xs
xsm
sm
md
lg

ปอ ทฤษฎี อาการดีขึ้น ลืมตา-ขยับตัว-หายใจเองได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.รามาธิบดี แถลงอาการ “ปอ ทฤษฎี” อาการดีขึ้น ลืมตา ขยับตัวได้ หายใจเองได้ ถอดเครื่องพยุงการทำงานปอดและหัวใจออกแล้ว เผยผ่าตัด 4 ครั้งช่วยชีวิต หลังผ่าตัดลำไส้ใหญ่อาการดีขึ้น ไม่ต้องให้เลือดเพิ่ม งดให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากระตุ้นความดัน ยันไม่มีการตัดขาขวา

วันนี้ (25 พ.ย.) นพ.วินิต พัวประดิษฐ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวความคืบหน้าอาการของนายทฤษฎี สหวงษ์ หรือ ปอ ดารานักแสดงที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก แล้วเกิดภาวะแทรกซ้อนจนมีอาการรุนแรง ซึ่งขณะนี้ยังไม่พ้นวิกฤต ว่า อาการล่าสุดของคุณปอเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น สามารถลืมตาและขยับตัวได้ โดยทีมแพทย์ได้หยุดให้ยาคลายกล้ามเนื้อและยากระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ซึ่งหลังจากการผ่าตัดลำไส้เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ให้เลือดเพิ่มเติมแก่ผู้ป่วย ถือเป็นสัญญาณที่ดี ส่วนกระแสข่าวการตัดขาขวาของคุณปอนั้นไม่เป็นความจริง เพราะเลือดไหลเวียนไปที่ขาขวาได้เป็นอย่างดี ขณะนี้ต้องรอให้อวัยวะสำคัญในร่างกายกลับคืนเป็นปกติ เช่น ไต ซึ่งยังต้องมีการฟอกไตอยู่ สมอง ส่วนตับและปอดเริ่มดีขึ้น 

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า คุณปอมารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ด้วยการป่วยโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 2 มีอาการรุนแรงจากภาวะแทรกซ้นต่าง ๆ ซึ่งตลอดการรักษามีการผ่าตัดช่วยเหลือคุณปอ 4 ครั้ง คือ 1. ผ่าตัดช่องอกด้านซ้ายเพื่อระบายเลือด แก้ปัญหาเรื่องการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน  2. การขาดเลือดที่เท้าซ้าย และมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน ซึ่งต้องยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต จึงจำเป็นต้องตัดขาซ้ายเหนือระดับข้อเท้า  3. ผ่าตัดช่องอกเพื่อระบายเลือดในวันเดียวกันที่ตัดขาซ้ายเหนือระดับข้อเท้า  และ 4. ผ่าตัดลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เนื่องจากมีภาวะเลือดออก อย่างไรก็ตาม หลังการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบว่ามีสัญญาณดีขึ้น ขณะนี้เลิกใช้เครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจแล้วตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถหายใจเองได้ งดการให้ยาคลายกล้ามเนื้อ และเริ่มมีการกระพริบตา จากนี้ไปยังต้องควบคุมภาวะการติดเชื้อ ถือว่ายังไม่พ้นวิกฤต และยังต้องเฝ้าระวังอาการต่อไป

นพ.พอพล โรจนะพันธุ หน่วยโรคติดเชื้อภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ​​เวลาที่รักษาภาวะอักเสบรุนแรง ต้องยอมรับว่า จะมีข้อแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะการติดเชื้อรา ซึ่งคณะแพทย์ได้เฝ้าระวังตลอด โดยมีการส่งตรวจเลือดและติดตามเฝ้าระวัง พร้อมทั้งให้ยาฆ่าเชื้อป้องกันควบคู่กันไป ส่วนการออกแถลงการณ์เรื่องความดันเป็นระยะที่ได้ให้ข้อมูลต่อผู้สื่อข่าว​นั้น เมื่อความดันในร่างกายตก จะทำให้อวัยวะบางส่วนจะมีอาการขาดเลือด การให้ยากระตุ้นความดันเพื่อรักษาระบบส่วนรวม หลอดเลือดจะหดตัวเกือบทั้งร่างกาย อวัยวะส่วนที่สำคัญที่สุด จะได้รับเลือดก่อน ส่วนมือเท้า จะเป็นส่วนที่ต้องการเลือดน้อยจึงมักมีการขาดเลือด ส่วนปัญหาการติดเชื้อในลำไส้นั้น หลังจากมีการผ่าตัดเพื่อหยุดเลือด ก็ยังไม่พบความจำเป็นต้องใช้ยากระตุ้นความดันต่อ ส่วนการเฝ้าระวังการติดเชื้อในปอด ซึ่งมีการเฝ้าระวังและส่องกล้องพบเชื้อราที่ปอด มีการให้ยาฆ่าเชื้อ โดยรวมคิดว่าน่าจะควบคุมได้

พญ.นงนุช สิระชัยนันท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยนั้น มีการใช้เกล็ดเลือดจำนวนมาก โดยได้รับ​เลือดจากผู้บริจาคมากกว่า 200 คน เนื่องจากเกล็ดเลือด 1 ยูนิต ต้องใช้เลือดจากผู้บริจาค 10 คน ทำให้สามารถให้เลือดแก่ผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การหยุดเลือด ​ยังใช้วิธีการผ่าตัดช่วยนอกเหนือจากการให้เลือด ทำให้การให้เกล็ดเลือด ส่วนประกอบเลือดลดลง โดยขณะนี้มีการให้เกล็ดเลือดวันละ 2  ครั้ง ​ น้ำเหลืองจะให้ทุก 6 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวถามว่าอาการที่จะบ่งบอกว่าอาการไตวายจะเริ่มดีขึ้น  พญ.ศรินยา บุญเกิด ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ภาวะไตวายขณะนี้ยังต้องช่วยเหลือ แต่หากผู้ป่วยมีสัญญาณดีขึ้นก็พร้อมที่จะถอนการช่วยเหลือ แต่จากการรับตัวผู้ป่วยมาตั้งแต่แรกพบว่า ค่าทำงานของไตอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ค่าการทำงานของไตจะกลับมาทำงานดีขึ้นเช่นเดิม แต่ตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการรักษาอยู่ ต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยสามารถปัสสาวะเองได้เมื่อไร

เมื่อถามถึงการขาดเลือดที่ขาขวาจะส่งผลใดหรือไม่  รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังต้องป้องกันการติดเชื้อซ้อน เนื่องจากขาขวามีการขาดเลือดที่ปลายผิวหนังของนิ้วเท้า เนื่องจากมีการขาดเลือด ซึ่งจะทำให้การต้านทานเชื้อโรคนั้นมีปัญหา และต้องทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น โดยหัวใจต้องสามารถสูบฉีดเลือดและส่งยาไปถึงปลายเท้าให้ได้ ขณะนี้ถือว่าอยู่บนทางสองแพร่ง แต่หวังว่าจะไปในทางที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 15 ถึงอาการป่วยของนายทฤษฎี ว่า ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลตั้งแต่เย็นวันที่ 9 พ.ย. ด้วยปัญหาไข้้เลือดออกชนิดที่ 2 ที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในโรงพยาบาล ได้แก่ Infection-associated hemophagocytis syndrome ระบบการไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว ระบบการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน จากมีเลือดออกในช่องเยื่อฟุ้มปอดด้านซ้าย ไตวายเฉียบพลัน การทำงานของตับผิดปกติเฉียบพลัน และอาการขาดเลือดเฉียบพลันที่เท้าทั้ง 2 ข้าง มีเลือดออกในทางเดินอาหารจำเป็นต้องรักษาด้วยยากระตุ้นความดันเลือด ให้เลือดและส่วนประกอบของเลือดเป็นระยะ เครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัว (ECMO) การฟอกไตต่อเนื่องและยาต้านแบคทีเรียและเชื้อรา 

อาการแทรกซ้อนที่รุนแรงและจำเป็นต้องทำการผ่าตัดในโรงพยาบาล ได้แก่ 1. การผ่าตัดระบายเลือดในช่องเยื่อหุ้มปอดด้านซ้าน เพื่อแก้ปัญหาภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 17 พ.ย. จนสามารถถอดเครื่องพยุงการทำงานของปอดและหัวใจได้เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2. ในคืนวันที่ 20 พ.ย. ผู้ป่วยมีความดันเลือดที่ควบคุมได้ยาก ซึ่งเกิดจากเท้าซ้ายที่ขาดเลือดรุนแรงมีอาการติดเชื้อซ้ำซ้อน จำเป็นต้องตัดเท้าระดับเหนือข้อเท้าเพื่อควบคุมอาการ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. มีปัญหาตกเลือดซ้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดด้านซ้าย จึงจำเป็นต้องผ่าตัดหยุดเลือดในช่องปอดซ้ายในคืนวันเดียวกัน 3. วันที่ 24 พ.ย. ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารรุนแรงขึ้น จนทำให้ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องผ่าตัดหยุดเลือดในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

อาการของผู้ป่วยใน 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมา อาการทรงตัวขึ้น ความดันเลือดควบคุมได้ดี โดยสามารถลดยากระตุ้นความดันเลือดได้ ผู้ป่วยสามารถกระพริบตาได้เอง และสามารถหายใจได้เองบางส่วน แต่ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประคับประคอง สามารถหยุดยาคลายกล้ามเนื้อ การทำงานของตับและภาวะไตวายเฉียบพลันคงที่ ขณะนี้ยังต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านแบคทีเรียและเชื้อรา สารอาหารทางหลอดเลือดดำและทางสายยางและการฟอกไตต่อเนื่อง

โดยสรุป แม้ตรวจไม่พบเชื้อไข้เลือดออกในตัวผู้ป่วยแล้ว แต่ผู้ป่วยยังอยู่ในขั้นวิกฤตที่มีภาวะโรคแทรกซ้อนที่เหลืออยู่ ได้แก่ ภาวะไตวายเฉียบพลัน และการติดเชื้อ แต่ยังคงต้องได้รับการเฝ้าระวังใน CCU ต่อไป หากมีการเปลี่ยนแปลงของอาการทางคลินิกอย่างมีนัยสำคัญ ทางโรงพยาบาลจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น