xs
xsm
sm
md
lg

พุทธศาสนา..กับ..ในหลวงรัชกาลที่ 9 (ตอนสอง)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สอดแนมการเมือง”
โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเดินบนเส้นทางธรรมของพระพุทธเจ้าด้วยใจอันมั่นคงแน่วแน่!

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราโชวาท พระราชทานให้ไปอ่านในพิธีเปิดประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 39 เรื่อง “พระพุทธศาสนาในสังคมยุคโลกาภิวัฒน์” ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ความตอนหนึ่งว่า

“..อยากจะให้ทุกฝ่ายทุกคนคิดให้เห็นตามเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดาสังคมก็เช่นเดียวกัน ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของโลก ข้อนี้จึงไม่ควรวิตกให้มากเกินไป..

..ท่านทั้งหลายจะต้องไม่ลืมว่า พระพุทธศาสนานั้น ถ้าหมายถึง คำสั่งสอนที่เที่ยงตรงตามพุทโธวาทแท้ๆ แล้ว ย่อมมีความแน่นอนมั่นคงอยู่ในตัว เช่น ความดีก็เป็นความดี ความชั่วก็เป็นความชั่ว และ ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว อย่างปราศจากข้อสงสัย

เหตุนี้ พระธรรมจึงชื่อว่า อกาลิโก คือ ถูกต้องเที่ยงแท้และไม่ประกอบด้วยกาล เหมาะที่จะน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติเสมอ ไม่ว่าในกาลไหนๆ ข้อสำคัญ ชาวพุทธจะต้องขวนขวายศึกษาพุทธธรรมให้ทราบชัด และน้อมนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยความพยายามลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นต้นเหตุแห่งการกระทำชั่วกระทำผิด และกล้าที่จะบากบั่นกระทำสิ่งที่เป็นความดี โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นสิ่งที่พ้นสมัยหรือน่ากระดากอาย

ถ้าชาวพุทธทำได้ดังนี้ ก็จะเป็นเหตุเกื้อกูลอย่างสำคัญ ที่จะช่วยจรรโลงรักษาพระพุทธศาสนา ไว้ให้มั่นคงในทุกสถานะและในกาลทุกเมื่อ”

พระบรมราโชวาทอีกองค์หนึ่งของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศ ที่เข้าเฝ้าในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2523 ข้อความตอนหนึ่งว่า

“..เหตุนี้ การที่พระพุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้าให้เราศึกษา ก็คือ ศึกษาให้เห็นว่าทุกข์นั้นมันมาจากไหน ให้รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร เป็นอะไร แล้วก็ทุกข์มาจากไหน จะเห็นว่า มีทุกข์ก็ต้องมีการไม่ทุกข์ได้ เมื่อมีการไม่ทุกข์ ก็มีการหมดทุกข์ได้ มีการหมดทุกข์ได้แล้ว ก็เห็นได้ว่ามีทางจะหมดทุกข์ อันนี้ท่านก็เรียกว่า อริยสัจ ฉะนั้นการศึกษาพระพุทธศาสนา ก็คือ การศึกษาอริยสัจนั้นเอง..

..พุทธศาสนานี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องสนใจ เป็นสิ่งที่ทุกคนจะได้ประโยชน์ถ้าเข้าใจในทางที่ถูก และเป็น “สิ่งที่ไม่ยากที่จะปฏิบัติ” ..ถ้าท่านทั้งหลายมาแล้วก็รู้ว่า ทุกคนรู้ว่าง่าย แล้วรู้จริง ไม่ใช่รู้เก๋ๆเฉยๆ รู้จริงว่าง่าย บอกว่าสวัสดีเท่านั้นเองก็พอ ไม่ต้องมานั่งมายืนให้เมื่อย ไม่ต้องมาพูดให้คอแห้งเปล่าๆ ก็เพียงว่าสวัสดี เพียงว่าปฏิบัติดีชอบก็พอ แต่มันยากที่ว่าไม่เห็นว่าง่าย..

..ความจริงไม่ใช่ทฤษฎีแหวกแนวอะไร เป็นส่วนหนึ่งของการสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแท้ๆ ไม่ใช่สิ่งที่คิดค้นขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐาน..”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท เพื่ออัญเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุม สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 40 เรื่อง “พระพุทธศาสนากับภาวะวิกฤตของสังคมไทย” ณ วัดพระยายัง กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2541 ว่า

“..ธรรมะในพระพุทธศาสนานั้นบริบูรณ์ด้วยสัจธรรม ที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์ในทุกระดับ ซึ่งบุคคลสามารถจะศึกษาและปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ คือ ความเจริญผาสุกแก่ตนได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมจะมีชีวิตและกิจการงาน ที่ประกอบด้วยความสว่าง สะอาด และสงบ

ที่ว่า “สว่าง” นั้นคือ มีปัญญา รู้เหตุรู้ผล รู้ผิดชอบชั่วดีโดยกระจ่างชัด ที่ว่า “สะอาด” นั้นคือ ไม่มีความทุจริตทั้งกาย วาจา ใจ มาเกลือกกลั้ว เพราะเห็นจริงชัดในกุศลและอกุศล ที่ว่า “สงบ” นั้นคือ เมื่อไม่ประพฤติทุจริตทุกๆทางแล้ว ความเดือดร้อนจากบาปทุจริตก็ไม่มาแผ้วพาน

คนที่ประพฤติตนและปฏิบัติงานโดยตั้งอยู่ในธรรมอย่างเคร่งครัด จึงเป็นผู้มีปรกติสุขอยู่ร่มเย็น ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง แก่ผู้อื่นและสังคมส่วนรวม..”

พระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 คราครั้ง พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตโร และคณะ เข้าเฝ้าถวายเงินและต้นเทียนพรรษา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ถึง“ศีล”กับ“สมาธิ”ตอนหนึ่งว่า

“..ท่านสอนว่า มีศีล สมาธิ ปัญญา “ศีล” ก็หมายความว่า เราต้องระวังตัวไม่ให้ทำอะไรที่ผิดไป เป็นกฎเกณฑ์ที่ท่านวางเอาไว้..

..ศีลนั้นน่ะเหมือน “กรง” เราอยู่ในกรง ทำนี่ก็ไม่ได้ ทำโน่นก็ไม่ได้ เพราะว่าท่านบอกว่าไม่ให้ทำ จะหยุดข้ามไปก็ไม่ได้ เพราะว่าผิดศีล เราเหมือนว่าอยู่ในกรง เราออกมาไม่ได้

แต่ถ้านึกดู สมมติว่า เราอยู่ในที่ที่มีสัตว์ร้ายเต็ม อย่างที่เคยเห็นในภาพยนตร์ เขาหย่อนคนที่ใส่เครื่องประดาน้ำลงไปในน้ำในที่ๆมีปลาฉลามแยะๆ เขาเอาปลาฉลามใส่กรงไม่ได้ ก็เอาตัวผู้เป็นประดาน้ำลงไปในกรงเพื่อไม่ให้ปลาฉลามกัด

ศีลนี้ก็กลายเป็นกรง เพื่อ“ไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีมาแตะต้องเราได้” ก็เป็นกฎเกณฑ์เหมือนกัน ในเวลานั้น ตอนแรกเราต้องให้ศีลมา “ควบคุม” ตัวเรา แล้วทีหลังศีลนั้นจะเป็น “การป้องกัน ”ตัวเราไม่ให้เดือดร้อน เพราะว่า ถ้าไปทำผิดศีลนั้นนะเดือดร้อน เป็นการกระทำที่เป็นกรรมที่เดือดร้อน ก็เป็นอกุศลกรรม เป็นสิ่งที่จะทำให้เรารับกุศลที่ไม่ดี ก็หมายความว่า ศีลนี่เป็นส่วนที่ท่านตั้งเอาไว้เพื่อที่จะป้องกันเรา

แล้วก็มาถึง “สมาธิ” สมาธิก็เพื่อที่จะให้จิตใจเราเข้มแข็ง สามารถที่จะมีสติสัมปชัญญะ เมื่อมีสติสัมปชัญญะแล้ว เราเห็นอะไรทุกอย่าง ทำอะไรก็เกิดผล จะเกิดผลอะไรเราก็รู้ อะไรที่ถูกต้องเราก็รู้ อะไรที่ไม่ถูกต้องเราก็รู้

เป็นอันว่า สมาธิและมีสตินี่ก็รู้ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็เกิดความรู้ซึ่งมีผลเป็น“ปัญญา” รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร แล้วบังคับจิตใจเราอยู่เสมอ ก็เป็นปัญญาขึ้นมา..”

เรื่องมีสติเพื่อเอาชนะกิเลสนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัส ในวาระที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตโร และคณะ เข้าเฝ้าถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และต้นเทียนพรรษา วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2528 ตอนหนึ่งว่า

“..แต่ถ้าในทางตรงกันข้าม เราปล่อยตัว ไม่ระมัดระวัง ไม่มีสติสัมปชัญญะ ปล่อยให้ทำไม่ดี เดี๋ยวก็เห็นอะไรของเขาวางไว้ หยิบฉวยไปแล้วใช้เป็นของธรรมดา ของที่วางไว้ไม่มีเจ้าของ

อย่างที่เขาพูด เวลามีเงินงบประมาณแผ่นดิน เฮ้ย..นี่เงินกองกลางยังอยู่ ไม่ใช่เงินของเรา จ่ายไป เขาจ่ายไป อันนั้นนะเคยชินไป ไม่มีความสุจริต จนกระทั่งทำไปทำมาไปหยิบฉวยเขา ไปทำการขโมย วันหนึ่งถูกจับเข้าคุก มันก็ทุกข์ใหญ่

..บางคนนี่แปลกจริงๆ ของมันวางเอาไว้ ไม่มีเจ้าของ หยิบเอาไป แต่แท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างมีเจ้าของ มันต้องมีเจ้าของ สิ่งที่มีค่าจะต้องมีเจ้าของ พานที่วางอยู่นี่ มันวางอยู่ก็หยิบไป ก็ไม่ถูก เป็นเรื่องของการทุจริต แต่ว่าตอนแรก ถ้าเรารู้ว่าอะไรสุจริต อะไรทุจริต เราก็ไม่ทำ

บางทีเรียกว่ามันอยาก แล้วมันยั่วใจ มันล่อใจ มันก็ต้องพิจารณา แต่ทีหลัง มันก็เป็นความเคยชินได้ว่าไม่ทำ แต่ว่าถ้าทำไปเรื่อยก็เป็นความเคยชินว่า ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอันนั้นนะ..

..จนกระทั่งปฏิบัติถึงขั้นสูงแล้ว จะเป็นพระ จะเป็นผู้ที่ออกไปปฏิบัติธรรมะชั้นสูงแล้ว ความเคยชินนี้ยังอยู่ในตัว ต้องขัด เรียกว่า “ขัดเกลาด้วยการพิจารณา” ต้องใช้อะไร ก็ต้องใช้ “สติสัมปชัญญะ” นั่นเอง

ต้องพยายามที่จะรู้อยู่เสมอว่า อันนี้คืออะไร ตัวกำลังทำอะไร สติก็ระลึกรู้ว่าอันนี้อะไร แล้วก็สัมปชัญญะก็รู้ว่าตัวกำลังทำอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่สติสัมปชัญญะ..”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังมีพระราชดำรัสโดยตรงถึง “พระสงฆ์” อีกมากมาย ต้องอ่านตอนต่อไปครับ..


กำลังโหลดความคิดเห็น