xs
xsm
sm
md
lg

“ทีมเรฟูจี” ลุย “ริโอ เกมส์” ไร้บ้านแต่ไม่ไร้ความหวัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โฉมหน้า 10 นักกีฬาผู้อพยพ
เอเยนซี - ในขณะที่นักกีฬาชื่อดังหลายคนเริ่มทยอยถอนตัวจากการชิงชัย โอลิมปิก ที่ บราซิล ซึ่งจะเปิดฉากขึ้นอีก 1 เดือนข้างหน้า เพราะปัญหาต่าง ๆ ที่ทางเจ้าภาพยังควบคุมไม่ได้ กลับกันยังมีนักกีฬาหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งเตรียมตัวเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหาสงคราม มาพิสูจน์ตัวเองให้ชาวโลกได้เห็นว่าแม้ไม่มีบ้านให้หลับนอน ไม่มีสัญชาติ พวกเขาก็ยังมีความหวังในชีวิต ซึ่งพวกเขาเรียกตัวเองว่า “ทีมนักกีฬาผู้อพยพ”

การแข่งขันกีฬา โอลิมปิก 2016 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) อนุญาตให้เหล่านักกีฬาที่ลี้ภัยจากประเทศบ้านเกิดทางตะวันออก ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาสงครามเกิดขึ้นให้เห็นกันทุกวัน ได้เข้าร่วมการแข่งขันดังเช่นนักกีฬาทั่วไป โดยเรียกกันว่า ทีมนักกีฬาผู้อพยพ (ทีม เรฟูจี) ซึ่งทุกคนล้วนแล้วแต่ดำรงสถานะนักกีฬาผู้ไร้สัญชาติ แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือทุกคนสามารถผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งกีฬาห้าห่วงได้

ทีมนักกีฬาผู้อพยพ ประกอบด้วย นักกีฬาทั้งหมด 10 ราย แบ่งเป็นชาย 6 หญิง 4 นำโดย เจมส์ เชียงเช็ค (เซาท์ซูดาน / กรีฑา), ยีช บีล (เซาท์ซูดาน / กรีฑา), เปาโล โลโคโร (เซาท์ซูดาน / กรีฑา), โยนาส คินเด (เอธิโอเปีย / กรีฑา), โปโปล มิเซนกา (คองโก / ยูโด), รามี อานิส (ซีเรีย / ว่ายน้ำ), โรส โลคอนเยน (เซาท์ซูดาน / กรีฑา), แองเจลินา โลฮาลิธ (เซาท์ซูดาน / กรีฑา), โยลันเด มาบิกา (คองโก / ยูโด) และ ยุสรา มาร์ดินี (ซีเรีย / ว่ายน้ำ)

พวกเขาเหล่านี้นอกจากจะได้ลงแข่งขันลุ้นเหรียญทองกับนักกีฬาชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วม 207 ประเทศแล้ว ยังได้รับสิทธิและศักดิ์ศรีดังเช่นนักกีฬาที่มีสัญชาติปกติทั่วไปทุกประการ เช่น การเข้าพักที่หมู่บ้านนักกีฬา นอนร่วมผูกมิตรกับชาติอื่น ๆ, มีธงโอลิมปิกประจำทีมเป็นของตัวเอง, เพลงชาติที่ โอลิมปิก มอบให้ และได้รับเกียรติให้เดินเข้าสู่สนาม มาราคานา สเตเดียม ร่วมกับนักกีฬาทุกเชื้อชาติในพิธีเปิด วันที่ 5 สิงหาคม นี้

“นักกีฬาผู้อพยพเหล่านี้ ไม่มีบ้าน ไม่มีทีมชาติให้เข้าร่วม ไม่มีธงชาติของตัวเอง แม้กระทั่งเพลงชาติ แต่เราจะมอบทุกสิ่งให้กับพวกเขา ที่พักในหมู่บ้านนักกีฬา, เพลง โอลิมปิก และทุกคนจะเดินเข้าสู่สนามโดยมีธงอันศักดิ์สิทธิ์ของ โอลิมปิก นำหน้า” โธมัส บาค ประธานของ ไอโอซี ให้สัมภาษณ์สื่อแนะนำทุกคนให้รู้จักทีมนักกีฬาหน้าใหม่

สำหรับทีมผู้อพยพ นักกีฬาแต่ละคนล้วนแต่ลี้ภัยจากประเทศที่มีปัญหาทั้งสิ้น เช่น โปโปล มิเซนกา นักยูโดรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 90 กิโลกรัม เขาหนีจาก คองโก ที่เผชิญกับความขัดแย้งทางการเมือง ก่อนปักหลักที่ บราซิล แต่งงานมีลูก - เมีย และลงคัดเลือกโอลิมปิกจนได้ตั๋วไปล่าเหรียญทอง เช่นเดียวกับ โยลันเด มาบิกา ที่หนีตามกันมาเป็นเพื่อน ขณะที่ เจมส์ เชียงเช็ค นักวิ่งระยะ 400 เมตร ที่สูญเสียคุณพ่อจากสงครามใน เซาท์ซูดาน เขาไม่ต้องการถูกกลุ่มกบฏจับตัวไปฝึกเป็นทหารตั้งแต่เด็ก จึงหนีหัวซุกหัวซุนไป เคนยา ก่อนดำรงสถานะเป็นผู้อพยพเต็มตัว

ส่วนอีกหนึ่งดาวเด่นที่สื่อให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ ยุสรา มาร์ดินี นักว่ายน้ำสาวที่ลงแข่งขันประเภท ฟรีสไตล์ 200 เมตร เธอและพี่สาวหอบข้าวของและชีวิตของตัวเองหนีจาก ซีเรีย บ้านเกิดที่แปรเปลี่ยนเป็นสมรภูมิรบเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เธอวางแผนนั่งเรือลี้ภัยไปตามประเทศต่าง ๆ ทว่า 30 นาทีต่อมา เรือดับกลางทาง ทำให้ทั้งคู่ต้องว่ายน้ำกันมาเองเกือบ 4 ชั่วโมง จนมาแตะขอบฝั่งของเมือง เลสบอส ประเทศกรีซ ได้สำเร็จ

มาร์ดินี วัย 18 ปี กับ ซาราห์ พี่สาวลงหลักปักฐานที่เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ก่อนสมัครเข้าทีมว่ายน้ำประจำเมือง ด้วยความสามารถที่โดดเด่น ทำให้โค้ชตัดสินใจส่งเธอเข้าร่วมคัดเลือกโอลิมปิก จนกระทั่งได้สิทธิ์เข้าร่วมกีฬาห้าห่วงที่ บราซิล ในฐานะหนึ่งในสมาชิกทีมผู้อพยพ และเธอเองก็บอกด้วยว่างานนี้ไม่ได้ตั้งใจมาเพียงแค่มีชื่อลงแข่งขันหรือไม้ประดับของทัวร์นาเมนต์ แต่จะสู้เพื่อเอาเหรียญรางวัลกลับไป

สุดท้าย บิ๊กใหญ่ของ ไอโอซี เชื่อมั่นว่า นักกีฬาผู้อพยพทั้งหมด 10 คนนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้เหล่า เรฟูจี ที่สำรวจพบว่ามีอยู่กว่า 60 ล้านคนทั่วโลก ได้ลุกขึ้นสู้และมีความหวังในชีวิต “ผมอยากให้พวกเขาเป็นดั่งสัญลักษณ์แห่งความหวังให้กับกลุ่มเรฟูจีทั่วโลก และแสดงศักดิ์ศรีให้กับทุกคนได้เห็นว่าแม้ไม่มีสัญชาติ ไม่มีบ้าน แต่พวกเขาเหล่านี้ก็มีความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน”
ไร้บ้าน-ไร้สัญชาติ แต่มีธงในโอลิมปิก
เชียงเช็ค หนีเขม่าปืนมาเป็นนักวิ่ง
มาร์ดินี ว่ายน้ำหนีจาก ซีเรีย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า
ผู้อพยพก็ได้วิ่งคบเพลิงเหมือนกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น