xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกในไทย พม. เตรียมการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียตะวันออกด้านครอบครัวและด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้ (2 พ.ย. 2559 เวลา 11.00 น. นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับการเตรียมการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียตะวันออกด้านครอบครัวและด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ (The East Asia Ministerial Forum on Families and Gender Equality) ซึ่งประเทศไทยโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมในครั้งแรกนี้ โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 23 ธันวาคม 2559 ณ โรงแรม แชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียตะวันออกด้านครอบครัว (East Asia Ministerial Forum on Families) และการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย (The East Asia Gender Equality Ministerial Meeting) ซึ่งแยกดำเนินการจัดการประชุม และจากมติที่ประชุม โดยการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย ครั้งที่ 5 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2556 และการประชุมการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียตะวันออกด้านครอบครัว ครั้งที่ 6 จัดขึ้น ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ. 2557 ได้มีมติในที่ประชุมเห็นชอบให้รวมการประชุมทั้งสองอย่างไว้ด้วยกัน โดยกำหนดจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ในปี 2559 เนื่องมาจากเป็นการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียตะวันออกเหมือนกัน หลายประเทศมีกระทรวงที่รับผิดชอบงาน ด้านความเสมอภาคและครอบครัวกระทรวงเดียวกันและเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ

นายเลิศปัญญา กล่าวต่อไปว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียตะวันออกด้านครอบครัวและด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ (The East Asia Ministerial Forum on Families and Gender Equality) มีวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมเพื่อสร้างเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูลนโยบาย การสร้างกรอบดำเนินงาน รวมถึงการพัฒนาและการประยุกต์ด้านการทำงานแห่งสตรีและสถาบันครอบครัวเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับที่ดีขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 50 ท่าน แยกเป็น เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส 25 ท่าน และระดับรัฐมนตรี 25 ท่าน จาก 17 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศที่มีกระทรวงด้านครอบครัวและสตรีอยู่ภายในกระทรวงเดียวกัน จำนวน 9 ประเทศ

ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐสิงค์โปร์ สาธารณรัฐเกาหลี และราชอาณาจักรไทย และประเทศที่มีกระทรวงด้านครอบครัวและสตรีแยกกันอีกจำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย นิวซีแลนด์สาธารณรัฐ ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐติมอร์-เลสเต และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งหัวข้อหลักของการประชุม คือ สังคมที่เป็นมิตรกับครอบครัว : การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านสถาบันครอบครัวและส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ” “A Family - Friendly Society : A contribution to the Achievement of SDGs through Families and Gender Equality”

การประชุมในครั้งนี้ ไทยจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติหรือแบบอย่างที่ดีในการดำเนินงานด้านครอบครัวและด้านความเสมอภาคระหว่างเพศของประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ซึ่งอาจนำมาปรับใช้กับการทำงานของประเทศไทยได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศที่จะได้ทำงานด้านครอบครัว และความเสมอภาคระหว่างเพศร่วมกันของประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน

โดยรูปแบบการจัดการประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย : การประชุมระดับรัฐมนตรี การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลรายประเทศ (Country Presentation) การพิจารณาและรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) การศึกษาดูงานในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา รัฐมนตรีหรือหัวหน้าคณะผู้แทน 16 ประเทศเข้าพบเพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรี และได้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “สถาบันครอบครัวและความเสมอภาคระหว่างเพศบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” “Challenges to Reaching A Family-Friendly Society and Gender Equality”

เนื่องจากช่วงนี้ ประเทศไทยของเราอยู่ในช่วงของความเศร้าโศกจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังนั้น ก่อนเริ่มการประชุมในวันที่ 21 – 22 ธันวาคม ได้มีการกำหนดให้มีการยืนแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านแล้ว ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าพระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนามนุษย์ โดยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 หรือเมื่อ 10 ปีผ่านมา นายโค ฟีอันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ในขณะนั้น ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัล "ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) ซึ่งเป็นรางวัลชิ้นแรกของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(UNDP) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

นอกจากนี้สัญลักษณ์การจัดการประชุมครั้งนี้ ยังมีการนำเครื่องทองน้อยมาประดับไว้บนโลโก้การจัดประชุม เพื่อเป็นการแสดงความอาลัยต่อพระองค์ท่านด้วย และในขณะนี้ เหลือเวลาก่อนการประชุม อีกประมาณ 1 เดือนเศษ ๆ การเตรียมความพร้อมในการจัดการประชุมมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก และในส่วนของสื่อมวลชนอยากขอความร่วมมือให้ช่วยประชาสัมพันธ์การประชุมดังกล่าว รวมถึงเชิญชวนให้คนไทยร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ด้วย นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น