xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : สุข คือโอกาส ทุกข์ คือแบบฝึกหัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความสุขเป็นเรื่องใหญ่สำคัญอย่างยิ่ง เหมือนว่าทุกคนจะถือเป็นจุดหมายของชีวิต

แต่ตามปกติหายากที่จะได้ยินใครพูดว่าเขามีชีวิตที่มีความสุข นอกจากพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ซึ่งกล่าวออกมาชัดเจน เหมือนเป็นคำประกาศว่า “สุสุขํ วต ชีวาม” - “เรามีชีวิตเป็นสุขนักหนอ”

ผู้ที่สนทนากับพระพุทธเจ้า ยอมรับว่าพระองค์ทรงมีความสุขยิ่งกว่าองค์พระราชามหากษัตริย์

เรื่องเกี่ยวกับความสุขนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้มากมาย ทั้งประเภทและระดับของความสุข ที่มีมากหลาย ทั้งข้อดีข้อเสียของความสุขต่างประเภทต่างระดับเหล่านั้น ตลอดจนวิธีปฏิบัติต่อความสุขความทุกข์ ให้ได้แต่คุณ โดยไม่เกิดผลร้าย

ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความสุขนั้นน่าสนใจ แต่หลักที่น่ารู้ไว้ก่อนแต่ต้น คือ วิธีปฏิบัติต่อความสุข (รวมทั้งต่อความทุกข์) ที่ตรัสไว้ ๔ ข้อ คือ

๑. ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่มิได้ถูกทุกข์บีบเค้น
๒. ไม่ละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม
๓. ไม่สยบหมกมุ่น(แม้แต่)ในความสุขที่ชอบธรรมนั้น
๔. เพียรพยายามทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป (โดยนัยคือเพียรปฏิบัติให้ลุถึงสุขที่ประณีตขึ้นไปจนสูงสุด)


ขอโอกาสไว้ก่อนว่า เรื่องนี้ขนาดรวบรัด ก็จะพูดยาวที่สุด (สาระของเรื่องนี้ใหญ่ครอบคลุมพระพุทธศาสนาทั้งหมด)

ข้อที่ ๑ ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่ได้โดนทุกข์ ตามเรื่องเดิมพระพุทธเจ้าตรัสสนทนากับพวกนิครนถ์ จึงเน้นไปที่การบำเพ็ญตบะของเขา คือการทรมานตัวเอง เช่น โกนศีรษะ แทนที่จะใช้มีดโกน ก็ถอนผมทีละเส้น จะนอนก็ใช้เตียงหนามหรือติดตะปูไว้ทิ่มแทงตัว

ถ้าดูที่คนทั่วไป ก็เช่นคนที่นั่งนอนอยู่ดีๆ ไม่มีใครมาทำร้ายตัวเลย ก็เก็บเอาอาการกิริยาและถ้อยคำที่ขัดตาขัดหูจากคนโน้นคนนี้มาคิดปรุงแต่งไปต่างๆ ให้หงุดหงิดขัดเคืองใจทำร้ายตัวเอง

ที่ตื้นกว่านั้น ก็อย่างคนดื่มสุราอัดยาเสพติด ทั้งที่ตัวเองก็เป็นปกติดีอยู่ กลับไปเอาสารที่ร่างกายไม่ได้ต้องการ แถมมีพิษภัยเป็นโทษต่อชีวิตร่างกายมาก สมัครใจเองเอามันมาใส่เข้าไปในร่างกาย แล้วก็ทำลายสุขภาพและคุณภาพของตัวเองเหมือนกับโดยตั้งใจ และโดยเต็มใจ

ตัวอย่างอื่นยังอีกเยอะ เช่น คนขับรถซิ่ง หรือคนทำอะไรเสี่ยงๆ โดยไม่มีเหตุผล เป็นต้น มีมาก

แต่ในขั้นลึก ปุถุชนทั่วไปนี่แหละมักเอาทุกข์มาใส่ตัวอยู่เรื่อย หมายความว่า เป็นธรรมดาของสังขารที่ว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ผันแปรไป เป็นอนัตตา เรารู้ทันความจริง เราก็ดำเนินชีวิตให้ดี ทุกข์ตามธรรมชาติก็มีของมันไป เราก็ไม่เอามันเข้ามาเป็นทุกข์ที่จะทับถมตัวเรา เราก็โล่งเบาไปขั้นหนึ่ง

แต่นี่ตรงข้าม คนมักปฏิบัติไม่ถูกต้อง ไม่เอาปัญญาที่รู้เท่าทันมารักษาตัวให้เป็นอิสระไว้ จึงเอาทุกข์ที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้น มาปรุงแต่งเป็นทุกข์ในใจของตัว กลายเป็นเอาทุกข์มาทับถมตนเองกันมากมาย

แม้แต่โลกธรรมทั้งหลาย ถ้าเราเอาปัญญาที่รู้เท่าทันมาวางใจให้ถูกต้อง แทนที่จะบอบชํ้าหรือเสียหาย ก็สามารถเอาประโยชน์จากมันได้

เริ่มต้นก็มองเป็นประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้ว่า อ้อ นี่เราได้เห็นแล้วไง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เราอยู่ในโลกจะต้องเจอโลกธรรมเป็นธรรมดา เราก็เจอจริงๆ ความจริงมันก็เป็นอย่างนี้เอง เราได้เห็น ได้รู้แล้ว

เมื่อมองเป็นประสบการณ์สำหรับศึกษา เราก็เริ่มวางใจต่อมันถูกต้อง ตั้งหลักได้ ไม่ไปรับกระทบเอามาเป็นทุกข์ข้างในทับถมใจตัวเอง

ยิ่งกว่านั้น เราก้าวต่อไป โดยคิดจะฝึกตนเอง พอทำใจว่าจะฝึกตัว เราจะมองทุกอย่างในแง่มุมใหม่ เริ่มด้วยมองเป็นบททดสอบ คือทดสอบใจและทดสอบสติปัญญาความสามารถ ไม่ว่าดีหรือร้ายเข้ามา เราก็ได้ทุกที อย่างน้อยก็ทำให้เราเข้มแข็งยิ่งขึ้น ที่เหนือกว่านั้นก็ได้ฝึกฝน ได้พัฒนาตัวยิ่งขึ้นไป โดยใช้เป็นบทเรียน เป็นต้น

เฉพาะอย่างยิ่ง ทุกข์เป็นแบบฝึกหัด เป็นเครื่องฝึกสติ ฝึกปัญญา ฝึกการแก้ปัญหา เป็นต้น แม้แต่เคราะห์ ซึ่งเป็นโลกธรรมที่ร้าย ก็กลายเป็นโอกาสที่ตัวเราจะได้ฝึกฝนพัฒนา

ข้อที่ ๒ ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม อันได้แก่สุขที่เราควรได้ควรมีตามเหตุปัจจัย ซึ่งเรามีสิทธิ์ที่จะได้ เช่น ถ้าเป็นความสุขทางวัตถุ ก็เน้นที่ผลจากการประกอบอาชีพการงานด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม

พึงระวังมิให้สุขของเราเกิดมีโดยตั้งอยู่บนความทุกข์ของผู้อื่น ไม่ให้เป็นความสุขที่เบียดเบียน ก่อความเดือดร้อนแก่ใครๆ จึงจะเป็นความสุขที่ชอบธรรม เราสุข ผู้อื่นก็ไม่ทุกข์ ถ้าให้ดียิ่งกว่านั้น ก็ให้เป็นสุขด้วยกัน เป็นสุขที่เผื่อแผ่ ซึ่งช่วยให้เกิดความสุขขยายกว้างขวางออกไป

คนเรานี้จะต้องรู้จักพัฒนาความสุข ไม่ใช่ว่าชอบความสุข อยากมีมันนัก แต่ขาดความรู้เข้าใจ ไม่รู้จักความสุขเลย ได้แค่อยู่อย่างพร่ามัวกับความยึดถือด้วยโมหะในภาวะอย่างหนึ่งว่าเป็นความสุข แล้วก็ใช้เวลาทั้งชีวิตตะเกียกตะกายวิ่งไล่ไขว่คว้าไม่ทันถึงความสุขนั้น ชีวิตก็จบไปก่อน

โดยวิธีพูดอย่างหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนา การพัฒนาความสุขนั่นแหละ คือ การศึกษา

กรรมที่เรียกว่า “การปฏิบัติธรรม” จึงก้าวไปในสุข และผ่านความสุขต่างๆ หลายแบบ และหลายขั้นหลายระดับ ดังที่ท่านจัดแบ่งไว้นานานัย

ขอรวบรัดไว้ที่นี้เป็นสุข ๓ คือ ๑. สุขแบบแข่งแย่งหรือชิงกัน ๒. สุขแบบประสาน หรือสุขด้วยกัน และ ๓. สุขแบบอิสระ

แม้แต่ผู้มีสุขที่ไม่ตั้งอยู่บนความทุกข์ของผู้อื่น ส่วนมากก็ยังอยู่ในขั้นมีสุขแบบแข่งแย่งหรือชิงกัน ซึ่งโดยทั่วไปเป็นความสุขเนื่องด้วยวัตถุอันจะต้องได้ต้องเอา

ถ้าเขาได้เราก็เสีย ถ้าเราได้เขาก็เสีย ถ้าเขาสุขเราก็ทุกข์ ถ้าเราสุขเขาก็ทุกข์ พอเราได้มาเราสุข คนอื่นเสียหรืออด เขาก็ทุกข์ แต่พอเขาได้เราเสียเราอด เขาสุขเราก็ทุกข์ เป็นความสุขที่ไม่เอื้อกันยังก่อปัญหา

เมื่อพัฒนาจิตใจขึ้นไป พอมีความรักแท้ คือเมตตา ที่ต้องการให้คนอื่นเป็นสุข เราก็เริ่มมีความสุขแบบประสาน คือ เราทำให้เขาสุข เราก็สุขด้วย

เหมือนความรักของพ่อแม่ ที่อยากให้ลูกเป็นสุข แล้วก็พยายามทำอะไรๆ เพื่อให้ลูกเป็นสุข และมีความสุขเมื่อเห็นลูกเป็นสุข

เมื่อเราพัฒนาจิตใจ โดยแผ่ขยายเมตตาหรือธรรมอื่น เช่น ศรัทธา เราก็มีความสุขเพิ่มขึ้น โดยที่คนอื่นก็มีความสุขด้วย เป็นความสุขจากการให้ ที่เจริญในธรรม ซึ่งทำให้โลกมีสันติสุข เริ่มตั้งแต่ในครอบครัวไปเลย

นี่พูดพอเป็นแนว ในเรื่องการพัฒนาความสุข ซึ่งจะต้องก้าวต่อไป ในความสุขที่ชอบธรรม ขึ้นไปจนถึงความสุขที่เป็นอิสระ อันบรรจบเป็นจุดหมายของวิธีปฏิบัติต่อความสุขที่ครบตลอดทั้งสี่ข้อ

ข้อที่ ๓ ไม่สยบมัวเมาในความสุขแม้ที่ประณีต แม้ว่าความสุขที่ชอบธรรมนั้น เรามีสิทธิ์เสพ ไม่ต้องไปสละละทิ้ง แต่ท่านก็ให้ระวัง เพราะแม้แต่ในการเสพความสุขที่ชอบธรรมนั้น เราก็อาจปฏิบัติผิดได้

จุดพลาดอยู่ตรงที่ว่า เราเสวยสุขชอบธรรมที่เรามีสิทธิ์เสพนี่แหละ แต่ถ้าเราเกิดไปติดเพลินหลงมัวเมา ความสุขก็จะกลับกลายเป็นปัจจัยของความทุกข์ และทำให้เกิดโทษได้ ข้อสำคัญคือ ทำให้เกิดความประมาท

“สุข”
แปลว่า คล่อง ง่าย สะดวก เมื่อมีสุข จะทำอะไรก็ทำได้ง่าย ได้คล่อง ได้สะดวก ความสุขจึงเป็นโอกาส มีอะไรควรทำก็รีบทำ จะได้ผลมาก ดังนั้น ยามสุข เมื่อเราไม่ประมาท ก็ทำการดีงาม สร้างสรรค์ได้มากที่สุด

ความสุขก็เป็นโลกธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอนิจจัง เกิด-ดับ มี-หมด กลับกลายได้ ถ้าเรารู้ทันความจริง และไม่ประมาท เมื่อโชคหรือโลกธรรมที่ดีมีมา เราเป็นสุข เราก็ใช้โชค เช่น ลาภ ยศ เป็นเครื่องมือเพิ่มพูนแผ่ขยายความสุข

เราใช้มันทำความดีช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ทำให้ความสุขขยายจากตัวเรา แผ่กว้างออกไปสู่ผู้คนมากมายในโลก

นี่ก็คือ ใช้ความสุขเป็นโอกาสสร้างสรรค์แผ่ขยายความสุข

ข้อที่ ๔ เพียรทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป คือพัฒนาความสุขที่ประณีตและสูงยิ่งๆขึ้นไป จนถึงภาวะไร้ทุกข์ หรือบรมสุข

ความสุขทุกระดับที่พูดมา เป็นสุขสัมพัทธ์ ยังมีเชื้อทุกข์ ผันผวนผกผันได้ ท่านจึงให้ปฏิบัติอย่างที่ว่ามาแล้ว
คือไม่ติดเพลิน แม้แต่ในสุขที่ชอบธรรม คือให้ไม่ประมาท เพื่อจะได้ก้าวต่อไป นั่นก็คือ ให้พัฒนาการมีความสุขต่อไป จนถึงความสุขสูงสุด

ความสุขสูงสุด ก็คือความสุขที่ไม่เหลือเชื้อแห่งทุกข์ จึงเรียกว่าบรมสุข ก็คือภาวะไร้ทุกข์นั่นเอง ซึ่งย่อมถึงได้ด้วยการทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป อันเป็นวิธีปฏิบัติข้อ ๔ ที่เป็นสุดท้ายนี้

นี่คือสุขแท้ของจิตที่เป็นอิสระ ซึ่งเกิดจากปัญญาสว่างแจ้ง อันเป็นความสุขเต็มอิ่ม ที่มีประจำอยู่ในตัวตลอดทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องแสวงหาอีกต่อไป

สำหรับบุคคลเช่นนี้ ชีวิตที่เป็นอยู่ก็ดำเนินด้วยปัญญา ที่ทำการไปให้ทันกันถึงกันกับกระบวนแห่งเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ผลดีที่สุด ส่วนในจิตใจก็มีความรู้ทั่วทันเป็นอิสระ อิ่มเต็มด้วยความสุข

(จากหนังสือมองธรรมถูกทาง มีสุขทุกที่)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 181 มกราคม 2559 โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)
กำลังโหลดความคิดเห็น