คนเราที่เกิดมาในโลกนี้ประกอบด้วยส่วน ๒ ส่วน คือ กายกับใจ หรือ รูปกับนาม และทั้ง ๒ ส่วนนี้จำเป็นต้องดำเนินไปด้วยกัน จะแยกจากกันไม่ได้ แยกจากกันเมื่อใดก็ได้ชื่อว่าตายเมื่อนั้น และในขณะที่กายกับใจยังเป็นอยู่เช่นนี้ จะต้องได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นประณีตขึ้นตามลำดับ มิใช่ปล่อยไปตามธรรมชาติ จะต้องมีการปรับปรุงบริหารให้ดีขึ้น
แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการพัฒนาจิตเท่านั้น เพราะคนเราหากจิตได้รับการพัฒนาดีแล้ว ในส่วนกายก็ได้รับการพัฒนาไปด้วย เพราะสิ่งทั้งหลายสำเร็จมาจากจิตเสมอ
คำว่า “จิต” นั้น แปลว่า ธรรมชาติที่คิดอ่านอารมณ์, ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด คำว่า “อารมณ์” แปลว่า เจตสิกธรรมทั้งในส่วนดีและส่วนชั่ว, สิ่งที่ยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ ตามธรรมดาจิตของเรามักตกไปสู่อารมณ์ฝ่ายต่ำเสมอ ต้องคอยยกจิตใจขึ้นจากอารมณ์ฝ่ายต่ำอันเย้ายวนชวนให้พอใจ
จิตของคนเรานั้นเปรียบเหมือนน้ำ ธรรมชาติน้ำมักไหลลงสู่ที่ต่ำ หากไม่มีการปิดกั้นหรือทดน้ำแล้ว ไม่มีทางที่น้ำจะไหลกลับหรือขึ้นที่สูงได้ จิตใจของคนเราก็เหมือนกัน มักจะคิดแส่ไปสู่อารมณ์ฝ่ายต่ำเสมอ
เพราะฉะนั้น จึงต้องพยายามดึงจิตของตน ไม่ให้เป็นไปในอำนาจของอารมณ์ อันเป็นที่ตั้งของความโลภ โกรธ หลง จะต้องต่อสู้กับปัญหาต่างๆที่มีอยู่รอบตัวเรา
กล่าวโดยสรุป เราควรใช้จิตของเราให้เป็นไปในทางที่ชอบ คือ จิตคิดไปในทางที่ชอบ ดังนั้น จึงมีคำพูดที่ว่า “จิตมีเอาไว้ตรอง สมองมีเอาไว้คิด ชีวิตมีเอาไว้ต่อสู้ ศัตรูมีเอาไว้เพิ่มพลัง” หมายความว่า คนเราจะทำอะไรพูดอะไร จะต้องตริตรองพิจารณาก่อน ให้มีสติกำหนดพิจารณา ไม่ใช่สักแต่ว่าทำไปหรือพูดไปเท่านั้น ใช้สมองคิดวางแผนในการทำงาน ในการดำเนินงาน ตลอดถึงทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง สังคม ตลอดถึงประเทศชาติ ไม่ใช่อยู่สักแต่ว่ามีลมหายใจเท่านั้น เห็นอะไรเป็นสารประโยชน์ก็ควรกระทำ หรือแสวงประโยชน์อันนั้นเพื่อความสุขความเจริญ ถือเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร
คนเราจะทำอะไรได้ก็ช่วงมีชีวิตอยู่นี้แหละ ในช่วงที่มีชีวิตเท่านั้น เมื่อตายแล้วไม่สามารถจะทำดีอะไรได้ คนตายไม่สามารถทำความดีหรือความชั่วได้เลย ฉะนั้น ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ ควรที่จะทำความดี ใช้ชีวิตให้เป็นสาระ จะต้องต่อสู้กับความไม่ดีงามทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัวเรา
การต่อสู้กับชีวิตที่สำคัญมากก็คือ การต่อสู้กับกิเลส โดยเฉพาะกิเลสในส่วนของโลกธรรม มีสาเหตุมาจากโลกธรรม ซึ่งเป็นธรรมสำหรับโลก มีอยู่ ๒ ส่วน คือ
๑. ส่วนที่น่ายินดีน่าพอใจ เรียกว่า อิฏฐารมณ์ ได้แก่ มีลาภ มียศ สรรเสริญ และมีความสุข
๒. ส่วนที่ไม่น่ายินดีไม่น่าพอใจ เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย และมีความทุกข์
ทั้งสองอย่างนี้ สำหรับคนที่ไม่เคยพัฒนาจิต เมื่อประสบกับอารมณ์ดังกล่าวนี้ ก็จะหวั่นไหว กล่าวคือ ถ้ารับอารมณ์ที่น่าพอใจก็จะดีใจเกินไป อาจทำให้เสียปกติไปได้ หรืออาจจะทำให้มัวเมาประมาทได้ หากได้ประสบกับโลกธรรมที่ไม่น่าพอใจ ก็จะทำใจปรับใจไม่ค่อยได้ บางคนถึงกับเสียคนไปเลยก็มี
เพราะฉะนั้น เราต้องฝึกหัดต่อสู้กับอารมณ์ทั้งสองนี้ให้ดี ฝึกหัดจิตให้ลดความเครียดเสียแต่เนิ่นๆ เปรียบเหมือนนักกีฬา มีนักมวยเป็นต้น จะต้องมีการฝึกซ้อมเป็นอย่างดี เมื่อถึงคราวเข้าแข่งขันก็จะมีความองอาจสามารถ ต่อสู้ได้อย่างสมศักดิ์ศรี
ฉะนั้น คนเราก็เหมือนกัน ต้องฝึกจิตของตนให้ต่อสู้กับกิเลสในส่วนโลกธรรมให้ดี ต้องหัดฝึกจิตใจของตนไว้ ไม่ให้หวั่นไหวไปตามโลกธรรม เมื่อถึงคราวประสบกับโลกธรรมเข้า ก็จะสามารถพิจารณาเห็นความเป็นจริงได้ ทำใจได้ จะไม่ยินดีเกินไปในเมื่อประสบกับอิฏฐารมณ์ จะไม่เสียใจเกินไปในเมื่อประสบกับอนิฏฐารมณ์ ทั้งนี้ก็เพราะได้เคยต่อสู้มาแล้วเป็นอย่างดี มีประสบการณ์มาดีแล้ว
บางท่าน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สอน ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุสงฆ์ ครูบาอาจารย์ จะพร่ำสอนอยู่บ่อยๆว่า อย่าโลภ อย่าโกรธ อย่าหลงเลย เพราะความโลภ โกรธ หลง เป็นสิ่งไม่ดีควรละมันเสีย
ความจริง กิเลสเหล่านี้ใครๆก็รู้ว่ามันไม่ดี สำหรับคนที่เคยฝึกหัดต่อสู้กับกิเลสเหล่านี้ หรือเคยฝึกหัดพิจารณาเห็นสภาพของธรรมมาบ้างแล้ว ก็พอจะทำได้บ้าง แต่สำหรับคนที่ไม่เตยต่อสู้ ไม่เคยฝึกหัดปฏิบัติเพื่อละสิ่งเหล่านี้มาก่อน จะทำได้หรือไม่ ถ้าเพียงคำพูดก็ดูจะไม่ยาก แต่ถ้าถึงขั้นปฏิบัติแล้ว ดูจะยากอย่างยิ่งทีเดียว
เรื่องของความโกรธ ความฉุนเฉียวต่างๆ ซึ่งเรียกรวมๆว่า “โทสะ” เป็นสิ่งที่ละยาก บางคนโกรธง่ายหายเร็ว บางคนโกรธง่ายหายช้า
อุบายแก้ความโกรธ โดยอาศัยแนวคัมภีร์วิสุทธิมรรค ในเบื้องต้นมีว่า
ถ้าระงับความโกรธไม่ได้ ก็ให้ใช้สติพิจารณา โดยให้ใช้สติยั้งคิด มีคำพูดว่า “ถ้าโกรธมากให้นับหนึ่งถึงร้อย ถ้าโกรธน้อยให้นับหนึ่งถึงสิบ” หมายความว่า ให้ใช้สติพิจารณาถึงความโกรธ ว่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ทำประโยชน์ให้กับใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้โกรธเองหรือผู้ที่ถูกโกรธ จนกว่าความโกรธนั้นจะบรรเทาลง
ถ้ายังไม่ระงับ ก็ขอให้พิจารณาโดยสอนตนเองตามหลักคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติ ดังนี้
๑. ถ้าศัตรูทำความทุกข์ให้แก่เราในสิ่งอันเป็นวิสัย คือ ร่างกายของเรา ไฉนเราจึงปรารถนาจะทำทุกข์ไว้ในใจของเรา ซึ่งไม่ใช่ร่างกายของเราเล่า
๒. เมื่อตอนฝึกปฏิบัติ เรายังละพ่อแม่ซึ่งมีอุปการคุณมากออกมาได้แล้ว ทำไมจึงละความโกรธ อันเป็นศัตรูหาความฉิบหายใหญ่ให้เสียไม่ได้เล่า
๓. ถ้าเราพอใจมีความโกรธ อันเป็นตัวตัดมูลรากของคุณความดีทั้งหลายที่เรารักษาเสีย ถามว่ามีใครโง่เหมือนเราบ้าง
๔. ถ้าโกรธว่า คนอื่นทำความไม่ดีให้แก่เรา ทำไมเล่าเราจึงปรารถนาจะทำกรรมเช่นเดียวกันนั้นเสียเอง
๕. คนอื่นอยากให้เราโกรธ จึงทำความไม่พอใจให้ ทำไมเราจึงจะช่วยทำให้เขาพอใจ หรือให้เขาสำเร็จความต้องการ ให้ความโกรธเกิดขึ้นแก่เราด้วย
๖. เมื่อเราโกรธแล้ว จะทำให้เขาได้รับทุกข์หรือไม่ก็ตาม แต่เดี๋ยวนี้เราก็ได้เบียดเบียนตนเองด้วยความโกรธของเราเอง (ความทุกข์ใจเพราะความโกรธ)
๗. ถ้าเห็นว่าศัตรูมีใจอำมหิต คือ มีความโกรธแล้วไซร้ เหตุไฉนเราจึงโกรธเลียนแบบเขาด้วยเล่า
๘. ศัตรูอาศัยความโกรธของเรา ทำให้เราไม่พอใจได้ เราจงตัดความโกรธให้ได้เถิด
เราจะมาเดือดร้อนในฐานะอันไม่สมควรจะเดือดร้อนทำไมกัน
๙. ศัตรูทำสิ่งไม่พอใจให้กับเราด้วยขันธ์เหล่าใด ขันธ์เหล่านั้นก็ดับไปแล้ว (ความโกรธเป็นสังขารขันธ์ฝ่ายชั่ว) เพราะว่าธรรมทั้งหลายเป็นไปชั่วขณะ แล้วที่นี้เราจะมาโกรธใครกัน
๑๐. ศัตรูทำความทุกข์ให้แก่ผู้ใด หากไม่มีผู้นั้นเสีย ศัตรูนั้นก็จะทำทุกข์ให้ใครได้ ตัวเราเป็นเหตุของทุกข์อยู่นั้นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมเราจึงไปโกรธเขาเล่า
หากสอนตนตามหลักการนี้แล้ว ความโกรธยังไม่หาย ก็ควรพิจารณาให้เห็นว่าตนและคนอื่นมีกรรมเป็นของของตนต่อไป
โดยขอให้พิจารณาในฝ่ายตนก่อนว่า “เราโกรธเขาแล้วเราจักทำอะไร กรรมอันมีโทสะเป็นเหตุนั้น มักจะทำความเสื่อมแก่ตัวเองมิใช่หรือ เพราะว่า เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน เป็นผู้รับมรดกของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”
อนึ่ง กรรมคือความโกรธนี้ ไม่สามารถจะให้เราได้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ จะไม่สามารถทำให้เราเป็นคนดีได้ ไม่สามารถทำให้เราเป็นพระอินทร์ เป็นพระพรหม หรือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ ที่แท้กรรมนี้มีแต่จะทำให้เราห่างจากพระศาสนา แล้วยังจะทำให้เป็นคนเข็ญใจในภายหน้าได้ กับทั้งจะทำให้เราได้รับทุกข์ในนรกเป็นต้น
ตัวเราเมื่อทำกรรมอันนี้ก็เท่ากับเผาตนเอง และทำตนเองให้เหม็นก่อน ดังคนที่จับถ่านที่กำลังติดไฟปราศจากเปลวก็ดี จับสิ่งปฏิกูลมีอุจจาระเป็นต้นก็ดี ด้วยมือทั้งสอง โดยหวังจะขว้างคนอื่น ก็เท่ากับเผามือตนเองก่อน หรือทำมือของตนเองให้เหม็นก่อนฉะนั้น
เมื่อพิจารณาฝ่ายตนได้อย่างนี้แล้ว ความโกรธยังไม่ระงับ ต้องพิจารณาฝ่ายคนอื่นบ้างว่า หากเขาโกรธเราแล้วจักทำอะไรให้ กรรมที่มีความโกรธเป็นเหตุนั้น จักทำความเสื่อมเสียแก่เขาเองมิใช่หรือ เพราะว่าท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับมรดกของกรรมนั้น โดยให้พิจารณาดุจการพิจารณาในส่วนตนนั้นเหมือนกัน
นี้เป็นพิธีการหรือเป็นอุบายวิธีต่อสู้กับความโกรธ เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ ก็จะบรรเทาความโกรธได้บ้าง หรือแก้ความโกรธให้หมดไปจากจิต ในเมื่อประสบสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อันเป็นที่ตั้งของความโกรธ ก็จะไม่โกรธ เพราะได้พิจารณาเห็นโทษของความโกรธหรือโทสะ ดังกล่าวแล้ว
เรื่องของความหลง คนเรามีความหลงเป็นเจ้าเรือน คือมีอยู่ในใจของตนอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรอบรมปัญญาให้เกิด ให้มีความรู้ความฉลาด ในเบื้องต้นควรศึกษาเล่าเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจ ทั้งในทางโลกและทางธรรม พิจารณาให้เห็นว่าอะไรควรอะไรไม่ควร แล้วเลือกเอาสิ่งที่ดีมีประโยชน์มาปฏิบัติ เว้นสิ่งที่ไม่ดีไม่มีประโยชน์
การพัฒนาจิตใจให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและของสังคม เช่น ไม่ยินดียินร้ายไปตามกระแสโลกธรรมก็ตาม ในส่วนของอกุศลมูล คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ตาม ชื่อว่าเป็นการทำจิตให้มีคุณภาพโดยแท
เพราะถ้าคนเราได้พัฒนาจิตใจดีแล้ว อะไรๆก็ดีไปหมด เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จมาจากจิต จึงมีคำพูดว่า “จะพัฒนาอะไรก็เกิด ถ้าจิตพัฒนา” ดังนี้
เพราะฉะนั้น การพัฒนาจิตใจให้กล้าแข็ง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เมื่อจิตได้พัฒนาดีแล้วจะไม่หวั่นไหวไปตามคำนินทาและสรรเสริญ และไม่เป็นไปในอำนาจของความอยากได้เกินไป จะไม่เป็นคนเกรี้ยวกราด แต่จะเป็นคนมีเหตุผล ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข เป็นคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมสืบไป
(จากหนังสือกฎแห่งกรรมธรรมปฏิบัติ เล่มที่ ๒๔)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 183 มีนาคม 2559 โดย พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี)
แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการพัฒนาจิตเท่านั้น เพราะคนเราหากจิตได้รับการพัฒนาดีแล้ว ในส่วนกายก็ได้รับการพัฒนาไปด้วย เพราะสิ่งทั้งหลายสำเร็จมาจากจิตเสมอ
คำว่า “จิต” นั้น แปลว่า ธรรมชาติที่คิดอ่านอารมณ์, ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด คำว่า “อารมณ์” แปลว่า เจตสิกธรรมทั้งในส่วนดีและส่วนชั่ว, สิ่งที่ยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ ตามธรรมดาจิตของเรามักตกไปสู่อารมณ์ฝ่ายต่ำเสมอ ต้องคอยยกจิตใจขึ้นจากอารมณ์ฝ่ายต่ำอันเย้ายวนชวนให้พอใจ
จิตของคนเรานั้นเปรียบเหมือนน้ำ ธรรมชาติน้ำมักไหลลงสู่ที่ต่ำ หากไม่มีการปิดกั้นหรือทดน้ำแล้ว ไม่มีทางที่น้ำจะไหลกลับหรือขึ้นที่สูงได้ จิตใจของคนเราก็เหมือนกัน มักจะคิดแส่ไปสู่อารมณ์ฝ่ายต่ำเสมอ
เพราะฉะนั้น จึงต้องพยายามดึงจิตของตน ไม่ให้เป็นไปในอำนาจของอารมณ์ อันเป็นที่ตั้งของความโลภ โกรธ หลง จะต้องต่อสู้กับปัญหาต่างๆที่มีอยู่รอบตัวเรา
กล่าวโดยสรุป เราควรใช้จิตของเราให้เป็นไปในทางที่ชอบ คือ จิตคิดไปในทางที่ชอบ ดังนั้น จึงมีคำพูดที่ว่า “จิตมีเอาไว้ตรอง สมองมีเอาไว้คิด ชีวิตมีเอาไว้ต่อสู้ ศัตรูมีเอาไว้เพิ่มพลัง” หมายความว่า คนเราจะทำอะไรพูดอะไร จะต้องตริตรองพิจารณาก่อน ให้มีสติกำหนดพิจารณา ไม่ใช่สักแต่ว่าทำไปหรือพูดไปเท่านั้น ใช้สมองคิดวางแผนในการทำงาน ในการดำเนินงาน ตลอดถึงทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง สังคม ตลอดถึงประเทศชาติ ไม่ใช่อยู่สักแต่ว่ามีลมหายใจเท่านั้น เห็นอะไรเป็นสารประโยชน์ก็ควรกระทำ หรือแสวงประโยชน์อันนั้นเพื่อความสุขความเจริญ ถือเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร
คนเราจะทำอะไรได้ก็ช่วงมีชีวิตอยู่นี้แหละ ในช่วงที่มีชีวิตเท่านั้น เมื่อตายแล้วไม่สามารถจะทำดีอะไรได้ คนตายไม่สามารถทำความดีหรือความชั่วได้เลย ฉะนั้น ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ ควรที่จะทำความดี ใช้ชีวิตให้เป็นสาระ จะต้องต่อสู้กับความไม่ดีงามทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัวเรา
การต่อสู้กับชีวิตที่สำคัญมากก็คือ การต่อสู้กับกิเลส โดยเฉพาะกิเลสในส่วนของโลกธรรม มีสาเหตุมาจากโลกธรรม ซึ่งเป็นธรรมสำหรับโลก มีอยู่ ๒ ส่วน คือ
๑. ส่วนที่น่ายินดีน่าพอใจ เรียกว่า อิฏฐารมณ์ ได้แก่ มีลาภ มียศ สรรเสริญ และมีความสุข
๒. ส่วนที่ไม่น่ายินดีไม่น่าพอใจ เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย และมีความทุกข์
ทั้งสองอย่างนี้ สำหรับคนที่ไม่เคยพัฒนาจิต เมื่อประสบกับอารมณ์ดังกล่าวนี้ ก็จะหวั่นไหว กล่าวคือ ถ้ารับอารมณ์ที่น่าพอใจก็จะดีใจเกินไป อาจทำให้เสียปกติไปได้ หรืออาจจะทำให้มัวเมาประมาทได้ หากได้ประสบกับโลกธรรมที่ไม่น่าพอใจ ก็จะทำใจปรับใจไม่ค่อยได้ บางคนถึงกับเสียคนไปเลยก็มี
เพราะฉะนั้น เราต้องฝึกหัดต่อสู้กับอารมณ์ทั้งสองนี้ให้ดี ฝึกหัดจิตให้ลดความเครียดเสียแต่เนิ่นๆ เปรียบเหมือนนักกีฬา มีนักมวยเป็นต้น จะต้องมีการฝึกซ้อมเป็นอย่างดี เมื่อถึงคราวเข้าแข่งขันก็จะมีความองอาจสามารถ ต่อสู้ได้อย่างสมศักดิ์ศรี
ฉะนั้น คนเราก็เหมือนกัน ต้องฝึกจิตของตนให้ต่อสู้กับกิเลสในส่วนโลกธรรมให้ดี ต้องหัดฝึกจิตใจของตนไว้ ไม่ให้หวั่นไหวไปตามโลกธรรม เมื่อถึงคราวประสบกับโลกธรรมเข้า ก็จะสามารถพิจารณาเห็นความเป็นจริงได้ ทำใจได้ จะไม่ยินดีเกินไปในเมื่อประสบกับอิฏฐารมณ์ จะไม่เสียใจเกินไปในเมื่อประสบกับอนิฏฐารมณ์ ทั้งนี้ก็เพราะได้เคยต่อสู้มาแล้วเป็นอย่างดี มีประสบการณ์มาดีแล้ว
บางท่าน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สอน ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุสงฆ์ ครูบาอาจารย์ จะพร่ำสอนอยู่บ่อยๆว่า อย่าโลภ อย่าโกรธ อย่าหลงเลย เพราะความโลภ โกรธ หลง เป็นสิ่งไม่ดีควรละมันเสีย
ความจริง กิเลสเหล่านี้ใครๆก็รู้ว่ามันไม่ดี สำหรับคนที่เคยฝึกหัดต่อสู้กับกิเลสเหล่านี้ หรือเคยฝึกหัดพิจารณาเห็นสภาพของธรรมมาบ้างแล้ว ก็พอจะทำได้บ้าง แต่สำหรับคนที่ไม่เตยต่อสู้ ไม่เคยฝึกหัดปฏิบัติเพื่อละสิ่งเหล่านี้มาก่อน จะทำได้หรือไม่ ถ้าเพียงคำพูดก็ดูจะไม่ยาก แต่ถ้าถึงขั้นปฏิบัติแล้ว ดูจะยากอย่างยิ่งทีเดียว
เรื่องของความโกรธ ความฉุนเฉียวต่างๆ ซึ่งเรียกรวมๆว่า “โทสะ” เป็นสิ่งที่ละยาก บางคนโกรธง่ายหายเร็ว บางคนโกรธง่ายหายช้า
อุบายแก้ความโกรธ โดยอาศัยแนวคัมภีร์วิสุทธิมรรค ในเบื้องต้นมีว่า
ถ้าระงับความโกรธไม่ได้ ก็ให้ใช้สติพิจารณา โดยให้ใช้สติยั้งคิด มีคำพูดว่า “ถ้าโกรธมากให้นับหนึ่งถึงร้อย ถ้าโกรธน้อยให้นับหนึ่งถึงสิบ” หมายความว่า ให้ใช้สติพิจารณาถึงความโกรธ ว่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ทำประโยชน์ให้กับใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้โกรธเองหรือผู้ที่ถูกโกรธ จนกว่าความโกรธนั้นจะบรรเทาลง
ถ้ายังไม่ระงับ ก็ขอให้พิจารณาโดยสอนตนเองตามหลักคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติ ดังนี้
๑. ถ้าศัตรูทำความทุกข์ให้แก่เราในสิ่งอันเป็นวิสัย คือ ร่างกายของเรา ไฉนเราจึงปรารถนาจะทำทุกข์ไว้ในใจของเรา ซึ่งไม่ใช่ร่างกายของเราเล่า
๒. เมื่อตอนฝึกปฏิบัติ เรายังละพ่อแม่ซึ่งมีอุปการคุณมากออกมาได้แล้ว ทำไมจึงละความโกรธ อันเป็นศัตรูหาความฉิบหายใหญ่ให้เสียไม่ได้เล่า
๓. ถ้าเราพอใจมีความโกรธ อันเป็นตัวตัดมูลรากของคุณความดีทั้งหลายที่เรารักษาเสีย ถามว่ามีใครโง่เหมือนเราบ้าง
๔. ถ้าโกรธว่า คนอื่นทำความไม่ดีให้แก่เรา ทำไมเล่าเราจึงปรารถนาจะทำกรรมเช่นเดียวกันนั้นเสียเอง
๕. คนอื่นอยากให้เราโกรธ จึงทำความไม่พอใจให้ ทำไมเราจึงจะช่วยทำให้เขาพอใจ หรือให้เขาสำเร็จความต้องการ ให้ความโกรธเกิดขึ้นแก่เราด้วย
๖. เมื่อเราโกรธแล้ว จะทำให้เขาได้รับทุกข์หรือไม่ก็ตาม แต่เดี๋ยวนี้เราก็ได้เบียดเบียนตนเองด้วยความโกรธของเราเอง (ความทุกข์ใจเพราะความโกรธ)
๗. ถ้าเห็นว่าศัตรูมีใจอำมหิต คือ มีความโกรธแล้วไซร้ เหตุไฉนเราจึงโกรธเลียนแบบเขาด้วยเล่า
๘. ศัตรูอาศัยความโกรธของเรา ทำให้เราไม่พอใจได้ เราจงตัดความโกรธให้ได้เถิด
เราจะมาเดือดร้อนในฐานะอันไม่สมควรจะเดือดร้อนทำไมกัน
๙. ศัตรูทำสิ่งไม่พอใจให้กับเราด้วยขันธ์เหล่าใด ขันธ์เหล่านั้นก็ดับไปแล้ว (ความโกรธเป็นสังขารขันธ์ฝ่ายชั่ว) เพราะว่าธรรมทั้งหลายเป็นไปชั่วขณะ แล้วที่นี้เราจะมาโกรธใครกัน
๑๐. ศัตรูทำความทุกข์ให้แก่ผู้ใด หากไม่มีผู้นั้นเสีย ศัตรูนั้นก็จะทำทุกข์ให้ใครได้ ตัวเราเป็นเหตุของทุกข์อยู่นั้นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมเราจึงไปโกรธเขาเล่า
หากสอนตนตามหลักการนี้แล้ว ความโกรธยังไม่หาย ก็ควรพิจารณาให้เห็นว่าตนและคนอื่นมีกรรมเป็นของของตนต่อไป
โดยขอให้พิจารณาในฝ่ายตนก่อนว่า “เราโกรธเขาแล้วเราจักทำอะไร กรรมอันมีโทสะเป็นเหตุนั้น มักจะทำความเสื่อมแก่ตัวเองมิใช่หรือ เพราะว่า เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน เป็นผู้รับมรดกของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”
อนึ่ง กรรมคือความโกรธนี้ ไม่สามารถจะให้เราได้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ จะไม่สามารถทำให้เราเป็นคนดีได้ ไม่สามารถทำให้เราเป็นพระอินทร์ เป็นพระพรหม หรือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ ที่แท้กรรมนี้มีแต่จะทำให้เราห่างจากพระศาสนา แล้วยังจะทำให้เป็นคนเข็ญใจในภายหน้าได้ กับทั้งจะทำให้เราได้รับทุกข์ในนรกเป็นต้น
ตัวเราเมื่อทำกรรมอันนี้ก็เท่ากับเผาตนเอง และทำตนเองให้เหม็นก่อน ดังคนที่จับถ่านที่กำลังติดไฟปราศจากเปลวก็ดี จับสิ่งปฏิกูลมีอุจจาระเป็นต้นก็ดี ด้วยมือทั้งสอง โดยหวังจะขว้างคนอื่น ก็เท่ากับเผามือตนเองก่อน หรือทำมือของตนเองให้เหม็นก่อนฉะนั้น
เมื่อพิจารณาฝ่ายตนได้อย่างนี้แล้ว ความโกรธยังไม่ระงับ ต้องพิจารณาฝ่ายคนอื่นบ้างว่า หากเขาโกรธเราแล้วจักทำอะไรให้ กรรมที่มีความโกรธเป็นเหตุนั้น จักทำความเสื่อมเสียแก่เขาเองมิใช่หรือ เพราะว่าท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับมรดกของกรรมนั้น โดยให้พิจารณาดุจการพิจารณาในส่วนตนนั้นเหมือนกัน
นี้เป็นพิธีการหรือเป็นอุบายวิธีต่อสู้กับความโกรธ เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ ก็จะบรรเทาความโกรธได้บ้าง หรือแก้ความโกรธให้หมดไปจากจิต ในเมื่อประสบสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อันเป็นที่ตั้งของความโกรธ ก็จะไม่โกรธ เพราะได้พิจารณาเห็นโทษของความโกรธหรือโทสะ ดังกล่าวแล้ว
เรื่องของความหลง คนเรามีความหลงเป็นเจ้าเรือน คือมีอยู่ในใจของตนอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรอบรมปัญญาให้เกิด ให้มีความรู้ความฉลาด ในเบื้องต้นควรศึกษาเล่าเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจ ทั้งในทางโลกและทางธรรม พิจารณาให้เห็นว่าอะไรควรอะไรไม่ควร แล้วเลือกเอาสิ่งที่ดีมีประโยชน์มาปฏิบัติ เว้นสิ่งที่ไม่ดีไม่มีประโยชน์
การพัฒนาจิตใจให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและของสังคม เช่น ไม่ยินดียินร้ายไปตามกระแสโลกธรรมก็ตาม ในส่วนของอกุศลมูล คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ตาม ชื่อว่าเป็นการทำจิตให้มีคุณภาพโดยแท
เพราะถ้าคนเราได้พัฒนาจิตใจดีแล้ว อะไรๆก็ดีไปหมด เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จมาจากจิต จึงมีคำพูดว่า “จะพัฒนาอะไรก็เกิด ถ้าจิตพัฒนา” ดังนี้
เพราะฉะนั้น การพัฒนาจิตใจให้กล้าแข็ง เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เมื่อจิตได้พัฒนาดีแล้วจะไม่หวั่นไหวไปตามคำนินทาและสรรเสริญ และไม่เป็นไปในอำนาจของความอยากได้เกินไป จะไม่เป็นคนเกรี้ยวกราด แต่จะเป็นคนมีเหตุผล ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข เป็นคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมสืบไป
(จากหนังสือกฎแห่งกรรมธรรมปฏิบัติ เล่มที่ ๒๔)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 183 มีนาคม 2559 โดย พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี)