ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัญญาณชีพของเศรษฐกิจไทยหลังผ่านพ้นไตรมาสที่ 1 ดูเหมือนจะยังไม่มีวี่แววการฟื้นตัวให้ได้เห็นหรือจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ภาวะภัยแล้งกลายเป็นปัจจัยลบที่ท่วมทับเศรษฐกิจฐานรากให้เผชิญกับวิกฤตหนักหน่วงขึ้นอีก ไม่นับรวมเทศกาลเปิดเทอมที่ขยับใกล้เข้ามาเพิ่มเติมภาระค่าใช้จ่ายแต่ละครัวเรือนอย่างไม่อาจเลี่ยง
ความเป็นไปของปรากฏการณ์โดยรอบที่กล่าวมานี้ ในด้านหนึ่งคงไม่สามารถปล่อยให้ดำเนินไปอย่างไร้การใส่ใจดูแลเพราะนอกจากจะเป็นประเด็นแหลมคมที่พร้อมจะขยายผลลุกลามกลายเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหม่แล้ว ดูเหมือนว่ากลไกภาครัฐก็ตระหนักถึงความหนักหน่วงของปัญหาดังกล่าวไม่น้อยเลย
ความพยายามส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าครั้งล่าสุด ปรากฏให้เห็นเมื่อสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลปัจจุบัน ร่วมการประชุมธนาคารเฉพาะกิจ 3 แห่ง ที่ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
“ปัญหาหนี้ครัวเรือน ถือเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง และได้สั่งการให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ดูแลปัญหานี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยสั่งการให้ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินสำรวจประชาชนว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากสาเหตุใด ถ้ามาจากเรื่องธุรกิจการค้า และบ้านที่อยู่อาศัยก็ไม่น่าห่วง แต่ถ้าเกิดจากการจับจ่ายใช้สอยก็ต้องรีบดูแลโดยด่วน”
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือน โดยให้จำแนกว่าเป็นหนี้เพื่อธุรกิจหรือเพื่อการประกอบอาชีพสัดส่วนเท่าใด เป็นหนี้ที่เกิดจากการบริโภคสัดส่วนเท่าใด หากเป็นหนี้เพื่อธุรกิจหรือประกอบอาชีพที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้ภายในอนาคตก็ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และหาแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นและป้องกันการก่อหนี้เกินตัว
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือฐานรายได้ของประชากรในห้วงเวลาปัจจุบันไม่สอดคล้องกับความเป็นไปของค่าครองชีพ ขณะเดียวกันความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกลุ่มประชากรนี้เป็นไปอย่างจำกัด และทำให้ต้องพึ่งพาเงินทุนนอกระบบ ซึ่งยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์หนี้และทับถมให้พอกพูนอย่างที่ยากจะแก้ไขหรือขจัดให้หนี้สินหมดไปได้จริงๆ
มาตรการที่กำลังจะได้รับการนำเสนอในอนาคตจึงอยู่ที่การสั่งการให้ทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารออมสินคิดหาและกำหนดรูปแบบการให้สินเชื่อที่สะดวกขึ้น เพื่อให้สินเชื่อรูปแบบใหม่นี้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกู้เงินของประชาชน โดยกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดให้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ ส่วนจะอยู่ที่ระดับใดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกระทรวงการคลัง และธนาคารเฉพาะกิจ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
ขณะที่ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระบุว่าการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบใหม่ที่ได้รับการสั่งการนั้นต้องรอรูปแบบและวิธีการปล่อยสินเชื่อจากกระทรวงการคลังก่อน เพราะ รมว. คลังจะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ส่วนธนาคารพร้อมอยู่แล้ว เพราะมีเครื่องมือ เช่นธนาคารประชาชนที่ดำเนินการมาแล้วหลายปี โดยการปล่อยกู้ฉุกเฉิน หากเกิดความเสียหายจะขอให้กระทรวงการคลังชดเชยในภายหลังได้
ก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสินได้เสนอรูปแบบธนาคารประชาชน ที่คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.7 ต่อเดือน หรือร้อยละ 20 ต่อปี และกระทรวงการคลังอนุมัติให้การปล่อยสินเชื่อในรูปแบบของนาโนไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 36 ต่อปีแล้วก็ตาม แต่เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20-30 ต่อเดือนก็ยังมีอยู่จำนวนมากเหมือนเดิม
กรอบวิธีคิดของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในการปล่อยสินเชื่อรูปแบบใหม่ของธนาคารออมสินนี้ ดูจะเป็นความพยายามแก้ไขปัญหาฉุกเฉินเฉพาะหน้าที่แต่ละครัวเรือนกำลังจะเผชิญ โดยเขาระบุว่าไม่ต้องการให้การปล่อยสินเชื่อรูปแบบใหม่ของธนาคารออมสินไปผูกรวมกับเรื่องนาโนไฟแนนซ์ เพราะนโยบายที่มอบไป จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ไม่เหมือนกับนาโนไฟแนนซ์ที่มีกติกาและเงื่อนไขมาก เช่น ต้องกู้เพื่อลงทุน หรือค้าขาย ห้ามกู้เงินไปใช้กรณีฉุกเฉิน หรือธนาคารประชาชนของธนาคารออมสินก็มีเงื่อนไขว่า ต้องเปิดสมุดบัญชีเงินฝาก และมีการค้ำประกันเงินกู้
“การปล่อยสินเชื่อรูปแบบใหม่ของธนาคารออมสินนี้ จะเป็นการกู้เงินเพื่อกรณีฉุกเฉิน เช่น ค่าเทอมบุตร ค่ายา หรือรักษาพยาบาล รับรองว่าการใช้ธนาคารเฉพาะกิจเป็นเครื่องมือแก้ไขหนี้นอกระบบ จะไม่ทำให้ออมสินขาดทุนแน่นอน เพราะหนี้มีความมั่นคง และมีกำไรดีต่อเนื่อง โดยการปล่อยกู้ให้คนยากจนนั้นจะมีหนี้เสียน้อยมากๆ คนจนไม่กล้าเบี้ยวหนี้เพราะรู้ว่าถ้าเบี้ยวหนี้แล้วจะไม่ได้กู้อีก” เป็นคำกล่าวยืนยันความมั่นใจหนักแน่นของรองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลนี้
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากอีกมาตรการหนึ่งที่ได้เริ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่การปล่อยสินเชื่อโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร วงเงินรวม 72,000 ล้านบาท ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยทั่วประเทศให้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตรและมีพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
โดยความคืบหน้าล่าสุดพบว่าสามารถปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 9 พันล้านบาท ในระยะเวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง ถือว่าโครงการนี้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งได้ย้ำ ธ.ก.ส. มีการกระจายสินเชื่อให้ทั่วถึงเกษตรกรที่มีความต้องการ และอาจจะมีการจัดตั้งสถาบันเกษตรกรไทยขึ้นมาเพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรให้มีความสามารถสูงขึ้น
“โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งเอสเอ็มอีมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง และเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของ ธ.ก.ส. ที่ไม่เน้นเรื่องการปล่อยสินเชื่ออย่างเดียว แต่เป็นสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกจากพืชดั้งเดิมไปสู่การเป็นเกษตรเอสเอ็มอี”
ขณะที่โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤตภัยแล้ง วงเงินรวม 15,000 ล้านบาทนั้น ปรากฏว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะในประเด็นที่รัฐต้องการให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เนื่องจากเกษตรกรมีความกังวลว่าหากลงทุนไปแล้วขายไม่ได้จะทำอย่างไร จึงทำให้มียอดการขอสินเชื่อน้อย โดยล่าสุดได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส. เชื่อมโยงและเจรจากับเอกชนเพื่อให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าได้ และลดทอนความเสี่ยงลง ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกให้มีความหลากหลาย
“ได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ติดตามและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 1-2 เดือน ซึ่ง ธ.ก.ส. ก็รับปากและมีมาตรการรองรับไว้แล้ว อย่างไรก็ดี ไม่ได้กังวลว่าภาวะภัยแล้งจะรุนแรงและลากยาว หลังสิ้นเดือนเมษายนเป็นต้นไปสถานการณ์ภัยแล้งน่าจะค่อยๆ คลี่คลาย”
ประเด็นว่าด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น และภัยแล้งที่กำลังซ้ำเติมเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของเกษตรกร อยู่ในขณะนี้จะเป็นเพียงภาวะแห่งความทุกข์ยากชั่วคราวหรือกลายเป็นจุดเปลี่ยนผ่านไปสู่ความล่มสลายทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ เวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าคงเป็นประจักษ์พยานแห่งวิสัยทัศน์ของผู้รับผิดชอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีไม่น้อย