xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๔๐) มิจฉาทิฐิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


จนกระทั่งทุกวันนี้ มิจฉาทิฐิก็ยังให้คำแนะนำอยู่เรื่อยมา แต่นับว่าฉลาดเพราะได้ดัดแปลงรูปการสอนให้ทันสมัยอยู่เสมอ มีคนไม่น้อยพากันหลงนับถืออยู่ รูปการสอนที่มิจฉาทิฐิได้ดัดแปลงให้ทันสมัยนั้น เช่น ดัดแปลงให้เป็นไปในทางเทวนิยม คือให้นิยมนับถือเทพอย่างไร้เหตุผล ด้วยศรัทธาอย่างตาบอด ไม่ต้องคำนึงถึงเหตุคือกรรม ผลคือวิบากของกรรม ไม่ต้องคำนึงถึงทั้งสองอย่าง เท่ากับว่าไม่มีอะไรทั้งนั้น นอกจากแรงบันดาลให้เป็นไปของเทพ

เพราะมิจฉาทิฐิเห็นว่าการที่จะปฏิเสธเสียบางอย่างหรือทั้งหมดว่าไม่มีๆ คนทั้งหลายจะหมดเครื่องยึดเหนี่ยว เพราะคนส่วนใหญ่จะต้องมีเครื่องยึดเหนี่ยว จึงแสดงเทพขึ้นมา ให้เป็นตัวแทนกรรมและผลของกรรมเป็นต้น ซึ่งเป็นสัจจะอันคนมองไม่ค่อยเห็น เพราะไม่มีตัวตน ทั้งเป็นเครื่องปกปิดกรรมและผลของกรรมเสียด้วย

อันที่จริงเทพที่แสดงนั้น ก็มองไม่เห็นเหมือนกัน แต่เข้าใจแสดงโดยใช้ภาษาแสดงเป็นสิ่งมีตัวตนขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ สอดแทรกเป็นอารมณ์เข้าไปในจิตใจ ปรากฏเป็นสิ่งที่เรียกว่ามโนภาพ คนทั้งหลายจึงเข้าใจเหมือนอย่างว่ามี ก็คล้ายๆ กับที่ใครๆ ได้เห็นรูปอะไรทางตา จะเป็นคนก็ตาม เป็นบ้านเรือนต้นไม้ เป็นวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ตลอดถึงเป็นแก้วแหวนเงินทองต่างๆ ก็ตาม ก็เก็บเป็นอารมณ์เข้าไว้ในจิตใจ เหมือนอย่างคนนั้นๆ เข้าไปอยู่ในจิตใจ บ้านเรือนต้นไม้ก็เข้าไปอยู่ในจิตใจ วัตถุต่างๆ ตลอดถึงแก้วแหวนเงินทองก็เข้าไปกองอยู่ในจิตใจ แล้วก็ยินดียินร้ายไปกับอารมณ์นั้นๆ ทั้งที่ไม่มีอะไรเป็นสัจจะอยู่ในอารมณ์นั้นๆ เลย

เสียงที่ฟังทางหูก็เช่นเดียวกัน ที่เป็นภาษาก็แปลเป็นคนเป็นสิ่งของนั้นๆ แล้วเก็บเป็นอารมณ์เข้าไว้ในจิตใจ เช่นเดียวกับรูปที่เห็นทางตา จนกระทั่งถึงมโนที่เป็นทางสื่อสารชั้นใน ยิ่งเป็นที่เก็บอารมณ์ทุกชนิด เท่ากับเป็นที่รวมเอกสารทุกอย่างสำหรับเสนอนครสามี เรื่องราวทั้งหมดที่ผ่านเข้ามาทางเครื่องสื่อสารชั้นนอกทั้งห้าต้องผ่านมโนก่อนทั้งนั้น และมโนเสนอนครสามีอีกทีหนึ่ง ทั้งเรื่องราวที่เก็บอยู่ในแฟ้มของมโนเองก็มีอีกมากมาย

สมุทัยเสนอวางระบบงานและบุคคลไว้ต่อเนื่องประสานกันทั้งหมด แม้ทุกอย่างจะเป็นเพียงอารมณ์ แต่ชาวจิตตนครก็เห็นเป็นบุคคลเป็นวัตถุต่างๆ อย่างจริงจัง มิจฉาทิฐิก็ใส่เทวนิยมเข้าไปในอารมณ์ทางนี้แหละ นอกจากนี้ ยังดัดแปลงให้เป็นไปในทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพราะอาจจะมีผู้ไม่เชื่อในเทพองค์เดียวหรือหลายองค์

ในสมัยที่วิทยาศาสตร์เจริญดังในปัจจุบัน คนยิ่งคลายความเชื่อถือในทางเทวนิยมกันมากขึ้น เพราะได้รู้ว่าปรากฏการณ์ต่างๆ เป็นเหตุผลทางธรรมชาติที่ปัญญามนุษย์ได้ค้นพบ และได้สร้างขึ้นมาได้ด้วย เช่น สร้างไฟ (ไฟฟ้า) สร้างฝน (ฝนเทียม) พากันเหาะเหินเดินฟ้าได้ ไปเยี่ยมดวงเดือนได้ ทั้งคิดจะไปดวงดาวต่างๆ ต่อไปอีก ดูมนุษย์ชักจะผยองว่าเก่งยิ่งกว่าเทวะที่แสดงไว้แต่โบรํ่าโบราณเสียอีก อาวุธวิเศษของเซียนที่แสดงไว้ในเรื่องจีนต่างๆ บัดนี้จะสู้อาวุธของมนุษย์ไม่ได้เสียแล้ว ฉะนั้น ทิฐิจึงต้องดัดแปลงให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพราะถึงอย่างไร มนุษย์ก็ยังมีสันดานเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือชอบอยู่ในทางนี้ ถ้าจูงใจไปในทางนั้นได้ ก็ได้ผลเท่ากับปฏิเสธกรรมและผลของกรรมคล้ายคลึงกัน

แม้เห็นว่ามิจฉาทิฐิมีอำนาจแรง มีอำนาจร้าย ปรารถนาจะหนีให้พ้นจากอำนาจนั้น ก็ต้องศึกษาเรื่องกรรมและผลของกรรมให้เข้าใจชัดเจน จนสามารถมีความเชื่อมั่นในเรื่องกรรมและผลของกรรมได้พอสมควร นั่นแลมิจฉาทิฐิจึงจะเข้าครอบงำให้หลงผิดไปได้โดยยาก จักรู้พิจารณาก่อนแล้วจึงทำกรรมใดเสมอ ซึ่งจะให้ผลเป็นความสุข พ้นทุกข์เป็นลำดับไป

ยังมีรูปการที่มิจฉาทิฐิดัดแปลงให้ทันสมัย ที่น่าจะต้องกล่าวถึงก็คือ ดัดแปลงส่งเสริมทางกามนิยมและวัตถุนิยม ทางกามนิยมนั้นคือ ส่งเสริมให้นิยมยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กายสัมผัสถูกต้อง) อันน่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ส่งเสริมให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุดในชีวิต เป็นความสุขอย่างยอด จนถึงได้ประกาศออกไปอย่างเปิดเผยทีเดียว ว่าเป็น “นิพพาน” จะบรรลุนิพพานก็ด้วยวิธีที่ซ่องเสพกามนี้แหละ ได้มีคนเชื่อถือมาตั้งแต่ก่อนที่องค์พระบรมครูเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรม

ลัทธิกามนิยมนี้ได้เป็นที่ต้องใจของคนสามัญในโลกทั่วไป สมุทัยได้รับรองส่งเสริมลัทธินี้เข้าในสมุทัยศาสนา และสั่งสอนเผยแพร่อย่างเต็มที่ นอกจากจะส่งเสริมเป็นส่วนตัวบุคคล ยังส่งเสริมออกไปถึงส่วนรวม ดัดแปลงให้เป็นรูปการปกครองทางวัตถุนิยม วัตถุก็คือสิ่งทั้ง ๕ มีรูปเป็นต้นนั่นเอง วัตถุจำเป็นทีแรกสำหรับชีวิตก็คือ “โภคะ ของกิน” ทั้งปวง ที่เรียกด้วยคำที่รู้จักกันว่าเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลาย ได้แก่ ปัจจัยทั้ง ๔ คือ ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยาแก้เจ็บไข้ สำหรับบำรุงเลี้ยงชีวิตร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีวัตถุสำหรับบำรุงจิตใจอีกมากมาย เป็นจำพวกเครื่องฟุ่มเฟือยทั้งหลาย สำหรับของกินของใช้สำหรับบำรุงชีวิตร่างกาย แม้จะเพื่อให้เกิดความสุขสะดวกสักเท่าไร ก็ยังไม่มากมายนัก เพราะร่างกายบริโภคได้ไม่มาก ปริมาณจำกัด ส่วนที่ป้อนให้แก่ความต้องการที่เป็นตัว “กาม” คือความใคร่ความปรารถนาของจิตใจนี้หาขอบเขตมิได้ เรียกว่าใจกินเท่าไรไม่อิ่ม ส่วนกายเสียอีกยังมีอิ่ม

สมุทัยพร้อมทั้งมิจฉาทิฐิและพรรคพวก ได้ส่งเสริมให้แสวงหาวัตถุสำหรับบำรุงให้เกิดความสุขสะดวกทางกายให้มากยิ่งๆขึ้น และให้แสวงหาเพื่อป้อนความต้องการของจิตใจอย่างไม่มีขอบเขต โดยได้ใส่ความไม่อิ่มไม่พอเข้าไว้ในจิตใจคนทั้งปวง ทำให้เกิดการแข่งขันกันในการแสวงหาเป็นต้น เป็นเหตุให้มีการแย่งชิง กักตุน และวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้มาเพื่อตน และก็ต้องมีวิธีการเฉลี่ยไปให้ถึงผู้อื่นที่อยู่รวมกันเป็นหมู่ ตั้งแต่หมู่เล็กจนถึงหมู่ใหญ่ ดังที่เรียกว่าประเทศชาติตลอดถึงเป็นโลก จึงเกิดลัทธิการปกครองต่างๆ

มิจฉาทิฐิพยายามสอดแทรกทิฐิทั้ง ๓ คือ อกิริยทิฐิ ความเห็นว่าไม่มีการทำบุญทำบาป อเหตุกทิฐิ ความเห็นว่าไม่มีกรรมอะไรเป็นเหตุ นัตถิกทิฐิ ความเห็นว่าไม่มีพ่อแม่ที่จะต้องนับถือว่าเป็นผู้มีคุณเป็นต้น เข้าไปในจิตใจของคนทั้งปวงให้มากที่สุด

ถ้าสอดแทรกเข้าไปในบุคคลระดับผู้มีอำนาจได้มากเท่าไรยิ่งดี จึงทำให้คนพากันมุ่งแสวงหาวัตถุที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลายกันอย่างไม่คำนึงถึงบุญบาป กรรมและผลของกรรม ตลอดถึงไม่ต้องนับถือผู้มีคุณ ตัดธรรมข้อว่าด้วยความกตัญํูกตเวทีออกเสียได้ เท่ากับว่ายกวัตถุขึ้นเป็นสิ่งสูงสุด

องค์พระบรมครูได้ตรัสรู้เรื่องนี้แจ้งชัด ตรัสชี้ไว้ว่า นี่แหละคือ “กิเลสกามกับวัตถุกาม” ที่เป็นเหตุแห่งความยุ่งเหยิงสับสนอยู่ในโลกของสมุทัย

เมื่อใดจะมุ่งแสวงหาวัตถุที่น่าใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย เมื่อนั้นบรรดาผู้มาบริหารจิตควรจะนึกถึงพระพุทธวาจาที่ตรัสไว้ว่า นั่นเป็นเหตุแห่งความยุ่งเหยิงสับสน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นั่นเป็นเหตุแห่งความทุกข์ร้อน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 191 พฤศจิกายน 2559 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น