xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตต้องสู้ของ “เงือกสาว” หนีสงครามไปโอลิมปิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ยุสรา มาร์ดินี สาวน้อยผู้มีความหวัง
เอเยนซี - ซัมเมอร์ปีที่แล้ว ยุสรา มาร์ดินี เด็กสาววัย 18 ปี พร้อมพี่สาว ซาราห์ ตัดสินใจหอบข้าวของออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดที่ ดามัสกัส เมืองหลวงของ ซีเรีย เพื่อเอาชีวิตรอดจากบ้านเมืองที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม ช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้เธอต้องออกเดินทางอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ได้หนีไปไหน เพราะเธอมุ่งหน้าสู่เวทีอันยิ่งใหญ่ที่ใฝ่ฝันมาตลอด นั่นคือ การแข่งขันกีฬา โอลิมปิก ในฐานะนักว่ายน้ำหญิงของทีมผู้อพยพ (ทีมเรฟูจี)

เป็นที่ทราบกันว่าคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) มีมติให้เหล่านักกีฬาที่มีความสามารถแต่ไม่มีสัญชาติติดตัว เข้าร่วมชิงชัยเหรียญรางวัลโอลิมปิกที่ บราซิล ภายใต้ชื่อ ทีมนักกีฬาผู้อพยพ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งก็มีนักกีฬาทั้งชาย - หญิง ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขัน 10 คน รวมถึง ยุสรา มาร์ดินี สาวน้อยร่างเล็กที่จะร่วมแสดงความสามารถในการแข่งขันว่ายน้ำฟรีสไตล์หญิงเดี่ยว 200 เมตร

นักว่ายน้ำสาวจาก ซีเรีย มีความฝันเหมือนเด็กทั่วไป คือ อยากเข้าร่วมศึกกีฬาห้าห่วงให้ทีมชาติซีเรีย ทว่า เส้นทางต้องสะดุด เพราะเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซีเรีย ตกอยู่ในภาวะสงคราม มีข่าวนองเลือดเกิดขึ้นทุกวัน ยุสรา และ ซาราห์ พี่สาว เก็บเสื้อผ้าหนีออกมาแสวงหาโอกาสและชีวิตที่ดีกว่า เด็กสาวทั้งคู่วางแผนเดินทางจาก ดามัสกัส ไปที่ เบรุต, อิสตันบูล, อิซเมียร์ โดยมีปลายทางสุดท้ายอยู่ที่เกาะเลสบอส ประเทศกรีซ ด้วยเรือที่นั่งมากับผู้ลี้ภัยคนอื่น ๆ

“ช่วงที่เกิดสงครามที่ ซีเรีย นับเป็นสิ่งที่เลวร้ายแสนสาหัส บางครั้งเราก็ฝึกซ้อมกันไม่ได้เลย เพราะมีเสียงปืนดังสนั่นอยู่ข้างนอก แถมวันหนึ่งขณะที่เรากำลังไปซ้อมก็มีข่าวว่าพบระเบิดฝังอยู่ใต้สระน้ำอีก” ยุสรา เล่าถึงเหตุผลที่หอบผ้าผ่อนหนีออกมา

การเดินทางครั้งนี้เกือบไม่สำเร็จ เมื่อเรือโดยสารที่เธอนั่งมาเกิดดับกลางทางหลังออกจากฝั่งมา 30 นาที แถมยังบรรทุกคนมาเกินพิกัด (เรือนั่งได้ 6 คน แต่อัดมากัน 20 คน) ก่อนที่ ยุสรา จะจับมือกับพี่สาวกระโจนลงน้ำเพื่อช่วยกันดันเรือไปให้ถึงจุดหมาย จนผ่านไปเกือบ 4 ชั่วโมง ก็มาถึงฝั่ง โดยเธอเล่าย้อนความหลังแบบขำ ๆ ว่า “ฉันคิดว่าถ้าเกิดจมน้ำกลางทางนี่คงเป็นอะไรที่น่าอับอายมาก ก็เพราะฉันเป็นนักว่ายน้ำนี่”

เมื่อถึงจุดหมายเดือนกันยายน นักว่ายน้ำหญิงกับพี่สาวที่ไม่ได้เป็นชาวซีเรียอีกต่อไปแล้ว เดินทางไปที่เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี หาห้องเช่าถูก ๆ พร้อมหางานทำ ขณะที่ ยุสรา ยื่นใบสมัครเข้าร่วมสโมสรว่ายน้ำ วาสเซอร์ฟรอรนด์ สแปนเดา 04 ซึ่งความสามารถของเธอทำให้ สวเน สแปนเนเคร็บส์ ผู้ฝึกสอนเล็งเห็นศักยภาพจึงผลักดันให้ลงแข่งคัดเลือก โอลิมปิก ที่ บราซิล “ตอนแรกผมจะให้เธอไปลุ้น โอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว แต่เธอมีพัฒนาการที่เร็วเกินกว่าที่คิด”

ตารางการฝึกซ้อมของ ยุสรา เริ่มต้นด้วยการตื่นเช้า เวลา 07.00 น. วอร์มอัพยืดเส้นยืดสายก่อนลงสระว่ายน้ำ ซ้อมวันละ 2 ครั้ง รอบละ 2 - 3 ชั่วโมง ระหว่างนั้นก็เรียนหนังสือไปด้วยสลับกัน ซึ่งความเคลื่อนไหวของเธอนั้นอยู่ในสายตาของคณะกรรมการโอลิมปิกของ ซีเรีย แบบไม่ห่างโดยหวังดึงกลับมาเป็นนักกีฬาของชาติ แต่สุดท้ายแล้ว ไอโอซี ก็ตัดสินใจเลือกให้เธอเข้าร่วมในฐานะนักกีฬาจากทีมผู้อพยพ ส่วน ยุสรา ก็เต็มใจลงแข่งโดยไม่มีสัญชาติติดตัว

ก่อนหน้านี้ มีนักกีฬาลี้ภัยทั้งหมด 43 คน ลงทะเบียนเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกและทยอยออกไปคัดเลือกรายการต่าง ๆ แต่สุดท้ายก็มีคนที่ผ่านเกณฑ์เพียง 10 คน ซึ่งก็มีชื่อของ ยุสรา เป็นหนึ่งในนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม เธอก็ยืนยันว่า การเดินทางครั้งนี้ไม่ได้ตั้งใจแค่มีชื่อเข้าร่วมแข่งขันหรือเป็นเพียงไม้ประดับของทัวร์นาเมนต์ แต่มุ่งมั่นจะเอาเหรียญรางวัลสร้างชื่อกลับมาให้ได้

“แน่นอนว่า ฉันคิดถึงบ้าน คิดถึงเตียงนอนที่นอนหลับเป็นประจำ แต่ก็คิดแล้วว่าจะปักหลักอยู่ที่ เยอรมนี และเมื่อแก่ตัวแล้วก็จะกลับไปที่ ซีเรีย เอาประสบการณ์ที่มีมาสอนผู้คนที่นั่น ส่วน โอลิมปิก ครั้งนี้ ฉันอยากทำให้ดีที่สุด อยากให้ผู้อพยพทุกคนภูมิใจในตัวฉัน เพราะฉันจะแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่าแม้เส้นทางที่ผ่านมาจะหนักหนาสาหัส ถ้าเรามุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ก็มีวันประสบความสำเร็จได้” ยุสรา ทิ้งท้ายก่อนเตรียมจับมือเพื่อนร่วมทางอีก 9 ชีวิต สู่ “ริโอ เกมส์”

เรื่องโดย - วัลลภ สวัสดี
กับโค้ชและเพื่อนร่วมสโมสรที่เยอรมนี
ลีลาแหวกว่ายในสระน้ำ
เป็นที่สนใจของสื่อมากมาย
ตื่นเช้ามาซ้อมก่อนไปเรียน
แชะคู่ ซาราห์ พี่สาวที่หนีมาด้วยกัน
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น