xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) “พ่อสงวน” น้ำตาคลอ “ปอ” ลืมตา-ขยับมือ-หายใจเองได้ แพทย์รามาฯ ยันยังไม่ตัดขาขวา ยอมรับยังอยู่บนทาง 2 แพร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์รามาฯ แถลง “ปอ ทฤษฎี” ลืมตา-ขยับมือ หายใจด้วยตนเองได้ รอทุกส่วนของร่างกายฟื้นคืน ย้ำตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ยังห่วงภาวะไตวาย ติดเชื้อบริเวณลำไส้ และปอด เชื่อควบคุมได้ โต้ข่าวลือตัดขาขวา ยอมรับเหมือนอยู่บนทาง 2 แพร่ง เชื่อทุกอย่างจะเป็นไปในทิศทางที่ดี ชื่นชมพระเอกดังพยายามต่อสู้ “พ่อปอ” น้ำตาคลอ บอกปาฏิหาริย์บังเกิดทั้งที่ตอนแรกความหวังริบหรี่ ยก รามาฯ เป็นผู้มีพระคุณกับครอบครัว  

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวที่รพ.รามาธิบดี เมื่อเวลา 14.30 น. คณะแพทย์รพ.รามาธิบดี นำทีมโดย “ศ.นพ. วินิต พัวประดิษฐ์” คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล, “รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมสิปิ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี, “ศ.นพ.อร่าม โรจนสกุล” ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์, “พญ.ศรินยา บุญเกิด” ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ , “นพ.พอพล โรจนพันธุ์” หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์, “นพ.มารุต จันทรา” ผู้เชี่ยวชาญเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์, “รศ.พญ.นงนุช สิระชัยนันท์” ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, "อ.พญ.ยุดา สุธีรศานต์" หน่วยโรคปอด ภาควิชาอายุรศาสตร์, “อ.พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์” ภาควิชากุมารเวชศาสตร์, “ผศ.พญ.สิริอร วัชรานานันท์” สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์, “คุณวาธินี คัชมาตย์” หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์, “ผศ.สงวน สหวงษ์" คุณพ่อของ “ปอ ทฤษฎี สหวงษ์” และ “อาน้ำอ้อย ศรมนตรา พิชัยศรแผลง” ผู้จัดการส่วนตัว ได้แถลงข่าวคืบหน้าอาการป่วยพระเอกดังที่ห้องประชุมท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ เผยร่างกายส่งสัญญาณที่ดีแต่ต้องเฝ้าระวังในห้องซีซียูต่อเนื่อง 

ศ.นพ.วินิต : “ขอเรียนว่าในขณะนี้ทีมแพทย์ได้เริ่มรักษาปอตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 58 ถึงวันนี้ 25 พ.ย. 58 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 16 วันแล้ว เราเคยให้ข้อมูลครั้งแรก 10 พ.ย.58 จากนั้นเราก็ไม่ได้ให้ข้อมูลในลักษณะเช่นนี้อีกเลย เพราะเราแจงเป็นประกาศ ซึ่ง ณ ตอนนี้มี 14 ฉบับแล้ว แต่ยังไงก็ตามในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวที่ไม่ถูกต้อง และมีผลกระทบโดยเฉพาะญาติของคนไข้มาก ๆ เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่”

“ขอเรียนให้ทราบว่าโดยรวมในขณะนี้อาการดีขึ้น ก็เพิ่งจะเห็นชัดเจนใน 2 - 3 วัน เพราะคนไข้ลืมตาและเราหยุดให้ยาคลายกล้ามเนื้อ อย่างที่ทราบเมื่อ 4 - 5 วันที่ผ่านมามีการขยับศีรษะ แต่เนื่องจากคนไข้อยู่ในความควบคุมของยาอยู่ ทว่าตอนนี้เราหยุดให้ยาแล้ว คนไข้หายใจได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังใช้เครื่องช่วยหายใจเข้าไปช่วยด้วย ระดับออกซิเจนในเลือดพอเพียง ขณะเดียวกันคนไข้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย มีการขยับมือ ยากระตุ้นการไหลเวียนของเลือดก็หยุดให้แล้ว เลือดที่ให้อยู่ประมาณเกือบ 10 หน่วยหลังผ่าตัดห้ามเลือดเมื่อวานนี้ก็ไม่ได้ให้เลือดอีกเลย อันนี้ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ขณะเดียวกันเท้าที่ตัดไป แผลผ่าตัดก็ดีส่วนเท้าขวาในตอนนี้เลือดยังไหลเวียนดีเช่นกัน ดังนั้นข่าวที่ว่าจะตัดเท้าอีกข้างหนึ่งก็ไม่เป็นความจริงครับ”

“ตอนนี้เราอยากให้ร่างกายที่สำคัญของคุณปอกลับฟื้นขึ้นมาเป็นปกติ อย่างเช่นเรื่องไต ซึ่งขณะนี้ยังมีการฟอกไตอยู่ ในส่วนสมองก็เริ่มดีขึ้น ซึ่งรายละเอียดในแต่ละส่วนนั้นจะให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอธิบายต่อไป”

รับผ่าตัด 4 ครั้ง ทุกอย่างเริ่มส่งสัญญาณดี แต่ยังมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง 3 ส่วนใหญ่
รศ.นพ.สุรศักดิ์ : “คุณปอเป็นไข้เลือดออกชนิดที่ 2 ซึ่งมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงในหลายเรื่องทั้งภูมิต้านทานมาจัดการกับเซลล์ของตัวเอง ไตวายเฉียบพลัน ระบบการไหลเวียนของเลือด ระบบการหายใจล้มเหลว เนื่องจากอาการมีเลือดในช่องเยื่อหุ้มปอดด้านซ้าย ตอนหลังมีอาการที่ซ้ำซ้อนขึ้นอีก ได้แก่การติดเชื้อ อาการเท้าสองขาดขาดเลือดเฉียบพลัน อาการเหล่านี้ก็ซับซ้อนต่อเนื่องมาเป็นระยะ”

“โดยสรุปเราต้องใช้การผ่าตัด 4 ครั้ง ครั้งแรกคือการผ่าตัดช่องอกด้านซ้ายเพื่อระบายเลือดแก้ปัญหาภาวะหยุดหายใจเฉียบพลัน ผ่าตัดเพราะมีอาการขาดเลือดของเท้าข้างซ้ายและมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนในส่วนนั้น ซึ่งตอนนั้นเราคิดว่าเป็นภาวะวิกฤต จึงจำเป็นต้องยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต โดยการตัดขาซ้ายบริเวณเหนือข้อเท้า การผ่าตัดในวันเดียวกันคือการผ่าตัดช่องอกเพื่อระบายเลือดซึ่งผ่าตัดในคืนวันที่ 21 พ.ย.58 นับเป็นการผ่าตัดใหญ่ และครั้งสุดท้ายคือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นมาตลอด 2 อาทิตย์ คือมีเลือดออกในทางเดินอาหารซึ่งเรามีการวินิจฉัยฉีดสี พอตรวจก็พบว่ามีแผลเล็ก ๆ อยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และเป็นจุดเลือดออกพอดี โดยเป็นวิธีการผ่าที่ไม่ทำให้เกิดบาดแผลด้านนอก และสามารถหยุดเลือดได้ใน 24 ชม.ที่ผ่านมาก็มีสัญญาณที่ดี คือการใช้ยากระตุ้นที่เคยหยุดเป็นระยะก็ไม่ต้องใช้ ผู้ป่วยมีการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น โดยการรักษาของแพทย์ที่ให้น้ำเกลือและสารอาหาร”

“ส่วนเครื่องพยุงหัวใจและปอดเลิกใช้ไปตั้งแต่ 19 พ.ย.58 หลายอย่างก็ดีขึ้น ท้ายสุดคือการประคองการหายใจสามารถลดยาคลายกล้ามเนื้อได้ผู้ป่วยหายใจเองบางส่วนแต่ยังต้องใช้เครื่องพยุงอยู่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และอย่างที่ท่านคณบดีบอกอาการทางระบบประสาทเริ่มมีการกระพริบตา อันนี้ก็เป็นทิศทางที่ดี แต่ก็ยังมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ 1. ไตวายเฉียบพลัน 2.เท้าขวาซึ่งมีอาการขาดเลือดเฉียบพลันค้างอยู่ในระดับปลายนิ้วเท้า 3. ภาวะติดเชื้อที่เราต้องต่อสู้ ซึ่งสามารถบอกได้ว่าภาวะคนไข้มีสัญญาณดีขึ้นแต่ยังไม่พ้นวิกฤต จึงต้องเฝ้าคอยดูเป็นระยะ”

เผยร่างกายเสียสมดุลเพราะภูมิคุ้มกันต่อต้านการติดเชื้อมากเกินไปจนทำร้ายตัวเอง ต้องระวังติดเชื้อที่ลำไส้ คาดหวังลำไส้ค่อย ๆ ซ่อมแซมตัวเอง
นพ.พอพล : “ผมขอเรียนเกี่ยวกับเรื่องไข้เลือดออก เราตรวจพบเชื้อจริง ๆ ตั้งแต่รับผู้ป่วยเข้ามา ซึ่งตรวจได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตรวจด้วยวิธีใด เช่นเราอาจจะตรวจการที่คน ๆ หนึ่งติดเชื้อไปแล้วเราสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งจะตรวจได้ว่าคน ๆ นี้เคยมีเชื้อชนิดนี้มาก่อน เบื้องต้นเราได้ตรวจว่าคุณปอติดเชื้อไข้เลือดออกแน่ ๆ ก่อนที่จะเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งพบว่าคุณปอมีภูมิต้านทานต่อไข้เลือดออกแบบระยะที่เพิ่งติดเชื้อไม่นาน ซึ่งเราอยากทราบว่าคุณปอติดเชื้อไข้เลือดออกชนิดไหน จึงได้ขอตัวอย่างเลือดจากโรงพยาบาลเก่าเพื่อนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติม”

“เราจึงได้ข้อมูลเพิ่มว่าเป็นไข้เลือดออกชนิดสายพันธุ์ที่ 2 ทีนี้ปัญหาเมื่อมากโรงพยาบาลรามาธิบดีดูเหมือนไข้เลือดออกไม่ใช่ปัญหาเด่น เพราะตรวจพบว่าไม่ได้มีเชื้อไข้เลือดออกอยู่ในกระแสเลือด ณ ขณะนั้น ซึ่งทีมงานอาจารย์โรคเลือดได้พยายามตรวจสอบว่ายังมีเชื้อไข้เลือดออกอยู่จริงหรือเปล่า เพราะมีรายงานในต่างประเทศว่าไข้เลือดออกที่มีอาการนาน ๆ มันอาจจะไปหลบซ่อนในเซลล์ของเราหรือเปล่า เราก็เลยไปตรวจเพิ่มอีก โดยการเจาะตรวจไขกระดูกและนำเซลล์ในไขกระดูกไปตรวจว่ามีเชื้อหรือเปล่า ก็ไม่เจอเชื้อไข้เลือดออกแล้ว นั่นจึงเป็นสิ่งที่หมอเห็นว่าไข้เลือดออกเองถึงแม้ว่าตัวเชื้อจะหายไปแล้วบางกรณีอาจมีอาการแทรกซ้อนซึ่งส่งผลร้ายต่อแต่ละบุคคลได้ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อย ถ้าเจอก็อาจจะรุนแรงได้อย่างสิ่งที่เราเจอในครั้งนี้”

“อันนี้เป็นเรื่องของภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด และต่อต้านการติดเชื้ออาจจะมากเกินไป เลยทำให้ร่างกายสูญเสียความสมดุลไป สิ่งที่เรารักษามาตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน คือการให้ยากดภูมิคุ้มกันของเขาที่มันต่อสู้มากเกินไปซึ่งมากจนทำร้ายตัวเขา ในขณะเดียวกันเราใช้เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ที่ต้องช่วยพยุงเรื่องความดันโลหิต การฟอกออกซิเจนของปอดให้ดีขึ้น เพื่อเป็นตัวรอเวลาว่ายาที่หยุดการทำงานของภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น แต่เวลาที่รักษาอาการอักเสบรุนแรงแบบนี้เราต้องยอมรับว่ามันมีข้อแทรกซ้อน ซึ่งเกิดได้จากหลายอย่าง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าคนที่มีอาการติดเชื้อไข้เลือดออกอย่างรุนแรงโอกาสที่จะติดเชื้อแทรกซ้อนโดยเฉพาะการติดเชื้อราเราก็ระวังว่าคุณปอจะมีการติดเชื้อราไหม”

“จึงมีการส่งตรวจเลือด ว่ามีโอกาสที่การติดเชื้อตัวนี้จะเกิดขึ้นมาบ้างหรือเปล่า หลังจากที่เจาะเลือดแล้วเราก็ให้ยาป้องกันควบคู่กันไป ส่วนที่เราเคยแถลงว่าความดันคุณปอตกมีการใช้ยากระตุ้น เป็นเพราะว่าคน ๆ หนึ่งมีภาวะความดันตกลงไป ร่างกายจะเลือกว่าจะส่งเลือดไปตรงไหนดี ก็จะมีร่างกายบางส่วนที่จะขาดเลือดไป ก็หมายความว่ามือของเรา เท้าของเราสำคัญน้อยกว่าสมองร่างกายเราก็มีลักษณะในการปรับแบบนั้น เช่นเดียวกับการที่เราให้ยากระตุ้นความดันเพื่อรักษาความดันในลักษณะส่วนรวม หลอดเลือดทั้งหลายก็จะมีการหดตัวลง และมันไม่ได้หดตัวเฉพาะส่วน แต่หดตัวแทบจะทั้งร่างกาย ฉะนั้นส่วนที่มีความสำคัญน้อยตามความเข้าใจของร่างกายจึงต้องมีการขาดเลือด”

“ส่วนเรื่องลำไส้ที่มีเลือดออกในทางเดินอาหารเวลามีการติดเชื้อรุนแรงความดันโลหิตตกลง ไส้จะทำงานน้อยลงท้องจะอืดมากขึ้น เวลาร่างกายขาดเลือดที่ลำไส้ ตัวเยื่อบุลำไส้จะบวม และมีอาการขาดเลือดไป ทำให้มีแผลเล็ก ๆ และมีเลือดออกนั่นเป็นสิ่งที่กังวลเวลาที่มีเลือดออกของทางลำไส้ผิดปกติ คนเราทั่วไปจะมีเชื้อโรคในลำไส้อยู่แล้ว ซึ่งทีทั้งแบคทีเรียและเชื้อราต่าง ๆ และเวลาที่ร่างกายสูญเสียความสมดุลไป เชื้อพวกนี้มีโอกาสเล็ดลอดออกมาได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องให้ยาฆ่าเชื้อ คือฆ่าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย เพื่อไม่ให้เชื้อพวกนี้อยู่ในกระแสเลือด”

“เราก็สงสัยว่าน่าจะมีเชื้อราที่เกิดขึ้นจากอาการไข้เลือดออกหรือเปล่า จึงได้ตัดสินเอ็กซเรย์ทางคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เผื่อมีปัญหาว่าเรามีปัญหาอะไรบ้าง ที่เราจะต้องรีบมือ ในส่วนการเฝ้าระวังเรื่องเชื้อเรา เราเฝ้าระวังในเรื่องของไซนัส เพราะเชื้อราจะเข้าจากทางเดินหายใจ ปรากฏว่าเราเห็นเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ผิดปกติในปอดอยู่ทั้งสองข้าง อาจจะเยอะที่ข้างซ้าย ได้มีการส่องกล้องเพื่อตรวจหาเชื้อราว่าทีมีแทรกซ้อนอยู่บ้างหรือเปล่า ปรากฏว่าผลตรวจเบื้องต้นมีเชื้อราอยู่จริง ซึ่งแพทย์ได้ทำการให้ยามาเป็นอาทิตย์แล้วซึ่งแพทย์คิดว่าควบคุมได้”

“ปัญหาเกี่ยวกับโรคติดเชื้อที่ต้องระวัง น่าจะเป็นเรื่องในลำไส้ อย่างที่เคยแถลงข่าวไปว่าแพทย์ได้ผ่าตัดเพื่อหยุดเลือด เมื่อมีการหยุดเลือดไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยากระตุ้นอีกแล้ว เราก็คาดหวังว่าลำไส้จะค่อย ๆ ซ่อมแซม หลังจากนั้นเราจะให้อาหารทางสายยางที่เพิ่มขึ้น จนกระทั่งร่างกายรับได้ สิ่งพวกนี้ก็จะปรับสมดุลร่างกายต่อ ความกังวลเรื่องการติดเชื้อจะน้อยลง แต่ในส่วนเรื่องของการติดเชื้อคงระวังแค่ 2 ส่วนคือเรื่องในปอดที่เราพูดไป แต่คิดว่าควบคุมได้ ส่วนในเรื่องของลำไส้ที่เลือดหมดไปแล้วเราเฝ้าระวังต่อว่าจะไม่มีเลือดไหลอีกและไม่มีปัญหาอย่างอื่นแทรกซ้อน

ย้ำเชิ้อไข้เลือดออกไม่กลายพันธ์ุ แต่อาการรุนแรงเพราะมีภาวะแทรกซ้อนและการตอบสนองของร่างกายทำลายเซลล์ตัวเองมากเกินไป
อ.พญ.อำไพวรรณ : “ขอกลับมาที่เรื่องไข้เลือดออก ที่มีข่าวออกมาว่าคุณปอติดไข้เลือดออก ซีโรไทป์ 2 เป็นชนิดกลายพันธุ์ จากการที่มีการตรวจสอบพบว่าไม่มีการกลายพันธุ์ แต่ละคนอาจจะเคยติดเชื้อครั้งที่หนึ่ง แล้วอาจจะไม่รู้ตัวเองว่าเป็น ซึ่งของคุณปอเราได้มีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 แล้วอาการจะรุนแรงมากในแต่ละคน แต่ในของคุณปอเป็นเคสที่มีการแทรกซ้อน และมีการตอบสนองของร่างกายมากที่ทำลายเซลล์ของตัวเอง ซึ่งเราตรวจพบในไขกระดูก ซึ่งเป็นเรื่องที่พบเจอได้ ไข้เลือดออกเป็นเชื้อตัวหนึ่ง กับคำถามเรื่องเลือดออก คือเกิดจากผนังหลอดเลือดผิดปกติ และมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำซึ่งจะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ในรายที่รุนแรงจะทำให้ปัจจัยในการแข็งตัวของเลือด มีอาการลิ่มเลือดอุดตันในหลาย ๆ จุด ซึ่งคุณปอก็เป็นคล้าย ๆ แบบนั้น เมื่อลิ่มเลือดอุดตัน แสดงว่ามีการใช้เกล็ดเลือดใช้ไปมาก”

ในรายของคุณปอต้องขอบคุณประชาชนทุกคนที่บริจาคเลือดกันเข้ามาเยอะ เพราะเราต้องการใช้เยอะเหมือนกัน ขณะเดียวกันก็อยากเชิญชวนทุกท่านมาบริจาคเลือดได้ทุก ๆ ธนาคารเลือด เพราะในไทยยังมีความต้องการใช้เลือดเยอะ ซึ่งการบริจาคเลือดนั้น มีสองแบบคือถ้าจะนำมาปั่นเป็นเกล็ดเลือดเพื่อรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกต้องบริจาคผ่านเครื่องกรองพิเศษซึ่งมีที่นี่และที่สภากาชาดไทย เพราะจะได้เกล็ดเลือดมากกว่าการบริจาคแบบปกติเท่ากับ 10 คน เพราะคุณปอต้องการใช้เยอะเหมือนกัน”

รศ.พญ.นงนุช : “โดยรวมจะได้เลือดจากผู้บริจาคเลือดกว่า 200 ท่าน ปัญหาหลักคือในช่องปอดค่อนข้างมาก รวมปริมาณได้เกือบ 10 ลิตร ซึ่งเรามีความจำเป็นต้องใช้ในส่วนน้ำเหลือง เกล็ดเลือด ซึ่งทุกครั้งเราจะมีเพียงพอ เพราะในคลังเลือด โรงพยาบาลรามาธิบดี และจากที่มีการบริจาคเลือดให้คุณปอและคนไข้อื่น ๆ ได้รับส่วนไปด้วย ทำให้เราได้ใช้กันได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในแง่การห้ามเลือดออกนั้น เราต้องอาศัยการผ่าตัดช่วยเพราะการให้เลือดคงจะไม่ทำให้หยุดซะทีเดียว ซึ่งผู้ดูแล ทีมคุณหมอศัลยกรรมก็มีส่วนช่วยอย่างมากในการห้ามเลือดในช่องปอดและทางเดินอาหาร ในปัจจุบันเรายังคงต้องให้เลือดคนไข้ลดลง ยังคงให้เกล็ดอยู่บ้างวันละสองครั้ง ให้น้ำเหลือง ทุก 6 ชั่วโมง”

ผศ.พญ.สิริอร : “ในขณะนี้ที่ดูแลคุณปอ ในแง่การติดเชื้อควบคุมได้ดีพอสมควร แต่จะมีไข้บ้าง มีอาการติดเชื้อในปอดที่ได้รับการรักษาอยู่แล้ว แต่ในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ติดเชื้อตรงไหนที่น่ากังวล ไม่มีเชื้อที่ดื้อยา และทางทีม CCU ที่ดูแลคนไข้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการใส่เสื้อใส่ถุงมือที่รัดกุมดี ในขณะนี้คงไม่มีอะไรน่ากังวล”

ป้องสื่อมวลชนเกะกะ ลั่นให้ความร่วมมือดี
ศ.นพ.อร่าม : “ที่นี่เราทำงานกันเป็นทีม ที่หลายหลากหน้าที่ช่วยงานกัน ซึ่งแน่นอนในโรงพยาบาลมีเชื้อโรคค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้เจ็บป่วยอะไรก็ไม่อยากให้เข้ามามาก โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ก็ควรจำกัดการมาเยี่ยม สิ่งหนึ่งที่ทางโรงพยาบาลอยากขอความร่วมมือนอกจากผู้มาเยี่ยม ผู้สื่อข่าวทั้งหลาย ส่วนใหญ่ที่ให้ความร่วมมือดี ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะมีข่าวคราวมาบ้างว่ามีความวุ่นวาย คือต้องชี้แจงก่อนว่าในส่วนของตึกสมเด็จพระเทพรัตน์ เรารองรับผู้ที่มาใช้บริการต่อวันประมาณ 5,000 คน และมีผู้ติดตามอีก โดยสรุปทางโรงพยาบาลต้องรองรับคนเฉลี่ย 10,000 คนต่อวัน ดังนั้นการรองรับต่อสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อาจจะดูว่าไม่เพียงพอ ก็ต้องขออภัยในความไม่สะดวกมาด้วย แต่กับผู้สื่อข่าวที่เราได้พูดคุยตกลงกันแล้วก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ก็ไม่ได้ไปเกะกะอะไร แต่อาจจะมีในช่วงแรกที่ยังสับสน แต่ตอนนี้ทุกอย่างเริ่มเข้าร่องเข้ารอยและดูดีมากขึ้น”

พระเอกดังอาการหนักเพราะมีภาวะแทรกซ้อนหลายแบบหลายอย่าง บอกชนะในหลาย ๆ เรื่องแต่ยังมีอีกหลายเรื่องต้องแก้ไข ยังมีภูเขาอีกหลายลูกให้ต้องข้ามไป
“ต้องบอกเลยว่าเราใช้ทีมแพทย์กันหลายคน โดยสลับกันมาดูแลกันตามระบบ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมกุมารแพทย์ หรือหมอเด็กมีส่วนเข้ามาทำเคสนี้ จริง ๆ โรคไข้เลือดออกที่มีอาการแทรกซ้อนนั้นจะสามารถพบเจอได้ในเด็ก ก็นี่เป็นการแชร์ประสบการณ์กันระหว่างกุมารแพทย์และอายุรแพทย์ได้มาทำงานร่วมกัน ภาพโดยรวมของคุณปอนั้น เมื่อตอนมาถึงมือหมอที่นี่ดูหนักเพราะเหตุผลที่ว่าภาวะแทรกซ้อนมันเกิดหลายแบบหลายอย่าง ความหนักของคนไข้ภูมิคุ้มกันก็มีปัญหา มีเลือดออกในช่องท้อง ระบบหายใจ ระบบหัวใจล้มเหลว เราจริงจำเป็นต้องใช้เครื่องพยุงการทำงานของปอด และ หัวใจช่วย ให้มีเวลาได้ซ่อมแซมระบบไป และเราก็เอาชนะกันไปได้หลายเรื่อง และยังมีอีกหลาย ๆ เรื่องให้เราแก้ไขกันต่อไป ผมก็จะคอยบอกคุณพ่อและครอบครัวว่ายังมีภูเขาอีกหลายลูกให้ต้องข้ามไปให้ได้ ก็ต้องติดตามกันต่อไป”

ชื่นชม “ปอ” ฝ่าฟันภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างมาได้
อ.พญ.ยุดา : “ต้องขอบคุณทีมคุณหมอศัลยกรรมที่ได้ช่วยกรุณามาผ่าตัดคุณปอถึงสองครั้ง ซึ่งในเคสคุณปอเขามีปัญหาหนักค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ไปกดระบบการทำงานของปอดและหัวใจ ทำให้เราต้องใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจเข้าไปหยุดการเลือดออกแต่ยังไม่สนิท จนเราต้องเปิดแผลเข้าไปซ่อมแซมและหยุดอาการเลือดออกในปอด จนกระทั่งทีมศัลยกรรมเข้ามาช่วย จนตอนนี้ปอดของคุณปอดก็ตอบสนองดีขึ้น เราก็ลดการให้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อให้คนไข้ได้หายใจได้เอง แล้วตอนนี้เขาก็หายใจได้เองแล้ว ภาวะออกซิเจนในเลือดก็ดีขึ้นมาก อย่างไรก็ตามคนไข้ผ่านวิกฤตมากเยอะมาก เราคงต้องเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนกันต่อไป และหมอขอชื่นชมคนไข้นะที่ฝ่าฟันภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างมาได้”

รศ.พญ.ศศิโสภิณ : “ต้องขอบคุณอาจารย์พอพล เป็นคนที่ดูแลอาการติดเชื้อตั้งแต่แรกเลย จนมาถึงตอนนี้ก็เป็นระยะเวลายาวนาน ณ ตอนนี้ก็ยังไม่พบภาวะติดเชื้อซ้ำซ้อนที่เราคิดว่าเราควบคุมไม่ได้ เราให้น้ำยาต้านเชื้อราและแบคทีเรียไว้อย่างเต็มที่ แล้วก็ยังจับเชื้ออะไรไม่ได้ชัดเจน ก็ถือว่าควบคุมการติดเชื้อได้”

ยังต้องใช้เครื่องฟอกไตต่อเนื่อง ขอดูแนวโน้มไตจะกลับมาทำงานเหมือนเดิมได้หรือไม่ ถ้าร่างกายดีขึ้น จะลดการช่วยเหลือจากการฟอกไตอย่างช้า ๆ
พญ. ศรินยา : “สำหรับสถานการณ์โดยรวมเรื่องไตของคนไข้ ในขณะนี้ยังต้องใช้เครื่องฟอกไต ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพราะเราต้องการมั่นใจก่อนว่าระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น รวมทั้งความดันโลหิตและสัญญาณชีพต่าง ๆ ถ้าภาพรวมร่างกายของคนไข้ดีขึ้น ก็จะลดการช่วยเหลือจากการฟอกไตอย่างช้า ๆ และดูว่าไตสามารถฟื้นกลับคืนมาได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ยังมีโอกาส แต่ทั้งนี้เราก็ยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะยังไม่รู้ว่าจะเจอปัญหาอะไรข้างหน้าอีกหรือเปล่า สำหรับสาเหตุอาการไปวายของคุณปอมีหลายปัจจัยเนื่องจากคนไข้มาโรงพยาบาล ก็มีภาวะความดันโลหิตต่ำ มีความดันช่องท้องที่สูง รวมถึงวิธีการรักษาและยาที่เราใช้บางอย่าง มีผลกระทบกับอะไรบ้างในบางส่วน แต่โดยรวมก็ยังใช้เครื่องฟอกไตอย่างต่อเนื่อง และแล้วค่อยลดการฟอกไตลงอย่างช้า ๆ แล้วดูแนวโน้มว่าไตสามารถจะกลับมาทำงานได้เหมือนเดิมได้หรือไม่

วาธินี : “สำหรับคุณปอก็มีการระดมทีมพยาบาลไปช่วยเป็นจำนวนมาก โดยปกติคนไข้อาการหนักที่อยู่ซีซียู จะมีพยาบาลดูแล 1 ท่าน ต่อคนไข้ 1 คน แต่สำหรับเคสนี้เราระดมพยาบาลถึง 3 - 4 คนต่อ 1 เวร โดยจะใช้พยาบาลที่มีประสบการณ์สูงดูแลคนไข้คนนี้เป็นพิเศษเนื่องจากมีอาการหนักกว่าคนไข้คนอื่น แต่ในขณะเดียวกันเราก็ดูแลคนไข้คนอื่นในซีซียูเหมือนกัน ซึ่งจากภาพรวมของคนไข้เมื่อเช้านี้ต้องบอกว่าใจดีขึ้นมาเยอะ ดูแล้วสบายใจ แต่ก็ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนอาการแผลกดทับมีบ้างนิดหน่อย แต่เราเชื่อว่าเราควบคุมได้ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเรา เรามีวิธีการป้องกันและเครื่องมือหลายอย่าง การพลิกตัวคนไข้ก็ช่วยด้วย”

ยอมรับขาขวามีการตายของผิวหนังที่ปลายนิ้วบางส่วน แต่เชื่อตราบใดที่ระบบหลอดเลือดหัวใจดี เลือดส่งไปที่ปลายเท้าได้ดี
รศ.นพ. สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ : “แผลที่ผ่าตัดข้างซ้าย ตอนนี้อยู่ในขั้นที่ดียังไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนที่ขาขวามีการตายของผิวหนังที่ปลายนิ้วบางส่วน เราก็เฝ้าดูอยู่ ซึ่งอาการก็ยังคงที่ แต่สิ่งหนึ่งคือเรามีเครื่องมือที่ฟังสัญญาณของหลอดเลือดที่เท้าข้างขวา ซึ่งก็ยังมีเลือดมาเลี้ยงได้ดีอยู่ ก็เป็นสัญญาณอีกอันหนึ่งที่ช่วยให้เรามีกำลังใจที่จะดูแล และภาพรวมของคนไข้ ตราบใดที่ระบบหลอดเลือดหัวใจดี เลือดก็จะส่งไปที่ปลายเท้าได้ดีขึ้น ประกอบกัน”

“ผศ. สงวน สหวงษ์” พ่อพระเอกดังน้ำตาคลอ ปาฏิหาริย์บังเกิด แม้ตอนแรกความหวังริบหรี่
“ในส่วนของผมและครอบครัวต้องขอบคุณทางโรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่เราย้ายมาอยู่ก็ได้รับความสะดวกและการดูแลอย่างดีตั้งแต่วันแรก สำหรับการติดต่อให้ที่พัก สำหรับญาติและผู้ปกครอง ส่วนในการรักษาผมคิดว่าตลอดเวลาที่สื่อมวลชนได้นั่งฟัง และคุณหมอได้พูดถึงการรักษาทั้งในแง่ของทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ก็ได้มาช่วยทุกฝ่าย ก็เป็นบุญของคุณปอ ของลูกปอ ที่ได้รับการรักษาจากระดับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญ แม้แต่พยาบาลก็ต้องเชี่ยวชาญและต้องใช้จำนวนมาก กระบวนการรักษาจากทางโรงพยาบาลในขณะนี้ผมคิดว่าดีที่สุด เต็มที่ที่สุด เป็นบุญของคุณพ่อ”

“นอกจากความเชี่ยวชาญความสามารถของคุณหมอแล้ว สิ่งหนึ่งที่ปอได้รับก็คือความเมตตากรุณาจากทุก ๆ ท่าน เครื่องมือแพทย์และยาที่ดีที่สุด ที่ทำให้ปอมีทุกวันนี้ ผมเคยพูดว่าครอบครัวของผมมีความหวัง ถึงวันแรก ๆ ที่เข้ามาความหวังจะริบหรี่ ความหวังจะน้อยเราก็เฝ้ารอ จนมาถึงวันนี้จากที่คณะแพทย์ทั้งหลายได้พูดมา ผมก็คิดว่าผมมีความหวังขึ้น ปาฏิหาริย์ได้เกิดขึ้นแล้ว (น้ำตาคลอ) โรงพยาบาลรามาธิบดีมีพระคุณกับครอบครัวของผมมาก”

ศ.นพ. วินิต : “ก่อนหน้านี้ต้องขอโทษสื่อมวลชนและทุก ๆ ส่วนด้วยในส่วนที่ต้องการข้อมูลอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันการณ์ในขณะที่เราเองก็ยังวิกฤตอยู่ ประกอบกับข้อมูลบางอย่างมันก็มีส่วนสำคัญของทางผู้ป่วย ก็ต้องได้รับจากการอนุญาตจากทางครอบครัวเป็นหลัก”

ยันการกะพริบตาถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังต้องใช้ยานอนหลับและเครื่องช่วยหายใจ บอกหากตื่นในตอนนี้คนไข้จะทรมานมาก
ศ.นพ. วินิต : “เมื่อ 3 - 4 วันแล้วมีสัญญาณนี้เกิดขึ้นแต่ด้วยเราได้ให้ยาควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่ที่สำคัญคือม่านตาของผู้ป่วยตอบสนองมีปฏิกิริยาดีมาตลอดเลย”

นพ.มารุต จันทรา : “การตอบสนองในการกระพริบตาหรือการขยับของคนไข้เกิดจากการที่เราลดยานอนหลับลง คงยังตอบไม่ได้ชัดถึงขนาดว่าการทำงานของสมองคนไข้ถึงขนาดไหน เรายังประเมินไม่ได้ขนาดนั้น เรายังจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับกับผู้ป่วยและยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจที่ยังต้องใช้ไฟฟ้า ถ้าปล่อยให้คนไข้ตื่นขณะนี่เขาจะทรมานมาก อย่างไรก็ตามที่มีการกระพริบตาหรือการตอบสนองอื่น ๆ ก็เป็นสัญญาณที่ดี สมองส่วนหนึ่งยังทำงานได้ในระดับที่เราพอใจ แต่จะสมบูรณ์แค่ไหนยังตอบไม่ได้ในตอนนี้ รอให้อาการดีกว่านี้ก่อนให้เราสามารถลดยานอนหลับหรือยาแก้ปวดได้มากกว่านี้ก่อน จะตอบได้ชัดเจนกว่านี้”

พญ.ศรินยา : “ต้องตอบว่าเรายังต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ ถ้าเกิดสัญญาณชีพหรืออาการในร่างกายของคนไข้ดีขึ้นเราจะค่อย ๆ ถอนการช่วยเหลือทางไตลดลง เดิมทีคนไข้มาแรก ๆ ที่โรงพยาบาล การทำงานของไตของคนไข้ถือว่ายังใช้ได้ มีความเป็นไปได้ในทุกกรณี ไตของคนไข้ทำงานอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ ก็ขึ้นอยู่กับค่าการทำงานของไตว่าจะดีขึ้นจนสามารถหยุดการทำงานของเครื่องช่วยฟอกไตได้ ต้องดูอาการตอบสนองของตนไข้โดยรวมซึ่งตอนนี้มันยังไม่จบสิ้นกระบวนการ เราจะค่อย ๆ ถอยการช่วยเหลือจากการฟอกไต จากการดูว่าคนไข้เริ่มมีปัสสาวะออกเองหรือไม่”

ยอมรับภาพรวมดีขึ้นกว่าสัปดาห์ที่แล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อ
นพ.มารุต : “ถ้าให้ประเมินร่างกายคงไม่มีใครตอบเป็นเปอร์เซ็นต์ได้แต่ยอมรับว่าภาพรวมดีขึ้นกว่าสัปดาห์ที่แล้วมาก ปัญหาที่เราแก้ไปแล้วและจบไปแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาที่เราต้องเฝ้าระวังต่อ ก็ยังบอกไม่ได้ ถามว่าดีขึ้นไหมก็ดีขึ้นมากกว่าสัปดาห์ที่แล้ว”

ศ.นพ.วินิต : “ดูจากสีหน้าของคณะแพทย์สิครับ(ทุกคนหัวเราะ) การให้ข้อมูลที่ซึมเศร้า จะทำให้กำลังใจไม่มี”

แนวโน้มออกจากห้องซีซียู ยังตอบไม่ได้ ยังต้องระวังภาวะแทรกซ้อน
อ.พญ.ยุดา : อันนี้คงต้องดูหลายอย่างรวม ๆ ทั้งภาวะการใช้เครื่องช่วยหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต ถึงแม้เราจะหยุดยากระตุ้นหัวใจได้แล้วแต่เราก็ยังต้องเฝ้านะวังต่อไปอย่างน้อย 72 ชั่วโมง ว่าต้องกลับมาใช้ยากระตุ้นหายใจอีกหรือเปล่า รวมถึงภาวะไตวายว่าจะสามารถถอนการประคับประคองได้แค่ไหน ใน 2 - 3 วันนี้คนไข้ยังต้องนอนอยู่ในห้องccu จะอีกกี่อาทิตย์นี้หมอไม่สามารถบอกได้ชัดเจน ยังต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่ยังสามารถเกิดขึ้นได้”

“อาน้ำอ้อย” เผยเป็นเรื่องเหลือเชื่อคนเฝ้าติดตามข่าวสารปอ ขอบคุณทุกคนที่เมตตา
“ขอบคุณทุกท่านที่มารายงานข่าวให้ประชาชนทุกท่านได้รับทราบจากที่หลายคนเป็นห่วงมา ต้องใช้คำว่าเหลือเชื่อ เราไม่เคยเห็นว่าจะมีคนมาติดตามข่าวสารพร้อมผู้สื่อข่าวทุกท่านมาเฝ้ารอฟังข่าว ต้องขอขอบพระคุณทุกท่านโดยเฉพาะคนที่ฟังอยู่ทางบ้าน ญาติพี่น้องแฟนคลับที่มาร่วมลงนามก็ดี ที่ช่วยส่งกำลังใจก็ดี เรามีความรู้สึกยินดี มีความสุขที่ได้รับข่าวสารในทางที่ดีมาตลอด สิ่งใดที่เราสามารถรับได้ เป็นประโยชน์เราก็รีบทำ คำแนะนำต่าง ๆ ที่เราได้มาถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากกับปอ เราขอขอบคุณทุกท่านที่อยู่บริเวณนี้และคนทางบ้าน ขอบคุณประชาชนที่ให้ความเมตตาและเป็นกำลังใจมาหลาย ๆ ทางทั้งเดินทางมาบริจาคเลือดยังสถานที่ต่าง ๆ ท้ายสุดขอขอบคุณประชาชนที่ให้ความห่วงใย ต้องขอบคุณจริง ๆ”

บอกทุกครั้งต้องผ่าตัดมีความหนักใจเพราะเสี่ยงทุกครั้ง วิกฤตหนักถึงขั้นเลือดไปกดทับหัวใจและปอดจนทำงานไม่ได้ ลั่นถ้าหากไม่ผ่าตัดพระเอกดังเสียชีวิตแน่นอน
รศ.นพ. สุรศักดิ์ : “ต้องขอโทษสื่อมวลชนทุกคนด้วย บางทีเราไม่สามารถจะตอบได้ทันทีเพราะเราต้องได้รับการอนุญาตจากทางครอบครัว สิ่งที่จะตามต่อไปข้างหน้าคือเมื่อไหร่จะพ้นจากวิกฤต ซึ่งเราก็หวังให้ผ่านพ้นตรงนี้ เราก็จะรายงานข่าวออกไปเป็นระยะ ๆ”

ศ.นพ.วินิต : “ผมวิเคราะห์แล้วครับว่าจุดใหญ่ ๆ มีอยู่ 2 เรื่อง ที่ยังอยู่ในจุดวิกฤตของคุณปออยู่ในปัจจุบัน คือช่วงที่ผ่าตัดก้อนเลือดออกจากทรวงอก เราก็ตัดสินใจกันว่าจะทำยังไงกันดี ซึ่งเราคิดว่าถ้าเราปล่อยทิ้งไว้เราคงจะไม่มีโอกาส อีกอันคือการผ่าตัดที่ข้อเท้าที่เราคิดกันหนักมาก ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นแล้วมันจะมีโอกาสเหมือนอย่างนี้ไหม การผ่าตัดตรงปอดก็เป็นเรื่องที่ยาก ถ้ารวม 2 ครั้งก็เกิน 10 ลิตร”

นพ.มารุต : “ทุกครั้งที่เราจะตัดสินใจผ่าตัดใด ๆ กับคนไข้ของเรา เรามีความหนักใจมากเพราะความเสี่ยงมันสูงทุกครั้งที่เราต้องทำ ต้องเรียนว่ามันเป็นความโชคดีของคนไข้ที่มีคนมาบริจาคเลือดมากมาย ที่เรามีทีมช่วยเหลือคนไข้มากมายไม่ใช่เพราะคนไข้คือคนมีชื่อเสียง ปกติเราก็รักษาตามมาตรฐานทั่วไปของโรงพยาบาล ในกรณีมีการระดมทีมแพทย์เยอะ ๆ เพราะคนไข้มีปัญหาหลายด้าน”

“แต่ของคุณปอโชคดีที่เขาได้น้ำใจจากประชาชน สามารถช่วยให้เขาผ่านวิกฤตตอนช่วงเลือดออก รวมทั้งเผื่อแผ่ไปถึงคนไข้คนอื่น ๆ ที่ต้องการเลือดในโรงพยาบาลด้วย วันที่เราผ่าปอดตอนนั้นวิกฤตถึงขั้นเลือดไปกดทับหัวใจและปอดจนทำงานไม่ได้ ครึ่งแรกช่วยได้โดยการใส่เครื่อง ECMO เหมือนปอดเทียมหัวใจเทียมไปแล้ว คิดว่าเดี๋ยวอาการทรงตัวจะไปผ่า แต่ปรากฏว่าเลือดออกเยอะจนทำให้เครื่อง ECMO ทำงานไม่ได้ ตอนนั้นเลยตัดสินใจถ้าไม่ผ่านี่เสียชีวิตแน่นอน นี่เป็นสิ่งแรกที่เราต้องผ่าในการเอาเลือดออกจากทรวงอกถึง 2 ครั้ง เราเองตั้งใจอยู่แล้วว่าจะมี 2 ครั้ง เนื่องจากเราไม่สามารถพาคนไข้ไปห้องผ่าตัดได้ในครั้งแรก คนไข้ยังมีอาการใช้อุปกรณ์เยอะ เราเลยต้องผ่าตัดชั่วคราวเพื่อควบคุมอาการ”

แนวโน้มตัดขาขวาเหมือนอยู่บนทางสองแพร่ง ต้องดูแลการติดเชื้อซ้อน ระบบไหลเวียนเลือดให้มีแรงดันเลือดส่งไปถึงปลายเท้า
รศ.นพ.สุรศักดิ์ : “เวลาเราทำงานกันเรามีแพทย์ 6 - 7 กลุ่ม เวลาเราทำงานเราประสานกันตลอด เราประชุมกันตลอดโดยเฉพาะทางไลน์เรียกว่าเกือบ 24 ชั่วโมงเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งภายในและภายนอก หลายครั้งเราต้องทำการตัดสินใจหลาย ๆ เรื่อง มันคือความเครียดทั้งสองฝ่ายเพราะคนไข้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง แล้วก็มีความกดดัน กว่าประกาศจะออกได้แต่ละฉบับต้องผ่านทุกคนว่าพอใจไหม ถ้าบอกว่าดีแล้วสุดท้ายไม่ดี สุดท้ายจะไปตกที่ฝ่ายนั่น ก็ฉันล่ะสิ เราเลยต้องไปด้วยกันเป็นทีม จะเห็นว่าต้องให้ทั้งยาและอะไรต่าง ๆ เท่าที่ทีมงานแพทย์จะหาได้ บางทีก็ไปยืมโรงพยาบาลอื่น เพราะบางทียามันขาดเราก็สรรหามาหลายวิธี เราคิดว่าไม่ใช่เพื่อคุณปอคนเดียว แต่จะเป็นประกายประทีปที่ส่งผลว่าเราสามารถจะสู้ให้ชีวิตอื่น ๆ ได้หรือเปล่า”

“(แนวโน้มตัดขาขวา?) ต้องขึ้นอยู่กับ 2 องค์ประกอบ ตอนที่หนึ่งป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้อน ขาข้างขวายังไงก็มีส่วนที่ขาดเลือด ปลายนิ้วเท้าข้างขวาเขาไปแล้ว ความภูมิต้านทานต่อโรคมีปัญหา จะไม่เหมือนเท้าของคนปกติ ทีนี้เราก็ต้องมาดูแลที่จะเกิดการติดเชื้อซ้อน สองคือโดยรวมของระบบไหลเวียน ต้องพึ่งทีมแพทย์ที่ดูแลเพื่อให้ทางเดินหัวใจมีแรงดันเลือดไปถึงปลายเท้าได้ดี รวมถึงยาด้วยที่จะช่วยทำให้เลือดส่งไปเลี้ยงถึงปลายเท้าได้ ก็หวังว่าถ้าทุกอย่างทรงตัว เราป้องกันการติดเชื้อ ก็สามารถอยู่ได้ แต่ ณ ตอนนี้มันเหมือนอยู่บนทางสองแพร่ง ถ้าเลี้ยวไปทางขวามันก็ดี

นอกจากนี้ช่วงบ่ายที่ผ่านมา “หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี “นายประยุทธ์ จันทร์โอชา” มอบแจกันดอกไม้ให้กับครอบครัวปอพร้อมเข้าเยี่ยมอาการป่วย เนื่องจากท่านนายกฯ ได้คุยกับนักข่าวเมื่อวานนี้และทราบว่าปอเป็นไอดอลของเยาวชน เลยรู้สึกห่วงใย จึงส่งตัวแทนมาเยี่ยมในวันนี้

ทั้งนี้ผู้ติดตามหม่อมหลวงปนัดดา ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า “หม่อมมาเยี่ยมในนามของท่านนายกฯ เนื่องจากปอได้ช่วยเหลืองานของรัฐบาล พร้อมทั้งปอได้ไปถ่ายมิวสิกวิดีโอ โครงการ Bike for Dad ปั่นเพื่อพ่อ อีกด้วย”











จดหมายชี้แจงความคืบหน้าอาการป่วย ปอ ทฤษฎี ฉบับที่ 15
“หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล” เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี มอบแจกันดอกไม้ให้กับครอบครัวปอ


ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น