xs
xsm
sm
md
lg

“หุ่นสายพม่า” ศิลปะล้ำค่าของประเทศเพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเร็วๆ นี้ “นางอองซาน ซู จี” ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยพร้อมยืนยันความสัมพันธ์เมียนมาร์กับประเทศไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด และนับเป็นโอกาสอันดีที่มิวเซียมสยามได้นำ “การแสดงละครชาดกหุ่นสายพม่าแบบดั้งเดิม” มาให้ชมในวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา


โดยการแสดงหุ่นสายนี้ผ่านเทคนิคการชักสายหุ่นอันซับซ้อน และเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ของเมียนมาร์ที่สืบทอดมาจากสมัยศตวรรษที่ 15 สาธิตการแสดงโดย คณะหุ่นกระบอก ทเว อู (“Htwe 00 Myanmar)” คณะนักเชิดหุ่นชั้นครูจากเมืองย่างกุ้งที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ World Carnival of Puppet ให้ประชนและผู้ที่สนใจได้ชมฟรี ซึ่งการแสดงนี้เราจะได้รู้จักและเรียนรู้เพื่อนบ้าน EAC อย่างประเทศเมียนมาร์หรือพม่าที่เรารู้จักผ่าน “การแสดงละครชาดกหุ่นสายพม่าแบบดั้งเดิม” ถึงชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปะวัฒนธรรม และตัวตนของเพื่อนบ้านได้มากขึ้น

หุ่น (Puppet หรือ Marionett) เป็นศิลปะการแสดงแขนงหนึ่งที่เก่าแก่สืบทอดกันมาช้านาน เป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมที่มีประจำแทบทุกชนชาติ ในประเทศกลุ่มอาเซียนเองก็มีศิลปะการแสดงหุ่นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สหภาพเมียนมาร์, ราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย ซึ่งหุ่นของไทยมีความงดงามเป็นที่รู้จักนั่นก็คือ หุ่นละครเล็กที่มีหัว แขน ขา ขนาดสูงประมาณ ๑ เมตร สามารถเคลื่อนไหวได้เกือบทุกส่วนเหมือนคนจริงๆ แตกต่างจากหุ่นชนิดอื่นๆ ของไทยด้วยลีลาการเชิดหุ่นที่ต้องใช้ผู้เชิดถึง ๓ คน ต่อหุ่น ๑ ตัว ทำให้หุ่นเคลื่อนไหวเหมือนมีชีวิต ถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔


โดยทุกประเทศมีเอกลักษณ์ของการแสดงละครหุ่นแตกต่างกันไป เป็นการแสดงหุ่นที่มีสายชักในการควบคุมหุ่นให้แสดงท่าทางต่างๆ ขณะที่ในประเทศพม่า หุ่นสายพม่า (String-puppet or Marionette) การแสดงของหุ่นสายพม่านี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณราว 500-600 ปีก่อน ถือว่าเป็นศิลปะพื้นบ้านที่สำคัญและเป็นนาฏกรรมชั้นสูงของประเทศ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการแสดงและลักษณะบริบทของการแสดงแต่ละครั้ง หุ่นหนึ่งตัวจะมีสายชักมากถึง 20-30 สาย เพื่อใช้ในการควบคุมหุ่น



การสร้างหุ่นสายจะมีวิธีการสร้างแบบเฉพาะตัว แต่ละตัวมีการสร้างให้สามารถควบคุมได้อ่อนช้อยเหมือนกับลักษณะของมนุษย์มากที่สุด สามารถเคลื่อนไหวได้แทบทุกส่วน ทั้งแขน ขา มือ เท้า ปาก ศีรษะ และดวงตา จะมีการตกแต่งอวัยวะส่วนต่างๆ โดยใช้สีวาดและสวมใส่เสื้อผ้าพร้อมกับเครื่องประดับ ส่วนการควบคุมหุ่นเพื่อให้ชักได้อย่างเป็นธรรมชาติ ต้องอาศัยการฝึกฝน ประสบการณ์ และความชำนาญเป็นอย่างมาก เพื่อให้การแสดงหุ่นนั้นสมจริงมากที่สุด เรื่องราวในการแสดงมักเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า การตรัสรู้ วรรณคดีของพม่า นิทานพื้นบ้านโบราณ เรื่องราวที่แฝงคติสอนใจ หรืออาจจะเป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาพทางการเมือง หรือเรื่องราวที่แต่งขึ้นมุ่งหมายจะยั้วล้อไปกับเหตุการณ์จริง เพื่อสื่อสารทั้งประเด็นการเมืองและการร้องเรียนความไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้ชมได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วรรณคดี ศาสนา ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวพม่า สำหรับการแสดงหุ่นสายพม่าในครั้งนี้ที่ มิวเซียมสยามนำมาให้ชม เป็นการแสดงที่เกี่ยวกับละครชาดกของพม่า ตอน “Sutti Sayna Sambula”


หุ่นสายของพม่าทำการแสดงเป็นคณะ มีตัวละครที่มีบุคลิกแตกต่างกันตั้งแต่ 36 ไปถึงหลักร้อย ตัวละครที่นิยมนำมาเล่น ได้แก่ตัวละครจำพวกสัตว์ นักเล่นแร่แปรธาตุ อุปราช เจ้าหญิง เจ้าชาย การแสดงเริ่มจากการเต้นรำของหุ่นสัตว์ และซอจี (หุ่นนักเล่นแร่แปรธาตุ) เป็นตัวเบิกโรงก่อนเข้าเรื่องราวการแสดงหลัก แต่ละฉาก ผู้ชักหุ่นสามารถนำหุ่นออกมาเล่นได้มากสุดครั้งละ 5-6 ตัวพร้อมๆ กัน การเล่นหุ่นจะมีบทเพลงร้องประจำตัวหุ่น พร้อมวงดนตรีปี่พม่า และฆ้องวง คอยให้ท่วงทำนองตามคลองเรื่อง

ละครหุ่นพม่า (Yoke Thay) ในสมัยของกษัตริย์พม่า เป็นละครหุ่นพม่ามีความน่าสนใจจากความหายาก และเป็นตัวแทนคำพูดของทั้งกษัตริย์และประชาชน การแสดงนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว แต่เป็นศิลปะที่ได้รับความเคารพจากทุกชนชั้น หุ่นกระบอกเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน เพื่อสอนประชาชนเกี่ยวกับวรรณคดี ประวัติศาสตร์ และศาสนา อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ขณะเดียวกันหุ่นกระบอกเหล่านี้ยังทำหน้าที่เหมือนปากให้กับผู้คนในยุคสมัยของกษัติรย์ โดยการเล่าเรื่องราวต่างๆ และเต้นรำ จริงๆแล้วละครหุ่นพม่า Yoke-Thay เป็นการรวมตัวกันของงานประติมากรรม จิตรกรรม เสื้อผ้า การเย็บปักถักร้อย และละคร มีการใช้ศิลปศาสตร์ทุกๆ แขนง ซึ่งเป็นศิลปะที่มีการวิวัฒนาการหลายๆ อย่างผนวกเข้าด้วยกัน ดังนั้นทุกกระบวนการจำเป็นต้องมีความละเมียดละไม ความละเอียดปราณีตที่งดงามมาก


การแสดงหุ่นสายพม่าโอกาสที่แสดงทั้งคืนแบบสมัยก่อนน้อยมาก ส่วนใหญ่มักจะนำมาแสดงในงานอีเวนท์ต่างๆ หรือโอกาสในงานพิเศษ การแสดงละครหุ่นเป็นสื่อทางวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเสนอความงดงามทางศิลปะและความบันเทิง การแสดงละครหุ่นได้รับการพัฒนาจนถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของสื่อในหลากหลายวาระ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารทางการเมือง ดังจะเห็นได้จากการแสดงละครหุ่นของหลายๆ ประเทศ อย่างเช่นที่พม่าจะนิยมใช้หุ่นสายเพื่อสื่อสารหรือท้วงติงการตัดสินใจของผู้บริหารประเทศ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ในราชสำนัก หรือจะใช้หุ่นเป็นสื่อให้ข้อมูลกับเด็ก ช่วยโน้มน้าวจิตใจเด็กๆ ได้ หรืออย่างหลายๆ ประเทศก็ใช้หุ้นเป็นสื่อการสอนกันก็เยอะเพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์และการนำประยุกต์ใช้จากหุ้นนั้นๆ

ศิลปะการแสดงหุ่นในหลายประเทศกำลังจะสูญหาย หากประเทศอาเซียนหลายประเทศร่วมใจกันอนุรักษ์และรักษาไว้ให้เป็นศิลปะประจำชาติและท้องถิ่นซึ่งก็คือรากเหง้าของชาวอาเซียน การรักษาศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้จะทำให้ศิลปะแขนงนี้และแขนงต่างๆ สามารถดำรงอยู่คู่กับประเทศในกลุ่มอาเซียนต่อไปได้อีกยาวนาน




เรื่อง / ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม
ข้อมูลประกอบ : /ศิลปะและวัฒนธรรม และ /ฉันรักแปล

กำลังโหลดความคิดเห็น