วัดตรีทศเทพ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 167 ถนนประชาธิปไตย แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
พระอารามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2405 ซึ่งเป็นปีสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร ผู้ริเริ่มสร้าง ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร พระราชโอรสองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างขึ้นในที่ติดกับวังของพระองค์เอง
แต่การก่อสร้างวัดยังมิทันได้เริ่มดำเนินการใดๆ นอกจากการแผ้วถางที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ (พระเชษฐาร่วมมารดาเดี่ยวกับกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร) รับเป็นแม่กองดำเนินการต่อมา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ได้ทรงริเริ่มการก่อสร้าง โดยโปรดให้ทำการขุดคลองรอบ 4 ด้าน เป็นบริเวณวัด ทำรากฐานพระอุโบสถ รากฐานพระเจดีย์ รากฐานพระวิหาร และก่อกำแพงวัด แต่การก่อสร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จก็ทรงสิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับการก่อสร้างวัดที่ยังค้างอยู่นั้น มาทรงดำเนินการต่อ ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระยาราชสงครามหรือพระยาเวียงใน เป็นแม่กองงานสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2410
พระอารามที่สร้างขึ้นใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามว่า “วัดตรีทศเทพ” มีความหมายว่า “เทพผู้ชายสามองค์ได้ร่วมกันสร้าง” คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชโอรสทั้งสอง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯให้พระครูปลัดจุลานุนายก(คง) พระครูปลัดซ้าย ฐานานุกรมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ มาครองวัดตรีทศเทพเป็นรูปแรก ในการนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่หอสวดมนต์ เพื่อทรงถวายที่วิสุงคามสีมา และถวายพระอารามแก่พระสงฆ์ด้วย
สำหรับสิ่งสำคัญในพระอารามแห่งนี้ ได้แก่
• พระอุโบสถ เดิมเป็นพระอุโบสถขนาดย่อม และเมื่อวันเวลาผ่านไปก็ชำรุดทรุดโทรมลง ดังนั้น เมื่อ พ.ศ. 2529 พระเทพวัชรธรรมาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามทั้งหมด และได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเดิม ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2529 และทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์
พระอุโบสถหลังใหม่มีขนาดกว้าง 19 เมตร ยาว 21 เมตร เป็นอาคารทรงไทยตรีมุข ก่ออิฐถือปูน ประดับหินอ่อนทั้งหลัง หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพระมหาพิชัยมงกุฎ ในรัชกาลที่ 4 ด้านทิศเหนือ ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระนามาภิไธยย่อ ส.ก. และด้านทิศตะวันตก ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ส.ธ.
• พระพุทธนวราชบพิตร ครั้นพระอุโบสถหลังใหม่แล้วเสร็จ แต่ยังไม่มีพระประธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หล่อพระพุทธนวราชบพิตร ขนาดหน้าตักกว้าง 61.9 นิ้ว สูง 89 นิ้ว พระรัศมี 14 นิ้ว ฐานถึงบัว 19 นิ้ว ส่วนกว้าง 32 นิ้ว เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถหลังใหม่ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระประธานพระพุทธนวราชบพิตร เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2530 นับเป็นพระพุทธนวราชบพิตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นขนาดพระประธานองค์เดียวของไทย
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริสร้างพระพุทธนวราชบพิตรพระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ทั่วราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. 2508 ทรงตรวจพระพุทธลักษณะที่นายช่างปั้นถวาย ด้วยพระองค์เองจนพอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯให้เททองหล่อพระพุทธรูป เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2509 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 23 ซม. สูง 40 ซม. ที่บัวฐานด้านหน้าบรรจุพระพิมพ์พระสมเด็จจิตรลดาไว้อีกองค์หนึ่ง พระพุทธนวราชบพิตรนี้ นอกจากจะเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดแห่งพุทธศาสนิกชนแล้ว ยังเป็นนิมิตหมายแห่งความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างองค์พระมหากษัตราธิราชกับบรรดาพสกนิกรของพระองค์ ในทุกจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักร
• พระวิหาร กว้าง 12 เมตร ยาว 22 เมตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับลายปูนปั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ ทั้งนี้ พระวิหารหลังนี้ถือเป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ที่ยังคงเหลืออยู่
• วิหารคด เป็นวิหารคดรอบพระอุโบสถ ประดับด้วยหินอ่อน พร้อมด้วยซุ้มประตู และซุ้มประจำทิศ
• พระธาตุเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา รายล้อมด้วยเจดีย์ขนาดย่อม 4 องค์ ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ ประดับโมเสกสีทองทั้งองค์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับประทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
• จิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถนั้น เป็นภาพพุทธประวัติ ซึ่งอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) เป็นผู้อำนวยการและออกแบบการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยมีคณะทำงานเป็นผู้เขียน เริ่มตั้งแต่ปี 2533 ที่สำคัญ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯพระราชทานทุนทรัพย์จำนวนห้าล้านบาทถ้วน เพื่อสมทบทุนการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในครั้งนี้ด้วย
แม้วัดตรีทศเทพจะผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา แต่ก็ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างเริ่มชำรุดทรุดโทรมลง ดังนั้น ในปี 2559 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงได้ร่วมกับทางวัดตรีทศเทพ จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้ง โดยเบื้องต้นได้ลงมือสำรวจและจัดทำแผนงานการบูรณะพระวิหารเป็นอันดับแรก และจะเริ่มดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ในปี 2560 เพื่อให้วัดตรีทศเทพดำรงไว้ซึ่งความสง่างามสมเป็นพระอารามหลวงสืบไป
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 190 ตุลาคม 2559 โดบ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)