ท่านผู้อ่านครับ คนเราต้องหายใจกันทุกคน ทุกเวลานาที คนที่ไม่หายใจคือคนตาย คนโบราณเชื่อว่า ในลมหายใจมีพลังชีวิตช่วยให้เรามีแรงทำงานทำการ สามารถประกอบกิจการงานต่างๆได้ ถ้าขาดพลังชีวิตเราก็จะเป็นโรค ไม่มีเรี่ยวแรง
คนโบราณเรียกชื่อพลังชีวิตต่างกันออกไป คนอินเดียเรียกว่า “ปราณ (Prana)” คนจีนเรียกว่า “ชี่ (Qi)” คนอินเดียมีการฝึกหายใจให้มีสุขภาพดี เรียกว่า “ปราณยามา (Pranayama)” คนจีนก็จะฝึก “ชี่กง (Qi-gong)” นั่นเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณเมื่อสามพันปีก่อน
ปัจจุบัน เรามีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ เราก็รู้ว่าในอากาศมีออกซิเจน ซึ่งร่างกายจำเป็นต้องใช้ในขบวนการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน ออกซิเจนเป็นสิ่งสำคัญต่อการมีสุขภาพดี นักสุขศึกษาจึงแนะนำให้อยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ (หลักสุขภาพ 5 อ. อาหาร อากาศ ออกกำลังกาย อารมณ์ อุจจาระ)
การฝึกหายใจเป็นส่วนสำคัญของวิชาโยควิทยาของคนฮินดูแต่โบราณ เขาพบว่านอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันโรคได้แล้ว ยังทำให้มีสุขภาพจิตดีด้วย จิตจะเป็นสมาธิ ซึ่งคนฮินดูเชื่อว่า ถ้าทำสมาธิให้ลึกมากจนถึงระดับฌาน ก็จะบรรลุไกวัลย์ ไปรวมกับพรหมสากล ซึ่งเขาถือว่าหลุดพ้นจากการเวียนเกิดเวียนตายแล้ว
พระพุทธเจ้าก็เคยผ่านการฝึกจนถึงขั้นนี้มาแล้วจากอาฬารดาบส และอุทกดาบส อาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น แต่พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ จึงกราบลาอาจารย์ และทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตด้วยพระองค์เอง ที่ใต้ต้นโพธิ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา (พุทธคยาในปัจจุบัน) โดยฝึกการเจริญสติกับลมหายใจ จนกระทั่งในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ทรงตรัสรู้ในยามที่ 3 สามารถทำลายอาสวกิเลส ไม่ต้องเกิดอีก สิ้นสุดการเดินทางอันยาวนานในสังสารวัฏ
ท่านผู้อ่านครับ แพทย์แผนปัจจุบันสมัยนี้ ก็สนใจเรื่องลมหายใจเหมือนกัน ได้มีการศึกษาประโยชน์ของการฝึกหายใจมานาน จนพบว่า ถ้าเราหายใจลึกๆช้าๆ จะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติอยู่ในภาวะสมดุล นั่นหมายความว่า ทำให้ความเครียดลดลงได้ จิตสงบมากขึ้น ความดันโลหิตลดลง อุณหภูมิกายลดลง การเต้นของหัวใจช้าลง การเผาผลาญพลังงานในร่างกายลดลง
ดังนั้น ถ้าเราฝึกการหายใจทุกวัน โรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งล้วนมีความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน โรคมะเร็ง เป็นต้น ก็จะทำให้โรคทั้งหลายเหล่านี้ดีขึ้น
มีการศึกษาพบว่า การหายใจให้ช้าประมาณ 6 ครั้งต่อ 30 วินาที เป็นระยะสั้นๆ สามารถลดความดันโลหิตลงได้ 3.4-3.9 มิลลิเมตรปรอท เมื่อเทียบกับการนั่งพักนิ่งๆในคลินิก ดังนั้น การฝึกหายใจช้าๆ เป็นประจำทุกวันในระยะยาว จะช่วยลดความดันโลหิตลงได้ เพราะการหายใจช้าจะทำให้เกิดความสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้การกระตุ้นประสาท sympathetic ลดลง นั่นเอง
ในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ผสมผสานและสุขภาพองค์รวมของสหรัฐอเมริกา พบว่า วิธีการแพทย์ผสมผสานที่นิยมใช้มากที่สุดในขณะนี้ 10 อันดับแรกของเขานั้น การฝึกหายใจได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 (www.nccih.nih.gov)
การหายใจช้า เราสามารถฝึกได้ด้วยตนเองครับ เพราะเรามีลมหายใจของเราเอง ไม่ต้องซื้อหามาจากไหน มันเป็นยารักษาโรคที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง วิธีฝึกง่ายๆ มีดังนี้ครับ
นั่งลำตัวตั้งตรง วางไหล่ผ่อนคลาย สูดลมหายใจเข้าช้าๆยาวๆ อย่างนุ่มนวล ท้องค่อยๆพองขึ้นตามลมไปด้วย เมื่อสุดแล้วหายใจต่ออีกเล็กน้อย พร้อมกับยกทรวงอกขึ้นตาม กลั้นลมหายใจไว้ นับ 1-5 ในใจ เสร็จแล้วค่อยๆผ่อนลมหายใจออกช้าๆ จนลมหมด แล้วสูดลมหายใจเข้าใหม่ ทำเช่นนี้ติดต่อกัน 5 นาที แล้วพัก จากนั้นเริ่มฝึกใหม่
ที่สำคัญคือ อย่าใช้ความพยายามมากเกินไป หรือเอาจริงเอาจังมากเกินไป เพราะจะทำให้เหนื่อย ต้องทำแบบสบายๆ วันละ 10-20 นาทีก็พอ แล้วนั่งพักหายใจธรรมดา แบบนั่งสมาธิเล็กน้อยก็ใช้ได้ โดยทำวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน แบบนี้ก็รักษาโรคความดันได้แล้วครับ
ท่านผู้อ่านครับ ที่อเมริกาพวกบริษัทเครื่องมือแพทย์เขาเห็นช่องทางทำธุรกิจ จึงผลิตเครื่องช่วยฝึกการหายใจ ให้คนไข้โรคความดันโลหิตสูง นำไปฝึกด้วยตนเองที่บ้าน แต่ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งซื้อจากห้องยา อันละประมาณ 6,000 บาท ในอังกฤษพวกมีประกันสังคมก็เบิกไปใช้ฟรี
ต่อมาสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้ใช้เครื่องช่วยการฝึกการหายใจให้ช้า เพื่อลดความดันโลหิตสูง เนื่องจากมีการประเมินผลแล้ว ซึ่งสามารถวางจำหน่ายตามร้านขายสินค้าสุขภาพทั่วไป(www.resperate.com)
เครื่องมือนี้ประกอบด้วยสายรัดรอบทรวงอก และมีสายต่อเข้าเครื่อง เพื่อควบคุมอัตราการหายใจ ตัวเครื่องให้ผู้ป่วยถือไว้ดูอัตราการหายใจของตนเอง หูฟังเพลงเพื่อให้จังหวะหายใจเข้าออก เวลาฝึกสวมไว้บนศีรษะ ให้ผู้ป่วยเปิดเครื่องและหายใจตามจังหวะเพลง ซึ่งสามารถทำด้วยตัวเองง่ายๆ
ปี 2013 คณะกรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจ สหรัฐอเมริกา ได้ทำการประเมินงานวิจัย ซึ่งใช้เครื่องมือนี้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 13 รายงาน จำนวนผู้ป่วย 608 ราย เป็นชายร้อยละ 55 อายุเฉลี่ย 57 ปี ร้อยละ 77 ได้รับการรักษาด้วยยา ความดันเฉลี่ย 150/89 มิลลิเมตรปรอท ร้อยละ 9 ความดันต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร้อยละ 23 ความดันมากกว่า 160/100 มิลลิเมตรปรอท ใช้ฝึกเป็นเวลา 8-9 สัปดาห์ ค่าความดันลดลง 13/7 ในกลุ่มที่ใช้เครื่องมือนี้ และ 9/4 ในกลุ่มเปรียบเทียบ ดังนั้น ค่าที่แท้จริงคือลดลง 4/3 มิลลิเมตรปรอท
นอกจากนั้นยังพบว่า การลดลงจะเกิดขึ้นหลังผู้ป่วยฝึกไปแล้ว 15 นาที และความดันจะลดลงหลังจากผู้ป่วยนำไปใช้เองที่บ้านและวัดความดันเองแล้ว 1-2 สัปดาห์ และคนที่มีความดันสูงมากจะเห็นผลชัดเจนกว่า
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในขณะนี้พบว่า การลดลงขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น เพศ วัย การกินยาลดความดัน ดังนั้น ยังต้องมีจำนวนผู้ป่วย และข้อมูลจำเพาะของผู้ป่วยให้มากกว่านี้ ซึ่งเขากำลังทดลองกันต่อไป
ท่านผู้อ่านครับ ถ้าเราไม่ค่อยมีตังค์ ก็ไม่ต้องไปซื้อหามาใช้หรอกครับ เราฝึกเองดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ได้ผลเหมือนกัน การฝึกหายใจช้าๆ ลึกๆ ยังได้ประโยชน์อีกมาก อย่างเช่น ใช้เวลาที่รอคิวนานๆ แก้หงุดหงิด ใช้ลดความเครียดในที่ทำงาน ใช้ก่อนนอนเพื่อให้หลับง่ายขึ้น ดีกว่าอยู่เปล่าๆ แล้วหายใจทิ้งไปทุกวันๆ เสียดายแย่ครับ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 181 มกราคม 2559 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
คนโบราณเรียกชื่อพลังชีวิตต่างกันออกไป คนอินเดียเรียกว่า “ปราณ (Prana)” คนจีนเรียกว่า “ชี่ (Qi)” คนอินเดียมีการฝึกหายใจให้มีสุขภาพดี เรียกว่า “ปราณยามา (Pranayama)” คนจีนก็จะฝึก “ชี่กง (Qi-gong)” นั่นเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณเมื่อสามพันปีก่อน
ปัจจุบัน เรามีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ เราก็รู้ว่าในอากาศมีออกซิเจน ซึ่งร่างกายจำเป็นต้องใช้ในขบวนการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน ออกซิเจนเป็นสิ่งสำคัญต่อการมีสุขภาพดี นักสุขศึกษาจึงแนะนำให้อยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ (หลักสุขภาพ 5 อ. อาหาร อากาศ ออกกำลังกาย อารมณ์ อุจจาระ)
การฝึกหายใจเป็นส่วนสำคัญของวิชาโยควิทยาของคนฮินดูแต่โบราณ เขาพบว่านอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันโรคได้แล้ว ยังทำให้มีสุขภาพจิตดีด้วย จิตจะเป็นสมาธิ ซึ่งคนฮินดูเชื่อว่า ถ้าทำสมาธิให้ลึกมากจนถึงระดับฌาน ก็จะบรรลุไกวัลย์ ไปรวมกับพรหมสากล ซึ่งเขาถือว่าหลุดพ้นจากการเวียนเกิดเวียนตายแล้ว
พระพุทธเจ้าก็เคยผ่านการฝึกจนถึงขั้นนี้มาแล้วจากอาฬารดาบส และอุทกดาบส อาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น แต่พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ จึงกราบลาอาจารย์ และทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตด้วยพระองค์เอง ที่ใต้ต้นโพธิ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา (พุทธคยาในปัจจุบัน) โดยฝึกการเจริญสติกับลมหายใจ จนกระทั่งในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ทรงตรัสรู้ในยามที่ 3 สามารถทำลายอาสวกิเลส ไม่ต้องเกิดอีก สิ้นสุดการเดินทางอันยาวนานในสังสารวัฏ
ท่านผู้อ่านครับ แพทย์แผนปัจจุบันสมัยนี้ ก็สนใจเรื่องลมหายใจเหมือนกัน ได้มีการศึกษาประโยชน์ของการฝึกหายใจมานาน จนพบว่า ถ้าเราหายใจลึกๆช้าๆ จะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติอยู่ในภาวะสมดุล นั่นหมายความว่า ทำให้ความเครียดลดลงได้ จิตสงบมากขึ้น ความดันโลหิตลดลง อุณหภูมิกายลดลง การเต้นของหัวใจช้าลง การเผาผลาญพลังงานในร่างกายลดลง
ดังนั้น ถ้าเราฝึกการหายใจทุกวัน โรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งล้วนมีความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน โรคมะเร็ง เป็นต้น ก็จะทำให้โรคทั้งหลายเหล่านี้ดีขึ้น
มีการศึกษาพบว่า การหายใจให้ช้าประมาณ 6 ครั้งต่อ 30 วินาที เป็นระยะสั้นๆ สามารถลดความดันโลหิตลงได้ 3.4-3.9 มิลลิเมตรปรอท เมื่อเทียบกับการนั่งพักนิ่งๆในคลินิก ดังนั้น การฝึกหายใจช้าๆ เป็นประจำทุกวันในระยะยาว จะช่วยลดความดันโลหิตลงได้ เพราะการหายใจช้าจะทำให้เกิดความสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้การกระตุ้นประสาท sympathetic ลดลง นั่นเอง
ในเว็บไซต์ของสถาบันการแพทย์ผสมผสานและสุขภาพองค์รวมของสหรัฐอเมริกา พบว่า วิธีการแพทย์ผสมผสานที่นิยมใช้มากที่สุดในขณะนี้ 10 อันดับแรกของเขานั้น การฝึกหายใจได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 (www.nccih.nih.gov)
การหายใจช้า เราสามารถฝึกได้ด้วยตนเองครับ เพราะเรามีลมหายใจของเราเอง ไม่ต้องซื้อหามาจากไหน มันเป็นยารักษาโรคที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง วิธีฝึกง่ายๆ มีดังนี้ครับ
นั่งลำตัวตั้งตรง วางไหล่ผ่อนคลาย สูดลมหายใจเข้าช้าๆยาวๆ อย่างนุ่มนวล ท้องค่อยๆพองขึ้นตามลมไปด้วย เมื่อสุดแล้วหายใจต่ออีกเล็กน้อย พร้อมกับยกทรวงอกขึ้นตาม กลั้นลมหายใจไว้ นับ 1-5 ในใจ เสร็จแล้วค่อยๆผ่อนลมหายใจออกช้าๆ จนลมหมด แล้วสูดลมหายใจเข้าใหม่ ทำเช่นนี้ติดต่อกัน 5 นาที แล้วพัก จากนั้นเริ่มฝึกใหม่
ที่สำคัญคือ อย่าใช้ความพยายามมากเกินไป หรือเอาจริงเอาจังมากเกินไป เพราะจะทำให้เหนื่อย ต้องทำแบบสบายๆ วันละ 10-20 นาทีก็พอ แล้วนั่งพักหายใจธรรมดา แบบนั่งสมาธิเล็กน้อยก็ใช้ได้ โดยทำวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน แบบนี้ก็รักษาโรคความดันได้แล้วครับ
ท่านผู้อ่านครับ ที่อเมริกาพวกบริษัทเครื่องมือแพทย์เขาเห็นช่องทางทำธุรกิจ จึงผลิตเครื่องช่วยฝึกการหายใจ ให้คนไข้โรคความดันโลหิตสูง นำไปฝึกด้วยตนเองที่บ้าน แต่ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งซื้อจากห้องยา อันละประมาณ 6,000 บาท ในอังกฤษพวกมีประกันสังคมก็เบิกไปใช้ฟรี
ต่อมาสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้ใช้เครื่องช่วยการฝึกการหายใจให้ช้า เพื่อลดความดันโลหิตสูง เนื่องจากมีการประเมินผลแล้ว ซึ่งสามารถวางจำหน่ายตามร้านขายสินค้าสุขภาพทั่วไป(www.resperate.com)
เครื่องมือนี้ประกอบด้วยสายรัดรอบทรวงอก และมีสายต่อเข้าเครื่อง เพื่อควบคุมอัตราการหายใจ ตัวเครื่องให้ผู้ป่วยถือไว้ดูอัตราการหายใจของตนเอง หูฟังเพลงเพื่อให้จังหวะหายใจเข้าออก เวลาฝึกสวมไว้บนศีรษะ ให้ผู้ป่วยเปิดเครื่องและหายใจตามจังหวะเพลง ซึ่งสามารถทำด้วยตัวเองง่ายๆ
ปี 2013 คณะกรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจ สหรัฐอเมริกา ได้ทำการประเมินงานวิจัย ซึ่งใช้เครื่องมือนี้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 13 รายงาน จำนวนผู้ป่วย 608 ราย เป็นชายร้อยละ 55 อายุเฉลี่ย 57 ปี ร้อยละ 77 ได้รับการรักษาด้วยยา ความดันเฉลี่ย 150/89 มิลลิเมตรปรอท ร้อยละ 9 ความดันต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร้อยละ 23 ความดันมากกว่า 160/100 มิลลิเมตรปรอท ใช้ฝึกเป็นเวลา 8-9 สัปดาห์ ค่าความดันลดลง 13/7 ในกลุ่มที่ใช้เครื่องมือนี้ และ 9/4 ในกลุ่มเปรียบเทียบ ดังนั้น ค่าที่แท้จริงคือลดลง 4/3 มิลลิเมตรปรอท
นอกจากนั้นยังพบว่า การลดลงจะเกิดขึ้นหลังผู้ป่วยฝึกไปแล้ว 15 นาที และความดันจะลดลงหลังจากผู้ป่วยนำไปใช้เองที่บ้านและวัดความดันเองแล้ว 1-2 สัปดาห์ และคนที่มีความดันสูงมากจะเห็นผลชัดเจนกว่า
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในขณะนี้พบว่า การลดลงขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น เพศ วัย การกินยาลดความดัน ดังนั้น ยังต้องมีจำนวนผู้ป่วย และข้อมูลจำเพาะของผู้ป่วยให้มากกว่านี้ ซึ่งเขากำลังทดลองกันต่อไป
ท่านผู้อ่านครับ ถ้าเราไม่ค่อยมีตังค์ ก็ไม่ต้องไปซื้อหามาใช้หรอกครับ เราฝึกเองดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ได้ผลเหมือนกัน การฝึกหายใจช้าๆ ลึกๆ ยังได้ประโยชน์อีกมาก อย่างเช่น ใช้เวลาที่รอคิวนานๆ แก้หงุดหงิด ใช้ลดความเครียดในที่ทำงาน ใช้ก่อนนอนเพื่อให้หลับง่ายขึ้น ดีกว่าอยู่เปล่าๆ แล้วหายใจทิ้งไปทุกวันๆ เสียดายแย่ครับ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 181 มกราคม 2559 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)