xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดโปรดเกศเชษฐาราม งามน่าชมพระมณฑปกลางน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

ตามประวัติกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระดำริว่า ป้อมปราการที่สร้างขึ้นที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งสร้างมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ยังคงค้างอยู่ สมควรที่จะสร้างต่อให้เสร็จสมบูรณ์ จึงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นแม่กองมาสร้างเมืองและป้อมให้แล้วเสร็จ เพื่อไว้ใช้เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันข้าศึกทางทะเล

กรมหมื่นศักดิพลเสพทรงตั้งให้พระยาเพชรพิไชย(เกตุ) ซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยง ให้เป็นแม่กองและนายงานสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ และป้อมเพชรหึงต่อจากที่สร้างค้างไว้ ในการนี้ได้ขุดคลองลัดหลังเมืองนครเขื่อนขันธ์ไปทะลุออกคลองตาลาว เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ด้าน ปากคลองขุดอยู่ทางทิศใต้และทิศเหนือของเมือง เมืองนครเขื่อนขันธ์จึงมีลักษณะเป็นน้ำล้อมรอบ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “คลองลัดหลวง”

เมื่อสร้างเมืองเสร็จสมบูรณ์แล้วเมื่อ พ.ศ. 2362 กรมหมื่นศักดิพลเสพได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง อยู่ทางตะวันตกของคลองลัดหลวง พระราชทานนามว่า “วัดไพชยนต์พลเสพ” ส่วนพระยาเพชรพิไชย(เกตุ) ได้ขออนุญาตสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของคลอง แล้วเสร็จเมื่อพ.ศ. 2365 อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ จึงได้รับพระราชทานนามว่า “วัดโปรดเกศเชษฐาราม” หมายความเอาว่าเป็นวัดที่พี่เกตุสร้าง แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดปากคลอง” เพราะเดิมมีศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปหลังหนึ่งติดกับคลองทางด้านเหนือของวัด

พระยาเพชรพิไชย (เกตุ) ได้ถวายวัดโปรดเกศเชษฐารามให้เป็นพระอารามหลวงเมื่อพ.ศ. 2365 และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2368

สิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นในชั้นแรก คือ พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ทรงลังกา 2 องค์ หอระฆัง และกุฏิสงฆ์ ส่วนพระมณฑปยังสร้างไม่เสร็จ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขี้นครองราชย์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้พระยาเพชรพิไชยมาบูรณะต่อเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามแห่งนี้

ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุสำคัญในพระอารามแห่งนี้มีมากมาย ได้แก่

• พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันมีศิลปะปูนปั้นลายเครือเถา ประดับเครื่องลายคราม ภายในประดับด้วยภาพวาดศิลปะแบบตะวันตก ฝีมือของขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 3-4 ที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนในพระประแดง การเข้ามาทำการค้าของชาวต่างชาติ รวมทั้งภาพจิตรกรรมสีฝุ่นปิดทองรูปพระอัครสาวก ภายในช่องผนังพระอุโบสถจำนวน 36 ช่อง ซึ่งเดิมถูกอิฐกรุช่องไว้แล้วโบกปูนทับ แต่เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ.2542 ได้ค้นพบภาพเขียนนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผลงานของขรัวอินโข่ง และลูกศิษย์ของท่าน

• พระพุทธชินนาถศาสดา พระประธานภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะ หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี 2 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง เมื่อ พ.ศ. 2553พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “พระพุทธชินนาถศาสดา”

• พระวิหาร มีลักษณะการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับพระอุโบสถ และภายในวิหารก็มีภาพวาดของช่างสกุลขรัวอินโข่งประดับด้วยเช่นกัน

• พระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ยาวตลอดจากพระรัศมีถึงพระบาท 16 วา 2 ศอก ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง กล่าวกันว่าพระพุทธไสยาสน์องค์นี้เป็นต้นแบบของการหล่อพระพุทธไสยาสน์ที่วัดโพธิ์ด้วย

• พระมณฑปกลางน้ำ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ เป็นพระมหามณฑปเจดีย์ย่อมุมไม้ 20 ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบดอกบัว 9 ชั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ทำด้วยศิลาแลง หน้าตักกว้าง 1 ศอกคืบ 1 นิ้ว สูง 2 ศอก 1 นิ้ว และยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยศิลาแลง ฐานรอบนอกประดับด้วยหินอ่อน กลีบบัวสลักด้วยศิลาแลงลงรักปิดทองลายฝ่าพระพุทธบาทประดับด้วยมุก เป็นรูปพรหมและรูปต่างๆ กว้าง 1 ศอก 9 นิ้ว ยาว 3 ศอก 7 นิ้ว

• เก๋งจีน ตั้งอยู่รอบพระอุโบสถและวิหาร รวม 7 หลัง ภายในแต่ละเก๋งจีนประดิษฐานพระพุทธรูปต่างๆ อาทิ พระพุทธรูปปางนาคปรก หน้าตักกว้าง 17 นิ้ว 2 กระเบียด สูง 2 ศอก 9 นิ้ว ทำด้วยศิลาแลง ลงรักปิดทอง พระศรีอาริย์ หน้าตักกว้าง 1 ศอก 9 นิ้ว สูง 1 ศอกคืบ 1 นิ้ว หล่อด้วยโลหะ พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ สูง 3 ศอกคืบ 4 นิ้ว เป็นต้น

• พระปรางค์ 4 องค์ กว้าง 6 ศอก สูง 5 วาเศษ ตั้งอยู่ที่มุมกำแพงพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน

นับแต่สถาปนาวัดโปรดเกศเชษฐารามมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาล่วงเลยมาร่วม 200 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสิ่งก่อสร้าง เสนาสนะต่างๆ ได้ชำรุดทรุดโทรมลง แต่ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาเป็นลำดับ

ล่าสุด สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับวัดโปรดเกศเชษฐารามจัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัด โดย พ.ศ. 2559 ได้เริ่มดำเนินการสำรวจ และจัดทำแผนงาน และจะเริ่มดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ใน พ.ศ. 2560 เพื่อรักษาพระอารามหลวงแห่งนี้ให้ยืนยงคงความงดงาม สืบสานศรัทธาของอนุชนคนรุ่นหลังต่อไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 189 กันยายน 2559 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น