xs
xsm
sm
md
lg

ทิเบตดันแผนดึงดูดนักท่องเที่ยวมหาศาล 35 ล้านคน เมินกระแสโจมตีทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

พระราชวังโปตะลาในลาซา เมืองเอกของเขตปกครองตัวเองชนชาติทิเบต ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2559 (ภาพ เอเอฟพี)
MGR ONLINE--การท่องเที่ยวทิเบตผลักดันแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวครั้งใหญ่ โดยตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวถึง 35 ล้านคนใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน ขณะเดียวกันก็มีกระแสโจมตีว่าแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวนี้ จะค่อยๆกร่อนทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งมีศาสนาพุทธแบบทิเบตเป็นใจกลาง

สื่อเทศโดยสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยอ้างแหล่งข่าวรองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวทิเบต นาย หวัง ซงผิง ที่ออกมาประกาศแผนดูดดึงนักท่องเที่ยวมายังถิ่นพุทธศาสนาแห่งแดนหลังคาโลก เพิ่มอีก 50 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 4 ปีข้างหน้า

“ในปี 2548 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนมายังทิเบต 4 ล้านคน เราตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยว 24 ล้านคนในปีนี้ (2559) และ 35 ล้านคนภายในปี 2563” นาย หวัง กล่าว
บรรยากาศผู้ปฏิบัติธรรมตามความเชื่อพุทธศาสนาแบบทิเบต ลามะ ชาวทิเบต สวดมนต์จาริกแสวงบุญ และหมอบกราบแบบ อัษฎางคประดิษฐ์ บริเวณนอกวัดโจคัง ในลาซา ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2559 (ภาพ เอเอฟพี)
ทิเบตเพิ่งผุดโรงแรมหรู คือ โรงแรมอาร์เทล (Artel) และได้เปิดบริการเมื่อกลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านลู่หลัง (Lulang) ใกล้เขตหนิงชี (Nyingchi) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบต เขตลู่หลังนี้สูงจากระดับน้ำทะเล 3,700 เมตร อุดมด้วยทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงาม จนได้รับฉายาเป็น “สวิตเซอร์แลนด์แห่งโลกตะวันออก”

โรงแรมอาร์เทล มีห้องพัก 103 ห้อง โดยมีห้องสูทสุดหรูพร้อมวิวขุนเขาหิมาลัยที่ยอดเขาปกคลุมด้วยหิมะตลอดปี ราคาห้องคืนละ 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 35,000 บาท

พร้อมกับสร้างศูนย์ท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าของลู่หลัง ประกอบด้วย ตึกอาคาร ภัตตาคารของรัฐบาล โดยกำหนดเป็นย่านถนนคนเดิน มีทะเลสาบ และศูนย์ศิลปะ
คนงานก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างลาซากับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในหนิงชี โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างทางหลวงแห่งชาติ 318  ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2559 (ภาพ เอเอฟพี)
นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างเครือข่ายคมนาคม ได้แก่ มอเตอร์เวย์ ซึ่งจะเปิดในปีหน้า (2560) รถไฟความเร็งสูงจากนครลาซายังมาเขตท่องเที่ยวในลู่หลัง ก็คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2564

ขณะที่โครงการตัดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากนครเฉิงตูในมณฑลเสฉวน ซึ่งมีประชากรกว่า 80 ล้านคน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

นายหวังกล่าวว่า ชาวจีนที่มาเที่ยวทิเบต มีสัดส่วน เท่ากับ 95 เปอร์เซ็นต์ ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มายังทิเบต โดยมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ นับจากปี 2549 ที่เปิดเส้นทางรถไฟสายแรกเชื่อมระหว่างลาซากับเมืองต่างๆในจีน
ผู้สื่อข่าว (ซ้าย) และช่างภาพของรัฐบาล (ขวา) กำลังถ่ายภาพคนงานโรงแรมทำความสะอาดเตียงในห้องพักโรงแรมอาร์เทล ขณะนี้ทางการจีนกำลังส่งเสริมการผุดโรงแรมใหม่ๆในทิเบต โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังทิเบต ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2559 (ภาพ เอเอฟพี)
ด้านกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ชี้ว่า การไหลทะลักเข้ามายังทิเบตของนักท่องเที่ยวจีน จะนำไปสู่การตั้งรกรากของชาวจีนฮั่น ที่จะกัดกร่อนวิถีชีวิตบริสุทธิ์ของชนชาติทิเบต และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็มิได้ตกอยู่ในมือของคนท้องถิ่น

ผู้เชี่ยวชาญทิเบต ฟรองซัว โรบิน กล่าวว่า ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจากภายนอกกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น แต่กาส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมุ่งปริมาณมหาศาลเช่นนี้ ก็เกิดก่อผลในเชิงลบ

“การแสดงทางวัฒนธรรมที่นำเสนอแก่นักท่องเที่ยว มีเนื้อหาที่ตีหมายเข้าข้างประวัติศาสตร์จีน หรือไม่ก็เสนอการแสดงเต้นรำหรือบทเพลงในเวอร์ชั่นจีน”

ขณะที่ทางการทิเบตชี้ถึงการสร้างงานอาชีพให้แก่คนท้องถิ่น ตัวอย่างเช่นที่โรงแรมอาร์เทล ไปมา ซีชัว วัย 17 ปี เด็กสาวทิเบตที่มาฝึกงานเป็นแม่บ้าน บอกว่าเธอพอใจกับงานของเธอ (อย่างน้อยก็ต่อหน้าเจ้านาย)

“ก่อนหน้า ฉันต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่ตอนนี้มีเงินเดือน 1,000 หยวน และยังได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย” เธอกล่าวด้วยภาษาจีนกลางอย่างคล่องแคล่ว

เจ้าของโรงแรมอาร์เทล คือ บริษัท Poly ซึ่งเป็นของรัฐ ซึ่งทุ่มทุนไปกับโครงการก่อสร้างโรงแรมนี้ เท่ากับ 280 ล้านหยวน (หรือ 1,400 ล้านบาท) ปัจจุบันมีพนักงาน 40 คน เป็นชาวทิเบต 14 คน
เขตก่อสร้างในบริเวณโรงแรม อาร์เทล ในลู่หลัง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2559 (ภาพ เอเอฟพี)
ลูกค้าของโรงแรมส่วนใหญ่เป็นชาวจีน โดยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศอื่นๆน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับชาวต่างชาติอื่นๆที่จะมาเที่ยวทิเบต ต้องมี “จดหมายอนุญาตเข้าเมือง” รวมทั้งวีซ่าจีน อีกทั้งต้องเข้าร่วมกรุ๊ปทัวร์ที่ได้รับการรับรองจากทางการ

จากกระแสเล่าลือที่ว่าจีนจัดกฎระเบียบที่เข้มงวดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะไม่ต้องการให้คนนอกเข้ามารับรู้ความขัดแย้งระหว่างชนชาติทิเบตกับจีนฮั่น เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ทิเบตได้ปฏิเสธ และว่า “การกำหนดกฎฯเหล่านี้ เพราะเราไม่สามารถจัดบริการแบบสากลให้แก่นักท่องเที่ยว” เปียนปา จาซี (Bianba Zhaxi) รองผู้ว่าทิเบตกล่าว และว่า “เราจะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วมุมโลกในไม่กี่ปีข้างหน้านี้”

แต่รองประธานสภาทิเบตพลัดถิ่น นาย Acharya Yeshi Phuntsok กล่าวโจมตีว่ากฎข้อบังคับต่างๆที่จีนออกมาก็เพื่อปกปิดความจริงเกี่ยวกับทิเบต มิให้ชาวโลกได้ล่วงรู้

“หากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสื่อ เดินทางไปยังทิเบตได้อย่างอิสระ โดยไม่มีบริษัทนำเที่ยวคอยจัดการควบคุม ก็จะสามารถสำรวจความเห็นประชาชน ถ้าเป็นเช่นนี้การท่องเที่ยวก็จะส่งผลดี มิฉะนั้น ก็ไม่มีใครพูด หรือล่วงรู้ปัญหาชนชาติทิเบต”
หญิงชนชาติทิเบตในครัวของที่พักโฮมสเตย์ใน Zhaxiging ใกล้หนิงซี ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2559 (ภาพ เอเอฟพี)
ทั้งนี้ความขัดแย่งในทิเบตสืบเนื่องมาจากผู้นำจีนได้ส่งกองกำลังเข้ามาผนวกดินแดนทิเบตในปี 2494 โดยประกาศว่าเป็นการ “ปลดปล่อย” ชาวทิเบตอย่างสันติ ขณะที่คนท้องถิ่นลุกฮือต่อต้านอำนาจปกครองของจีนคอมมิวนิสต์แต่ไม่สำเร็จ ชาวทิเบตหลายคนบอกว่าจีนกดขี่ทางศาสนา ทำลายวัฒนธรรม และฉกฉวยทรัพยากรธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์ชาวฮั่น ขณะที่สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง
ชาวทิเบตสวดมนต์จาริกแสวงบุญบริเวณนอกวัดโจคังในลาซาเมื่อวันที่ 10 ก.ย. (ภาพ เอเอฟพี)
ชาวทิเบตกำลังหมอบกราบแบบ อัษฎางคประดิษฐ์ บริเวณนอกวัดโจคัง ในลาซา ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2559 (ภาพ เอเอฟพี)
หญิงชาวทิเบตกำลังหมุนกงล้อสวดมนต์ บริเวณนอกวัดโจคังในลาซาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. (ภาพ เอเอฟพี)
กงล้อสวดมนต์และรูปปั้นเหมา ถูกนำมาวางขายที่แผงข้างทางบริเวณพระราชวัง โปตะลา ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2559 (ภาพ เอเอฟพี)

กำลังโหลดความคิดเห็น