ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2015 ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุม ประกอบกับอิทธิพลของพายุไซโคลนโกเมน ทำให้มีปริมาณน้ำฝนสูงสุดในรอบ 24 ปี ก่อให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในรอบ 40 ปี ใน 13 เขตและรัฐ โดยเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตแล้ว 47 คน ผู้ประสบภัยประมาณ 210,000 คน
ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า ได้ประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินน้ำท่วมใหญ่ใน 4 เขต ได้แก่ รัฐชิน เมืองพะโค เขตสะกาย และรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนักสุด จากเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ หลังจากเกิดฝนตกหนักนานนับเดือน ซึ่งไม่เพียงสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แต่รวมถึงมรดกทางพุทธศาสนาด้วย
โดยรัฐยะไข่รายงานว่า มีวัดเกือบ 100 แห่ง บ้านเรือน 10,000 หลัง โรงเรียน 200 หลัง และนาข้าวกว่า 425,000 ไร่ จมอยู่ใต้บาดาล
กองโบราณคดี พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เผยว่า เจดีย์ 3 องค์ และหอพระไตรปิฎก พระราชวังในเมืองมรัคอู รัฐยะไข่ ถูกน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่โดยรอบของเมืองมรัคอู คล้ายเนินเขา แต่เต็มไปด้วยหนองบึง ต้นโกงกาง และทะเลสาบ
ทั้งนี้ เมืองมรัคอูมีความสำคัญทางด้านโบราณคดี และเป็นที่ตั้งของอาณาจักรอารกันระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15-18
อู ซัน วิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตกองโบราณคดี เมืองมรัคอู กล่าวว่า วัดและอาคารหลายแห่งซึ่งตั้งอยู่ในที่ต่ำ ได้รับความเสียหายมากที่สุด “เจดีย์หินบางองค์มีรอยร้าวที่ฐาน เราจำเป็นต้องบูรณะ เพราะฐานหินจะมีความแข็งแรงน้อยกว่าปกติ เราต้องสร้างวงล้อมขึ้นมา เพื่อป้องกันองค์เจดีย์เหล่านี้”
เขาให้ข้อสังเกตว่า ขณะที่บรรดาพระราชวังในอาณาจักรโบราณธัญญาวดีและเวศาลี ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย แต่เจดีย์ที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ปลอดภัย เนื่องจากสร้างบนฐานที่ยกสูง ทำให้รอดจากน้ำท่วมครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม เจดีย์บาซอยูมีรอยแตกร้าว และด้านในขององค์เจดีย์มินวูเซ และเจดีย์ชเวมอว์ดอว์ จมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด
สำหรับมหาเจดีย์ชเวมอว์ดอว์ (Shwe Maw Daw) เป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญของเมืองหงสาวดีหรือพะโค มีความหมายว่า “มหาเจดีย์พระเจ้าทองคำ” หรือที่รู้จักในนาม “พระธาตุมุเตา” แปลว่า “เจดีย์จมูกร้อน” เพราะเจดีย์มีขนาดสูงถึง 114 เมตร ซึ่งสูงที่สุดในพม่า ทำให้ผู้ที่ไปสักการะต้องแหงนหน้าจนคอตั้งบ่า จึงจะมองเห็นยอดเจดีย์ เป็นเหตุให้แสงแดดที่แรงกล้าแผดเผาจมูกจนแสบร้อน
พระธาตุมุเตาเป็นมหาสถูปบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าที่สำคัญที่สุดของชาวมอญ ในสมัยพระเจ้าราชาธิราชกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของมอญ ได้มีการประกอบพิธีกรรมสำคัญของราชอาณาจักรที่พระธาตุมุเตาแห่งนี้ และเริ่มพระราชประเพณีถวายทองหนักเท่าพระองค์เพื่อหุ้มองค์พระธาตุด้วย
สมัยพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าองค์ต่อมา ก็ทรงมีพระราชศรัทธาในองค์พระธาตุอย่างท่วมท้น ทรงถอดอัญมณีเม็ดใหญ่ที่ประดับยอดพระมงกุฎถวายเป็นพุทธบูชา พร้อมทั้งทรงให้ก่อกำแพงเมืองขยายไปโอบล้อมพระมหาเจดีย์ และได้มีการสร้างฉัตรถวายเพิ่มเติมอีกหลายชั้น จนพระมหาเจดีย์สูงขึ้นอีกหลายเท่า
แต่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพม่า ทำให้พระมหาเจดีย์ได้พังทลายลงมา หลังจากนั้นก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ แต่ซากพระมหาเจดีย์องค์เดิมได้นำมาจัดแสดงไว้ในบริเวณนั้นด้วย
ส่วนมรัคอู หรือเมียวอู เป็นเมืองสำคัญทางด้านโบราณคดี ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของรัฐยะไข่ (เดิมชื่อรัฐอารกัน) ในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมรัคอู ซึ่งเป็นอาณาจักรที่สำคัญและเรืองอำนาจสูงสุดในบรรดาอาณาจักรอารกัน (ค.ศ. 1430-1785) ทั้งหมด
ในยุคที่อาณาจักรมรัคอูเจริญรุ่งเรือง ชาวบ้านและขุนนางที่เป็นชาวพุทธ ได้สร้างเจดีย์และวัดจำนวนมาก ที่ได้กลายเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และศาสนา ตราบจนทุกวันนี้ ซึ่งจำนวนวัดและเจดีย์ในเมืองมรัคอูมีมากเป็นอันดับสองของประเทศรองจากเมืองพุกาม
พุทธสถานที่มีชื่อเสียงของเมืองมรัคอู ได้แก่
• วัดซิตตวง (Shite-thaung Temple) มีความหมายว่า “วัดพระแปดหมื่น” หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า วัดแห่งชัยชนะ สร้างในราว ค.ศ. 1535-1536 บนเนินเขาโปกวง (Pokhaung Hill) โดยพระเจ้ามินบิน เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะเหนือแคว้นเบงกอล ภายในวัดมีเจดีย์ใหญ่ทรงระฆังตั้งอยู่ตรงกลาง เจดีย์เล็กทั้ง 4 มุม และเจดีย์ขนาดย่อมรายรอบ
ลักษณะเด่นของวัดคือ มีระเบียงยาวด้านละเกือบ 100 เมตร คล้ายอุโมงค์ ล้อมรอบอุโบสถ 3 ชั้น ผนังทั้งสองด้านประดับด้วยภาพจิตรกรรมนูนสูงพุทธชาดก และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก 84,000 องค์ จึงเป็นที่มาของชื่อวัด
• วัดโคตวง (Koe-thaung Temple) มีความหมายว่า “วัดพระเก้าหมื่น” เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมรัคอู สร้างระหว่างค.ศ. 1554-1556 โดยพระเจ้ามินไตกา ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ามินบิน โดยต้องการให้เป็นวัดที่ยิ่งใหญ่กว่าวัดซิตตวง ที่พระบิดาเป็นผู้สร้าง เพราะเชื่อว่าจะทำให้พระองค์ยิ่งใหญ่และช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายได้ ภายในมีพระพุทธรูปแกะสลัก 90,000 องค์
• วัดทุกขันเทียน (Htukkanthein Temple) ตั้งอยู่บนเนินหินสูง 30 ฟุต ห่างจากวัดซิตตวงราว 100 เมตร สร้างใน ค.ศ. 1571 โดยพระเจ้ามินฟาลวง ตัววัดก่อด้วยก้อนอิฐและหิน แบ่งเป็น 3 ห้อง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก 180 องค์ และรูปปั้นแกะสลักของผู้หญิงที่กำลังบูชาพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในช่องตามผนัง กล่าวกันว่า สตรีเหล่านี้คือภรรยาของบรรดาขุนนางที่มีทรงผมแตกต่างกันไปถึง 64 แบบ
• วัดอันดอว์เทียน (Andaw Thein Temple) หรือวัดพระทันตธาตุ อยู่ติดกับวัดซิตตวง สร้างปี ค.ศ. 1521 เพื่อประดิษฐานพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระเจ้ามินบินนำมาจากศรีลังกา ภายในมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ถึง 175 องค์ ปัจจุบัน พระทันตธาตุได้ถูกย้ายไปประดิษฐานที่วัดปัญธุละ
มรัคอูจัดเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้มาเยือนมากที่สุด เนื่องจากมีวัดหินโบราณราว 380 แห่ง นับเป็นศูนย์กลางอารยธรรมอารกันที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
รัฐบาลพม่าได้เตรียมเสนอชื่อเมืองมรัคอูต่อองค์การยูเนสโก เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และได้เริ่มต้นมาตรการต่างๆ เพื่ออนุรักษ์วัดและพุทธสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่แล้ว
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 177 กันยายน 2558 โดย บุญสิตา)