xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กินผักผลไม้เพิ่มขึ้น ช่วยตัดค่ายาโรคไตได้ตั้งครึ่ง
การศึกษาที่นำเสนอในงานสัมมนาทางวิทยาศาสตร์ที่อเมริกา พบว่า ผู้ป่วยโรคไตที่กินผักผลไม้เพิ่มขึ้น ความดันโลหิตจะดีขึ้น ลดค่ายาลงได้เกือบครึ่ง

โรคไตทำให้ความสามารถในการขับกรดออกจากร่างกายลดลง ความเป็นกรด-ด่างของสารน้ำภายในร่างกายเสียความสมดุล ระดับกรดในเลือดที่สูงผิดปกตินี้เรียกว่า ภาวะเลือดเป็นกรด ผู้ป่วยโรคไตจึงมักได้รับการรักษาโดยการให้โซเดียมไบคาร์บอเนตหรือเบกกิ้งโซดา เพื่อกำจัดกรดที่เกิน

แต่ตามธรรมชาติของผักผลไม้หลายชนิด หลังจากถูกย่อยแล้วจะไปลดกรด ผู้วิจัยเห็นว่า การกินผักผลไม้เพิ่มขึ้นน่าจะช่วยรักษาภาวะผิดปกตินี้ได้ จึงศึกษาเปรียบเทียบการควบคุมความดันโลหิต ระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาภาวะผิดปกติในสมดุลกรดด่างนี้ กับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับโซเดียมไบคาร์บอเนต และกลุ่มที่กินผักผลไม้ โดยมุ่งให้การรักษานั้นไปลดความเป็นกรดในไตลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ผู้ป่วยทุกคนในทุกกลุ่ม ได้รับยารักษาให้ความดันโลหิตตัวบนลดลงต่ำกว่า 130 มิลลิเมตรปรอท

ผลการศึกษาพบว่า ในระยะยาว การกินผักผลไม้เพิ่ม 3-4 หน่วยบริโภค ช่วยลดความดันโลหิตได้ดีกว่าการกินโซเดียมไบคาร์บอเนต และดีกว่าการไม่รักษาความสมดุลความเป็นกรดด่างในเลือด ช่วยให้บริโภคยาน้อยลง และค่ายาก็ลดลงไปด้วย

ปัญหาเท้า..สัญญาณแรกของโรค
เท้ารับบทหนัก พาเราไปทุกๆที่มานาน แต่เรามักทำร้ายมันซ้ำแล้วซ้ำอีก แค่สวมรองเท้าเข้า ถอดรองเท้าออก ก็ทำให้เท้าหยาบกร้านได้ การตัดเล็บเท้าที่ไม่เหมาะสม การสวมรองเท้าที่ไม่พอดี ฯลฯ

บางครั้งปัญหาเรื่องเท้าก็เป็นสัญญาณแรก ที่สะท้อนอาการเจ็บป่วยขั้นวิกฤติอื่นๆ เช่น โรคข้ออักเสบ เบาหวาน และความผิดปกติของเส้นประสาทหรือการไหลเวียนโลหิต จึงควรหมั่นตรวจดูเท้าบ่อยๆ ว่ามีรอยแผล มีตุ่มขึ้น หรือเล็บขบหรือไม่ หากสังเกตได้ว่าเท้าชา หรือรู้สึกปวดมาก ต้องรีบปรึกษาแพทย์

ทางที่ดีหันมาออกกำลังเท้าบ้าง ด้วยท่าง่ายๆ เช่น นั่งขยับข้อเท้าไปมา หรือการเดิน ซึ่งช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ช่วยให้เท้ามีสุขภาพดี

ส่วนวิธีถนอมเท้าอย่างง่ายๆ ได้แก่ ล้างเท้าให้สะอาดทั่วถึงเป็นประจำโดยเฉพาะซอกนิ้ว สวมถุงเท้าสะอาด สวมรองเท้าที่มีขนาดพอดี สวมสบาย เวลานั่งให้ยกเท้าขึ้นสูง เพื่อช่วยการไหลเวียนโลหิต ถ้าต้องนั่งนานๆ ให้ยืนขึ้นและเคลื่อนไหวบ้างเป็นครั้งคราว และหากติดนั่งไขว่ห้าง ควรเลิกซะ หรืออย่างน้อยสลับขาข้างที่ไขว่ห้างบ่อยๆก็จะดี

ผ่าตัดลดน้ำหนักแล้ว ก็ยังเสี่ยงกระดูกหัก
คนอ้วนมากๆ ถ้าน้ำหนักลดแล้ว ก็น่าจะเป็นผลดีต่อกระดูก แต่นักวิจัยบอกว่า ความจริงแล้ว ก่อนผ่าตัดก็เสี่ยง หลังผ่าตัดก็ยังเสี่ยง

รายงานชิ้นนี้ปรากฏใน The BMJ วารสารการแพทย์ของอังกฤษ โดยใช้ข้อมูลคนอ้วนที่ผ่าตัดลดน้ำหนัก 12,676 คน คนป่วยโรคอ้วน 38,028 คน และคนที่ไม่มีภาวะโรคอ้วน 126,760 คน ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2553-2557 พบว่า จำนวนคนที่ผ่านการผ่าตัดแล้วเกิดกระดูกหัก 1 ครั้ง อยู่ในอัตรา 4.1% เทียบกับคนอ้วน 2.7% และคนไม่อ้วน 2.4%

ทั้งนี้ การเกิดกระดูกหักพบว่า มีการเปลี่ยนตำแหน่งจากการหักของกระดูกร่างกายช่วงบน เป็นกระดูกร่างกายช่วงล่าง สาเหตุที่พบมาก เกิดจากการล้ม และมีภาวะที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น เบาหวานประเภท 2 รวมทั้งอยู่ระหว่างการปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังการผ่าตัด และการขาดสารอาหารที่เป็นผลจากการผ่าตัด เป็นต้น

รายงานนี้เป็นผลสำรวจคร่าวๆเท่านั้น แต่ก็ช่วยเตือนใจว่า เรื่องกระดูกอย่าชะล่าใจ ต้องบำรุงรักษาให้แข็งแรงเข้าไว้

สบู่ผสมสารต้านแบคทีเรีย..ไม่ดีอย่างที่คิด
ไม่ใช่ว่าสบู่ผสมสารต้านแบคทีเรียจะดีเสมอไป เพราะองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ออกมาประกาศห้ามใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของสารเคมีต้านแบคทีเรีย ซึ่งใช้กันแพร่หลาย อย่างสารไตรโคลซาน และสารไตรโคลคาร์ เป็นต้น เพราะหากใช้เป็นประจำไปนานๆ อาจเป็นอันตรายได้

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ FDA กล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นว่าการชำระล้างด้วยสารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ได้ดีกว่าการล้างด้วยสบู่ธรรมดากับน้ำเปล่า ดังเช่นการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Antimicrobial Chemotherapy พ.ศ. 2558 ระบุว่า สบู่ธรรมดาทำงานได้ดีเทียบเท่ากับสบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่มีส่วนผสมไตรโคลซาน ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆ 20 ชนิด นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาชิ้นอื่นๆ พบว่าสารไตรโคลซานสามารถก่อให้เกิดมะเร็งในหนูได้ การใช้ไปนานๆ จึงส่งผลเสียมากกว่า

ธาตุซีลีเนียมในเลือดต่ำ เสี่ยงเป็นมะเร็งตับ
วารสาร American Journal of Clinical Nutrition ของสหรัฐฯ ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นใหม่ระบุว่า คนที่มีระดับธาตุอาหารซีลีเนียมในเลือดต่ำ มีความเสี่ยงสูงจะเป็นโรคมะเร็งตับ

แร่ธาตุนี้จำเป็นต่อสุขภาพ เพราะมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบภูมิคุ้มกัน สังเคราะห์ดีเอ็นเอ และต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชั่น (กระบวนการที่อนุมูลอิสระเข้าไปทำลายเซลล์) งานวิจัยบางชิ้นเชื่อว่า การขาดซีลีเนียมส่งผลให้การป้องกันอนุมูลอิสระไปทำลายเซลล์ ต้องลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

ล่าสุด นักวิจัยจากเยอรมนีวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใหญ่จำนวน 477,000 คน แยกเป็นผู้ป่วยมะเร็งตับ มะเร็งถุงน้ำดีและท่อน้ำดี และมะเร็งท่อน้ำดีส่วนที่อยู่ในตับ เมื่อเจาะเลือดวัดระดับซีลีเนียมในผู้ป่วยทุกรายแล้วพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับ มะเร็งถุงน้ำดีและท่อน้ำดี มีระดับซีลีเนียมต่ำกว่ากลุ่มที่มีสุขภาพดีอย่างมีนัยสำคัญ

และเมื่อเปรียบเทียบคนที่มีระดับซีลีเนียมต่ำ กับคนที่มีระดับสูงเป็นรายบุคคลแล้ว พบว่า คนที่มีระดับต่ำที่สุด เสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับมากกว่าถึง 5-10 เท่าทีเดียว

ทั้งนี้ ซีลีเนียมเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย พบได้ในพืชผักผลไม้ เช่น จมูกข้าวสาลี หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ บร็อกโคลี ข้าวกล้อง อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ นม และไข่

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 191 พฤศจิกายน 2559 โดย ธาราทิพย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น