xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยมะเร็งปอดไทยเสี่ยงยีน EGFR กลายพันธุ์ ทำอาการป่วยรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์จุฬาฯ เผย ผู้ป่วยมะเร็งปอดแถบเอเชียตะวันออก รวมทั้งไทย พบยีนอีจีเอฟอาร์กลายพันธุ์มากถึง 30 - 40% ส่งผลอาการป่วยรุนแรงขึ้น เหตุทำให้เซลล์มะเร็งปอดแบ่งตัวไว แพร่กระจายเร็ว รักษาไม่ทันเสี่ยงเสียชีวิต เผยไทยตรวจการกลายพันธุ์ยีนนี้ได้แล้ว ช่วยวางแผนการรักษาเหมาะสม

รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็งครบวงจรแห่ง รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามร่วมเป็นสถาบันพันธมิตร กับ ศูนย์มะเร็งเอ็ม ดี แอนเดอร์สัน ซึ่งเป็นศูนย์มะเร็งชั้นนำระดับโลก ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนการให้การศึกษา วิจัย และการดูแลรักษาป้องกันโรคมะเร็งต่าง ๆ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย ทั้งนี้ จากการศึกษาโรคมะเร็งปอดของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก พบการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ (EGFR) ในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ไม่สูบบุหรี่ โดยพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดทั่วไปในเอเชียตะวันออกจะพบการกลายพันธุ์ของยีนนี้ประมาณ 30 - 40% สูงกว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดแถบสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งพบประมาณ 10%

รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า การกลายพันธุ์ของยีนดังกล่าวจะพบในผู้ป่วยมะเร็งปอดเท่านั้น ซึ่งการกลายพันธุ์ของยีนนี้จะทำให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวเร็ว แพร่กระจายได้ไว และเสียชีวิตได้ในที่สุด ดังนั้น การตรวจการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ในผู้ป่วยมะเร็งปอดจึงช่วยให้พยากรณ์ความรุนแรงของโรคมะเร็งปอดในคนไข้ได้ เพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะสม โดยปัจจุบันประเทศไทยสามารถให้บริการตรวจการกลายพันธุ์ของยีนนี้ได้แล้ว

ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าการกลายพันธุ์ของยีนนี้เกิดจากอะไร และไม่ทราบว่าทำไมถึงพบในคนเอเชียที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดและไม่สูบบุหรี่ มากกว่าคนยุโรปและอเมริกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากเชื้อชาติ หรือสิ่งแวดล้อมหรือไม่ก็ยังไม่มีข้อมูล สำหรับแถบเอเชียตะวันออกที่พบการกลายพันธุ์ของยีนนี้ในผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวนมาก คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย และกลุ่มคนที่มีเชื้อสายจีน” รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวและว่า ปกติแล้วหากดูด้วยสายตาจะพบว่าชิ้นเนื้อของมะเร็งปอดหน้าตาจะคล้าย ๆ กัน แต่ลึกลงไปแล้วในระดับยีนมีความแตกต่างกัน ซึ่งการตรวจยีนอีจีเอฟอาร์ว่ากลายพันธุ์หรือไม่จะช่วยให้วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพราะหากมีการกลายพันธุ์เชื้อมะเร็งก็จะแพร่กระจายไว หากไม่รีบทำการรักษาจนปล่อยให้เชื้อมะเร็งแพร่กระจายไปมาก และมีความรุนแรงก็อาจจะเสียชีวิตได้ แต่หากรักษาก็จะช่วยให้ประคับประคองให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ โดยปัจจุบันมียารักษาที่เข้าไปทำการต่อต้านการทำงานของยีนนี้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น