รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยัน “ไข้เลือดออก” ไม่ใช่ต้นเหตุทำเลือดไปเลี้ยงขาน้อย ทำเนื้อเยื่อตาย ติดเชื้อง่ายจนต้องตัดเท้า ชี้ เกิดจากภาวะแทรกซ้อนหากมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก หมอชี้เครื่องพยุงปอด - หัวใจ ไม่เกี่ยวทำเลือดไม่ไปเลี้ยงเท้าจนต้องตัดขา
จากกรณี รพ.รามาธิบดี ชี้แจงอาการป่วยของ นายทฤษฎี สหวงษ์ หรือ ปอ ดารานักแสดง ที่รักษาตัวด้วยโรคไข้เลือดออก แต่เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง รวมถึงกรณีเลือดไปเลี้ยงที่เท้าไม่พอ ทำให้จำเป็นต้องตัดขาซ้ายเหนือข้อเท้า เพื่อควบคุมการติดเชื้อ
วันนี้ (23 พ.ย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า โรคไข้เลือดออกไม่ได้มีผลโดยตรงที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ไม่เพียงพอ แต่ผู้ป่วยไข้เลือดออกบางรายที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นได้ เช่น อวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ ความดันต่ำ ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะได้น้อย ไม่เพียงพอ เช่น เลือดไปเลี้ยงที่ไตน้อย ทำให้เกิดภาวะไตวาย ไปเลี้ยงสมองน้อยทำให้สมองขาดเลือด ผู้ป่วยจึงหมดสติ และหากไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายอย่างแขน ขา ได้น้อย ก็จะทำให้เนื้อเยื่อตาย เกิดการติดเชื้อที่บริเวณดังกล่าวได้ง่าย หากรุนแรงแพทย์ก็จำเป็นต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นเพื่อควบคุมการติดเชื้อไม่ให้แพร่กระจาย และป้องกันภาวะช็อกจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจจะทำให้เสียชีวิตได้
“ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทุกคนหากถึงขั้นช็อก สาเหตุของการช็อกเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย อาทิ เสียเลือดมาก ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือได้รับสารพิษ เป็นต้น การป้องกันจึงต้องดูที่สาเหตุ แต่หากจะให้ดีเมื่อเจ็บป่วยเป็นเวลานาน ควรรีบพบแพทย์ทันทีอย่าปล่อยให้ถึงขั้นมีอาการช็อก” นพ.โอภาส กล่าว
ด้าน นพ.วินิต พัวประดิษฐ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ถึงอาการล่าสุดของนายทฤษฎี โดยระบุว่า โรงพยาบาลจะสรุปอาการเป็นระยะ ๆ ขอให้ยึดข้อมูลจากประกาศของโรงพยาบาลเป็นหลัก
นพ.นรเทพ อัศวพัชระ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ระนอง กล่าวถึงการใช้เครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจ (ECMO) ว่า เครื่อง ECMO เป็นเครื่องที่ช่วยการทำงานของหัวใจ โดยจะช่วยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และช่วยการทำงานของปอดในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน โดยผู้ป่วยที่จะใช้เครื่องนี้มี 4 ลักษณะ คือ 1. ผู้ป่วยที่หัวใจล้มเหลว และใช้ยารักษาไม่ได้ผล 2. ผู้ป่วยที่ปอดล้มเหลว ใช้เครื่องช่วยหายใจตามปกติไม่ได้ผล 3. ผู้ป่วยที่ระบบการทำงานของหัวใจและปอดยังตอบสนองไม่ดี จึงใช้เครื่อง ECMO มาช่วยพยุงเวลา ประคับประคองให้หัวใจและปอดฟื้นตัวกลับมา อย่างกรณีของ ปอ ทฤษฎี และ 4. ผู้ป่วยที่เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ โดยปกติระยะเวลาเฉลี่ยในการใช้เครื่องนี้อยู่ที่ประมาณ 2 - 10 วัน แต่ก็มีรายงานพบการใช้งานนานถึง 30 วัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้เครื่อง ECMO มีส่วนทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงที่เท้า จนส่งผลให้ต้องตัดขาหรือไม่ นพ.นรเทพ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เครื่องดังกล่าวไม่ได้ส่งผลถึงเรื่องนี้ คาดว่าน่าจะมาจากผลข้างเคียงของการติดเชื้อ ไม่เกี่ยวกับเครื่อง ECMO แต่อย่างใด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่