xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : เศรษฐกิจพอเพียง คือการพัฒนาที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่านผู้อ่านครับ เมื่อโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ก็ประสบปัญหาวิกฤติหลายๆด้าน วิกฤติสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนและสุขภาพอย่างรุนแรง ทำให้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก วิกฤติเศรษฐกิจ-การเมือง ที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ วิกฤติด้านสุขภาพ วิกฤติทางสังคม ปัญหาคอรัปชั่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาค้ามนุษย์ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ปัญหากองขยะมากมายมหาศาลกำจัดไม่หมด ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติอันอาจจะนำไปสู่สงคราม ปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปัญหาคนอพยพข้ามพรมแดน และปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำกระจายทั่วโลก ที่ทำให้คนในโลกมากกว่า 1,000 ล้านคนขาดอาหารและที่อยู่อาศัย ขาดการศึกษา ขาดสุขอนามัยที่ดี เป็นต้น ซึ่งองค์การสหประชาชาติก็กำลังแก้ปัญหานี้อยู่

เมื่อมาพิจารณาดูสาเหตุก็พบว่า รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ของมนุษย์ในโลกนี้นั่นเอง ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวถึงบ้างแล้วในตอนที่ผ่านๆมา ระบบทุนนิยมที่พัฒนาเมื่อ 2-3 ศตวรรษที่แล้วมา และกำลังจะถึงจุดจบ เนื่องจากก่อให้เกิดวิกฤติต่างๆดังที่กล่าวมา ทำให้เราเดินต่อไปแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว

การเร่งการผลิตสินค้า การเร่งการบริโภค โดยผ่านการลงทุน การกระตุ้นการบริโภค จะทำให้ปัญหาต่างๆรุนแรงขึ้น และจะไม่สามารถลดภาวะโลกร้อนได้ ศาสตราจารย์เอมมานูเอล วอลเลอสไตน์ นักวิจัยอาวุโส แห่งมหาวิทยาลัยเยล เจ้าของทฤษฎีระบบโลก (World System Theory) มีความเห็นว่า ระบบทุนนิยมกำลังมาถึงจุดจบ ทุกประเทศกำลังมีปัญหา ไม่ว่ายุโรป อเมริกา บราซิล จีน อินเดีย อาฟริกา เอเซีย ไปต่อแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว แต่ท่านก็มองไม่ออกว่าจะใช้ระบบรูปแบบไหนมาแก้ไข

ในอดีต คาร์ล มาร์กซ์ นักคิดผู้ยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 19 เคยคิดใช้ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์มาแก้ระบบทุนนิยม แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ใช้ไม่ได้ผล เขาจึงกลายเป็นนักโทษของกาลเวลาไปแล้ว (www.youtube.com/Immanuel Wallerstein- Capitalism is reaching it’s end)

ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ใช้วิธีใหม่ และเศรษฐกิจแบบยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นคำตอบซึ่งเป็นรูปแบบที่สหประชาชาติกำลังทำอยู่ เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาความยากจน และปัญหาสังคมต่างๆได้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการฝึกหัดความเป็นอยู่อย่างพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นจริยธรรมพื้นฐานที่ทำให้สังคมมีความสงบสุข แบ่งปันกัน ช่วยเหลือกัน

ถ้าเราศึกษาดูในพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 เรื่อง “พระมหาชนก” ท่านกล่าวในตอนท้าย เรื่อง มะม่วง 2 ต้นในพระราชอุทยาน ต้นหนึ่งมีผล รสชาติหวานหอมน่ารับประทาน อีกต้นหนึ่งไม่มีผล เมื่อพระราชาเสด็จเข้ามาในพระราชอุทยาน ทรงเสวยผลมะม่วงแล้วเสด็จกลับ ผู้คนทั้งหลายก็แย่งกันเก็บกินผลมะม่วง ถึงขั้นทำลายต้นมะม่วงจนโค่นล้มลง ส่วนต้นที่ไม่มีผลก็ไม่มีใครสนใจ เรื่องปริศนาธรรมจากต้นมะม่วงนี้ อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ประติมากรผู้ปั้นแบบเหรียญพระมหาชนก ให้ความเห็นว่า

“ต้นมะม่วงในบทพระราชนิพนธ์ หากจะเปรียบกับแผ่นดินไทยก็คงเป็นเช่นนั้น ด้วยผู้คนสนใจแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน จนละเลยการรักษาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า นั่นคือการทำลายตนเองด้วย แม้นแผ่นดินสิ้นประโยชน์ให้แสวงหา คนไทยจะอยู่อย่างไร ซึ่งผมคิดว่า ก็คงเหมือนสภาวะปัจจุบันนี้ ที่เรามีความล่มสลายทางเศรษฐกิจ พระองค์ท่านสอนให้เรารู้ว่า การที่จะบริโภคนั้นต้องบริโภคอย่างเพียงพอและบริโภคอย่างยั่งยืน เพื่อที่ว่าหลังจากที่เราเก็บผลมะม่วงแล้ว ต้นมะม่วงก็ยังอยู่ และยังสามารถให้ผลแก่คนอื่นๆ ต่อไปได้ด้วย อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ที่ให้สังคมไทยหันมามอง และก็มาใช้แนวทางในการบริโภคที่ยั่งยืน ในการมีชีวิตอยู่ต่อไปในวันข้างหน้า”

สำหรับปัญหาเหล่านี้ สหประชาชาติก็ได้พยายามเข้ามาแก้ไขโดยผ่านส่วนงานพัฒนาอย่างยั่งยืน (Division for Sustainable Development,www.sustainabledevelopment.un.org) ที่อยู่ในองค์กรหลักด้านเศรษฐกิจและสังคม (UN Department of Economic and Social Affairs ) ซึ่งมีเครือข่ายสมาชิกของสหประชาชาติ ช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวในงาน World Economic Forum เมื่อเดือนธันวาคม 2557 ว่า

“ปี 2558 จะเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติ เนื่องจากเป็นปีที่เราจะครบรอบการสถาปนา 70 ปี เป็นโอกาสอันดีที่จะทบทวนบทบาทขององค์กร ต่อการสร้างสันติภาพและการรักษาสิทธิมนุษยชนในโลกตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อปี 2488 ในปีนี้เป็นโอกาสที่เราจะมองไปข้างหน้าเพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับคนในโลกนี้ และเราจะร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาของเราในอนาคตไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ความหมายที่แท้จริงของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการสร้างความมั่งคั่ง ในขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ โดยไม่สร้างภาระความเดือดร้อนให้กับคนรุ่นต่อๆไปในอนาคต ในการที่จะตอบสนองความต้องการของพวกเขา โลกที่มั่นคงและยั่งยืนคือโลกที่สมาชิกไร้ซึ่งความยากจน มีงานดีๆทำ โดยที่ไม่ทำลายระบบนิเวศน์และทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนมีสุขภาวะที่ดี มีอาหารและน้ำดื่มอย่างเพียงพอ เข้าถึงพลังงานสะอาดได้ แต่ไม่ส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อน เด็กและสตรีมีสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกัน

ไม่มีประเทศใดหรือสังคมใดอยู่ได้โดยปราศจากความยั่งยืน เราต่างมีพันธกิจร่วมกันที่จะทำให้เกิดสิ่งนั้นเพื่อให้ทุกคนได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน...

ภาคเอกชน จะเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทเป็นอย่างยิ่งในการนำพาโลกไปสู่ความยั่งยืน เนื่องจากมีความสามารถในการรวบรวมและระดมเงินทุน ความรู้และความเชี่ยวชาญ การสร้างงาน การยกระดับสุขภาพ การสร้างความเข้มแข็งให้กับสตรีและการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้คงอยู่ไว้ได้” (ที่มา : มูลนิธิมั่นพัฒนา www.tsdf.or.th)

สำหรับในประเทศไทย งานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการกระทำมาอย่างยาวนานไม่น้อยกว่า 60 ปี ภายใต้โครงการในพระราชดำริต่างๆ ซึ่ง ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล รองประธานมูลนิธิมั่นพัฒนา เป็นผู้บุกเบิกโครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่พ.ศ. 2531 และได้ริเริ่มการดำเนินโครงการพัฒนาความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน ในระดับสากลในประเทศเมียนมาร์ อัฟกานิสถาน อาเจะห์-อินโดนีเซีย ในฐานะประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ ท่านกำลังพยายามนำหลักการพํฒนาที่กล่าวข้างต้น ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลทั่วประเทศและทั่วโลก ท่านเคยกล่าวไว้ว่า

“ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับโอกาสให้มาแบ่งปันประสบการณ์ของข้าพเจ้า หรือของพวกเราให้กับทุกท่าน การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นคำที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ ในปัจจุบัน แนวคิดเรื่องนี้มีการพูดถึงเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2515 ในการประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ แต่กว่าจะได้รับความสนใจในเวทีโลกอย่างจริงจัง ก็เป็นเวลา 20 ปีให้หลังในการประชุมสุดยอดริโอ ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร เมื่อพ.ศ. 2535 และเมื่อพูดถึง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เราหมายถึงอะไร และจะไปถึงจุดหมายได้อย่างไร

สำหรับประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ได้ทรงอุทิศพระองค์ เพื่อทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคงยั่งยืน ด้วยการเรียนรู้ที่ไม่ทรงหยุดยั้ง ทั้งจากความสำเร็จและความผิดพลาดเป็นเวลาหลายปี และเป็นการเรียนรู้จากชาวบ้านโดยตรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสามารถสร้างต้นแบบของแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่รู้จักกันในนาม “เศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้นมาได้

แล้วอะไรคือเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือ เศรษฐกิจที่พอประมาณ โดยมุ่งสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ตลอดจนสร้างความสุขโดยที่ไม่ลดทอนสุขภาวะของคนรุ่นหลัง

พระวิริยะอุตสาหะตลอดพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดยนายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้แต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ซึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสถวายงานรับใช้พระองค์อยู่เป็นเวลา 28 ปี ก็ทรงเรียนรู้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้ทรงนำแนวทางการพัฒนาแบบองค์รวม โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง มาประยุกต์ใช้ในโครงการพัฒนาดอยตุง ทางตอนเหนือของประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2531

ในช่วงเวลานั้น เรากำลังเผชิญปัญหาในหลายมิติในพื้นที่ดอยตุง ทั้งปัญหาการปลูก การลักลอบค้า และการเสพฝิ่น ปัญหากลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีต่อชาติ ปัญหาการลักลอบค้าอาวุธ ปัญหาสุขภาพ การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการเผาทำลายป่าเพื่อการเพาะปลูก และสุดท้ายคือความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยของประชากรชนกลุ่มน้อยที่ยังไม่ได้รับการรับรองสิทธิความเป็นพลเมือง และไม่มีที่ดินทำกิน เราจึงตระหนักว่าสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหาเหล่านี้ก็คือความยากจน และการขาดโอกาสในการทำมาหากิน ซึ่งจะต้องได้รับการจัดการแบบยั่งยืน

“การช่วยคนเพื่อให้เขาสามารถช่วยตัวเองได้” คือหลักสำคัญในแนวทางการทำงานของเรา ซึ่งจะดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกๆขั้นตอน เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ โดยเริ่มจากการระบุปัญหา ความต้องการ และสิ่งที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนร่วมกันในการออกแบบโครงการ วิธีการดำเนินงาน และการประเมินผล โดยเราจะมีบทบาทเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก และพี่เลี้ยงที่เป็นกลาง พยายามกระตุ้นพวกเขาให้คิดและลงมือทำ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นเหล่านี้ ให้สามารถขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาได้ด้วยตัวเอง แม้เมื่อพวกเราออกจากพื้นที่ไปแล้ว

หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ “องค์รวมและการบูรณาการ” ในพื้นที่ดอยตุง เราทำงานกับหน่วยราชการกว่า 35 หน่วยงานและภาคเอกชน โดยเริ่มจากเรื่องของความมั่นคงทางอาหารและน้ำ ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การชลประทาน ถนนหนทางและไฟฟ้า เพื่อปูทางไปสู่โครงการพัฒนาระยะยาว เราให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาคน สุขภาพ การดำรงชีวิต และการศึกษา อย่างบูรณาการและเป็นองค์รวม เพื่อวางรากฐานที่แข็งแรงให้คนสามารถผลักดันตัวเองไปสู่ความยั่งยืนได้

เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว เราจึงได้ริเริ่มโครงการป่าเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนสามารถหารายได้จากการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร และปกป้องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน เราทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของไทยและญี่ปุ่นอีก6 หน่วยงาน เพื่อมาลงทุนในบริษัทเอกชนที่เราก่อตั้งขึ้น ภายใต้ชื่อบริษัท นวุติ จำกัด นักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์ต่างได้ผลกำไรจากธุรกิจของพวกเขาในประเทศไทย

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเสนอแนะกับพวกเขาว่า เขาควรจะตอบแทนสังคมไทย ตอบแทนโลกและธรรมชาติ พวกเขาควรจะให้เงินทุนสำหรับตั้งต้นโดยไม่เอาทุนคืน หรือเรียกคืนผลตอบแทนในภายหลัง และถ้าบริษัทได้ผลกำไรจากการลงทุนนี้ กำไรทุกอย่างก็ควรจะบริจาคให้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เพื่อให้ใช้ดุลยพินิจในการนำผลกำไรดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อโครงการพัฒนาสังคมอื่นๆ เรื่องนี้ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์ธุรกิจ แต่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อชุมชนและต่อโลก และนักลงทุนเหล่านี้ก็เห็นพ้องด้วย” (ที่มา : มูลนิธิมั่นพัฒนา www.tsdf.or.th)

โครงการพัฒนาดอยตุง ได้รับยกย่องจาก UNODC - สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (จาก www.youtube.com/Doi Tung (english version) ให้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาชนบทอย่างครบวงจร ที่สามารถแก้ปัญหาความยากจน และทำให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ อันเป็นหัวใจหลักของวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้รับการถอดชื่อออกจากประเทศที่ปลูกพืชเสพติดใน พ.ศ. 2546

การทำเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยแก้ปัญหาของโลกมนุษย์ในปัจจุบันได้ แต่การทำเศรษฐกิจแบบไม่รู้จักพอ จะนำเราไปสู่ปัญหาและวิกฤติการณ์ต่างๆ

เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยเรามีนักปราชญ์ชาวบ้านและคนในชุมชนท้องถิ่น ได้ร่วมมือกันใช้วิธีการทำเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแพร่หลายทั่วไป เช่น ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี และสหประชาชาติได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยเข้ามาจัดทำโครงการ PEI ในจังหวัดน่าน ขอนแก่น สมุทรสงคราม ท่านผู้อ่านอาจเข้าไปดูได้ใน www.youtube.com/UNDP Poverty-environment Initiative in Thailand-final

ท่านผู้อ่านครับ พระพุทธองค์ตรัสว่า

“โลภะ โทสะ โมหะ ย่อมฆ่าบุคคลใจบาป เหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ฉะนั้น”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 180 ธันวาคม 2558 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น