xs
xsm
sm
md
lg

ผู้หญิง ของ “ขรัวโต”

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


น่าแปลกใจอยู่เหมือนกันว่า โดยภาพลักษณ์ของหนังอย่าง “ขรัวโต” นั้น ออกจะเน้นหนักไปในทิศทางของการเป็นหนังผู้ชาย ถ้าไม่นับว่าขรัวโตก็เป็น “ตัวละครชาย” อยู่แล้ว ยังมีเรื่องของวิชชาอาคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็รู้ๆ กันมาแต่ดั้งเดิมว่าของพรรค์กระนี้ คือของเล่นของผู้ชาย วรรณกรรมแบบขุนช้างขุนแผนคือสิ่งที่บอกกล่าวแง่มุมได้เป็นอย่างดี กระนั้นก็ตาม เมื่อได้ดูหนังจริงๆ ผมกลับพบว่า นี่คือหนังที่เล่าเรื่องของผู้หญิงได้เด่นชัด และเป็นโฟกัสที่หนังให้น้ำหนักในฐานะที่เป็นทั้งปฐมบทและบทสรุปแห่งเรื่องราว ก็สามารถจะกล่าวได้ ขณะที่ในระหว่างทาง เราก็จะได้เห็นประเด็น “ความเป็นหญิง” ในยุคสมัยนั้น ถูกสื่อผ่านออกมาชนิดที่พูดได้ว่าทำให้เราเห็นภาพของหญิงยุคดังกล่าว และนำมาซึ่งความรู้สึกน่าสะเทือนใจในบางแง่มุม

แง่มุมที่หนึ่งคงเป็นเรื่องความผูกพันระหว่าง “ขรัวโต” กับมารดาผู้ให้กำเนิด หนังเลือกที่จะเปิดเรื่องผ่านวาระสุดท้ายของขรัวโตที่กำลังป่วยไข้ในวัยชรา นอนแบบอยู่บนเตียง และไล่เรียงเรื่องราวแต่หนหลังในห้วงความนึกคิด และหนึ่งในความประทับจิตสูงสุดที่เราจะสัมผัสได้ผ่านหยดน้ำใสๆ ที่คลอเบ้าตาของครัวโตในตอนท้าย ก็บอกอย่างตรงไปตรงมาถึงความรักความผูกพันที่ท่านมีต่อมารดาผู้ให้กำเนิด “การมีความรักนั้นเป็นทุกข์ ไม่มีความรักก็เป็นความทุกข์ และการพลัดพรากจากบุคคลผู้เป็นที่รักนั้นก็เป็นทุกข์” นี่คือพระพุทธพจน์ที่จะปรากฏอยู่ในคำเทศนาของขรัวโตซึ่งเราได้ยินในหนัง

การรำลึกนึกถึงเรื่องราวของแม่ แม้กระทั่งพระที่ได้รับการบูชาในฐานะแห่งอริยะสงฆ์ ยังต้องปลดปลงด้วยสังเวชเวทนา

การตีความของหนัง ทำให้ดูเสมือนว่า เรื่องราวของมารดานั้น เป็นดั่งผลึกอันลึกล้ำที่ฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของขรัวโตไม่เสื่อมคลาย มันมีทั้งความงดงามและความน่าสงสารปะปนอยู่ในนั้น คือถ้าใครได้ศึกษาเรื่องราวของขรัวโต ก็จะรู้ว่า ชีวิตของขรัวโตนั้น มีประวัติศาสตร์บางส่วนที่ขาดหายและเล่าต่อกันไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะเรื่องรากเหง้ากำเนิด แต่เสียงลือเสียงเล่าอ้างเหล่านั้นก็มีลักษณะร่วมที่คล้ายกันอยู่ประการหนึ่ง ก็คือ มารดาของท่านเป็นหญิงสาวชาวบ้านธรรมดา ขณะที่บิดาเป็นถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ซึ่งก็มีทั้งที่บอกว่าท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บ้างก็ว่าเป็นพระของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เค้าลางแห่งความน่าจะเป็นในแบบฉบับที่หนังนำเสนอดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับประการหลัง โดยอิงจากเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง เมื่อเกิดศึกทางภาคเหนือ (กองทัพเวียงจันทร์จะยกมาตีเมืองโคราช) ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่หนึ่ง จึงได้ทรงรับสั่งให้รัชกาลที่สองซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าและมีพระชนมายุได้ 17 พรรษา เดินทางขึ้นเหนือเพื่อไปรบทัพจับศึก แต่ในระหว่างการเดินทางนั้นต้องผ่านเมืองกำแพงเพชร ซึ่งกลายเป็นปฐมเหตุที่ทำให้เราได้มี “สมเด็จโต” สักการะบูชาตราบจนปัจจุบัน

แต่เรื่องราวนี้ มีทั้งแง่มุมที่ชวนสุขสันต์และโศกศัลย์อย่างที่บอก เพราะเมื่อความจำเป็นในการรบทัพจับศึกยังเรียกร้อง “เจ้าพระยาจักรี” จึงจากนางละมุดหญิงสาวชาวบ้านไปในระยะเวลาเพียงข้ามคืน แต่ก่อนจาก ได้ฝาก “สายรัดประคด” ไว้หนึ่งผืนพร้อมกับรับสั่งว่า ต่อไปภายหน้า ถ้าเข้าเมืองหลวง ให้แสดงสายรัดประคดนี้แล้วจะได้รับความรักความเอ็นดูจากผู้คน กระนั้นก็ตาม ในความนึกคิดของหญิงชาวบ้านอย่างนางละมุด แม้น “ชายผู้นั้น” จะจากไปแล้วจนกระทั่งตนเองตั้งท้อง แต่นางก็มิอาจตัดใจได้ ดังนั้น ทุกคืนวันนางก็เฝ้าหวังว่าจะเดินทางไปบางกอกเพื่อสืบหาว่าชายที่รักนั้นเป็นใคร!

เอาเข้าจริง ตัวตนของคนที่ให้กำเนิดเด็กชายโตในตอนนั้น ยังไม่เป็นที่เปิดเผย ที่จริงก็คงเห็นอยู่ล่ะว่าเป็นเจ้าใหญ่นายโตจากบางกอก แต่ตามประสาชาวบ้าน จะไปถามไถ่ให้มากความก็ใช่ที่ มันคือวิถีของสังคมยุคนั้นที่ยังไม่พ้นจากเรื่องชนชั้นที่รัชกาลที่ห้าทรงมาย่อยสลายในภายหลัง ขณะเดียวกัน ลักษณะของชายไทยสมัยนั้น ก็สืบขนบมาแบบเดียวกันกับตัวละครชายในวรรณกรรมพวกขุนช้างขุนแผนที่ผู้ชายจะไม่ใช่คนประเภทที่รักเดียวใจเดียวหรือแบบที่เขาเรียกกันว่า “อยู่เหย้าเนาทุกข์” แต่เป็นพวกที่ต้อง “ดั้นด้นซนซุก” เรื่อยไป (ใครว่าชายไทยมากชู้หลายเมีย นั่นแหละ สุดแสนจริงแท้แน่นอน!)

นอกจากนี้ ในกรณีของนางละมุดยังมีเรื่องของอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ชีวิตของนางจึงจำต้องยอมรับชะตากรรมไปตามเรื่องตามราว ไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี แต่วิถีของผู้หญิงยุคนั้นก็คงเป็นเช่นนี้ คือแม้จะมีความรักก็ไม่อาจแสดงออกได้มาก แม้จะแต่งงานแล้วก็ต้องกราบเท้าสามีก่อน และไม่มีโอกาสที่จะรุกผู้ชายได้ในเรื่องอย่างว่า มีแต่ต้องนอนราบกับที่นอน รอการกอดรัดฟัดฟอนที่กระทำนำโดยผู้ชาย ขณะที่การท้องแบบไม่มีพ่อ ก็เป็นความอับอายขายหน้าอย่างถึงที่สุด (โดยไม่ต้องถามหาสาเหตุมูลฐานหรือความจริง) ดังนั้น นางละมุดจึงถูกจับแต่งกับชายหนุ่มในชุมชนหมู่บ้านเดียวกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นขี้ปากของชาวบ้าน

มีตัวละครหญิงอีกตัวหนึ่งซึ่งหนังใส่เข้ามา ตอนแรกๆ ผมรู้สึกว่าค่อนข้างจะเกินความจำเป็น แต่เอาเข้าจริง เมื่อหนังเดินไปเรื่อยๆ เรากลับจะพบว่า ตัวละครหญิงตัวนี้กลับเพิ่มน้ำหนักให้ประเด็นได้เด่นชัดขึ้น นั่นก็คือ “ช้อย” หญิงสาวชาวบ้านผู้หลงรักหนุ่มพัด (ศิษย์ก้นกุฏิของขรัวโต) แต่ทว่าหนุ่มพัดนอกจากไม่มีใจให้ ยังไปรักใคร่ชอบพอกับลูกท่านเจ้าขุนมูลนาย ลักษณะตัวละครของช้อย กลับไม่ค่อยจะช้อยหรือไหลลอยไปตามกระแสสังคม จะพูดว่ามีลักษณะแห่งการปฏิวัติขัดขืนต่อกระแสสังคมอยู่สูงมากในตัวละครตัวนี้ก็ว่าได้ เพราะเมื่อหัวใจเธอมีความรัก เธอก็ไม่จำเป็นต้องเก็บกักความรู้สึกไว้แบบเก็บกด เธอสามารถที่จะยืนโต้เถียงกับลูกสาวท่านขุนได้อย่างเชิดหน้า เพราะเหตุผลว่าลูกสาวท่านขุนมาชิงรักของเธอไป นี่คือลักษณะที่หาได้ยาก กระนั้นก็ตาม ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่มากๆ ก็กระทำต่อลูกผู้หญิงอย่างช้อยจนหมดสิ้นศักดิ์ศรีความเป็นคนไปเช่นกัน หลังจากเหตุการณ์วันนั้น ที่ส่งผลให้ “พัด” ต้องตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันกับ “พ่อเลี้ยง” ของขรัวโตที่ต้องรับเลี้ยงลูกที่เกิดจากผู้อื่น

กล่าวเฉพาะในหนัง ทั้งแม่ของขรัวโต ทั้งสาวช้อย ต่างก็สะท้อนกันและกันอยู่ในที และสถานการณ์ของทั้งสองตัวละครนี้ก็อยู่ในความรับรู้ของขรัวโต แต่เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีกรรมของตนที่จะต้องแก้ และสิ่งที่ท่านมีให้แก่ทุกคนคือเมตตากรุณา ทุกครั้งที่ท่านจะเทศนาบอกอะไรใคร ล้วนแต่เป็นไปเพื่อคลายความทุกข์โศกแห่งโลกยะวิสัย

...ในความเป็นหนัง “ขรัวโต” พึ่งพิงทักษะการนำเสนอแบบละครทีวีอย่างไม่เขินอาย ผู้กำกับอย่าง “สมเกียรติ เรือนประภัสสร์” แท้จริงก็คือผู้เจนจัดในการทำละครทีวีมาก่อน (“ศัลยา” ผู้เขียนบท ก็เช่นกัน) และยิ่งเมื่อมองผ่านผลงานละครที่ผ่านมาของสมเกียรติ ทั้ง “สะใภ้ปฏิวัติ” ไปจนถึง “ลูกสาวกำนัน” จะพบว่ามันเป็นละครที่กล่าวถึงผู้หญิงเป็นตัวนำ ดังนั้น จึงไม่แปลกแต่อย่างใด หากประเด็นความเป็นหญิงจะถูกส่งมาถึงหนังอย่าง “ขรัวโต” และสำหรับคนที่อยากจะรู้ประวัติความเป็นมาของสมเด็จโต ก็น่าจะทำให้พอได้รู้ (แต่ก็อย่างที่บอกว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับสมเด็จโตนั้น หลากหลายมาก นี่เป็นเพียงหนึ่งในความ “เชื่อกันว่า” “เล่ากันว่า” เหล่านั้น) ขณะเดียวกัน หนังยังคงก้าวตามขนบเดิมที่พยายามจะรวบเอาเรื่องราวอันยาวเหยียดทุกภาคส่วนแห่งชีวิตของท่านมาถ่ายทอด มันส่งผลให้พลังแห่งการโฟกัสเกิดการกระจัดกระจาย เราจะรู้อะไรหลายอย่างเกี่ยวกับตัวท่าน แต่ไม่ใช่จุดเน้นๆ ที่จะประทับจิต หนังจะเพียงแค่แตะๆ แล้วผ่านเพื่อการประมวลให้ครบ (และก็ไม่ครบ เพราะพอหนังจบ เราจะเห็นไตเติ้ลขึ้นว่า โปรดติดตามขรัวโตภาคจบสมบูรณ์ นั่นหมายถึงว่าหนังจะมีอีกหนึ่งภาค ใช่หรือไม่)

อันที่จริง หากนำมาบี้เค้นกันเน้นๆ ประวัติแต่ละส่วนของขรัวโตนั้น สามารถที่จะทำแยกๆ ออกไปได้และเน้นเป็นประเด็นๆ ไปได้ เหมือนหนังยุคใหม่ที่การเล่าเรื่องแบบ “ชีวประวัติ” ได้แปรเปลี่ยนไปแล้ว อย่างเช่นเรื่อง The Social Network หรือแม้แต่ Saving Mr. Banks ที่เลือกเล่าเฉพาะช่วงเวลาสำคัญๆ ของชีวิตตัวละคร ย้อนกลับไปดูเรื่องราวของขรัวโต คิดว่า ถ้าหนังจะเน้นเล่นเรื่องรากเหง้ากำเนิดที่กำกวมก็ได้ จะเล่นเรื่องความสันโดษจนไม่อยากข้องแวะกับสมณะศักดิ์ถึงกับต้องปลีกวิเวกไปธุดงค์ก็น่าจะมีสาระ จะเล่นกับอารมณ์ขันและความประหลาดพิสดารแบบอัจฉริยะสงฆ์ของท่านก็สนุกไปอีกแบบ หรือแม้กระทั่งจะจับจุดลงไปที่ประเด็นวิชชาอาคมขลังอย่างเดียวก็ยังไหว (เพราะอย่าลืมว่าคนที่ศรัทธาในด้านนี้ของท่านก็หลากหลาย “พระสมเด็จ” ที่ท่านสร้างนั้น ว่าราคากันที่หลักล้านเลยทีเดียว) อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้กลับเลือกที่จะเล่าชีวิตของสมเด็จโตแบบกวาดกว้าง พยายามจะให้ได้ครบ ผลลัพธ์ที่ออกมา จึงกลายเป็นว่าหนังเล่าเรื่องของท่านไปเรื่อยๆ และบางจุดเหมือนจะเน้นความเป็นผู้ให้ความสำคัญกับการมีปัญญาของท่าน แต่สุดท้ายแล้ว ประเด็นนี้ก็ดูดร็อปๆ ไป เพราะรายละเอียดส่วนอื่นๆ เข้ามาเบียดชิงพื้นที่

เอาเป็นว่า ในความคิดเห็นของผม หนังเรื่องนี้ อาจไม่ได้มีความเด่นมากในแง่ของ “บท” หากแต่โดดเด่นยิ่งในด้านของ “บริบท” ผู้คนที่แวดล้อมอยู่รายรอบชีวิตของขรัวโต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวในส่วนแม่ของท่าน มีฉากบางฉากที่หนังออกแบบมาได้ดีและบอกกล่าวเล่าถึงความผูกพันระหว่าง “ขรัวโต” กับ “โยมแม่” ของท่าน อย่างเช่นตอนที่โยมแม่ชราภาพและท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ กลับมาจากธุดงค์รอบที่สอง นั่นคือฉากที่ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นความรักความผูกพันระหว่างมารดากับบุตร หากแต่ยังพูดถึงวิถีวัฒนธรรมความเชื่อแบบดั้งเดิมของไทยพุทธที่เชื่อว่า การได้เกาะชายผ้าเหลืองของลูก นับเป็นบุญของชีวิต และเมื่อดวงจิตดับลง ก็ย่อมจะมีสวรรค์หรือภพภูมิที่ดีเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เท่าที่ดูหนัง ผมเชื่อของผมเองว่า เจ้าพระคุณสมเด็จโตนั้น ท่านรักแม่ของท่านมาก ถึงขนาดที่ครั้งหนึ่งถึงกับจะยอมสึกออกมาเพื่อช่วยเหลือดูแลมารดา ทั้งที่จะว่ากันจริงๆ ตอนนั้นอนาคตในพระบวรพุทธศาสนาของท่านก็กำลังรุ่งเรือง

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ผมรู้สึกชอบมากที่สุดในงานชิ้นนี้ ก็คือ ขณะที่ใครต่อใครพยายามจะยกชูขรัวโตขึ้นไปไว้ในตำแหน่งแห่งหนที่ยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม ไม่ว่าจะในฐานะอริยสงฆ์ ในฐานะแห่งผู้สร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของขลังที่ได้รับความนับถือบูชา แต่แง่มุมหนึ่งซึ่งสุดแสนจะธรรมดาและเรียบง่าย และทำให้เรื่องของท่านดูน่าประทับใจ คล้ายคำที่เขาชอบพูดกันว่า ลูกผู้ชายมักมีความทรงจำฝังใจเกี่ยวกับเรื่องของแม่ ขรัวโตนั้นก็เช่นกัน

เรื่องแม่ของท่านเป็นทั้งความทรงจำที่งดงามและเจือด้วยความน่าขมขื่น แต่เหนือสิ่งอื่นใด หยดน้ำใสๆ ที่คลอเบ้าตาของท่านในตอนท้ายเรื่อง หาใช่ความโศกาอาดูร หากแต่บอกกล่าวเป็นนัยๆ ถึงปีติในหัวใจกับการได้ทำหน้าที่บางประการ อย่างน้อยที่สุด ก็คือการช่วยให้มารดาเกิดความสุขสงบในห้วงยามแห่งการเดินทางสู่ปรภพ...


ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพิ่มหมวดข่าว “โต๊ะญี่ปุ่น” นำเสนอความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสาร ตอบสนองผู้อ่านที่สนใจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง สรรสาระ เกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ผู้อ่านควรรู้ และ ต้องรู้อีกมากมาย ติดตามเราได้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น