xs
xsm
sm
md
lg

เหรียญ “ในหลวงภูมิพล” ที่ยังมีให้เก็บสะสมเป็นมงคลชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชาชนหลั่งไหลร่วมซื้อเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ผลิตโดยกรมธนารักษ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งเหรียญที่ออกปกติ เหรียญที่ระลึก และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ออกในวาระพิเศษ 24 แบบ จำนวน 3-4 ล้านเหรียญ ที่ยังมีให้ประชาชนเก็บสะสมไว้เป็นมงคลชีวิตหรือเก็บเป็นมรดกให้ลูกหลาน
ประชาชนซื้อเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ที่ศูนย์จ่ายแลกเหรียญ กระทรวงการคลัง
นางสาวจันทรพร สุนทรวิภาต เจ้าพนักงานการบัญชีชำนาญงาน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กล่าวถึง ประเภทของเหรียญที่เปิดให้ประชาชนแลกเก็บไว้เป็นที่ระลึกนั้น แบ่งเป็นเหรียญ 2 ประเภท คือ “เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก” ซึ่งมีราคาหน้าเหรียญ กับเหรียญที่ระลึกที่ไม่มีราคาหน้าเหรียญ โดยเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกกับเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนนั้น มีสำนักงานบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์ เป็นผู้ดูแล
เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนพุทธศักราช 2556
เช่น เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกรัชกาลที่ 9 ที่มีราคาหน้าเหรียญ ซึ่งมีในหลายวาระพิเศษ อาทิ เหรียญกษาปณ์รัชกาลที่ 9 พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550, เหรียญกษาปณ์ พระบิดาแห่งฝนหลวง ครบ 50 ปี ฝนหลวงพระราชทาน 14 พฤศจิกายน 2548, เหรียญกษาปณ์ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม 16 เมษายน 2555
“เหรียญดิน” เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสที่สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม
นอกจากนั้นยังมี “เหรียญที่ระลึก” ที่สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ เป็นผู้ดูแลและจำหน่ายเหรียญที่ระลึกและผลิตภัณฑ์เหรียญที่เป็นทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์และหมดวาระไปแล้ว เช่น เหรียญสิริราชสมบัติ 60 ปี (กาญจนภิเษก)
เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ปีพุทธศักราช 2554
ข้อแตกต่างของเหรียญของสำนักทรัพย์สินที่มีค่าของแผ่นดิน คือ เป็นเหรียญที่ระลึกในแผ่นพับ ภายในบรรจุเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในวาระต่างๆ แบ่งเป็น “เหรียญที่ไม่มีราคาหน้าเหรียญ” ซึ่งมีราคาจำหน่ายตามประเภทของเหรียญนั้น รวมถึง “เหรียญที่มีราคา” แต่ไม่ได้เป็นราคาตามหน้าเหรียญ เพราะเป็นเหรียญเพื่อสะสมไว้เป็นที่ระลึก เช่น มูลค่าหน้าเหรียญ 1 บาท แต่มีราคา 300 บาทเพราะเป็นรุ่นที่ออกในปี 2531
เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ชนิดราคาหน้าเหรียญ 10 บาท พุทธศักราช 2551
ส่วนเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่กรมธนารักษ์จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ปี 2549” หรือเหรียญ UNDP ซึ่งเป็นเหรียญเงิน มีราคาหน้าเหรียญเริ่มตั้งแต่ 900 บาท และมีราคาแลก 1,800 บาท มีจำหน่ายที่โรงกษาปณ์ รังสิต
เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554
กทม.เปิดให้แลกเหรียญจนกว่าจะหมด

จากการที่ประชาชนเดินทางมาแลกเหรียญเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกกันจำนวนมาก ปัจจุบันนี้ยังคงมีเพียงพอกับความต้องการของประชาชน และจะเปิดให้ประชาชนแลกจนกว่าเหรียญจะหมด เนื่องเพราะเหรียญกษาปณ์แต่ละรุ่นนั้นผลิตมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้การจัดชุดรายการเหรียญที่ระลึกที่เปิดให้แลกจะไม่เหมือนกันในแต่ละวัน เนื่องจากมีการกระจายไปที่จุดจำหน่ายทั้ง 3 แห่ง และเจ้าหน้าที่จะนับยอดคงเหลือของเหรียญแต่ละประเภท ในช่วงเย็นหลังปิดการจำหน่าย จึงทำให้ไม่ทราบจำนวนที่คงเหลือล่วงหน้า

อย่างไรก็ตามการจำหน่ายเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก รัชกาลที่ 9 ในวาระพิเศษที่มีทั้งหมด 24 แบบ โดยส่วนที่เป็นเหรียญมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 นั้น มีทั้งหมด 6 แบบ คือ เหรียญ 80 พรรษา รัชกาลที่ 9, เหรียญ 50 ปี ฝนหลวง, เหรียญรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม, เหรียญ 50 ปี กาญจนภิเษก, เหรียญรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินฯ (ทองคำขัดเงา), เหรียญ “UNDP” เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เนื่องในโอกาสที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์

ซึ่งการจำหน่ายที่จุดแลกในแต่ละวันมีแบบที่แตกต่างกัน เช่น เหรียญโรงกษาปณ์ รังสิต ซึ่งเป็นศูนย์ใหญ่ จะมีครบเกือบทุกประเภทประมาณ 10 แบบ ขณะที่จุดกระทรวงการคลัง ซอยอารีย์ มีจำหน่ายเหรียญ 5 แบบ ด้วยเหตุผลว่า หากนำออกมาจำหน่ายทุกวาระเลยในคราวเดียวนั้น ประชาชนที่ไม่มีโอกาสเดินทางมาในช่วงแรกๆ จะไม่มีเหรียญเก็บไว้เป็นที่ระลึก

กรณีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ที่จุดจำหน่ายเหรียญ กระทรวงการคลัง ซอยอารีย์ มีจำหน่ายรุ่นเหรียญกษาปณ์และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกของ “สำนักงานบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์” ที่นำมาจ่ายแลกให้ประชาชนคนละ 1 ชุด ในราคา 1,000 บาท โดยมีรายละเอียดดังนี้ เหรียญ 20 บาท 80 พรรษา รัชกาลที่ 9 จำนวน 5 เหรียญ, เหรียญ 20 บาท 80 พรรษา ราชินี จำนวน 5 เหรียญ, เหรียญ 20 บาท 50 ปีฝนหลวง จำนวน 5 เหรียญ, เหรียญ 20 บาท เหรียญรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดิน จำนวน 5 เหรียญ, เหรียญ 20 บาท สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 5 เหรียญ และเหรียญ 50 บาท 84 พรรษา ราชินี จำนวน 10 เหรียญ
เหรียญพระคลังเพชรยอดมงกุฎ มีนัยยะเปรียบเสมือนเทพยดาศักดิ์สิทธิ์ที่คอยอภิบาลรักษา โดยองค์พระสยามเทวาธิราชเป็นดั่งเทพที่คอยปกป้องบ้านเมือง ส่วน “พระคลัง” ดุจดังเทพผู้พิทักษ์รักษาทรัพย์สินมีค่าในพระคลังมหาสมบัติ
ส่วนการจำหน่ายเหรียญสะสมที่ระลึก ของสำนักงานทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินมี 7 ชุด ราคา 1,650 บาท คือ Circulation coin of Thailand 2014, เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนพุทธศักราช 2555, เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนพุทธศักราช 2556, เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ชนิดราคาหน้าเหรียญ 10 บาท พุทธศักราช 2531, เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554, เหรียญที่ระลึก พระคลัง เพชรยอดมงกุฎ พ.ศ.2556, เหรียญเงิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ครองราชย์ครบ 25 ปี (หน้าเหรียญ 10 บาท รัฐบาลไทย 9 มิถุนายน 2514)

เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่กรมธนารักษ์ผลิตขึ้น และเปิดจำหน่ายประชาชนใน 3 จุดหลัก คือ ศูนย์จ่ายแลกเหรียญ กระทรวงการคลัง, โรงกษาปณ์รังสิต, ศูนย์แลกเหรียญถนนจักรพงษ์ ซึ่งเปิดจำหน่ายให้กับประชาชนที่มีบัตรคิวจำนวน 200 คนต่อวัน ในวันจันทร์ - ศุกร์ โดยเริ่มแจกบัตรคิวตั้งแต่เวลา 08-30 น.

ต่างจังหวัดยังมีสำรองให้เก็บสะสม

สำหรับประชาชนในต่างจังหวัดนั้น แม้ว่าจะยังไม่ได้เปิดให้แลกที่คลังจังหวัดทั่วประเทศ แต่มีการรวบรวมเหรียญส่วนนี้ไว้ให้แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการกระจายต่อไปให้ได้ครบทุกจังหวัด ซึ่งรายละเอียดเหรียญที่จะนำมาให้ประชาชนเก็บสะสมไว้เป็นที่ระลึกจะเป็นวาระไหนนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัดที่จะดำเนินการขอเบิก
เหรียญ “UNDP” เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เนื่องในโอกาสที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจากสำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ สวท.สงขลา กล่าวว่า ประชาชนชาวจังหวัดสงขลาให้ความสนใจเหรียญที่ระลึกและเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหรียญ “UNDP” ได้รับและจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว ซึ่งนางทิพาพรรณ อิ่มสุ่น ผู้อำนวยการศาลาธนารักษ์ 2 สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน เปิดเผยว่า หนึ่งในภารกิจหลักของศาลาธนารักษ์ 2 คือ การจำหน่ายเหรียญและผลิตภัณฑ์เหรียญที่กรมธนารักษ์จัดทำในวาระสำคัญเกี่ยวกับชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อส่งเสริมการเก็บสะสม ซึ่งหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีประชาชนทุกสาขาอาชีพ เดินทางมาซื้อเหรียญที่ระลึกและเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกกันอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกชนิดขัดเงา และลงสี ที่ผลิตขึ้นเนื่องในโอกาสที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า เหรียญ “UNDP” ความพิเศษของเหรียญดังกล่าว คือ เป็นเหรียญเงิน ขัดเงา พร้อมทั้งลงสี เป็นเหรียญแรกและเหรียญเดียวที่กรมธนารักษ์ผลิตขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี 2549 ด้วยความสวยงามของเหรียญและความพิเศษของโอกาสในการจัดทำ ทำให้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก จนจำหน่ายหมดในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้มีเหรียญที่ผลิตจากนิกเกิลเท่านั้นที่ยังพอมีจำหน่ายให้ประชาชนได้ร่วมเป็นเจ้าของเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก เช่น เหรียญพระบิดาแห่งการค้าไทย, เหรียญพระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกโลก ฯลฯ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอซื้อได้ที่ศาลาธนารักษ์ 2 ศาลากลางหลังเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในวันและเวลาราชการ

กำลังโหลดความคิดเห็น