"อ้วน-ชรา" เสี่ยงข้อเข่าเสื่อม กรมแพทย์แผนไทยจ่อเปิดคลินิกรักษาข้อเข่าเสื่อมผสมผสาน "ยาสมุนไพร-นวดไทย-ฝังเข็มจีน" ใน รพ.ศูนย์-รพ.ทั่วไปทุกแห่ง 1 ก.พ. 2559 แนะ 4 วิธีรักษา ทำท่าฤาษีดัดตน นวด พอกยา และทานยา ด้านแพทย์แผนจีนฟุ้งฝังเข็มเป็นมาตรฐานการรักษาที่สากลยอมรับ
วันนี้ (28 ธ.ค.) นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวเปิดคลินิกพิเศษรับปีใหม่ รักษาอาการปวดเข่าผู้สูงอายุ ว่า ปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากความเสื่อมของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น โดยพบว่าผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมีภาวะข้อเข่าเสื่อมเกิน 50% และการมีน้ำหนักตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าคนไทย 25% มีดัชนีมวลกายสูงกว่าเกณฑ์ ทำให้น้ำหนักตัวกดลงบนหัวเข่าเป็นหลัก โดยคนที่มีดัชนีมวลกายเกินกว่าเกณฑ์ และอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีภาวะข้อเข่าเสื่อมถึง 40% มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ปัญหาหนึ่งคือเมื่อเกิดอาการปวดเข่าคนก็มักจะไม่ไปเคลื่อนไหว ซึ่งตรงนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง ทำให้อาการยิ่งแย่ เพราะหากมีการเคลื่อนไหวเข่าจะช่วยให้กล้ามเนื้อเข่าแข็งแรง และมักพบว่ามีการซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งยามีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาหลายด้าน
"กรมฯ จึงขอแนะนำให้ประชาชนได้ใช้ศาสตร์การรักษาที่ถือว่ามีความปลอดภัย ซึ่งการดูแลรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม มีทั้งการรักษาด้วยยาสมุนไพร การนวดไทย และการฝังเข็มแบบจีน โดยขณะนี้มีการเปิดคลินิกรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมครบทั้ง 3 รูปแบบที่โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานยศเส และที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ โดยวันที่ 1 ก.พ. 2559 จะเปิดให้บริการดังกล่าวได้ที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง ส่วนโรงพยาบาลชุมชนที่จะให้บริการฝังเข็มแบบจีนได้มีอยู่ประมาณ 20%" นพ.สุริยะ กล่าว
นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมมี 4 วิธี ได้แก่ 1.การใช้ท่าฤาษีดัดตน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน มี 4 ท่าคือ ท่าดำรงกายอายุยืน ท่าแก้ไหล่ ขา และแก้เข่า ขา ท่าแก้กล่อนและแก้เข่าขัด และท่าแก้ลมเลือดนัยน์ตามัวและแก้ลมอันรัดทั้งตัว 2.การนวด ช่วยทำให้กล้ามเนื้อข้อเข่าที่เสื่อมไปแล้วเกิดความแข็งแรงและกระชับขึ้น 3.การพอกยา เป็นศาสตร์หมอพื้นบ้านเดิมที่นำมาประยุกต์ใช้ ซึ่งได้ผลดี ส่วนประกอบหลักมี 3 ตัว คือ ไพล ช่วยบรรเทาอาการปวดได้เป็นอย่างดี ไม่กัดกระเพาะ ดองดึง ลดการปวดบวมได้ดี และพลับพลึง ช่วยแก้อาการอักเสบ โดยนำสมุนไพรทั้ง 3 ตัวมาผสมกันจากนั้นนำไปหมักกับเหล้าและนำมาพอกบริเวณเข่าประมาณ 10-15 นาที จะช่วยลดอาการปวดได้ ควรพอกประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ทั้งนี้ ช่วง ก.พ.2559 จะมีการทำยาพอกออกมาจำหน่ายด้วย ซึ่งมีสรรพคุณในการรักษากลุ่มผู้ป่วยรูมาตอยด์ และอาการอักเสบบวมแดงตามข้อได้ด้วย และ 4.การรับประทานยา คือเถาวัลย์เปรียง เป็นยาเดี่ยวที่มีงานวิจัยรองรับ ช่วยลดอาการปวด บวม อักเสบ ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน สามรถใช้แทนยาแก้อักเสบในท้องตลาด ไม่มีผลต่อไต และยาสหัสธารา ซึ่งมีจำหน่ายในรูปแบบแคปซูล
นพ.ธวัช บูรณถาวรสม ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ไทย-จีน กล่าวว่า ส่วนการฝังเข็มตามศาสตร์แพทย์แผนจีน มีงานวิจัยระดับนานาชาติและองค์การอนามัยโลกยืนยันว่าสามารถรักษาอาการปวดและเสื่อมของข้อเข่าได้ ขณะที่สมาคมรูมาติกสหรัฐอเมริกาก็มีการทบทวนงานวิจัยและประกาศว่าการฝังเข้มสามารถช่วยลดการปวดและความฝืดของข้อได้ และยอมรับว่าเป็นมาตรฐานการรักษาอย่างหนึ่งที่นำมาใช้ร่วมหรือใช้แทนแพทย์แผนปัจจุบันได้ เนื่องจากการฝังเข็มสมองส่วนที่ระงับความเจ็บปวดและกระตุ้นสารเคมีในร่างกายให้ระงับการอักเสบของข้อได้ ปัจจุบันมีการสอนวิธีการฝังเข็มให้กับแพทย์แผนปัจจุบันและสามารถฝังเข็มได้แล้ว 1,600 คน โดยการฝังเข็มรักษาข้อเข่าเสื่อมได้รับความนิยมเป็นอันดับ 3 ของการรักษาด้วยการฝังเข็มทั้งหมด
ท่าฤาษีดัดตนที่ช่วยแก้อาการเข่าและสามารถทำเองได้ที่บ้าน มี 4 ท่าด้วยกัน ดังนี้
1.ท่าดำรงกายอายุยืน
ท่าเตรียม สูดลมหายใจให้ลึกที่สุดพร้อมกับออกแรงดันมือข้างซ้ายที่ยื่นออกไป ต้านกับการดึงบริเวณนิ้วมือข้างขวาเข้าหาตัว โดยแขนทั้งสองข้างเหยียดตึง กลั้นลมหายใจไว้สักครู่
ท่าบริหาร สูดลมหายใจเข้าให้ลึกที่สุด พร้อมกับย่อตัวลงช้าๆ กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ พร้อมกับแขม่วท้องขมิบก้น จากนั้นผ่อนลมหายใจออกพร้อมกับค่อยๆ ยืดตัวให้กลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง
2.ท่าแก้ไหล่ ขา และแก้เข่า ขา
ท่าเตรียม ยืนก้าวขาข้างซ้ายเฉียงออกไปทางซ้าย มือข้างเดียวกันวางแนบหน้าขา มือขวาเท้าอยู่บนสะโพกในลักษณะคว่ำมือ สันมือดันสะโพก ปลายมือเฉียงไปทางด้านหลัง
ท่าบริหาร สูดลมหายใจเข้าให้ลึกที่สุด พร้อมกับค่อยๆ ย่อตัว ทิ้งน้ำหนักลงไปบนขาข้างซ้ายที่ก้าวออกไป ขณะย่อตัวค่อยๆ บิดตัวหันหน้าไปทางด้านขวาช้าๆ โดยขาซ้ายจะย่อ ขาขวาจะตึง กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ พร้อมกับกดเน้นเส้นมือที่เท้าอยู่บนสะโพก จากนั้นผ่อนลมหายใจออก พร้อมกับค่อยๆ เปลี่ยนกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำเช่นเดิม แต่เปลี่ยนจากก้าวขาข้างขวา ทำสลับกันซ้ายขวานับเป็น 1 ครั้ง ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง
3.ท่าแก้กล่อนและแก้เข่าขัด
ท่าเตรียม นั่งเหยียดขาทั้งสองข้าง เท้าชิดกัน มือทั้งสองข้างวางไว้บริเวณหน้าขา หน้าตรง หลังตรง
ท่าบริหาร สูดลมหายใจเข้าให้ลึกที่สุดพร้อมกับใช้มือทั้งสองข้างนวดตั้งแต่ต้นขาต่อเนื่องไปจนถึงปลายเท้า ใช้มือจับปลายเท้าและก้มหน้าให้มากที่สุด กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ จากนั้นผ่อนลมหายใจออกพร้อมกับคลายมือจากปลายเท้า นวดจากข้อเท้ากลับขึ้นมาจนถึงต้นขา
4.ท่าแก้ลมเลือดนัยน์ตามัว และแก้ลมอันรัดทั้งตัว
ท่าเตรียม นอนคว่ำขาทั้งสองข้างเหยียดตรง ส้นเท้าชิดกัน มือทั้งสองข้างประสานกัน วางบนพื้นในระดับคาง
ท่าบริหาร สูดลมหายใจเข้าให้ลึกที่สุด พร้อมกับยกศีรษะขึ้นเต็มที่ งอขาทั้งสองข้างให้หลายเท้างุ้มชี้มาทางส่วนหลังให้มากที่สุด ส่วนของมือ หน้าท้อง และหน้าขาให้แนบพื้น เข่าชิดกัน กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ จากนั้นผ่อนลมหายใจออกพร้อมกับลดศีรษะ และขาทั้งสองข้างกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่