xs
xsm
sm
md
lg

แฉผลิตภัณฑ์ “กลูตาไธโอน” แบบกินไม่ทำผิวขาว เตือนฉีดบ่อยเกินขนาด กระทบสายตา-แก่เร็ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หมอผิวหนังแฉผลิตภัณฑ์ “กลูตาไธโอน” ชนิดกิน ไม่มีผลทำให้ผิวขาว เหตุถูกทำลายในระบบทางเดินอาหาร เตือนฉีดกลูตาฯ ให้ผิวขาว ไร้ผลวิจัยรับรอง เสี่ยงอันตรายระยะยาว พบฉีดบ่อย พ่วงเกินขนาด ส่งผลเม็ดสีที่ผิวหนังและจอตาลดลง กระทบการมองเห็น ผิวขาดเกราะปกป้อง ทำแก่เร็ว มะเร็งผิวหนังเกิดง่าย

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องจากความนิยมผิวขาวใสในปัจจุบัน ทำให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่ต่างแสวงหาถึงวิธีทำให้ผิวขาว โดยสารที่นิยมนำมาใช้เพื่อปรับผิวให้ขาวใส คือ “กลูตาไธโอน (glutathione)” ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายมนุษย์สังเคราะห์ได้เอง ถือเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ช่วยปกป้องเนื้อเยื่อไม่ให้ถูกทำลายโดยสารอนุมูลอิสระ กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยตับทำลายและขจัดสารพิษออกจากร่างกาย นอกจากนี้ ยังสามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสี หรือเมลานิน จึงมีนำกลูตาไธโอนไปฉีดเพื่อให้ผิวขาว ซึ่งปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันว่า กลูตาไธโอนทำให้ผิวขาวได้อย่างแท้จริง แต่วัยรุ่นกลับหลงเชื่อคำโฆษณา อวดอ้างสรรพคุณต่าง ๆ ทางสื่ออินเทอร์เน็ต จึงพากันไปฉีดสารดังกล่าวเพียงเพื่อความสวยงาม โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่มีต่อร่างกายในระยะยาว

กลูตาไธโอนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสร้างขึ้นเองได้จากอาหารจำพวกโปรตีน ไข่ นม รวมถึงผักผลไม้ประเภทหน่อไม้ฝรั่ง อะโวคาโด และวอลนัท ดังนั้น หากต้องการมีผิวพรรณที่ดี ให้กินอาหารครบ 5 หมู่ เน้นอาหารดังกล่าวและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ฝรั่ง ส้ม มะเขือเทศ ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหากต้องเผชิญกับแสงแดดระหว่างวัน สามารถใช้ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมสารป้องกันแสงอัลตราไวโอเลต เพราะแสงแดดก็เป็นตัวการทำลายผิวได้” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์กลูตาไธโอนในท้องตลาดส่วนใหญ่อยู่ในรูปยาเม็ดสำหรับรับประทาน ซึ่งกลูตาไธโอนสามารถถูกทำลายได้ในทางเดินอาหาร ดังนั้นการกินกลูตาไธโอนจึงไม่มีประโยชน์เลย จึงมีผู้พยายามนำกลูตาไธโอนในรูปแบบยาฉีดมาใช้แทนการรับประทาน เนื่องจากเชื่อว่ามีประสิทธิภาพทำให้ผิวขาวได้ดีกว่า แต่สิ่งสำคัญคือความปลอดภัย เพราะบางคนฉีดเป็นประจำทุก 1 - 2 สัปดาห์ และฉีดในปริมาณที่เกินขนาด 2 - 3 เท่าตัว เพราะเข้าใจว่ายิ่งทำให้ได้ผิวขาวรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตราย เพราะเมื่อฉีดสารดังกล่าวเข้าเส้นเลือดดำ คนไข้มีโอกาสที่จะแพ้ตัวยา สารปนเปื้อน ทำให้มีอาการช็อก ความดันต่ำ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ หากร่างกายได้รับกลูตาไธโอนเป็นเวลานาน จะทำให้เม็ดสีบริเวณผิวหนัง และที่จอตามีปริมาณลดลง ทำให้จอตารับแสงได้น้อยลง เสี่ยงต่อการมองเห็นในอนาคต ส่วนเม็ดสีผิวที่ลดลง ส่งผลให้ร่างกายขาดเกราะป้องกันแสงอัลตราไวโอเลต ผิวหนังจะเกิดการระคายเคือง มีริ้วรอย เหี่ยวย่น แก่เร็ว และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น