“ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย “ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง” ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นแนวคิดภายใต้การดำเนินมาตรการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้เป็นอย่างดี
จากการผลักดันโครงการมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูง (HEPs) ตั้งแต่ปี 2550-2558 ซึ่งได้ดำเนินการติด “ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง” ให้แก่ผู้ผลิต 8 ประเภท ได้แก่ เตาแก๊สความดันต่ำ, เตาแก๊สความดันสูง,กระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน, ฉนวนใยแก้ว, อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์, มอเตอร์เหนี่ยวนำสามเฟส, เครื่องยนต์แก๊สโซลีนขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก
พร้อมการมอบฉลากประสิทธิภาพสูงแก่ผู้ที่ผ่านเกณฑ์แล้วประมาณ 12 ล้านใบ หากคำนวณเป็นตัวเลขโดยประมาณ ส่งผลให้เกิดศักยภาพด้านการประหยัดพลังงาน 96 พันตัน หรือคิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท
เตาแก๊ส (ความดันต่ำ)
หรือเตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยการดำเนินการติดฉลากสำหรับเตาแก๊สความดันต่ำได้ติดฉลากกับเตาแก๊สที่ผ่านมาตรฐานการทดสอบและมีค่าประสิทธิภาพเชิงความร้อนตั้งแต่ร้อยละ 53 ขึ้นไป ประสิทธิภาพเชิงความร้อนหมายถึง พลังงานความร้อนที่นำไปใช้ในการประกอบอาหารต่อพลังงานความร้อนที่ใช้ของแต่ละเตา โดยประสิทธิภาพเชิงความร้อนยิ่งสูงยิ่งดี
ตัวอย่าง หากมีการใช้งานเตาแก๊สประสิทธิภาพสูงแทนการใช้เตาแก๊สธรรมดา 2 ชั่วโมงต่อวัน จะสามารถประหยัดแก๊สหุงต้มได้ 9.38 กิโลกรัมต่อปี คิดเป็นเงินการประหยัดพลังงานได้ 169 บาทต่อปี
เตาแก๊สความดันสูง
หรือเรียกว่า เตาหัวเขียว หรือเตาฟู่ เป็นเตาหุงต้มที่ใช้สำหรับร้านอาหารทั่วไป เหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องการความร้อนสูงในเวลาที่รวดเร็ว หรือการปรุงอาหารในภาชนะขนาดใหญ่ หลักการใช้เตาแก๊สความดันสูงให้มีประสิทธิภาพและให้ความร้อนสูงสุด คือ การทำให้แก๊สได้รับการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ โดยปรับหัวจ่ายแก๊สให้ได้เปลวไฟที่มีสีน้ำเงิน การใช้แผ่นกั้นลมเพื่อลดการสูญเสียความร้อนออกจากเตา และเลือกใช้เตาที่ได้รับฉลากประสิทธิภาพสูงซึ่งจะมีค่าประสิทธิภาพเชิงความร้อนตั้งแต่ร้อยละ 45 ขึ้นไป ซึ่งจะช่วยประหยัดแก๊สหุงต้มได้ประมาณร้อยละ 10 คิดเป็นค่าแก๊สหุงต้มที่ประหยัดได้ประมาณปีละ 1,200 บาท
อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์ให้เหมาะสมกับสภาวะโหลดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของมอเตอร์ ทำให้ประหยัดพลังงานได้ สำหรับค่าประสิทธิภาพของอุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ จะพิจารณาจากค่าประสิทธิภาพต้องเท่ากับหรือมากกว่า 95.0
ตัวอย่าง มอเตอร์ขนาด 7.5 kW ใช้งานวันละ 8 ชั่วโมง 300 วัน หากติดตั้งอุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์จะทำให้ประหยัดพลังงานได้ 1,800 kWh/ปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 5,400 บาทต่อปี
กระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
กระจกใช้เป็นส่วนประกอบของพนังด้านนอกของอาคารที่ช่วยในการอนุรักษ์พลังงานโดยการลดความร้อนจากรังสีอาทิตย์ที่ส่องผ่านกระจก ฉะนั้นกระจกจึงสามารถลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศได้ โดยได้กำหนดค่าประสิทธิภาพของกระจกดังนี้ 1) สามารถลดการส่งผ่านความร้อนจากภายนอกเข้าสู่อาคาร 2) สามารถรับแสงสว่างจากภายนอกได้ดี
ตัวอย่าง หากติดตั้งใช้งานกระจกประสิทธิภาพสูงในห้องที่มีพื้นที่ 30 ตารางเมตร เปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศประหยัดไฟเบอร์ 5 วันละ 6 ชั่วโมง 300 วัน จะทำให้ประหยัดพลังงานได้ 1,207 kWh/ปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 3,621 บาทต่อปี
ฉนวนใยแก้ว
ฉนวนใยแก้วเป็นวัสดุที่มีศักยภาพในการประหยัดพลังงาน โดยจะทำหน้าที่ป้องกันความร้อนจากภายนอกผ่านหลังคาเข้าสู่อาคาร ช่วยลดภาระการทำงานของเครื่องปรับอากาศได้ เกณฑ์สำหรับการให้ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงจะพิจารณาจากค่าความต้านทานความร้อน ต้องเท่ากับหรือมากกว่า 1.25 M2 .K/W หากติดตั้งใช้งานฉนวนใยแก้วในห้องที่มีพื้นที่ 28 ตารางเมตร เปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศประหยัดไฟเบอร์ 5 วันละ 6 ชั่วโมง 300 วัน จะทำให้ประหยัดพลังงานได้ 409.75 kWh/ปี ตารางเมตร เปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศ คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 1,229 บาทต่อปี
มอเตอร์เหนี่ยวนำสามเฟส
มีใช้งานทั่วไปในภาคอุตสาหกรรมและถือเป็นอุปกรณ์หลักที่มีการใช้พลังงานมาก เนื่องจากใช้กำลังไฟฟ้าสูง และเปิดใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน มอเตอร์เหนี่ยวนำสามเฟสที่ได้รับฉลากประสิทธิภาพสูง จะต้องเป็นมอเตอร์แบบกรงกระรอก ที่มีกำลังตั้งแต่ 0.75-185 กิโลวัตต์ และใช้กับแหล่งจ่ายไฟที่มีความถี่ 50-60 เฮิรตซ์ แรงดันไฟฟ้า 380 โวลต์ โดยจะต้องมีค่าประสิทธิภาพอย่างน้อยตั้งแต่ร้อยละ 84 ขึ้นไปจึงจะได้รับฉลากประสิทธิภาพสูง