xs
xsm
sm
md
lg

สืบสานงานประเพณี “ปอยส่างลอง” บวชเณรชาวไทใหญ่แม่ฮ่องสอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

งานประเพณีปอยส่างลอง
ถ้าพูดถึง “แม่ฮ่องสอน” เมืองที่อยู่ท่ามกลางขุน สิ่งที่ทุกคนต้องนึกถึงก็คือภูเขาน้อยใหญ่ที่โอบล้อมเมืองเล็กๆ แห่งนี้เอาไว้ ไม่เพียงแต่ธรรมชาติที่โอบล้อมสถานที่แห่งนี้ไว้เท่านั้น วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่ ก็ดูอบอุ่น มีเอกลักษณ์ไม่แพ้สถานที่ใดเช่นกัน
ส่างลองแต่งแต้มสีสันบนใบหน้า
และในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมีการจัดงานเทศกาล “ประเพณีปอยส่างลอง” ขึ้น ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ ในช่วงเทศกาลนี้เองพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะเต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนานเป็นอย่างมาก โดยในปีนี้เราได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน “ประเพณีปอยส่างลอง” ที่วัดจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ในช่วงวันที่ 1 - 4 เมษายน ที่ผ่านมา จากการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ทำให้เราได้สัมผัสถึงประเพณีที่ดีงามของชาวไทใหญ่ รวมถึงความร่วมมือของคนในชุมชน ซึ่งเราได้เก็บบรรยากาศภายในงานมาให้มิตรรักนักอ่านได้ชื่นชมกันด้วย แต่จะเป็นอย่างไรนั้น เชิญทัศนากันได้
ส่างลองขึ้นขี่คอตะแป
สำหรับประเพณี “ปอยส่างลอง” เป็นการบวชเณรของชาวไทใหญ่ คำว่าปอยส่างลองเป็นภาษาไทใหญ่ โดย “ปอย” หมายถึง งาน “ส่าง” เพี้ยนมาจาก สางหรือขุนสาง หมายถึง พระพรหม หรืออีกความหมายหนึ่งมาจากคำว่าเจ้าส่าง ซึ่งหมายถึงสามเณร ส่วนคำว่า “ลอง” มาจาก “อลอง” หมายถึง หน่อกษัตริย์ หรือราชบุตร
ขั้นตอนการแต่งหน้าส่างลอง
ส่างลองแต่งองค์เต็มยศ
โดยรวมแล้วปอยส่างลองหมายถึงการบวชเณรโดยเลียนแบบพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก่อนออกผนวช ดังนั้นการกระทำทุกอย่างในช่วงที่เป็นส่างลองก็จะเสมือนว่าเป็นการปฏิบัติต่อกษัตริย์ ตั้งแต่การแต่งกายที่แต่งตามแบบกษัตริย์พม่าโบราณ นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อมีชายเชิงงอนปักดิ้นไหม ประดับด้วยเพชรนิลจินดาทั้งสร้อย กำไล และแหวน ศีรษะสวมชฎายอดแหลมหรือโพกด้วยผ้าแพรและประดับด้วยดอกไม้ จะไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องเดินเอง เพราะจะมี “ตะแปส่างลอง” หรือ “ตะแป” เป็นพี่เลี้ยงส่วนตัวคอยดูแลให้ส่างลองขี่คอไม่ยอมให้เท้าแตะดิน มีคนคอยกางร่ม หรือ “ทีคำ” หรือร่มทองคำกางกันแดดให้ ทั้งนี้คงเป็นกุศโลบายเพื่อไม่ให้ส่างลองซึ่งยังเป็นเด็กน้อยซุกซนจนได้รับอันตรายก่อนที่จะได้บวช
สนุกสนานไปบนคอตะแป
โดยชาวไทใหญ่เชื่อกันว่าการบวชส่างลองนั้นมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่กว่าการบวชพระ เพราะเด็กที่บวชนั้นมีจิตใจที่บริสุทธิ์ และการบวชส่างลองถือเป็นการสนับสนุนบุตรหลานได้บรรพชาในพุทธศาสนา พ่อแม่จึงยอมเสียสละสิ่งของเงินทองเพื่อสนับสนุนให้บุตรหลานพบกับอริยทรัพย์ในพุทธศาสนา
ภายในขบวนแห่ครัวหลู่
ตั้งขบวนแห่เตรียมพร้อมแห่ครัวหลู่
สำหรับงานประเพณีปอยส่างลองที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนในครั้งนี้ มีส่างลองมาร่วมบวช 43 องค์ ซึ่งเราได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน ทำให้สัมผัสได้ถึงความรักและความชื่นใจของพ่อแม่และญาติพี่น้องของส่างลอง ผ่านทางการบรรจงตกแต่งใบหน้า เขียนคิ้วเขียนตา แต่งแต้มสีสันบนแก้มและปาก และช่วยกันแต่งตัวให้ส่างลองด้วยเสื้อผ้าเครื่องประดับต่างๆ ด้วยความตั้งใจ จนเด็กชายกลายเป็นกษัตริย์ตัวน้อยเตรียมบวชให้พ่อแม่เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์
ชาวบ้านออกลีลาหน้าขบวนแห่
แต่ก่อนที่ส่างลองจะได้บรรพชาเป็นสามเณรนั้น จะต้องมีพิธีต่างๆ เพื่อเตรียมตัวก่อนบวช 3 วันด้วยกัน โดยในวันแรกถือเป็น “วันรับส่างลอง” จะมีพิธีการอาบน้ำเงิน อาบน้ำทอง แต่งหน้าแต่งตัวกันตั้งแต่เช้ามืด ก่อนที่ส่างลองทั้งหมดจะขึ้นขี่คอตะแปแห่ไปยังวัดเพื่อนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์และกราบคารวะขอขมาลาโทษศาลเจ้าเมือง รวมถึงต้องไปนมัสการพระผู้ใหญ่ในเมือง อีกทั้งในวันนี้ ส่างลองยังจะได้ไปเยี่ยมเยือนบ้านญาติเพื่อขอขมาลาโทษ ส่วนบ้านใดที่ส่างลองมาเยี่ยมก็จะถือว่าเป็นโชคเป็นบุญ จึงมีการเลี้ยงต้อนรับด้วยอาหารเครื่องดื่ม รวมทั้งมีการผูกข้อมือสู่ขวัญส่างลอง
เครื่องดนตรีบรรเลงเพลงคึกครื้น
ส่างลองจะมีการแต่งหน้าอย่างสวยงาม
ในวันที่สอง คือ “วันข่ามแขก” หรือวันรับแขก ซึ่งในวันนี้จะมีพิธีสำคัญคือพิธีการแห่ครัวหลู่ หรือการแห่เครื่องไทยธรรมและอัฐบริขารต่างๆ โดยญาติพี่น้องและผู้ที่มีศรัทธาจะมาร่วมกันถือร่วมกันหามเครื่องไทยธรรมเดินนำหน้าขบวนส่างลอง จากนั้นก็จะเป็นขบวนของส่างลอง เมื่อเข้าขบวนได้บรรดาตะแปต่างก็เดินโยกย้ายไปตามจังหวะดนตรีของกลองและฆ้องที่บรรเลงอย่างคึกคัก ส่างลองบางคนสนุกสนานยิ้มร่าเต้นตามจังหวะอยู่บนคอตะแป แต่บางคนก็หน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยความจุกเมื่อตะแปเขย่าตัวแรงเกินไป นับเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่สนุกสนานสุดๆ
หนึ่งในพิธีก่อนการเลี้ยงอาหารส่างลอง
หลังจากขบวนแห่เสร็จ ในตอนเย็นจะมีการทำพิธี และเลี้ยงอาหารส่างลองด้วยกับข้าว 12 อย่าง โดยพ่อแม่จะต้องป้อนข้าวและกับทั้ง 12 อย่างให้ครบ โดยเริ่มจากผู้เป็นแม่ก่อน จากนั้นจึงจะเป็นพ่อ เมื่อทั้งพ่อและแม่ป้อนเสร็จแล้ว จากนั้นจึงให้ส่างลองกินข้าวเองจนอิ่ม
ส่างลองเข้าร่วมพิธีในวัด
ส่วนพิธีในวันสุดท้ายซึ่งเป็นพิธีอันสำคัญก็คือการ "บรรพชาเป็นสามเณร" บรรดาส่างลองจะเปล่งวาจาขอบรรพชากับพระอุปัชฌาย์ ก่อนจะเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มจากชุดกษัตริย์มาเป็นจีวร สร้างความปลื้มปิติให้แก่พ่อแม่ และผู้ที่เข้ามาร่วมงานได้อิ่มบุญกันอย่างถ้วนหน้า
ผูกข้อมือสู่ขวัญส่างลอง
ส่างลองต่างสนุกสนาน
ถึงแม้ว่าการบวชส่างลองจะเป็นพิธีที่ให้อานิสงค์มาก แต่ค่าใช้จ่ายในการบวชปอยส่างลองนั้นก็ไม่ใช่น้อยๆ ทำให้ครอบครัวคนยากจนที่มีลูกชาย แม้อยากบวชก็ไม่สามารถทำได้ แต่ในขณะเดียวกัน ครอบครัวฐานะดีแต่ไม่มีลูกชายให้บวชก็มีเช่นกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จึงเกิดมี “พ่อข่าม” “แม่ข่าม” หรือผู้ที่รับเป็นเจ้าภาพอุปถัมภ์ในการบวชให้แก่เด็กชายที่ไม่มีทุนทรัพย์แต่ต้องการบวชส่างลอง เรียกง่ายๆ ว่า ฝ่ายหนึ่งได้บวช ฝ่ายหนึ่งได้บุญ แฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย
พระอุปัชฌาย์ช่วยเณรน้อยห่มจีวร
เรียกได้ว่าประเพณี “ปอยส่างลอง” เป็นอีกหนึ่งงานประเพณีที่ไม่ได้หาชมกันได้ง่ายๆ เพราะใน 1 ปี จะมีการบวชเพียงแค่หนึ่งครั้ง แล้วการมาร่วมงานในครั้งนี้ นอกจากจะได้สนุกสนานไปกับงานแล้ว ยังได้บุญแบบเต็มกระเป๋ากลับบ้านไปอีกด้วย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น