในนั้น แต่ยังยึดมรดกของอีสานไว้ อย่างเด็กวัยรุ่นบางคนก็ยังไม่รู้จัก เพราะพ่อแม่ยังพอรู้จักบ้าง แต่ละเพลงจะแยกทำนองได้ว่าเป็นประเภทไหนบ้าง มันจะแยกแขนงออกไปหลายๆ ลำ แต่ว่ามันจะมีจังหวะที่สนุกสนาน ส่วนจุดเด่นของศิลปะลำซิ่ง คือ ทำนอง และคำร้อง ที่มันเป็นภาคอีสานอยู่แล้ว แล้วหมอลำซิ่งจะมีผู้ชายผู้หญิงเขาลำคู่กัน เขาจะมีการเกี้ยวพาราสีกัน จะมีฟ้อนเกี้ยว หยอกล้อกัน แดนเซอร์ก็จะมีเอกลักษณ์ของเขา แล้วในภาคดนตรี ก็เป็นของอีสานเลยค่ะ มีการผสมผสาน จนกลายเป็นดนตรีดังกล่าว เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานความสนุกระหว่างดนตรีสมัยนิยมกับท้องถิ่นประมาณนั้น

•  การนำเสนอของลำซิ่ง มันมีความเป็นสองแง่สองง่ามและการโชว์แบบหวาบหวิวด้วย ในความเห็นคุณคิดว่ามันจำเป็นมั้ยที่จะนำเสนอแบบนี้

คือบางคนก็ "สอย" มาตั้งแต่โบราณแล้ว ("สอย" เป็นสำนวนที่ชาวอีสานนิยมพูดเสริมหรือสอดแทรก เมื่อหมอลำ ลำตกบท เป็นบทร้อยกรองสั้นๆ ที่มีผู้ร้องแทรกขัดจังหวะหมอลำ เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เป็นการเสริมหยอกล้อ ทั้งหมอลำ และผู้ฟัง) เป็นคำที่คนเฒ่าคนแก่เขาเอามาพูดกัน อย่างในความคิดส่วนตัวเรา มันเป็นสิ่งที่คนชอบสิ่งหนึ่ง แต่เราก็ไม่ได้พูดแบบลามกจนเกินไปนะ คือบางคำที่เป็นคำหยาบจริงๆ เราก็จะหลีกเลี่ยง เหมือนคำว่าหู มันแปลได้หลายอย่าง เราก็หลีกเลี่ยงตรงนี้เอา อย่างตอนที่ "จ๊ะ อาร์สยาม" เขาร้องออกมา เราก็คิดแล้วว่ามันต้องเป็นอย่างงั้น แต่คนดูก็ชอบไป คือมันกลายเป็นสิ่งที่คู่กันว่ามันต้องพูด แต่ว่าเราก็จะไม่พูดตรงเกินไป เราจะเลี่ยงให้สนุกสนาน แต่ก็แล้วแต่ว่าสไตล์ใครสไตล์มันค่ะ

ส่วนเรื่องหวาบหวิว เรามองในเรื่องความเหมาะสมค่ะว่าสมควรมั้ย อย่างเราก็ไม่ค่อยเน้นตรงนั้นอยู่แล้ว เพราะว่าเราเป็นในแบบตัวเองอยู่แล้ว คือเป็นสไตล์ที่ผสมผสานน่ะค่ะ ความเป็นสมัยเก่ากับสมัยใหม่มาผสมผสานกัน เราก็มีการโชว์นิดปิดหน่อย แต่ก็ไม่ให้มันมากเกินไปค่ะ ถ้ามากเกินไปก็น่าเกลียดเหมือนกัน ซึ่งผู้ชายอาจจะชอบ แต่ถ้าคนเฒ่าคนแก่เขาก็อาจจะไม่ชอบเหมือนกัน เพราะความคิดเราก็คือว่าอยู่ที่ความเหมาะสมมากกว่า เราคิดว่าโป๊ไปก็ไม่สวย ตามสมัยดีกว่า ไม่ให้มันมากเกินไป

• คุณอยากจะให้แวดวงหมอลำซิ่งให้เป็นยังไง

(นิ่งคิด) คืออยากให้มันเป็นเหมือนเดิมค่ะ ไม่อยากให้ติดกับสังคมมากเกินไป อยากให้มันยึดแบบประเพณีเดิม อย่างไรก็อย่างนั้น คืออยากให้เด็กๆ สายเลือดใหม่เขาลำเป็น อย่างบางคนเขาเป็นหมอลำแต่ว่าลำไม่เป็นเลย คือเอาเพลงมาร้องอย่างเดียว แล้วเรียกตัวเองว่าหมอลำ คืออยากให้อนุรักษ์ตรงนี้ ให้มีความสังวาสในการรำ สังวาสในการสอน หรือการแต่งตัวที่อยากให้เหมือนเดิม แต่หนูคิดว่ามันคงจะเป้นไปตามยุคสมัย เพราะตั้งแต่เรารำมา 10 ปี ก็ดูความเคลื่อนไหวมาเรื่อยๆ แต่พอมายุคนี้คือเด็กบางคนยังไม่เป็นเลย แต่ก่อนคนเฒ่าคนแก่จะเอาเสื่อมาแล้วรำก่อน การแสดงจะมีรำยกครู รำขอบคุณเจ้าภาพ หรือรำแบบอื่นๆ แต่ทุกวันนี้ก็มีการละทิ้งไป บางคนก็ไม่ค่อยสนใจ แต่จะไปสนใจในแบบเพลงมากกว่า เพราะวัยรุ่นสมัยใหม่เขาก็ชอบ แต่คนเฒ่าคนแก่ก็ไม่อยากมาดูแล้ว ประมาณนี้ ตามยุคตามสมัยเรื่อยๆ

ส่วนในตัวเราเอง ก็มีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลาค่ะก็อยากหาอะไรที่ทุกคนไม่เคยฟัง ก็เคยมีความคิดเหมือนกันว่าอยากจะเอาแนวเพลงเร็กเก้มาผสมกับหมอลำดูนะคะ แต่เราก็อยากที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งการร้องหรือการเต้น แต่สำคัญที่สุดคือ เราจะทำยังไงให้อยู่ในใจของแฟนๆ ที่เรารักทุกคน ก็ประมาณว่า อยากหาอะไรที่มาผสมแนวเดิม แต่เราก็ยังรักษาประเพณีเดิมไว้ ประมาณนั้นค่ะ
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : Instagram kungtensupaporn

กำลังโหลดความคิดเห็น