xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : แพทย์แผนไทยฯ ชูการแพทย์ผสมผสาน รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม แนะใช้ “สหัสธารา” และ 4 ท่าฤาษีดัดตน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เตรียมขยายคลินิกพิเศษรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ชูหลักการแพทย์ผสมผสานเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษา

นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกพร้อมคณะ ร่วมแถลงข่าวการเปิดคลินิกพิเศษให้บริการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ว่า ปัจจุบันโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงวัย และเป็นอาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่ใช้ระยะเวลานานในการรักษา

โรคข้อเข่าเสื่อมมีการเกิดพยาธิสภาพแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดกับกระดูกอ่อน เมื่อผิวกระดูกถูกทำลายมากขึ้น ก็จะมีการอักเสบของเยื่อบุข้อ ถ้าเป็นมากจะปวดเวลากลางคืน บางรายเวลาอากาศชื้นและเย็นจะปวดมากขึ้น รวมทั้งมีอาการข้อแข็งเคลื่อนไหวลำบาก มีข้อจำกัดในการงอและเหยียดของข้อเข่า มีอาการบวมที่ข้อ โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคเรื้อรัง ต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษา และขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ อายุ และกิจวัตรประจำวัน เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก

ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น ปัจจัยหลักๆเกิดจากการมีค่าดัชนีมวลกายที่เกินค่ามาตรฐาน การมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น การมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือจากการใช้ข้อไม่เหมาะสม รวมทั้งสาเหตุอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุ การติดเชื้อในข้อ เป็นต้น มักพบในผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักตัวมาก พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า

ทั้งนี้ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ได้นำกระบวนการบำบัดโรคแบบการแพทย์ผสมผสานมาใช้ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีทางเลือกในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยการใช้ยาแผนไทยคือ “สหัสธารา” เป็นยากลุ่มคลายกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบ ลดอาการปวด ที่ผลวิจัยเทียบเคียงยา Diclofenac แต่ไม่ก่อผลข้างเคียง เหมาะกับกรณีที่เริ่มเป็นไม่มาก รวมทั้งยา “เถาวัลย์เปรียง” มีสรรพคุณช่วยลดอาการปวดบวม และ “ครีมไพลและตำรับยาพอกเข่า” มีสรรพคุณลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยสามารถใช้ยานี้ควบคู่กับการรักษาด้วยการนวดไทย การพอกเข่า การฝังเข็มตามหลักการแพทย์แผนจีน รวมถึงออกกำลังกายด้วยท่าฤาษีดัดตน และการบริโภคอาหาร

สำหรับการฝังเข็มจะเป็นกลไกกระตุ้นการหลั่งเคมีในร่างกาย ที่ช่วยระงับการเจ็บปวดจากอาการข้อเข่าเสื่อม ปัจจุบันทั่วประเทศมีแพทย์แผนจีนกว่า1,600 คนให้บริการฝังเข็มกระจายไปในแต่ละจังหวัดที่มีโรงพยาบาล ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการเบิกค่าใช้จ่ายบริการฝังเข็มได้ 150 บาทต่อครั้งตามสิทธิการรักษาที่มี ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า การบำบัดโรคที่ทางโรงพยาบาลดำเนินการได้ผลดี จึงได้ขยายบริการมาที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทย อาคาร 2 ชั้น 7 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี โดยเปิดให้บริการทุกวันพฤหัสบดี ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-16.30 น.

"สำหรับข้อแนะนำในการป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น สามารถทำได้โดยควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการงอเข่ามากเกินไป ทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อด้วยท่าฤาษีดัดตน ท่านั่งควรนั่งบนเก้าอี้สูงระดับเข่า ซึ่งเมื่อนั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี ไม่ควรนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ หรือนั่งราบบนพื้น เพราะจะทำให้ผิวข้อเข่าเสื่อมเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ เวลาเข้าห้องน้ำ สำหรับผู้สูงอายุควรนั่งถ่ายบนโถนั่งชักโครก หรือนั่งบนเก้าอี้สามขาที่ใช้สำหรับผู้ป่วย และควรทำที่จับยึดบริเวณด้านข้างโถนั่ง เพื่อใช้จับพยุงตัวเวลาจะลงนั่งหรือจะลุกขึ้นยืน เป็นต้น"
นพ.สุริยะกล่าวในตอนท้าย

นพ.ธวัช บูรณถาวรสม ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ไทย-จีน กล่าวว่า การฝังเข็มตามศาสตร์แพทย์แผนจีน มีงานวิจัยระดับนานาชาติ และองค์การอนามัยโลก ยืนยันว่า สามารถรักษาอาการปวดและเสื่อมของข้อเข่าได้ ขณะที่สมาคมรูมาติกสหรัฐอเมริกา ก็มีการทบทวนงานวิจัย และประกาศว่าการฝังเข็มสามารถช่วยลดการปวดและความฝืดของข้อได้ และยอมรับว่าเป็นมาตรฐานการรักษาอย่างหนึ่ง ที่นำมาใช้ร่วมหรือใช้แทนแพทย์แผนปัจจุบันได้ เนื่องจากการฝังเข็มสมองส่วนที่ระงับความเจ็บปวด และกระตุ้นสารเคมีในร่างกายให้ระงับการอักเสบของข้อได้

ฤาษีดัดตน 4 ท่า ป้องกันข้อเข่าเสื่อม
1. ท่าดำรงกายอายุยืน
ท่าเตรียม สูดลมหายใจให้ลึกที่สุดพร้อมกับออกแรงดันมือข้างซ้ายที่ยื่นออกไป ต้านกับการดึงบริเวณนิ้วมือข้างขวาเข้าหาตัว โดยแขนทั้งสองข้างเหยียดตึง กลั้นลมหายใจไว้สักครู่

ท่าบริหาร สูดลมหายใจเข้าให้ลึกที่สุด พร้อมกับย่อตัวลงช้าๆ กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ พร้อมกับแขม่วท้องขมิบก้น จากนั้นผ่อนลมหายใจออกพร้อมกับค่อยๆ ยืดตัวให้กลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง

2. ท่าแก้ไหล่ ขา และแก้เข่า ขา
ท่าเตรียม ยืนก้าวขาข้างซ้ายเฉียงออกไปทางซ้าย มือข้างเดียวกันวางแนบหน้าขา มือขวาเท้าอยู่บนสะโพกในลักษณะคว่ำมือ สันมือดันสะโพก ปลายมือเฉียงไปทางด้านหลัง

ท่าบริหาร สูดลมหายใจเข้าให้ลึกที่สุด พร้อมกับค่อยๆย่อตัว ทิ้งน้ำหนักลงไปบนขาข้างซ้ายที่ก้าวออกไป ขณะย่อตัวค่อยๆ บิดตัวหันหน้าไปทางด้านขวาช้าๆ โดยขาซ้ายจะย่อ ขาขวาจะตึง กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ พร้อมกับกดเน้นเส้นมือที่เท้าอยู่บนสะโพก จากนั้นผ่อนลมหายใจออก พร้อมกับค่อยๆเปลี่ยนกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำเช่นเดิม แต่เปลี่ยนจากก้าวขาข้างขวา ทำสลับกันซ้ายขวานับเป็น 1 ครั้ง ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง

3. ท่าแก้กล่อนและแก้เข่าขัด
ท่าเตรียม นั่งเหยียดขาทั้งสองข้าง เท้าชิดกัน มือทั้งสองข้างวางไว้บริเวณหน้าขา หน้าตรง หลังตรง

ท่าบริหาร สูดลมหายใจเข้าให้ลึกที่สุดพร้อมกับใช้มือทั้งสองข้างนวดตั้งแต่ต้นขาต่อเนื่องไปจนถึงปลายเท้า ใช้มือจับปลายเท้าและก้มหน้าให้มากที่สุด กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ จากนั้นผ่อนลมหายใจออกพร้อมกับคลายมือจากปลายเท้า นวดจากข้อเท้ากลับขึ้นมาจนถึงต้นขา

4. ท่าแก้ลมเลือดนัยน์ตามัว และแก้ลมอันรัดทั้งตัว
ท่าเตรียม นอนคว่ำขาทั้งสองข้างเหยียดตรง ส้นเท้าชิดกัน มือทั้งสองข้างประสานกัน วางบนพื้นในระดับคาง

ท่าบริหาร สูดลมหายใจเข้าให้ลึกที่สุด พร้อมกับยกศีรษะขึ้นเต็มที่ งอขาทั้งสองข้างให้ปลายเท้างุ้มชี้มาทางส่วนหลังให้มากที่สุด ส่วนของมือ หน้าท้อง และหน้าขาให้แนบพื้น เข่าชิดกัน กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ จากนั้นผ่อนลมหายใจออกพร้อมกับลดศีรษะ และขาทั้งสองข้างกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 183 มีนาคม 2559 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น