นายกรัฐมนตรีแถลงปิดประชุมเอดีซี ทุกประเทศต่างเห็นพ้องกำหนดทิศทางความร่วมมือไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างประชาคมเอเชียในอนาคต ในประเด็นสำคัญ 4 ประการ
ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเวลา 19.00 น. วันนี้ (10 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงข่าวผลการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 2 ณ กระทรวงการต่างประเทศ ว่าการรวมตัวของผู้นำ ACD ที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับ ACD นับจากการก่อตั้ง ACD ในปี 2545 โดยผู้นำ ACD เห็นพ้องที่กำหนดทิศทางความร่วมมือที่ชัดเจนที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และครอบคลุมของเอเชีย และการสร้างประชาคมเอเชียในอนาคต โดยมีประเด็นสำคัญ คือ
1. รับรองวิสัยทัศน์ความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. 2030 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการสร้างประชาคมเอเชียในอนาคตประชุมอีก 14 ปีข้างหน้า โดยเน้นการพัฒนาความร่วมมือใน 6 เสาหลักที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 (SDGs)
2. รับรองปฏิญญากรุงเทพฯ และแผนปฏิบัติการพิมพ์เขียวระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2017-2021) เพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์ร่วมไปสู่การปฏิบัติ โดยแผนปฏิบัติการพิมพ์เขียวดังกล่าวเป็นข้อเสนอแนะให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการดำเนินความร่วมมือใน 6 เสาหลักของ ACD ให้เป็นรูปธรรม ไทยขอขอบคุณประเทศสมาชิกต่างๆ ที่เสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในสาขาต่างๆ อาทิ จีน และยูเออี ในสาขาความมั่นคงด้านอาหาร น้ำและพลังงาน เกาหลีใต้ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อิหร่านในด้านวัฒธรรมและการท่องเที่ยว เป็นต้น
โดยทุกประเทศจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันและกำหนดแผนการทำงาน รวมทั้งกรอบเวลาต่อไป โดยจะรายงานผลในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ในช่วงเดือนกันยายนปีหน้า ส่วนไทยเสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อนในด้านการส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ทั่วถึง และยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ โดยจะนำเสนอประสบการณ์ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จในบริบทต่าง ๆ ขณะที่ประเทศเช่นภูฏานจะนำเสนอเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ เป็นต้น
3. รับรองแถลงการณ์ ACD ประกาศบทบาทของเอเชียในการกระตุ้นการเติบโตผ่านความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเชื่อมโยง เพื่อย้ำถึงบทบาทและโอกาสของเอเชียในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญที่เศรษฐกิจโลกกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่ยังต้องเผชิญกับความผันผวน และความท้าทายต่างๆ ทั้งนี้ ที่ประชุมเชื่อมั่นว่าเอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ และความแข็งแกร่ง และเป็นช่วงเวลาแห่ง “ศตวรรษของเอเชีย” ในฐานะเป็นตัวเร่งพลวัตการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก โดย ACD เป็นกรอบความร่วมมือที่มีศักยภาพ และสามารถใช้จุดแข็ง และพลังที่หลากหลายของประเทศสมาชิก เพื่อประโยชน์ร่วมกันได้
ขณะเดียวกัน ไทยได้เสนอที่จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกและทุกภาคส่วนเพื่อจัดตั้งกลไกการทำงานเพื่อกระตุ้นพลวัตการเติบโต (Sub-Working Group on Reigniting Growth) ภายใต้เสาหลักด้านความเชื่อมโยง อย่างเป็นรูปธรรมภายในการประชุมรัฐมนตรี ACD คู่ขนานการประชุม UNGA72 เดือนกันยายน 2560 เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านดังกล่าวต่อไป
4. ที่ประชุมเห็นพ้องกับการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACD ขึ้นที่คูเวต เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมการดำเนินงานของ ACD โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก การจัดประชุมและกิจกรรมต่างๆ ในรอบปี โดยขอบคุณคูเวตในฐานะประเทศที่ตั้งของสำนักเลขาธิการ ACD และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการ ACD ต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ผู้นำ ACD มีโอกาสได้รับฟังข้อเสนอแนะของตัวแทนภาคเอกชนจากเวที ACD Connect 2016 Business Forum ซึ่งได้เสนอแนวทางความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนในการพัฒนาเอเชียในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการเงินผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ FinTech รวมทั้งการเร่งระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคจากแหล่งเงินทุนสำคัญต่างๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเชีย
ขณะที่การส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน (Public-Private-People Partnership - 4Ps) เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้นำเห็นควรผลักดันในการดำเนินความร่วมมือในกรอบ ACD ให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยเห็นว่า ACD จะต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชนซึ่งถือเป็นหนึ่งในกำลังหลักที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือในประเทศและภูมิภาคเอเชีย โดยภูมิภาคของเราจะไม่ทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง แต่จะก้าวไปข้างหน้าไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมขอบคุณและยินดีที่เนปาลเข้าเป็นสมาชิกใหม่ในปีนี้ และชื่นชมการเป็นเจ้าภาพและบทบาทของไทยใน ACD ซึ่งเป็นการเพิ่มพลวัตอย่างมีนัยสำคัญ และขอบคุณยูเออีในฐานะประธานใหม่ของ ACD ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพของยูเออีในการจัดการประชุมรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 15 ณ กรุงอาบูดาบี ในเดือนมกราคม 2560 เพื่อต่อยอดมติสำคัญของการประชุม ACD Summit ในครั้งนี้ โดยเน้นความร่วมมือด้านพลังงานทดแทนในภูมิภาค ACD นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดีอย่างยิ่งที่อิหร่านจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACD Summit ครั้งที่ 3 ในปี 2561 ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการติดตามผลการประชุม ACD Summit ที่กรุงเทพฯ ต่อไป
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่อยากให้ใครว่าประเทศไทยต้องเป็นผู้นำ แต่ทุกประเทศต้องเป็นผู้นำไปพร้อมๆ กัน สิ่งสำคัญคือทุกประเทศต้องเร่งรัดขจัดอุปสรรคระหว่างกันโดยต้องไม่มีผลกระทบต่อพันธะสัญญา และข้อตกลงอื่นๆ ในเวทีโลก และทำอย่างไรให้ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติโดยเร็ว และเร่งเดินหน้าตามโรดแมปของเอซีดีที่ถือเป็นกลไกเชื่อมโยงกรอบความร่วมมือต่างๆ ในโลกใบนี้ เพื่อเติบโตไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง