xs
xsm
sm
md
lg

โอลิมปิค ครอบแก้ว ??!?!!? / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ก็ถ้าใครได้ชัยชนะใน โอลิมปิค เกมส์ เขาจะกลายเป็นฮีโร่ของชาติเลยทีเดียว เหรียญทองนำมาซื่งชื่อเสียงเกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทองมากมาย ชีวิตจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก มันถึงต้องสู้กันเพื่อชิงชัยคว้าเหรียญทองมาให้ได้ ซึ่งนอกจากนักกีฬาจะฝึกพละกำลัง ทักษะ เตรียมแผนสู้ศึกแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมา ต่างก็เฝ้าค้นหาวิธีที่จะทำให้สมรรถภาพร่างกายของตนเหนือกว่าคู่แข่งในทุกด้าน ใน ริโอ 2016 นี่ก็มาแนวใหม่อีกแล้ว นั่นคือ “ครอบแก้ว”

เมื่อวันก่อน เห็น มายเคิ่ล เฟ้ลพ์ส (Michael Phelps) นักว่ายน้ำ สหรัฐอเมริกา เจ้าของ 18 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญบร๊อนซ์ จาก โอลิมปิค เกมส์ 3 หนที่ผ่านมา ลงแข่งใน ริโอ 2016 รายการ ผลัดฟรีสตายล์ 4 X 100 เมตร รอบชิงชนะเลิศ พร้อมด้วยรอยจ้ำกลม สีแดงคล้ำ เต็มแผ่นหลัง หลายคนคงสงสัยว่า หมอนี่มันเป็นโรคอะไรหรือเปล่า แล้วนี่มันรอยอะไรกันแน่ ผมอยากจะเรียนว่า มันคือร่องรอยที่เกิดขึ้นจาก การครอบแก้วบำบัด นั่นเอง และยังมีนักว่ายน้ำเพื่อนร่วมชาติอีกหลายคนที่ใช้วิธีการบำบัดแบบนี้ เช่น เนธั่น เอเดรียน (Nathan Adrian) และ นาตาลี คัฟลิน (Natalie Coughlin) รวมทั้ง ทีมนักกีฬาจิมน้าสติคของสหรัฐฯ ด้วย

การครอบแก้ว (Cupping) เป็นวิธีบำบัดของจีนโบราณ ทำเพื่อให้เกิดการไหลเวียนโลหิต เลือดลมเดินสะดวก กำจัดความชื้น ของเสียในร่างกาย ช่วยลดอาการคั่ง อุดตันของเลือดภายในร่างกาย เป็นการป้องกันและส่งเสริมให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย วิธีการนี้ถูกคิดค้นโดยหมอชาวจีนฮั่น ตั้งแต่กว่า 6,500 ปีมาแล้ว และยังเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบันในหลายประเทศ นอกจาก จีน ก็มี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียตนาม ซิงคโปร์

อุปกรณ์ที่ใช้ก็คือถ้วยแก้วหรืออาจเป็นกระบอกไม้ไผ่ก็ได้ ใช้ความร้อนไล่อากาศในถ้วยออกจนเกิดสุญญากาศ แล้วรีบวางลงตรงบริเวณจุดเส้นลมปราณบริเวณแผ่นหลัง ถ้วยแก้วจะดูดกล้ามเนื้อขึ้นเป็นการช่วยกระตุ้นเลือดลม อันนี้เองที่ทำให้ผิวหนังบริเวณที่ครอบแก้วเป็นจ้ำๆ สีแดงหรือแดงคล้ำ บางทีออกอมม่วงเข้มไปเลย เขาบอกว่าสีที่แตกต่างกันนั้นมันเกิดจากการสะสมของเสียและเลือดที่อุดตันภายในกล้ามเนื้อ ซึ่งเมื่อทำครั้งต่อไป ระดับความเข้มของสีจะลดลง นั่นแสดงว่ามันดีขึ้น

วิธีการครอบแก้วมีหลากหลาย ครอบแก้วแบบวางคาทิ้งไว้ ไม่มีการเคลื่อนที่ไปไหน ประมาณ 8-10 นาที ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากความเย็น ปวดจากร่างกายภายในเสียสมดุล หรือมีอาการปวดเฉพาะที่ในระดับค่อนข้างลึก ครอบแก้วแบบการเดินถ้วย คือ เคลื่อนตำแหน่ง ขึ้น-ลง หรือซ้าย-ขวา จนกว่าผิวหนังจะแดงออกสีที่เกิดจากเลือดคั่ง แล้วจึงเอาออก เพื่อรักษาอาการปวดเมื่อยจากลม และความชื้น รวมถึงอาการชาด้วย การครอบแก้วแบบดึงเข้าดึงออก ซ้ำไปมา ขึ้น-ลง ซ้าย-ขวาหลายๆ ครั้ง จนกว่าผิวหนังบริเวณนั้นจะเป็นสีแดง อันนี้สำหรับคนที่มีอาการปวดและชาที่บริเวณผิวหนังหรือสมรรถภาพเสื่อมถอย และการครอบแก้วที่ใช้เข็มด้วย เอาเข็มจิ้มให้เลือดออก แล้วครอบแก้วลงไป อันนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา ซึ่งส่วนมากใช้รักษาโรคงูสวัด โรคไฟลามทุ่ง และอาการปวดเมื่อยเคล็ดขัดยอก

หลังการครอบแก้วก็ย่อมเกิดรอยเป็นจ้ำๆที่ผิวหนังคล้ายรอยฟกช้ำประมาณ 4-5 วันจึงเลือนหายไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วยว่าการไหลเวียนของลมปราณและเลือดดีมากน้อยแค่ไหน แต่อย่าดันไปทายานะครับ แม้ว่าบางคนเกิดอาการระบมขึ้น และถ้ามีไข้ก็ใช้ผ้าอุ่นประคบหรือทานยาลดไข้ได้ นอกจากนี้ก็ไม่ควรอาบน้ำทันที และที่สำคัญ อย่าคิดว่ายิ่งครอบแก้วนานยิ่งดี ไม่ควรทิ้งไว้นานเกิน 10 นาที เดี๋ยวผิวหนังจะเกิดการบาดเจ็บได้

การครอบแก้วเป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากเป็นวิธีที่ประหยัด สะดวก ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง และได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจอีกด้วย ที่เห็นๆ มายเคิ่ล เฟ้ลพ์ส ซึ่งมีอายุ 31 ปีแล้ว สำหรับการแข่งขันว่ายน้ำก็ถือว่า แก่มากทีเดียว แต่เขายังสามารถลงแข่งใน โอลิมปิค เกมส์ หนนี้เป็นหนที่ 4 ด้วยสภาพร่างกายที่ยังดีอยู่มาก หรืออาจจะเป็นผลจากการครอบแก้วกระมัง ที่มีส่วนช่วยให้เขาคว้าเหรียญทองเหรียญที่ 19 มาครองจนได้ และยังเดินหน้าสร้างสถิติใหม่ขึ้นอีก โดยที่ไม่มีใครรู้ว่า จะมีมนุษย์คนไหนมาทำลายลงได้

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น