xs
xsm
sm
md
lg

นักโบราณคดีจีนพบ “เกี๊ยว” อายุ 1,700 ปี ในซินเจียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพ ซั่งไห่อิสต์)
เอเจนซี - นักโบราณคดีจีนขุดพบ “เกี๊ยว” อายุกว่า 1,700 ปี ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ชนชาติอุยกูร์ บ่งชี้การแผ่อิทธิพลของวัฒนธรรมอาหารจากภาคกลางสู่ภาคตะวันตก

สื่อทางการจีนเผย (15 ก.พ.) การค้นพบซากเกี๊ยว 3 ชิ้น บริเวณสุสานโบราณในย่านเทอร์ปัน (Turpan) โดยนักโบราณคดีประจำพิพิธภัณฑ์เขตปกครองฯ สันนิษฐานว่า น่าจะถูกทำขึ้นในสมัยราชวงศ์เว่ย, จิ้น และราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ.220-589) ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวจีนฮั่น และชาวเผ่าซ่งหนู สลับกันขึ้นมามีอำนาจ

นอกจากนั้นคณะนักโบราณคดียังขุดพบซากเกี๊ยวอีกสองชิ้น ที่มีสภาพสมบูรณ์ในพื้นที่เดียวกัน เป็นก้อนเกี๊ยวยาว 5 ซม. กว้าง 1.5 ซม. เปลือกหุ้มทำจากแป้งข้าวสาลี ยัดไส้เนื้อสัตว์ รูปทรงคล้ายจันทร์เสี้ยว ซึ่งคาดว่าถูกทำขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907)

ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่า กรณีค้นพบเกี๊ยวในซินเจียง ได้สะท้อนการแพร่กระจายของพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่ดั้งเดิมเป็นที่นิยมอยู่แต่ในพื้นที่ตอนกลาง ขยับขยายไปสู่พื้นที่ฝั่งตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่ระยะแรกๆ ของประวัติศาสตร์จีน

ทั้งนี้ ชาวจีนจำนวนมากในยุคปัจจุบันยังคงนิยมรับประทานเกี๊ยว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีน ด้วยเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวย เนื่องจากรูปลักษณ์ของอาหารชนิดนี้ ที่ดูคล้ายคลึงกับ “หยวนเป่า” (元宝 - Yuanbao) ทองก้อนรูปทรงคล้ายลำเรือ ที่ถูกใช้เป็นตัวกลางสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าในอดีต

กำลังโหลดความคิดเห็น