ปริมาณอาหารที่ผลิตได้มากขึ้นไม่ได้ทำให้ประเทศหรือภูมิภาคนั้นๆ ถูกเรียกว่ามีความมั่นคงทางอาหาร แต่ความมั่นคงทางอาหารหมายรวมถึงความปลอดภัยของอาหาร ความสามารถในการเข้าถึงอาหาร และผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับตน
ถึงแม้ว่าจากรายงานสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารของโลกในปี พ.ศ. 2558 ที่เผยแพร่โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มีคนขาดสารอาหารทั่วโลกลดลงถึง 167 ล้านคนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้มีประชากรโลกเพียง 1 ใน 9 ที่ขาดสารอาหารในปีพ.ศ. 2557 - 2559 โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จำนวนประชากรที่ขาดสารอาหารลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 137.5 ล้านคน ในพ.ศ. 2553 - 2559 เหลือ 60.5 ล้านคน หรือลดลงร้อยละ 56 ในพ.ศ. 2557 - 2559 โดยแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าอย่างรวดเร็วของภูมิภาคนี้ในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษเพื่อขจัดความหิวโหย (MDG 1c)
แต่สำหรับในอีก 35 ปีข้างหน้า คาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 9 พันล้านคน และการเพิ่มผลผลิตทางอาหารจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 เป็นอย่างน้อยเพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของประชากรโลกทั้งหมดในอนาคตได้
ดังนั้นการประชุมปรึกษาหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในระดับภูมิภาคเรื่อง “ระบบอาหาร-เกษตรอย่างยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน” จึงได้ขึ้นในวันที่ 1 - 3 พฤษภาคม พศ. 2560 ที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารด้านความมั่นคงทางอาหารและระบบอาหารเกษตรอย่างยั่งยืนจากประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เข้าร่วมจำนวน 40 ท่าน โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะนำเสนอ แลกเปลี่ยนบทเรียนและประสบการณ์ รวมถึงประเด็นและความท้าทาย เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะในแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับภูมิภาคต่อที่ประชุมด้านการเกษตรของอาเซียนในโอกาสต่อไป
ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในพิธีเปิดการประชุมฯ ว่าหลังจากวิกฤตราคาอาหารโลกในปี พศ. 2550 - 2551 การประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียนซัมมิท) มีมติเห็นชอบให้ความมั่นคงทางอาหารเป็นวาระสำคัญ เร่งด่วนที่สุดเรื่องหนึ่ง และแนวคิดเรื่องระบบอาหาร-เกษตรอย่างยั่งยืนจึงได้เริ่มขึ้นและมีการนำมาใช้เพื่อมุ่งสู่ความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งระบบอาหาร-เกษตรอย่างยั่งยืนจะยังนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ทั้งเป้าหมายด้านขจัดความยากจน และความหิวโหย การเพิ่มคุณค่าทางอาหารและพัฒนาสุขภาพ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ลดสภาวะโลกร้อน รวมทั้งสร้างความร่วมมือทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก
ดร.เสริมสุข ยังกล่าวถึงระบบอาหาร-เกษตรอย่างยั่งยืนว่าเป็นการผสมผสานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำการเกษตรของประเทศสมาชิกอาเซียนไว้ด้วยกันอีกด้วย
ดร. แมทเธียส บิคเคล ผู้อำนวยการโครงการระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียนและรัฐบาลเยอรมัน กล่าวถึงระบบอาหาร-เกษตรอย่างยั่งยืนว่า คือการผลิต ผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างปลอดภัย มีคุณภาพ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพที่ดีของชุมชนและระบบนิเวศการเกษตร ผู้บริโภคทุกคนสามารถซื้อหาได้ในราคาที่จ่ายไหว ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมที่ดีขึ้น สามารถปรับตัวกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และนำวิธีปฎิบัติทางการเกษตรที่ดีจากประเทศสมาชิกในอาเซียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งมีการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งข้อได้เปรียบและความเสี่ยงในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
การจัดการประชุมฯ ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นเวทีระดับภูมิภาคในการรับทราบมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อจะได้รับรู้ถึงปัญหาและความท้าทายและรวบรวมบทเรียน ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานและข้อเสนอแนะร่วมกันในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับภูมิภาคด้านระบบอาหาร-เกษตรอย่างยั่งยืนเพื่อมุ่งสู่ความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต