xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อันตราย.. ก้มดูจอโทรศัพท์มือถือนาน สายตา-หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็ว !!!
คนที่ติดมือถือโปรดทราบ..โรคร้ายกำลังมาเยือนท่านแล้ว

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เตือนคนที่มีอาการขาดมือถือไม่ได้ ที่เรียกว่า “โนโมโฟเบีย” เป็นอาการใหม่ทางสุขภาพจิต จัดอยู่ในกลุ่มอาการวิตกกังวล

ข้อสังเกตของผู้ที่มีอาการโนโมโฟเบีย มีดังนี้ มักพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา จะรู้สึกกังวลใจหากมือถือไม่ได้อยู่กับตัว หมกมุ่นอยู่กับการเช็คข้อความ/ข้อมูลในมือถือตลอดเวลา และดูโทรศัพท์บ่อยๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วน เมื่อได้ยินเสียงเตือนเข้ามาจะวางงาน เพื่อเช็คข้อความในมือถือทันที เล่นมือถือก่อนนอน หลังตื่นนอน หรือขณะที่ทำกิจกรรมประจำวัน เช่น ทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ขับรถหรือนั่งรถ ไม่เคยปิดมือถือ ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ตรงหน้า

ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลกระทบการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่าง เช่น นิ้วล็อค สายตาเสื่อมเร็ว กล้ามเนื้อที่คอ บ่า ไหล่ เกร็งและปวดเมื่อย จากการก้มหน้าเพ่งจอเป็นเวลานาน และทำให้หมอนรองกระดูกที่คอเสื่อมก่อนวัยอันควร อาจทำให้เส้นประสาทสันหลังที่บริเวณส่วนคอถูกกดทับ เกิดอาการชาที่แขน มือไม่มีแรง หรือเดินโคลงเคลงเหมือนจะล้ม และอาจเกิดโรคอ้วนได้ง่ายจากการนั่งอยู่กับที่นานๆ

ส่วนวิธีป้องกัน คือ ต้องสร้างวินัยในการใช้มือถือ ใช้เท่าที่จำเป็น และทำกิจกรรมอื่นทดแทน

ถึงตาย...อย.เตือนภัยสาวอยากผอม ระวัง! อย่ากินกาแฟอ้างลดน้ำหนัก
สาวๆที่อยากผอม แล้วหลงเชื่อไปกินกาแฟที่อวดอ้างว่าลดน้ำหนัก อาจมีสิทธิ์ตายได้ง่ายๆ

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ย้ำเตือนหญิงสาวทั้งหลาย ให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อกาแฟที่อวดสรรพคุณช่วยลดน้ำหนักมาบริโภค ว่า อย่าหลงเชื่อการอวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักของผลิตภัณฑ์กาแฟ และกาแฟที่ไม่มีเลขสารบบอาหารบนฉลาก เพราะ อย. เคยตรวจพบการใส่สารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์กาแฟที่แสดงฉลากอวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ซึ่งมีความเสี่ยงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือบริโภคในปริมาณสูง

โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และ ท้องผูก เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน อย. ได้เพิกถอนยาไซบูทรามีนออกจากตลาดแล้ว

กินเนื้อแปรรูปมากไป เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นหนึ่งในมะเร็งหลายชนิด ที่ทำให้คนป่วยและเสียชีวิตมากที่สุดทั่วโลก

เจน ฟิกกีเรโด ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ชี้ว่าการรับประทานเนื้อแปรรูปมากกว่า 5 มื้อ หรือมากกว่านั้นต่อสัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำใส้ใหญ่ ในคนที่มีการกลายพันธุ์ของพันธุกรรมในบางลักษณะ

ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาสุขภาพของคน 18,000 คน ในสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย และยุโรป เพื่อดูว่า การรับประทานเนื้อแปรรูปที่มีสารไนเตรตเป็นส่วนผสมกันบูด มีผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร เนื้อแปรรูปที่ว่านี้ รวมทั้งเนื้อที่ผ่านกรรมวิธีย่าง อบ ผึ่ง และรมควัน ได้แก่ เบคอน แฮม ฮอทดอก ไส้กรอก หรือเนื้อแปรรูปอื่นๆ

ผลการศึกษาพบว่า คนที่มีการกลายพันธุ์ของกรรมพันธุ์อย่างน้อยในสองลักษณะ เป็นกลุ่มคนที่รับประทานเนื้อแปรรูปเกือบทุกวัน และเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำใส้ใหญ่มากที่สุด

แพทย์แนะวิธีเลือกหมอนให้นอนหลับสบาย
ไม่ใช่แค่ท่านอนเท่านั้นที่ทำให้หลับสบาย แต่หมอนก็มีส่วนสำคัญเหมือนกันนะ

พญ.เอนา ซี ครีเจอร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอนแห่งศูนย์การนอนในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา บอกว่า หมอนเป็นอุปกรณ์สำคัญต่อสุขภาพมาก เพราะหมอนที่ดีจะจัดให้สะโพก หลัง และคอเข้าที่ ทำให้กระดูกสันหลังรักษาระดับตรงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

โดยคุณหมอเอนาจัดหมอนไว้สองประเภท คือ หมอนที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ขนนุ่มละเอียดของสัตว์ปีก และที่เป็นวัสดุสังเคราะห์ เช่น โฟม และยางพารา ข้อดีของวัสดุธรรมชาติ คือไม่ค่อยมีไรฝุ่น จัดรูปง่าย รักษาความเย็น และมีอายุใช้งานนาน ส่วนข้อดีของหมอนที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ คือ รักษารูปทรงและระดับความสูง แต่อายุใช้งานราวครึ่งหนึ่งของหมอนธรรมชาติเท่านั้น

คุณหมอได้แนะนำวิธีการเลือกหมอนว่า ต้องดูตัวเองก่อนว่า ชอบนอนลักษณะไหน นอนหงาย นอนคว่ำ หรือนอนตะแคง จากนั้นกำหนดความสูงและความหนาที่รู้สึกสบาย แล้วก็เลือกประเภทและคุณภาพของหมอน โดยข้อควรระวังสำหรับคนชอบนอนหงาย คือ อย่าใช้หมอนที่ทำให้ศีรษะสูงกว่าคาง เพราะอาจทำให้ปวดต้นคอ ส่วนคนที่ชอบนอนคว่ำก็ไม่ควรใช้หมอนที่ยกศีรษะสูงเกินไป

ข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรคำนึงคือ คือคนเราจะเปลี่ยนท่านอนโดยเฉลี่ยแล้วชั่วโมงละครั้ง เพราะฉะนั้นต้องแน่ใจว่า ชนิดของหมอนที่เลือกจะทำให้นอนหลับสบายตลอดคืน และควรเปลี่ยนหมอนที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ทุก 2-3 ปี และหมอนที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ทุก 5-6 ปี

สำหรับการทดสอบว่าได้เวลาเปลี่ยนหมอนแล้ว คือ หมอนธรรมชาติ ถ้าตบแล้วฟื้นสภาพคืนความสูง ก็ยังใช้ได้ ส่วนหมอนสังเคราะห์นั้น ถ้าพับแล้วไม่คืนที่ ก็ถึงเวลาต้องเปลี่ยน และก่อนนำมาใช้ ควรมีผ้าหุ้มหมอนชั้นหนึ่ง ก่อนจะสวมปลอกหมอนที่ทำจากผ้าฝ้ายเนื้อโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ เพราะช่วยกันไรฝุ่นและลดความชื้นจากเหงื่อ

ฟังเสียงดังมากเกิน ระวังหูดับ
องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่าประชากรโลกกว่าพันล้านคนกำลังเผชิญกับการสูญเสียความสามารถในการได้ยินจากเสียงดังเกินไป

เพราะการได้ยินเสียงที่ดังเกินไปเป็นเวลานานต่อเนื่อง เซลล์ประสาทรับการได้ยินจะถูกทำลายอย่างถาวร นำไปสู่การสูญเสียความสามารถทางการได้ยิน

มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ราว 50% ของคนอายุระหว่าง 12-35 ปี ได้ยินเสียงดังในระดับที่เป็นอันตราย จากเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา เช่น MP3 หรือ Smartphone และประมาณ 40% ของคนกลุ่มนี้ยังรับเสียงดังในระดับที่เป็นอันตรายจากคอนเสิร์ต ผับ บาร์ หรือสถานบันเทิงต่างๆ

ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกบอกว่า หากได้ยินเสียงดังในระดับ 100 เดซิเบล เป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ชม. ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากการคมนาคมรอบข้าง หรือจากเครื่องเล่นเพลง คนนั้นจะสูญเสียความสามารถในการได้ยินอย่างถาวรในเวลาเพียงไม่กี่ปี

สำหรับวิธีง่ายๆในการป้องกัน คือการใส่ Ear Plug หรือเครื่องอุดหู เวลาอยู่ท่ามกลางเสียงดัง และปรับระดับเสียงลดลงทุกครั้งที่ฟังเพลงจากอุปกรณ์พกพา และจำกัดเวลาการฟังไม่เกิน 1 ชม.ต่อวัน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 178 ตุลาคม 2558 โดย ธาราทิพย์)




กำลังโหลดความคิดเห็น