ธ.ออมสิน เผยซอฟต์โลน 50,000 ล้านบาท ล็อต 2 เต็มวงเงินแล้ว เม็ดเงินกระจายสู่ผู้ประกอบการรายย่อย 9,700 ราย เผยแบงก์กรุงเทพ เบิกใช้วงเงินอันดับ 1 กว่า 12,000 ล้านบาท ขณะที่ ธสน.ปลื้มกำไรสุทธิปี 58 กว่า 1,520 ล้านบาท พร้อมปรับแนวทางปี 59 หนุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เอกชน และด้านต่างๆ มากขึ้น และมีแผนปรับลดดอกเบี้ยช่วยผ่อนปรนลูกค้า
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการภายใต้มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ระยะเร่งด่วน ผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระยะ 2 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อต่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 นั้น ความคืบหน้าขณะนี้ ธนาคารออมสินได้ดำเนินการปล่อยกู้วงเงิน 50,000 ล้านบาท เต็มวงเงินแล้ว วันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเงินจำนวนนี้ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยตามเงื่อนไขใหม่ 9,700 ราย ได้รับความช่วยเหลือ คิดเป็นวงเงินเฉลี่ยต่อรายประมาณ 5.1 ล้านบาท
“โครงการระยะแรกเมื่อปลายปีที่แล้วมีผู้ประกอบการ 11,750 ราย เข้าถึงแหล่งเงินทุนโครงการวงเงิน 100,000 ล้านบาท ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี และมาถึงโครงการระยะ 2 เพียงไม่ถึง 1 เดือน วงเงิน 50,000 ล้านบาท ก็หมดลง เม็ดเงินไปถึงเอสเอ็มอีรายย่อยอีก 9,700 ราย ซึ่งธนาคารออมสินยินดี และมีความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านกลไกของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ที่มาร่วมผนึกกำลังเป็นแหล่งทุนสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีครั้งนี้” นายชาติชาย กล่าว
ส่วนสถาบันการเงิน 20 แห่ง ที่เข้าโครงการ และเบิกใช้วงเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ประมาณ 12,800 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ ประมาณ 7,600 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย กว่า 6,400 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย 6,100 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 4,100 ล้านบาท ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กว่า 3,600 ล้านบาท และสถาบันการเงินอื่นๆ อีกรวมกว่า 9,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำฯ วงเงิน 50,000 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี เป็นการปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์อัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี เพื่อนำปล่อยกู้โดยตรงให้แก่ผู้ประกอบการอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4 ต่อปี โดยระยะ 2 มีเงื่อนไขที่แตกต่างจากโครงการระยะแรก เพียงแค่เงื่อนไขเดียว คือ จำกัดวงเงินสินเชื่อต่อรายไว้ไม่เกิน 10 ล้านบาท (โครงการแรกกำหนดไว้ไม่เกิน 50 ล้านบาท) ส่วนอัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขอื่นๆ เหมือนโครงการระยะแรก
ด้านนายเขมทัศน์ สายเชื้อ รักษาการกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2558 ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,516 ล้านบาทในปีก่อน โดยสิ้นเดือนธันวาคม 2558 มีเงินให้สินเชื่อคงค้าง 73,540 ล้านบาท เป็นสินเชื่อใหม่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นระหว่างปี 20,307 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (NPLs Ratio) สิ้นเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 5.43 จำนวน 3,993 ล้านบาท รวมทั้งมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 5,654 ล้านบาท โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 2,890 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกันร้อยละ 195.65
สำหรับปี 2559 ธนาคารจะมีบทบาทเชิงรุกทางการตลาดมากขึ้น โดยปรับโครงสร้างองค์กรให้มีฝ่ายกลยุทธ์การตลาด ดูแลงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกำหนดกลยุทธ์การตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจส่งออก หรือขยายธุรกิจส่งออกอย่างมั่นใจ โดยใช้สินเชื่อ และบริการประกันการส่งออกและการลงทุนของธนาคาร เงินทุนเพื่อวิจัยพัฒนานวัตกรรม เงินทุนเพื่อค้าขายชายแดน หรือเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดชายแดน รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุน ซึ่งวางกรอบวงเงินปล่อยสินเชื่อไว้ 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อรายใหญ่กว่า 16,000 ล้านบาท รายเล็กและกลางมากกว่า 19,000 ล้านบาท
ส่วนการรับประกันตั้งไว้ 65,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 60,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อโดยรวมไว้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 แต่สิ่งที่ยังกังวลใจปีนี้ที่ต้องติดตาม คือ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังไม่มั่นใจจะฟื้นตัวได้เต็มที่แค่ไหน ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ภาพรวมการส่งออกแต่หลายตลาดยังไม่ดี ปัญหาราคาน้ำมัน แต่ทางแบงก์จะยึดหลักการคำนวณของกระทรวงพาณิชย์ที่ส่งออกจะโตร้อยละ 5 และธนาคารกำลังพิจารณาทบทวนอัตราดอกเบี้ยทั้งระบบของการให้สินเชื่อในปัจจุบันเพื่อช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคารโดยจะปรับดอกเบี้ยลง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาลดดอกเบี้ย และมาตรการผ่อนปรนให้แก่ลูกค้าของธนาคาร ซึ่งจะสอดคล้องต่อแนวทางของรัฐบาล และการแข่งขันกันต่อไป