เริ่มเห็นถึงเค้าโครง และความเป็นรูปเป็นร่างมาระยะหนึ่งแล้ว สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยของรัฐบาล 10 ปี (พ.ศ.2559-2568) หลังจากรัฐบาลประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่อยู่อาศัย สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยทั่วประเทศกว่า 2.7 ล้านครัวเรือน เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง จากจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยทั่วประเทศกว่า 4.6 ล้านครัวเรือน โดยเครื่องมือที่สำคัญในการผลักดันโครงการดังกล่าว คือ สถาบันการเงินภายใต้กำกับดูแลของรัฐบาล 3แห่ง คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน โดยมี ธอส. เป็นหัวหอกสำคัญในการดำเนินโครงการ เนื่องจากเป็นสถาบันการเงินที่มีวัตถุประสงค์ และเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อเพื่อเคหะโดยเฉพาะ
ทันทีที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยออกมา ธอส. ซึ่งถือเป็นหัวหอกหลักในการผลักดันโครงการดังกล่าว ก็ประกาศทำ “มาตรการเพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง” ถือเป็นการรับลูกนโยบายโครงการรัฐในทันที โดย ธอส.ได้ที่เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2558 วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยให้ประชาชนได้รับวงเงินกู้ที่สูงขึ้น และเพียงพอต่อการซื้อบ้าน พร้อมกับออกเงื่อนในการปล่อยกู้ และผ่อนส่งเงินสินเชื่อในโครงการ แบบเงื่อนไขผ่อนปรนในการพิจารณาสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio หรือ DSR) เพิ่มเป็น 40-50% ของรายได้สุทธิต่อเดือน ส่งผลให้มียอดยื่นกู้สะสมถึง 23,515 ล้านบาท และมียอดอนุมัติสินเชื่อ 15,239 ราย คิดเป็นวงเงิน 21,107 ล้านบาท
นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาว่า นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 นับว่าประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดย ธอส.ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และปานกลางได้มากขึ้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ ธอส. ร่วมจัดทำ “โครงการบ้านประชารัฐ” วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) วงเงิน 10,000 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) สำหรับประชาชนทั่วไป กรอบวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท
โดยให้กู้สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนรายละไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ซึ่งหลังจากเปิดรับคำขอยื่นกู้ไปตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559 ล่าสุด ณ วันที่ 20 เมษายน 2559 มีจำนวนประชาชนผู้มีรายได้น้อยติดต่อสอบถาม และแจ้งความประสงค์ยื่นคำขอกู้รวมจำนวน 26,173 ราย คิดเป็นวงเงินกู้ 21,594 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าที่ยื่นเอกสารประกอบคำขอกู้ครบเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของธนาคารแล้ว จำนวน 1,903 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 1,681 ล้านบาท ซึ่งในส่วนดังกล่าว ธอส.ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้วเป็นวงเงิน 413 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐ ยังสามารถยื่นคำขอกู้ได้ตามปกติ เนื่องจาก ธอส.จะพิจารณาให้เงินกู้แก่ผู้ที่มีความพร้อมในการยื่นกู้ และทำนิติกรรมสัญญาก่อน
“แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา จะมีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ด้วยการยื่นเอกสารข้อสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเต็มวงเงิน 20,000 ล้านบาทแล้ว แต่ในการพิจารณาอนุมัติปล่อยกู้นั้น ธนาคารฯ จะพิจารณาอนุมัติปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้าที่มีความพร้อมทั้งในด้านเอกสาร และความสามารถในการผ่อนก่อนผู้ยื่นกู้ที่ยังขาดความพร้อมด้านเอกสารแ ละความสามารถในการชะรำหนี้ ทำให้ยังเหลือวงเงินในการปล่อยกู้อีกจำนวนมาก” นายสุรชัย กล่าว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติให้ ธอส.ร่วมสนับสนุน “โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ” โดยให้ ธอส.เข้ามาทำหน้าที่ให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) วงเงินสินเชื่อประมาณ 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 2 ปี และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) วงเงินสินเชื่อประมาณ 2,500 ล้านบาท ให้กู้เพื่อให้ได้มีที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุ รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุ วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี ในปีแรก ซึ่งธนาคารพร้อมดำเนินการทันทีที่กรมธนารักษ์สามารถจัดทำที่อยู่อาศัยทั้งเพื่อการเช่าระยะสั้น (Rental) ไม่เกิน 5 ปี และโครงการเช่าระยะยาว (Leasehold) ไม่เกิน 30 ปีได้เรียบร้อยแล้ว
นอกจาก 2 โครงการข้างต้นแล้ว ธอส. ยังมีแนวคิดในการจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เพื่อให้สอดคล้องต่อนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือสังคมที่มีจำนวนผู้สูงอายุ 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น ธอส.จึงมีแนวคิดที่จะจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลในการให้ผู้สูงอายุมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดย ธอส.พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่จะร่วมดำเนินการจัดสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งในระหว่างนี้กำลังเตรียมพิจารณาเรื่องเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ต่างๆ และคาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการใน 6 เดือนจากนี้
โดยโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยนี้ ธอส. จะดำเนินการร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชน อย่างการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งที่ผ่านมา กคช.ได้มีการพัฒนาโครงการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้มาแล้ว และ ธอส.เองก็พร้อมจะให้การสนับสนุนสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายในโครงการนี้ด้วยเช่นกัน และนอกจาก กคช.แล้ว ธอส.ยังจะเชิญชวนให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการ โดย ธอส.จะให้การสนับสนุนสินเชื่อในโครงการบ้านเพื่อผู้สูงอายุที่ยากจน โดยมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้สูงอายุให้ดีขึ้น ซึ่งในการสนับสนุนโครงการนี้ ธอส.จะปล่อยดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราต่ำ เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมทำธุรกิจในเชิง CSR โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่จะปล่อยให้ภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมโครงการนี้จะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าโครงการบ้านประชารัฐด้วย
ทั้งนี้ เพื่อสานต่อแนวคิดในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน ธอส.ได้เดินทางไปดูงานโครงการ Smart Community ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น โดยโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินโครงการของภาคเอกชนใช้เงินลงทุนกว่า 900 ล้านเยน ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจในวัตถุประสงค์หลักคือ สนับสนุนการดูแลุคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในรูปแบบของโครงการ Smart Community
ประธานกรรมการ ธอส.กล่าวว่า สำหรับโครงการ Smart Community ของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นชุมชนการดูแลผู้เกษียณอายุที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น รูปแบบที่อยู่อาศัยเป็นลักษณะคอนโดมิเนียม มีการออกแบบ และใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้สูงอายุเป็นหลัก รวมทั้งจัดให้มีการดูแลระยะยาว และบริการทางการแพทย์แก่ผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่ในโครงการด้วย โดยในโครงการ จะมีสวนสุขภาพ ห้องออกกำลังกาย คลับเฮาส์ ห้องสันทนาการต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมร่วมกัน
นอกจากแนวคิดในการผลักดันโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุแล้ว ธอส.ยังมีแนวคิดจะจัดทำโครงการที่พักอาศัยสวัสดิการของข้าราชการทหาร และตำรวจชั้นผู้น้อย โดยจะส่งเสริมการจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการทหาร ทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจชั้นผู้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ซึ่ง ธอส.จะประสานงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขต่างๆ ในการปล่อยกู้ให้แก่ข้าราชการกลุ่มนี้ โดยธนาคารมีสภาพคล่องที่เพียงพอ และพร้อมจะปล่อยกู้ให้ สำหรับแนวคิดในการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยสวัสดิการของข้าราชการทหาร และตำรวจชั้นผู้น้อย ธอส. จะเข้าไปทำหน้าที่ส่งเสริมให้หน่วยราชการทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ ปลูกอาคารที่พักอาศัยให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยบนที่ดินของทหาร และตำรวจ โดยโครงการนี้ ธอส.ได้เตรียมงบประมาณไว้ส่วนหนึ่ง และจะได้ประสานกับปลัดกลาโหม ในเรื่องการกำหนดวิธีการ และเงื่อนไขหลักเกฑณ์ต่างๆ และคาดว่าโครงการที่พักอาศัยสวัสดิการของข้าราชการทหาร และตำรวจชั้นผู้น้อยนี้จะสามารถได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือนจากนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปที่ผลการดำเนินงานของ ธอส. หลังการเข้ามาเป็นแกนหลักในการผลักดันโครงการที่อยู่อาศัยตามแผนยุทธศาสตร์ 10 ปีของรัฐบาล พบว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ปริมาณหนี้เสีย หรือ NPL ของ ธอส.ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก ส่งผลกระทบต่อลูกค้าของธนาคารในแง่ของความสามารถในการชำระเงิน อย่างไรก็ตาม ในประเด็นของหนี้ NPL ประธานกรรมการ ธอส.กล่าวว่า จะพยายามบริหารจัดการในส่วนของหนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายหนี้ การติดตามหนี้ โดยมีเป้าหมายจะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในสิ้นปีนี้ลงให้ได้น้อยกว่าในปี 58 ซึ่งมี NPL อยู่ที่ระดับ 5.45%
ขณะที่ผลประกอบการของ ธอส.ในไตรมาสแรกของปี 2559 นี้ เริ่มปรับตัวดีขึ้นมาก โดยนางไลวรรณ ปองเสงี่ยม รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธอส.กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/2559 นี้ ธอส. ยังคงมีรายได้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 37,723 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ถึง 19.20% มีกำไรสุทธิ 2,568 ล้านบาท ด้านสินเชื่อคงค้างเมื่อเทียบกับปี 2558 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 878,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.80% สินทรัพย์รวม 939,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.38% เงินฝากรวม 765,656 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.39% โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 49,992 ล้านบาท คิดเป็น 5.69% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก ณ สิ้นปี 2558 ซึ่ง NPL อยู่ที่ 5.45% ของสินเชื่อรวม อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งมากที่ 16.43% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 8.50% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ในไตรมาสแรกขยายตัวได้ถึง 19.20% เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชน จึงได้จัดทำมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้านประชารัฐ การลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 เมษายน 2559 ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ประกอบการต่างจัดโปรโมชันส่งเสริมการขายที่กระตุ้นให้ประชาชนตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย และมั่นใจว่า ธอส. จะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีนี้ได้ตามเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ 165,319 ล้านบาท
“จากสถานะการเงินที่แข็งแกร่งของ ธอส.ในปัจจุบัน ทำให้ ธอส.มีความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเพิ่มเติม และขณะเดียวกัน ในเร็วๆ นี้ ธนาคารยังเตรียมเปิดตัวโครงการ “คลินิก ธอส. เพื่อบ้าน เพื่อประชาชน” ที่จะจัดทำขึ้นเพื่อให้คำแนะนำวิธีการเตรียมความพร้อมแก่ผู้มีรายได้น้อยให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายยิ่งขึ้น” นางไลวรรณ กล่าว