xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : ทุนนิยมทำให้ผู้คนเป็นโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่านผู้อ่านครับ ในยุโรป อเมริกา เขาใช้ระบบการเมืองประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ผลก็คือ มันสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย ทำให้คนกินดีอยู่ดีขึ้น บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ดังที่เราเห็นอยู่

แต่มันก็มีผลเสียหลายประการตามมา ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำของรายได้อย่างมากมาย คนอเมริกันร้อยละ 1 ที่ร่ำรวยมีทรัพย์สินมากกว่าคนอเมริกันที่เหลือร้อยละ 99 รวมกัน ความสำเร็จของการพัฒนาแบบทุนนิยมยังก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่ผ่านๆมา

การดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยปัญหา เต็มไปด้วยความเครียด แม้ว่าความเครียดอาจช่วยให้คนเรามีความกระตือรือร้นในการทำงาน เป็นแรงผลักดันให้ประสบความสำเร็จ แต่ความเครียดที่มากเกินไป และเป็นอยู่นานหลายๆปี ก็ส่งผลเสีย คือ ก่อให้เกิดโรค ทำให้คุณภาพชีวิตเสียไป

เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน ค.ศ. 2014 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้สำรวจพบว่า คนอเมริกันทั่วไปมีปัญหาเรื่องความเครียดมากเกินไป ร้อยละ 26 (นั่นคือ ทุกๆ 4 คน มีคนเป็นโรคเครียด 1 คน) คนที่มีโรคประจำตัว พบว่ามีความเครียดมาก ร้อยละ 60, คนพิการมีความเครียดมาก ร้อยละ 45, คนที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์ต่อเดือน มีความเครียด ร้อยละ 36, ผู้ปกครองที่มีลูกวัยรุ่น มีความเครียด ร้อยละ 34 ส่วนอาชีพที่เสี่ยงอันตราย มีความเครียดร้อยละ 36 (www.youtube.com/The Health Burden of Stress,what we can we do about it/the Forom at HSPH.)

ท่านผู้อ่านครับ นอกจากนั้น ความเครียดยังมีผลกระทบต่อครอบครัวร้อยละ 75 เป็นเรื่องของปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่มีเวลาให้ครอบครัว และมีความยุ่งยากในการอยู่ร่วมกัน มีผลกระทบต่อการทำงาน ร้อยละ 70 เป็นเรื่องของการขาดสมาธิในการทำงาน ทำงานไม่ทันเวลา การตัดสินใจผิดพลาด ไม่สามารถสร้างผลงานให้ก้าวหน้าขึ้นได้ และมีผลกระทบด้านสุขภาพ ร้อยละ 74 เป็นเรื่องของสุขภาพจิตเสีย มีปัญหาในการนอน ปวดกล้ามเนื้อต้นคอ หลังปวดหัว โรคกระเพาะอาหาร และโรคเรื้อรังต่างๆ

นพ.เกเบอร์ เมเต้ (Dr.Gabor mate MD.) จิตแพทย์ผู้มีชื่อเสียงชาวแคนาดา ซึ่งทำงานด้านบำบัดโรคจิตประสาทและการเสพติด กล่าวว่า ระบบทุนนิยมทำให้เราเครียด เมื่อความเครียดเข้าไปสู่สมองแล้ว มันจะไปกระตุ้นสมอง ให้มีการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งจะทำให้อวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติไป จนทำให้เกิดโรคมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ เพราะความเครียดทำให้ภูมิต้านทานต่ำลง จึงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น แผลหายช้าลง รวมทั้งโรคจิต โรคประสาท โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น (www.youtube.com/Why Capitalism makes us sick.)

ท่านผู้อ่านครับ เรามาดูประเทศจีนบ้าง จีนใช้ระบบการเมืองแบบสังคมนิยมตามแนวคิดของมาร์ก-เลนิน แบบคอมมิวนิสต์ มีเป้าหมายที่การกินดีอยู่ดีของคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นหลัก มีพรรคการเมืองเดียว รัฐบาลควบคุมกิจกรรมทุกอย่าง ในอดีตใช้ระบบนารวม ทุกคนมาทำงานให้รัฐแล้ว รัฐให้ส่วนแบ่งปันเท่าๆกัน ซึ่งวิธีนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

แต่หลังจากยุคเติ้งเสี่ยวผิง ค.ศ. 1978 จีนเปลี่ยนมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) ซึ่งมีการควบคุมโดยรัฐให้เอกชนมีอิสระในการประกอบกิจการค้าต่างๆ ให้มีกรรมสิทธ์ในทรัพย์สินได้หลายๆรูปแบบ ที่ดินเช่าจากรัฐ เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษแถบเมืองใหญ่ๆ ชายฝั่งทะเลทางตะวันออก ตั้งแต่เซียะเหมิน กวางโจว เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน และพัฒนาเข้าไปทางตะวันตก จากอู่ฮั่น ฉางชา ฉงชิ่ง เสฉวน ทำเส้นทางไปเชื่อมกับชายแดนตะวันตกไปทางหลานโจว เชื่อมเสฉวนเข้าไปในมณฑลซินเจียง เข้าคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส และโปแลนด์ ทางเหนือมีปักกิ่ง เจิ้งโจว ลั่วหยาง ซีอาน จากซีอานทำเส้นทางสายไหมใหม่เข้าไปเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ค้าขายกับต่างประเทศ ทางน้ำก็สร้างเส้นทางสายไหมทางทะเล สร้างเมืองใหญ่ๆ ให้เจริญ สร้างระบบสาธารณูประโภคพื้นฐานติดต่อกันทั่วประเทศ เปิดรับการท่องเที่ยวขนานใหญ่

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จีนพลิกฟื้นเศรษฐกิจของตนเอง จนมีความมั่งคั่งเป็นอันดับสองของโลก มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก คนจีนราว 400 ล้านคน สามารถยกระดับเป็นคนชั้นกลางและคนร่ำรวย มีความกินดีอยู่ดี มีการศึกษาดี ในเมืองใหญ่มีแต่ความทันสมัย การค้าขาย การท่องเที่ยว และเนื่องจากจีนมีมรดกโลกและแหล่งท่องเที่ยวที่ดีทั่วประเทศมากมาย จึงมีคนมาท่องเที่ยวปีละมากกว่า 100 ล้านคน

ท่านผู้อ่านครับ ภายใต้ความเจริญของทุนนิยมแบบจีน ก็ประสบปัญหามากมายเช่นกัน ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่รุนแรง ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ เพราะยังมีคนจีนอีกราว 800 ล้านคน มีรายได้ต่ำ มีความเป็นอยู่ยังไม่ดีนัก รวมทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ รัฐบาลต้องใชัเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาทำกองทุนประกันสังคม เพราะคนจีนก็มีปัญหาเรื่องโรคเรื้อรังกันมาก มีคนสูงอายุเพิ่มขึ้นมาก สุขภาพจิตก็ไม่สู้ดีนัก

มีรายงานที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.1972 เรื่องการสำรวจของสมาคมแพทย์ด้านเพศศึกษาและบุรุษวิทยา (China Association of Andrology and Sexology) จากการทำแบบสอบถามจำนวน 72,000 รายในคนจีน อายุ 26-55 ปี เป็นชายร้อยละ 60 ที่เหลือเป็นหญิง และร้อยละ 50 ของหญิงเป็นคนทำงานในสำนักงาน พบว่า ร้อยละ 70 มีความเครียดในการดำรงชีวิต, ร้อยละ 90 ไม่มีความสุขทางเพศในชีวิตสมรส, ร้อยละ 40 มีการทำกิจกรรมทางเพศลดลง เนื่องจากโรคเครียด โรคซึมเศร้า, ร้อยละ 75 มีปัญหาใหญ่ที่เป็นอุปสรรคคือ ความเครียดในชีวิตและการทำงาน ทำให้นอนไม่หลับ ติดบุหรี่ ติดเหล้า มีปัญหาสุขภาพทางเพศ โดยคนจีนที่มีปัญหาเหล่านี้ ร้อยละ 90 จะใช้วิธีการรักษาด้วยยาสมุนไพรจีนเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ และแพทย์แผนปัจจุบัน

ในยุโรปและอเมริกา เวลาที่ผู้คนมีปัญหาเรื่องความเครียด จะไปหาจิตแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้ยาคลายเครียด ยานอนหลับ ร่วมกับเทคนิคการคลายเครียด ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการต่างๆ เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การฝึกหายใจช้าๆ การสวดมนต์ การทำสมาธิ การฝึกโยคะ การเจริญสติ ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้วๆมาอย่างมากมาย ที่เราเรียกว่า การแพทย์แบบผสมผสาน (Integrative Medicine)

ในประเทศจีนก็มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ นอกจากไปหาแพทย์แผนจีน แพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ปัจจุบัน คนจีนรุ่นใหม่เริ่มนิยมเข้าวัด สวดมนต์ ภาวนา ฝึกสมาธิ ซึ่งเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ลี่ ซื่อหลง (Li silong) อาจารย์สอนปรัชญาและศาสนา แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่า “ความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างมากของจีน ได้สร้างความเครียดและแรงกดดันอย่างมากให้กับคนรุ่นใหม่ พวกเขาจึงเข้าวัด ปฏิบัติธรรม ฝึกสวดมนต์ ฝึกสมาธิภาวนา ซึ่งช่วยลดความเครียดลงได้มาก”

พระอาจารย์เฉี่ยนสื่อ (Master Xianshi) แห่งวัดหลงกวน (Longguan Temple) กรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ท่านมีความสนใจในการศึกษาพุทธศาสนาและปรัชญา เมื่อท่านจบจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง นอร์มอล ท่านจึงขออนุญาตบิดามารดามาบวช เมื่ออายุ 28 ปี เพื่อต้องการอุทิศชีวิตในการศึกษาพุทธศาสนา ท่านกล่าวว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาของเหตุผล ทำให้มีเจตนคติที่ดี วิธีปฏิบัติไม่ยาก การฝึกสมาธิช่วยลดความเครียดในชีวิตได้อย่างดี

ท่านผู้อ่านครับ พุทธศาสนาในจีนแผ่นดินใหญ่ ปัจจุบันมีผู้นับถือประมาณ 100-200 ล้านคน (ตัวเลขการสำรวจยังไม่ตรงกัน) มีพระภิกษุและภิกษุณี ประมาณ 200,000 รูปทั่วประเทศ จากจำนวนประชาชน 1,300 ล้านคน ซึ่งถือว่ายังน้อย และนับถือศาสนาคริสต์ 15 ล้านคน ศาสนาขงจื้อ เต๋า อิสลาม 19 ล้านคน และจากการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ร้อยละ 77 ไม่มีศาสนา

ในอดีต พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมากในแผ่นดินจีน ตั้งแต่ราชวงศ์ถัง พระอาจารย์สวนจ้าง (Master XuanZang) หรือพระถังซำจั้ง (พ.ศ. 1149-1207) ได้เดินทางไปสืบพระศาสนาที่อินเดีย แล้วนำมาเผยแผ่ในประเทศจีน ทำให้พระมหากษัตริย์ ขุนนาง และชาวจีนทั่วไป หันมานับถือพุทธศาสนากันทั่วประเทศ จนถึง พ.ศ. 1388 ทางการจีนได้สำรวจพบว่า มีวัดพุทธศาสนาอยู่ 46,000วัด มีพระภิกษุ 260,000 รูป มีโบราณสถานเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาอีก 40,000 แห่ง ในตอนนั้นมีประชากรประมาณ 50 ล้านคน นับว่าเจริญรุ่งเรืองมาก

พุทธศาสนาในจีนได้ผ่านยุครุ่งเรืองและเสื่อมลง ตามอนิจลักษณะของสิ่งทั้งปวง จนถึงสมัยรัฐบาลจอมพลเจียงไคเช็ค มีการสำรวจโดยทางการใน พ.ศ. 2473พบว่ามีวัด 267,000 วัด มีพระภิกษุและภิกษุณี 738,000 รูป เมื่อถึงยุคพรรคคอมมิวนิสต์เข้าปกครองประเทศจีน มีการปฏิวัติวัฒนธรรม ใน พ.ศ. 2508-2519 พุทธศาสนาถูกทำลายครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน วัดถูกทำลายลงจำนวนมาก หรือเปลี่ยนเป็นสถานที่ราชการ เปลี่ยนเป็นที่ตั้งกองกำลังทหาร พระถูกจับสึกออกมาทำงานเพื่อเพิ่มผลผลิต จนถึง พ.ศ. 2546 จากการสำรวจของพุทธสมาคมจีน มีวัดพุทธทั่วประเทศเหลือเพียง 13,000 วัด มีพระ 180,000 รูป ส่วนใหญ่เป็นพระทิเบต 120,000 รูป พระเถรวาท 8,000 รูปอยู่ในยูนนาน นอกนั้นเป็นพระจีนฮั่น ประมาณ 50,000รูป พระสงฆ์มหายาน 34 นิกาย เถรวาท 2 นิกาย และทิเบต 6 นิกาย (พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ, พระพุทธศาสนาในจีน 2552)

ท่านผู้อ่านครับ เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบัน รัฐบาลเริ่มให้เสรีภาพประชาชนในการนับถือและปฏิบัติกิจในศาสนา ถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมการเผยแพร่คำสอนและการทำกิจกรรมต่างๆ วัดที่มีชื่อเสียงถูกบูรณปฏิสังขรณ์อย่างยิ่งใหญ่อลังการ เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และจำหน่ายวัตถุมงคล เพื่อหาเงินเข้าประเทศ โดยรัฐบาลต้องการแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า จีนมีศาสนาและอารยธรรมเก่าแก่มายาวนาน และให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ประชาชน

จีนเริ่มเปิดความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม การท่องเที่ยว เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติด้านพุทธศาสนา เช่น การประชุมสภาชาวพุทธโลก พ.ศ. 2546 เป็นต้น มหาวิทยาลัยสงฆ์เริ่มเปิดการเรียนการสอนขึ้นใหม่ อนุญาตให้คนเข้ามาบวชได้ง่ายขึ้น พระพุทธศาสนาเริ่มฟื้นคืนชีพมาอีกครั้งหนึ่งอย่างช้าๆ

คนรุ่นใหม่เริ่มมีโอกาสเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรม นำหลักธรรมมาใช้ในการดำรงชีวิตแก้ไขความทุกข์ต่างๆในชีวิต ท่านผู้อ่านอาจจะเข้าไปดูบรรยากาศในการทำกิจกรรมในวัดในประเทศจีนได้ที่ www.youtube.com พิมพ์คำว่า CCTV : Buddhism in china และหาข้อมูลจาก www.youtube.com พิมพ์คำว่า the revival of Buddhism in china-Calgary Public Library.

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 185 พฤษภาคม 2559 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น